Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Wild Chronicles
•
ติดตาม
16 มิ.ย. 2020 เวลา 08:49 • ประวัติศาสตร์
*** ศึกคาวานะคะจิมะ ***
ศึกคาวานาคาจิมะ คือการยุทธที่มีชื่อเสียงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เพราะมันเป็นการปะทะกันระหว่าง จอมพยัคฆ์ "ทาเคดะ ชินเก็น" และ พญามังกร "อุเอสึกิ เคนชิน" สองยอดขุนศึกแห่งยุค โดยมีการแก้กลยุทธกันอย่างเผ็ดร้อน และการต่อสู้อันดุเดือดระหว่างกองทหารที่ดีที่สุดของแผ่นดิน สังเวยชีวิตแม่ทัพนายกองผู้ยิ่งใหญ่ไปเป็นจำนวนมากในฉากโลหิตอันตระการตา
ทาเคดะ ชินเกน ชื่อเดิมทาเคดะ ฮารุโนบุ เป็นเจ้าครองแคว้นคะอิในยุคเซนโกคุ (ยุคสงครามญี่ปุ่นเกิดประมาณกลางศตวรรษที่ 15 ถึงปลายศตวรรษที่ 16) เขาเป็นผู้มีความสามารถทั้งการบริหารบ้านเมือง และการศึก
เขาเป็นหนอนตำราที่อ่านพิชัยสงครามซุนวู และเลียดก๊กจนแตกฉาน เวลาว่างชอบแต่งกลอนกวี
นอกจากนั้นยังธรรมะธัมโม ชอบศึกษาพระธรรมคำสอนของศาสนาพุทธ ชื่อ "ชินเก็น" นั้นเป็นฉายาสงฆ์ที่ได้มาจากการบวชเรียน
เมื่อชินเก็นขึ้นสู่อำนาจ เขาต้องพบปัญหาว่าแคว้นคะอิและบริเวณโดยรอบนั้น แม้กว้างใหญ่ แต่เป็นภูเขาเยอะ มีพื้นที่เพาะปลูกน้อย ทำให้เสี่ยงขาดแคลนเสบียง (แคว้นคะอิคือจังหวัดยามานาชิที่มีภูเขาไฟฟูจิ ลองดูปริมาณภูเขาแถวนั้นในแผนที่ดูนะครับ)
ชินเก็นเห็นว่าระบบการควบคุมกำลังพลที่ญี่ปุ่นใช้อยู่เวลานั้นไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจำกัดหน้าที่การรบหลักอยู่แค่กับชนชั้นซามูไร
พวกซามูไรฝึกการต่อสู้มาทั้งชีวิต ทั้งยังผ่านการอบรมให้ซื่อสัตย์ภักดีต่อเจ้านายประดุจสุนัข มีศีลธรรมจรรยาบูชิโด เป็นนักรบในอุดมคติเหมือนอัศวินฝรั่ง (แต่มันไม่ได้บูชาเลดี้หมือนฝรั่งนะ ...มันตุ๋ยกันเอง... เดี๋ยวจะเล่าเพิ่ม)
หากเมื่อว่างศึก พวกซามูไรกลับมักนั่งเฉยๆ ทำให้สิ้นเปลืองค่าบำรุงรักษาโดยใช่เหตุ (รูปนี้ให้สังเกตดูตราตระกูลทาเคดะจะเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสี่อัน บนชุดเกราะ)
สำหรับชนชั้นล่างตามระบบศักดินาหรือพวกชาวนานั้นก็มีการเกณฑ์มาใช้รบเป็นทหารราบอยู่เพราะค่าจ้างถูก เราเรียกทหารเกณฑ์พวกนี้ว่าพวก "อาชิการุ"
เนื่องจากผู้ปกครองยุคนั้นดูถูกว่าชาวนาโง่เง่า ทักษะการรบอ่อน ซ้ำยังขาดความภักดี ก็ไม่ยอมลงทุนกับหน่วยรบนี้ บางรายไม่ยอมให้ค่าจ้าง บอกว่ารบชนะแล้วให้ไปปล้นชาวบ้านฝั่งข้าศึกเอาเอง ยิ่งทำให้มาตรฐานพวกอาชิการุต่ำตมลงไปอีก มีหน้าที่เป็นกองทัพมด เอาไปถมๆ ให้ชนะศึกโดยไม่เปลืองชีวิตซามูไร
ชินเก็นแก้ไขเรื่องนี้โดยในยามสงบเขาบังคับพวกซามูไรไปช่วยทำนา ขณะเดียวกันก็เกณฑ์ชาวนามาฝึกเป็นทหารสำหรับยามศึกนั่นแหละ แต่เน้นให้เข้าคอร์สโหด ไม่ได้เอาแค่เป็นเบี้ย เป็นมด
ผลคือซามูไรในปกครองชินเก็นมีความถ่อมตน เข้าอกเข้าใจชาวนา ส่วนพวกชาวนาก็อัพคลาสเป็นอาชิการุเท้าไฟ ใครมีผลการรบดีๆ ยังสามารถเลื่อนคลาสเป็นซามูไรได้ คนทั้งสองชนชั้นมีความสมานสามัคคีกันมากขึ้น
ชินเก็นวางหมากบริหารดังกล่าวแก้ทั้งปัญหาขาดแคลนเสบียง ปัญหาสิ้นเปลืองเงินจ้างซามูไร และปัญหากำลังพล นับว่าเป็นกลยุทธที่เหนือชั้น ทำให้เขาได้รับทั้งเสบียงอาหารบริบูรณ์ และไพร่พลมากฝีมือในราคาถูก
นอกจากเรื่องนี้ชินเก็นยังปฏิวัติวงการอีกอย่าง คือพัฒนาแทคติกการรบแบบใช้ทหารม้าถือทวน
อธิบายว่าญี่ปุ่นก่อนหน้านั้นมักจำกัดว่า "เป็นซามูไรถึงจะได้ขี่ม้า" และให้ซามูไรใช้ธนูเป็นหลัก เพราะจะได้ไม่เสี่ยงตาย ที่นี้มีการแก้แทคติกโดยให้อาชิการุพุ่งชาร์จซามูไร ซามูไรถือธนูก็สู้ระยะประชิดไม่ถนัด แม้บางคนพกดาบเสริมด้วย แต่ใช้ดาบสู้บนหลังม้ามันก็ไม่สะดวกอีกนั่นแหละ และหากพกทวนด้วยธนูด้วยมันก็รุงรังเกิน
ชินเก็นแก้เกมส์โดยให้ทหารม้ากองหลักถือทวนอย่างเดียวไปเลย ทหารม้าของชินเก็นนี้จะใช้ความเร็วล่อหลอกศัตรูให้เสียกระบวน และพอศัตรูเสียกระบวนก็ "พุ่งชาร์จ"
เจอซามูไรศัตรูยิงธนูมาก็ "พุ่งชาร์จ"
เจอทหารราบพุ่งชาร์จมา ก็ "พุ่งชาร์จ" กลับ
การชาร์จของทหารม้าชินเก็นนี้รุนแรงมากจนศัตรูคร้ามเกรง และนี่คือจุดเริ่มต้นของ "ทหารม้าทาเคดะ" ที่ปราบได้ทั่วพิภพจบแดน คนเรียกพวกเขาว่า "ชินสุ โอนิยาคุ" หรือปีศาจศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของทหารที่แข็งแกร่งจนปัจจุบัน
แม้ชินเก็นจะขึ้นเป็นขุนศึกชาญฉกาจแห่งยุคอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังยากจะรวมแผ่นดิน เพราะไม่มีโอกาสรุกไปเมืองหลวง ...อุปสรรคสำคัญที่เหนี่ยวรั้งเขาไว้คือคู่ปรับจากสวรรค์ที่ปกครองพื้นที่ติดกัน ...นั่นคือ พญามังกร "อุเอสึกิ เคนชิน"
ชินเก็นกับเคนชินนั้นเหมือนกันตรงที่เป็นคนธรรมะธัมโม โดยชื่อ "เคนชิน" ก็เป็นฉายาสงฆ์ ได้มาตอนบวชเรียนเหมือนชินเก็น
...หากขณะที่ชินเก็นเป็นนักรบผู้เคร่งธรรมตามปกติ เคนชินนี้จะออกแนวผู้วิเศษ ...เขามักสวมผ้าคลุมศีรษะแบบพระสงฆ์ญี่ปุ่นแทนหมวกเกราะ
เคนชินบวชเรียนตั้งแต่เด็ก เพราะไม่อยากแก่งแย่งกับใคร ตอนแรกกะบวชไม่สึกแต่พออายุสิบสี่บ้านเมืองกลับเกิดสุญญากาสทางอำนาจ ทำให้เขาถูกอัญเชิญขึ้นปกครอง
แม้ยังเล็ก แต่ความที่อยู่กับพระธรรมมาตลอด ทำให้เคนชินมีบุคลิกสงบสำรวม น่าเกรงขาม และพอขึ้นเป็นผู้นำเขาก็สำแดงปาฏิหาริย์หลายอย่าง คือนอกจากฉลาดมีไหวพริบ รบพุ่งได้ชัยชนะติดๆ ยังสามารถบัญชาการคนได้เป็นอย่างดีกลายเป็นที่นิยมในหมู่บริวารอย่างมาก (รูปแนบคือตราตระกูลอุเอสึกิ เป็นรูปนกสองตัวจูบกัน)
ฐานหลักของเคนชินอยู่ที่แคว้นเอจิโกะ (ปัจจุบันคือจังหวัดนิกาตะ ที่นี่ปูอร่อย) เขาได้ปรับปรุงการกสิกรรม การเก็บภาษี และเศรษฐกิจ สามารถควบคุมการค้าของแคว้นอย่างที่ผู้ปกครองก่อนหน้าทำไม่ได้ ทำให้แคว้นเอจิโกะรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก
เหล่าทหารของเคนชินเชื่อว่าเขาเป็นอวตารของเทพสงคราม "บิชามอนเท็น" ซึ่งเป็นท้าวจตุโลกบาลที่แข็งแกร่งที่สุด
ทุกครั้งก่อนออกรบ เคนชินจะเอาฤกษ์เอาชัย โดยการรับประทานอาหารสามจาน ดื่มเครื่องดื่มสามถ้วย จากนั้นตะโกนว่า "อี้!" (เกียรติยศ!) และ "โอ้!" (ใช่!) สามรอบ จึงขึ้นขี่ม้าที่แวดล้อมด้วยธงสามผืน เป็นธงบิชามอนเท็น ธงพระอาทิตย์ขึ้น และธงมังกร ทั้งนี้เลขสามเป็นเลขโชคดี แทนสัญลักษณ์ ฟ้า ดิน มนุษย์ ตามคติจีน
ไดเมียวทั้งสองมีเหตุขัดแย้งกัน จากการที่ชินเก็นขยายอำนาจมาเขตชินาโนะที่ติดกับแคว้นเอจิโกะ ไดเมียวชินาโนะรวมกันไม่อาจต้านชินเก็นได้ บางคนจึงหนีมาสวามิภักดิ์เคนชิน
...ธรรมดาเสือมังกรไม่อาจอยู่ร่วม เคนชินเห็นชินเก็นอาละวาดใกล้เมืองตน ก็คิดต่อต้านโดยรับไดเมียวที่หนีจากชินาโนะมาดูแล และส่งกองทัพไปตั้งยันกับทัพของชินเก็นที่ที่ราบคาวานาคาจิมะ อันเป็นบริเวณปะทะสองแคว้น
ที่คาวานาคาจิมะนี้เอง เคนชิน ชินเก็นได้ทำศึกผลัดกันแพ้ชนะกันถึงห้าครั้ง สังเวยชีวิตทหารหลายหมื่นคน หากสงครามครั้งที่สำคัญที่สุดคือ การยุทธครั้งที่สี่อันเกิดขึ้นในปี 1561
บัดนั้นเคนชินกรีฑาทัพจำนวน 18,000 นายมาตั้งทัพอยู่บนภูเขาซัยโจประชิดปราสาทไคสุของชินเก็น
ปราสาทไคสุเวลานั้นมีทหารรักษาเพียง 150 นาย นำโดยคนรักของชินเก็น นาม โคซากะ มาซาโนบุ ซึ่งเป็นหนึ่งในขุนพลเอกฝั่งทาเคดะ (และแน่นอนว่าเป็นผู้ชายด้วย)
ชาวญี่ปุ่นโบราณมีค่านิยมเทิดทูนบุรุษเพศ พวกเขานับถือในมิตรภาพลูกผู้ชายอย่างยิ่ง และพอมิตรภาพลูกผู้ชายมันพัฒนาไปมากขึ้นๆ มันก็กลายเป็นความรัก ...แล้วมันก็ตุ๋ยกันเอง ...ปรากฏการตุ๋ยเป็นเรื่องปกติในสังคมซามูไร มีหลักฐานว่าชินเก็นรักใคร่มาซาโนบุเป็นอย่างมาก ถึงแก่เขียนสัญญารักบอกว่า "จะตุ๋ยมาซาโนบุแต่ผู้เดียว ไม่ตุ๋ยบริวารอื่นใด" และจะไม่ทำร้ายมาซาโนบุโดยเด็ดขาดขอให้ฟ้าดินเป็นพยาน ...ปัจจุบันสัญญารักฉบับนั้นยังถูกเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว (มันใช้คำว่าตุ๋ยจริงๆ นะครับ ไม่ได้ใช้คำว่ารัก)
แม้เคนชินอาจตีปราสาทไคสุให้แตกโดยง่ายพร้อมจับตัวประกันสำคัญคือมาซาโนบุ เขากลับเลือกชะลอทัพไว้ ปล่อยให้มาซาโนบุมีโอกาสร้องขอความช่วยเหลือไปยังชินเก็นได้ ทั้งนี้บ้างก็ว่าเพราะเคนชินไม่รู้จำนวนทหารแท้จริงในปราสาท บ้างก็ว่าเพราะเขาต้องการล่อชินเก็นมาสู้ซึ่งหน้า
ชินเก็นทราบข่าวจึงเกณฑ์กำลังจำนวน 20,000 คน เร่งรุดมาแก้ไขปราสาทโดยเร็ว จากนั้นทหารสองฝ่ายตั้งยันกันนิ่ง เพราะทั้งชินเก็น เคนชินต่างตระหนักถึงความร้ายกาจของฝ่ายตรงข้ามดี พวกเขาทราบว่าจะชนะศึกนี้ได้ต้องใช้แผนการที่แยบคายที่สุดเท่านั้น!
ในที่สุดเสนาธิการฝั่งชินเก็น นาม ยามาโมโตะ คันสุเกะ ได้เสนอกลยุทธ ชื่อว่า “กลนกหัวขวาน”
คันสุเกะอธิบายว่านกหัวขวานนั้นมีนิสัยชอบเอาหัวไปตอกโพรงไม้ด้านหนึ่ง ให้หนอนที่อาศัยโพรงตกใจ คลานหนีออกจากรูมาอีกด้าน สุดท้ายกลายเป็นอาหารนก
การศึกนี้ก็เช่นกัน ชินเก็นกับมาซาโนบุชอบจะแบ่งทัพเป็นสองส่วน ให้มาซาโนบุนำคน 12,000 อ้อมไปหลังเขาซัยโจตอนกลางดึก ปีนเขาเข้าโจมตีทัพข้าศึกจากด้านหลังค่ายให้ตระหนกตกใจ เมื่อฝ่ายเคนชินล่าถอยลงจากยอดเขา ชินเก็นจะคุมคนอีก 8,000 คน เข้าตีกระหนาบด้วยการจัดทัพแบบคาคุโยกุ หรือ “พยุหะปีกกระเรียน” อันเป็นพยุหะที่เด่นในการโจมตีบีบล้อม คันสุเกะเชื่อว่าหากสามารถกระหนาบทั้งหน้าหลังสำเร็จ แม้ศัตรูเป็นอวตารบิชามอนเท็นก็อาจสยบลงโดยง่าย
อนึ่งคันสุเกะนี้เป็นคนลักษณะไม่ดี ตาบอดข้างหนึ่ง ขาเสียข้างหนึ่ง แต่เฉลียวฉลาดอย่างมาก เคยใช้สติปัญญาช่วยชินเก็นรบชนะหลายครั้ง จนได้รับความเชื่อถือให้วางแผนสำคัญ
...ค่ำคืนนั้นมาซาโนบุจึงเดินทัพอย่างเงียบเชียบอ้อมไปหลังเขาซัยโจ
...โชคร้ายที่ความเคลื่อนไหวนี้ถูกตรวจจับได้โดยกองสอดแนมฝ่ายเคนชินก่อน
หากเป็นคนอื่น แม้เห็นความเคลื่อนไหวมาซาโนบุอาจเดาไม่ออกว่าจะทำอะไร แต่เคนชินเฉียบแหลมนัก พอทราบข่าวก็คาดเดาแผนของคันสุเกะได้โดยตลอด
พญามังกรแห่งเอจิโกะบัญชาการแก้เกมส์อย่างรวดเร็ว โดยให้ทหารส่วนใหญ่ของเขาเคลื่อนทัพลงจากเขาซัยโจ ให้เอาผ้าคลุมเท้าม้า เดินทัพอย่างเงียบเชียบยิ่งกว่าทัพของมาซาโนบุอีก
รุ่งสางวันนั้นมีหมอกปกคลุมทั่วบริเวณ ชินเก็นตั้งใจจัดพยุหะปีกกระเรียนรออยู่ที่ตีนเขาซัยโจอย่างดี เขาให้ทหารแบ่งเป็นปีกซ้ายขวา มีแถวหน้าเป็นนักรบชาญศึก แถวสองเป็นพลธนูและปืนยิงสนับสนุน ทหารอื่นๆ ยืนเรียงรายสลับเป็นชั้นๆ ประดุจขนนก ให้ทาเคดะ โนบุชิเกะ น้องชายซึ่งเป็นยอดขุนพลอีกคนหนึ่งคุมทัพหน้าทะลวงฟัน ตัวชินเก็นเองบัญชาการอยู่ตรงกลางระหว่างสองปีก
พวกเขารอสัญญาน...
หากมีเสียงอื้ออึงของข้าศึกจากบนเขาเมื่อใด จะบุกตีกระหนาบเอาชนะให้จงได้
...แต่นานแล้วก็ยังไม่มีเสียง
และเมื่อหมอกจางลง ทัพทาเคดะกลับต้องตกใจเมื่อพบว่าทัพอุเอสึกิที่มีจำนวนมากกว่าได้เคลื่อนลงมาถึงตัวพวกเขาแล้วด้วยความเงียบเชียบและเป็นระเบียบ!
บัดนั้นเคนชินบัญชาการให้บุกโจมตีด้วยกระบวนทัพแบบคุรุมะ กาคาริ หรือ “พยุหะกงล้อ” ซึ่งเป็นกระบวนทัพที่เน้นการหมุนเวียนสับเปลี่ยนทหารแถวหน้าสุดอยู่เสมอ ให้มีกำลังที่สดใหม่เข้าพิชิตศัตรูที่เหนื่อยล้าประดุจเลื่อยผ่าไม้
ทัพทาเคดะแตกตื่นอย่างหนัก เพราะพยุหะปีกกระเรียนนั้นถูกออกแบบมาสำหรับโจมตี ไม่ใช่ป้องกัน พอต้องปะทะกับพยุหะกงล้อ ที่ขับเคลื่อนโดยทหารจำนวนมากกว่าจึงทำให้พวกเขาตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จะเปลี่ยนกระบวนทัพตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว!
ปรากฏแม่ทัพหน้าโนบุชิเกะถูกศัตรูตัดหัวตายตั้งแต่ต้นๆ ศึก!
แล้วทัพหน้าก็แตกร่นมาเรื่อยๆ!
เสนาธิการคันสุเกะเห็นกลยุทธของตนล้มเหลวไม่เป็นท่า ตระหนักว่าต้องแพ้แน่จึงแสดงความรับผิดชอบโดยพุ่งเดี่ยวเข้าชาร์จคู่ต่อสู้จนได้รับบาดแผลถึง 80 แห่ง ...และเมื่อเห็นว่าสู้ต่อไม่ไหว เขาก็ล่าถอยไปทำการคว้านท้อง ประหารตนเองอย่างเงียบๆ
ฝ่ายทาเคดะเสียทั้งแม่ทัพหน้า และเสนาธิการไปในเวลาไล่เลี่ยกันก็เสียขวัญนัก มีคนไปบอกให้ชินเก็นรีบล่าถอยเพื่อรักษาชีวิต
แต่พยัคฆ์แห่งคะอิยังคงเป็นพยัคฆ์...
ชินเก็นซึ่งผ่านศึกมาอย่างโชกโชนยังคงรักษาความเยือกเย็น บอกว่าถอยไม่ได้ ถ้าถอยตอนนี้เท่ากับทิ้งทัพมาซาโนบุที่กำลังกระหนาบตามมา
...ชินเก็นอ่านออกว่าเคนชินคิดตีทัพหลวงแตกแล้วค่อยหันหลังไปสยบมาซาโนบุ หากเขาสามารถจัดการทีละทัพได้ เขาก็จะชนะศึกนี้แม้มีกำลังตั้งต้นน้อยกว่า
...ดังนั้นแม้เสียเปรียบแค่ไหน วิกฤตผิดแผนเพียงใด แต่ทัพหลวงจะต้องไม่หนี
...จะต้องทำตามแผนเดิม เชื่อมั่นในพลังของฝ่ายเราให้ถึงที่สุดเท่านั้น!
พูดได้แค่นี้ ประตูค่ายหลักของชินเก็นก็ถูกทะลวงแตก ปรากฏเคนชินขี่ม้าบุกเข้ามาด้วยตนเอง!
...มันเป็นชั่วขณะที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก
...ที่ซึ่งพญามังกรแห่งเอจิโกะ มาปะกับจอมพยัคฆ์แห่งคะอิแบบตัวต่อตัว
บัดนั้นเคนชินเอาดาบรัวฟันชินเก็นซึ่งนั่งบัญชาการอยู่หลายครั้ง หมายเอาชีวิตให้จงได้ ชินเก็นไม่ได้ถืออาวุธ ก็ทำดีที่สุดโดยยกพัดบัญชาศึกมาปัดดาบ เคนชินฟันโดนพัดเจ็ดที โดนเกราะชินเก็นสามที จนชินเก็นสะบักสะบอม
หากก่อนที่เคนชินจะเอาชีวิตสุดยอดศัตรูของเขาสำเร็จ เหล่าองครักษ์ของชินเก็นก็ตามมาช่วยทัน มีคนหนึ่งเอาหอกแทงถูกสีข้างม้าเคนชินจนม้าตื่น เคนชินเห็นตนพลิกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เกรงถูกล้อมจึงยอมล่าถอย
...ภายหลังสถานที่ๆ เขาเผชิญหน้ากับชินเก็นนั้นถูกตั้งชื่อว่า มิตาชิ นานะ ทาชิ โนะ อะโตะ หรือ “สถานที่แห่งสามดาบ เจ็ดดาบ”
ข้างฝ่ายองครักษ์ เมื่อแก้ไขชินเก็นได้แล้วก็ขอร้องให้ถอยทัพเถอะ เห็นไหมเกือบเอาชีวิตไม่รอด!
แต่ชินเก็นยังคงนิ่ง บอกว่าแม้เราเสียเปรียบทางกระบวนทัพ แต่ต้องเชื่อมั่นในเหล่าอาชิการุเท้าไฟที่ข้าฝึกมาอย่างดี คนเหล่านี้จะต้องตั้งยันศัตรูได้จนมาซาโนบุมาช่วยแน่นอน
1
ดังนั้นทัพทาเคดะจึงตั้งมั่นเผชิญวิกฤตอย่างกล้าหาญ
พวกเขารบกันตั้งแต่เช้ามืดจนสาย แม้พยุหะปีกกระเรียนไม่อาจสู้พยุหะกงล้อในทางทฤษฎี แต่ความที่ทหารทาเคดะเข้มแข็งมีวินัยจึงยังยันทัพอุเอสึกิไว้โดยไม่แตกพ่าย
ครั้นบรรลุถึงเที่ยงวันฝ่ายเคนชินกลับต้องได้ยินข่าวร้าย
นั่นคือทัพจำนวนสามพันที่เขาทิ้งไว้บนเขาซัยโจเพื่อตั้งยันมาซาโนบุนั้นแตกเสียแล้ว มาซาโนบุกำลังบุกมาทางด้านหลัง...
และนี่คือช่วงเวลาที่ “ความนิ่ง” ของชินเก็นบรรลุผล สถานการณ์พลิกกลับเป็นรูปแบบทาเคดะบุกกระหนาบอุเอสึกิอย่างที่คันสุเกะวางแผนไว้แต่แรก
พยุหะปีกกระเรียนเปลี่ยนจากรับเป็นรุกอย่างที่มันควรเป็น เข้ารุกไล่ฝ่ายเคนชินถอยร่นไม่เป็นกระบวน สามารถช่วงชิงศีรษะของโนบุชิเกะที่ถูกตัดไปก่อนหน้ากลับคืนมาสำเร็จ
...เคนชินเห็นสถานการณ์แปรผันถึงขั้นนี้ก็ทอดถอนใจ จึงบัญชาการถอยทัพ...
แม้ฝ่ายอุเอสึกิถอยไปก่อน แต่ทาเคดะซึ่งเสียแม่ทัพนายกอง และไพร่พลไปจำนวนมากนั้นไม่มีกำลังตามตีอีกแล้ว
...ศึกคาวานาคาจิมะครั้งที่สี่จึงยุติลงในลักษณะนี้...
การยุทธดังกล่าว ต้องนับเคนชินชนะทางสติปัญญา แต่ชินเก็นชนะด้วยความนิ่ง และคุณภาพทหาร
มันเป็นศึกที่มีความยิ่งใหญ่ในหลายๆ ความหมาย แสดงถึงศักยภาพของกองทัพทั้งสองฝ่ายในการเคลื่อนพลจำนวนมากอย่างเงียบเชียบในตอนกลางคืน และการตั้งยันอย่างเหนียวแน่น แม้เสียเปรียบทางกระบวนทัพ กลายเป็นตำนานที่คนญี่ปุ่นจดจำ และจนปัจจุบันก็ยังมีเทศกาลรำลึกถึงศึกดังกล่าว
2
แม้หลังจากนั้นจะมีการปะทะระหว่างชินเก็น กับเคนชินอีก แต่ขุนศึกทั้งสองต่างให้การเคารพซึ่งกันและกันมาก โดยเมื่อแคว้นคะอิถูกพวกโฮโจบอยคอตไม่ส่งเกลือให้ เคนชินกลับเป็นฝ่ายส่งเกลือไปช่วยเมืองชินเก็น บอกว่า “การงดส่งเกลือเป็นการกระทำอันโหดร้าย” และ “ข้าจะเอาชนะด้วยดาบ ไม่ใช่เกลือ”
1
มีบันทึกว่าเมื่อชินเก็นตาย เคนชินต้องนั่งร้องไห้เสียใจ บอกว่าเขาไม่อาจหาศัตรูที่ดีเช่นนี้ได้อีกแล้ว
ประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่า ยุคสงครามเซนโกคุร้อยกว่าปี ไม่อาจหานักรบคู่ปรับที่เสมอเหมือนสองคนนี้ได้จริงๆ
::: ::: :::
สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตามเพจ The Wild Chronicles - เชษฐา
https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat
ได้เลยครับ
facebook.com
The Wild Chronicles - เชษฐา
The Wild Chronicles - เชษฐา, Bangkok, Thailand. 247K likes. คุยเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ และการท่องเที่ยวที่แปลกๆ ของผม
17 บันทึก
28
4
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
งาน มิ.ย 2020
17
28
4
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย