9 มิ.ย. 2020 เวลา 01:36 • การเมือง
หลายคนบอกว่าจะหวังพึ่งรัฐบาลไม่ได้ จะแก้ปัญหาต้อง "พึ่งตัวเอง"
สำหรับผมมันจริงนะ แต่จริงราวๆ 20% ของปัญหาทั้งหมด ที่เหลือส่วนใหญ่มันก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น....
ปัญหาด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงรูปแบบเสียที
การวัดผล ทั้งวัดผลเด็กและครูล้วนทำมาโดยไม่ได้ส่งเสริมให้คนเป็นคน
คัดเด็กที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นเพียงหยิบมือส่งพวกเขาขึ้นไปเหยียบคนที่เหลือ
สุดท้ายโอกาสของเด็กด้านการศึกษาที่ควรจะเท่าเทียมกันก็ไม่เป็นจริงเสียที
ปัญหาด้านการคมนาคม
หลายคนบอกต้องเริ่มที่ตัวเอง
ถ้าทุกคนขับรถก็จะมีปัญหารถติดอย่างทุกวันนี้
อันนี้จริงๆเราควรโทษว่าทำไมการขนส่งสาธารณะถึงไม่ดีและครอบคลุมพอให้คนใช้ได้ละ
รัฐเลือกแก้ปัญหานี้ด้วยการดันเมกะโปรเจคเป็นระบบราง มูลค่าหลายล้านๆ
ซึ่งทำให้ราคาค่าเดินทางต่อเดือนพุ่งไปใกล้ๆกับค่าผ่อนรถ
สุดท้ายถ้าจ่ายราคาพอๆกันคนย่อมเลือกทางสบายกว่า
แทนที่จะเลือกผลักดันรถเมล์ให้ดีขึ้น ให้ตรงเวลา ให้เยอะพอ ให้ครอบคลุม
ปัญหาด้านการกระจายรายได้
แทนที่รายที่รัฐได้ควรจะถูกกระจายไปสร้างความเจริญที่อื่นๆบ้าง
แต่ภาษีส่วนใหญ่ยังคงมากระจุกอยู่ในพื้นที่ 10% ของประเทศ
เพื่อสร้างความเจริญในเขตเมืองหลวงซึ่งทำให้ประชากรต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมืองสร้างปัญหาประชากรล้น ปัญหาขยะ มลพิษ และอื่นๆ
แถมทำให้ต่างจังหวัดหลายๆที่เกิดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรคน
ตอนแรกจะเขียนสั้นๆเป็น status ถกเถียงกับคนที่บอกว่า
เราต้องเริ่มแก้ปัญหาที่ตัวเอง
ซึ่งผมเองก็ยอมรับว่าจริงที่เราต้องเริ่มที่ตัวเอง
แต่คนที่เริ่มที่ตัวเองได้นั้นมีเพียงหยิบมือที่รัฐให้โอกาสกับพวกเขาเท่านั้น
ส่วนที่เหลืออีกมหาศาลทำไม่ได้
ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่อยากทำ
แต่เขาไม่มีความสามารถจะทำได้เพราะโครงสร้างภาครัฐกดทับเขาอยู่
บางคนอาจจะบอกว่า
ก็รัฐบาลไหนๆก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น
ก็จริง... เราเลยต้องก่นด่ารัฐ ทำให้รัฐมองเห็นคนที่อยู่ข้างล่างบ้าง
เราอยากให้เสียงของเราไปถึงคนที่จัดการกับนโยบายเหล่านั้นได้บ้าง
อยากได้รัฐที่ยอมฟังเสียงของประชาชน
เหมือนที่หลายคนบอกว่า "ประชาชนคือเจ้าของประเทศ"
และหน้าที่สำคัญของเจ้าของประเทศ
คือการติติงสิ่งที่ทำผิด เรียกร้องให้พัฒนา
และจ่ายภาษีอย่างถูกต้องตรงเวลา ใช่ไหม?
โฆษณา