8 มิ.ย. 2020 เวลา 15:32 • ประวัติศาสตร์
สงคราม อานามสยามยุทธ Siamese-Vietnamese War (ตอนที่ 1)
1
“อานามสยามยุทธ” ได้เกิดขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สงครามว่าด้วยการขยายดินแดน และแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนลาวล้านช้างและเขมร ของสยามและเวียดนาม โดยต่างฝ่ายได้แผ่ขยายอำนาจเข้าสู่อาณาจักรกันชนเหล่านั้น และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสองอำนาจ
สงครามที่เกิดขึ้นนี้มีบันทึกหลักฐานไว้ค่อนข้างชัดเจนในหนังสือราชการทัพของทั้งสองฝ่าย และเป็นสงครามยืดเยื้อยาวนานเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2376 - 2390 โดยสงครามในครั้งนี้ ได้ถูกพูดถึงน้อยมากในหน้าประวัติศาสตร์ไทย จนบางท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเวียดนามและไทย เคยรบกันมาขนาดนี้
4
👉 เหตุชนวนที่นำไปสู่สงครามครั้งนี้ สามารถแยกเป็นประเด็นดังต่อไปนี้
1. การยกทัพของสยามในปี พ.ศ. 2369 - 2371 เพื่อปราบปรามอาณาจักรล้านช้าง (เวียงจันทน์) อย่างรุนแรง กระทั่งเวียงจันทน์ซึ่งเวียดนามถือเป็นเมืองประเทศราชด้วยนั้นถูกทำลายไปทั้งเมือง สร้างความไม่พอใจให้เวียดนามอย่างมาก
2
2. หลังจากเวียดนามมีความเข้มแข็งได้เริ่มแผ่ขยายอำนาจของตัวเองเข้ามาในดินแดนเขมร และลาว ซึ่งสยามอ้างความเป็นเจ้าประเทศราช กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 2 เวียดนามมีพระราชสาส์น มาขอเมืองพุทไธมาศ(ชื่อไทย )หรือบันทายมาศ (ชื่อเขมร) หรือฮาเตียน (ชื่อเวียดนาม) คืนจากรัชกาลที่ 2 ซึ่งขณะนั้นสยามไม่กล้าเปิดศึกกับเวียดนาม เหตุเพราะกำลังเริ่มมีศึกกับพม่า จึงไม่อยากเปิดศึกสองทาง รัชกาลที่ 2 จึงยอมตามที่ขอ แต่ได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้แก่สยาม
1
3. ในราวปี พ.ศ. 2375 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามปราบเวียงจันทน์ได้สวรรณคต จักรพรรดิมินหมางของเวียดนามในขณะนั้น ทรงสนิทสนมกับสมเด็จวังหน้าพระองค์นี้ จึงส่งราชทูตและเครื่องบรรณาการมากราบพระบรมศพ แต่รัชกาลที่ 3 ไม่ให้เข้าเฝ้า ทำให้ราชทูตเวียดนามแสดงความไม่พอใจ
2
ต่อมาเวียดนามได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมรได้อย่างเปิดเผย ฝ่ายไทยเองถึงแม้จะไม่พอใจ แต่ไม่ต้องการทำศึกหลายด้าน จึงทำเป็นไม่รับรู้ ทำให้เวียดนามมีท่าทีจะขยายอำนาจเข้าไปในลาวด้วยเช่นกัน ประกอบกับไทยเลือกที่จะไม่ปะทะกับอังกฤษ ที่ได้ขยายอิทธิพลลงไปในแหลมมลายู ทำให้ในรัชกาลที่ 3 เลือกที่จะเผชิญหน้ากับเวียดนามทางตะวันออกได้อย่างเต็มที่
1
ในปี พ.ศ. 2376 รัชกาลที่ 3 จึงทรงมีพระบรมราชบัญชาให้ยกทัพใหญ่เข้าตีเวียดนาม ในหลายๆด้าน แต่ด้านหลักๆ คือเข้ายึดเมืองพุทไธมาศ หรือฮาเตียนคืน จากนั้นจึงเข้าตีเมืองไซ่ง่อน ในครั้งนั้นสยามแบ่งทัพออกเป็น 4 เส้นทางหลักๆ ตามแผนที่คือ
แผนที่เส้นทางเดินทัพของสยาม แบ่งเป็นกองทัพบก และกองทัพเรือ ในสงครามอานามสยามยุทธ
📌 เส้นทางที่ 1 - กองทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
แม่ทัพใหญ่ของสยาม ยกพลไปตามคลองสำโรง ล่องทวนกระแสน้ำในแม่น้ำบางปะกง ไปเมืองปราจีน จากนั้นเดินทัพบกเข้าเขมรที่พระตะบอง พนมเปญ นัดพบกับทัพเรือเข้าตีเมืองโจดก (เมืองที่อยู่ปากแม่น้ำโขง ท้ายโตนเลสาบ) เกณฑ์คนจากสยาม 50,000 คน (ส่วนมากเป็นคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมารวมกับทหารมอญ) เกณฑ์คนจากโคราชและหัวเมืองลาวอีก 20,000 คน เกณฑ์หัวเมืองเขมรอีก 20,000 คน รวมเป็นพลประมาณ 90,000 คน
📌 เส้นทางที่ 2 - กองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค)
ยกพลเรียบอ่าวไปตีเมืองฮาเตียนหรือพุทไธมาศ เกณฑ์ทหารจากกรุงเทพฯและหัวเมืองริมชายฝั่ง 15,000 คน เกณฑ์ทหารจากเมืองจันทบุรี ตราด และเขมรอีก 5,000 คน รวมเป็นพลประมาณ 20,000 คน
📌 เส้นทางที่ 3 - กองทัพบกของพระมหาเทพ
ยกพลไปเมืองนครพนม เข้าตีเมืองเหง่อานของเวียดนาม โดยไปเกณฑ์หัวเมืองลาวตะวันออก คือแถบสะหวันนะเขต จำปาสัก 10,000 คน และกองตำรวจจากกรุงเทพฯอีก 4,000 คน รวมเป็นพลประมาณ 14,000 คน
3
📌 เส้นทางที่ 4 - กองทัพบกฝ่ายเหนือของเจ้าพระยาธรรมา (สมบุญ)
ให้ยกขึ้นไปทางเมืองพิชัย ปากลาย หลวงพระบาง ให้ยกกำลังไปเกลี้ยกล่อม หรือตีหัวเมืองเล็กๆในลาวเหนือใกล้กับหลวงพระบาง เอามาไว้ในเขตไทยให้หมด ให้เกณฑ์ทัพไทยหัวเมืองเหนือ เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก, เมืองสุโขทัย, เมืองพิจิตร, เมืองพิชัย, ปากเหือง, เมืองเพชรบูรณ์, เมืองหล่มศักดิ์, เมืองแก่นท้าว, เมืองเลย ได้ 4,000 คน เพื่อรวมกับทัพลาว เข้าโจมตีเมืองหัวพันห้าทั้งหก ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพใหญ่ของสยาม ในสงครามอานามสยามยุทธ
✍🏻 ส่วนข้อมูลในการรบ และผลจากสงครามในครั้งนี้ จะมานำมาแชร์ให้ทราบในตอนต่อไปครับ
โฆษณา