10 มิ.ย. 2020 เวลา 11:21 • สุขภาพ
กาแฟ
รูปภาพกาแฟจากpixabay.com
ประวัติและความเป็นมาคราวๆ
กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดซึ่งได้จาก ต้นกาแฟ หรือมักเรียกว่า เมล็ดกาแฟ คั่ว มีการปลูกต้นกาแฟในมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก กาแฟเขียว (กาแฟซึ่งยังไม่ผ่านการคั่ว) เป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตรซึ่งมีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก กาแฟมีส่วนประกอบของคาเฟอีน ทำให้มีสรรพคุณชูกำลังในมนุษย์ ปัจจุบันกาแฟเป็นเครื่องดื่มซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
เป็นที่เชื่อกันว่าสรรพคุณชูกำลังจากเมล็ดของต้นกาแฟนั้นถูกพบเป็นครั้งแรกในเยเมน แถบอาระเบีย และทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอธิโอเปีย และการปลูกต้นกาแฟในสมัยแรกได้แพร่ขยายในโลกอาหรับ หลักฐานบันทึกว่าการดื่มกาแฟได้ปรากฏขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 อันเป็นหลักฐานซึ่งเชื่อถือได้และเก่าแก่ที่สุด ถูกพบในวิหารซูฟี ในเยเมน แถบอาระเบีย จากโลกมุสลิม กาแฟได้แพร่ขยายไปยังทวีปยุโรป อินโดนีเซีย และทวีปอเมริกา ในระหว่างที่กาแฟเริ่มเดินทางจากทวีปอเมริกาเหนือและตะวันออกกลางสู่ทวีปยุโรป กาแฟได้ถูกส่งผ่านไปยังซิซิลีและอิตาลีในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 จากนั้นผ่านตุรกีไปยังกรีซ ฮังการี และออสเตรียในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 จากอิตาลีและออสเตรีย กาแฟได้แพร่ขยายไปยังส่วนที่เหลือของทวีปยุโรป กาแฟได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมหลายแห่งตลอดประวัติศาสตร์ ในแอฟริกาและเยเมน มันถูกใช้ร่วมกับพิธีกรรมทางศาสนา ผลที่ตามมาคือ ศาสนจักรเอธิโอเปีย ได้สั่งห้ามการบริโภคกาแฟตลอดกาล จนกระทั่งถึงรัชสมัยของ จักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 มันยังได้ถูกห้ามในจักรวรรดิออตโตมันระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 เนื่องจากสาเหตุทางการเมือง และมีส่วนเกี่ยวพันกับกิจกรรมทางการเมืองหัวรุนแรงในทวีปยุโรป
ผลกาแฟ ซึ่งบรรจุเมล็ดกาแฟ เป็นผลผลิตจากไม้พุ่มไม่ผลัดใบขนาดเล็กในจีนัส Coffea หลายสปีชีส์ โดยสายพันธุ์ที่มีการปลูกโดยทั่วไปมากที่สุด ได้แก่ Coffea arabica และกาแฟ "โรบัสต้า" ที่ได้จากชนิด Coffea canephora ซึ่งมีรสเข้มกว่า สายพันธุ์ดังกล่าวมีความทนทานต่อราสนิมใบกาแฟ (Hemileia vastatrix) ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง สายพันธุ์กาแฟทั้งคู่มีการปลูกในละตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปแอฟริกา เมื่อสุกแล้ว ผลดังกล่าวจะถูกเก็บรวบรวม นำไปผ่านกรรมวิธีและทำให้แห้ง หลังจากนั้น เมล็ดจะถูกคั่วในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรสชาติที่ต้องการ และจะถูกบดและบ่มเพื่อผลิตกาแฟ กาแฟสามารถตระเตรียมและนำเสนอได้ในหลายวิธี
กาแฟเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของโลก โดยในปี คริสต์ศักราช 2004 กาแฟเป็นสินค้าการเกษตรส่งออกที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งในจำนวน 12 ประเทศ และเป็นพืชที่มีการส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก ในปี คริสต์ศักราช 2005 กาแฟได้รับการโต้เถียงบางส่วนในด้านการเพาะปลูกต้นกาแฟและผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และมีการศึกษาจำนวนมากที่ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคกาแฟกับข้อจำกัดทางยาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่ากาแฟให้คุณหรือให้โทษกันแน่
ชีววิทยา
ชีววิทยา ความหมาย วิชาว่าด้วยสิ่งที่มีชีวิตเช่นพืชสัตว์ เผื่อคนไม่รู้และไม่เข้าใจ
รูปภาพความหมายชีววิทยาจากgoogle.com
ต้นกาแฟเป็นพืชพื้นเมืองเขตร้อนแถบแอฟริกาและเอเชียใต้ กาแฟถูกจัดให้อยู่รวมกับพืชมีดอก ของวงศ์ Rubiaceae ถูกจัดเป็นต้นไม้ประเภทไม่ผลัดใบ ต้นกาแฟสามารถสูงได้ถึง 5 เมตรถ้าไม่เล็มออก ใบของต้นกาแฟมีสีเขียวเข้มและเป็นมัน ขนาดโดยเฉลี่ยยาว 10-15 เซนติเมตร และกว้าง 6 เซนติเมตร ดอกของต้นกาแฟมีสีขาว มีกลิ่นหอม และจะบานพร้อมกันทั้งต้น ผลกาแฟมีลักษณะรียาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลกาแฟอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อสุก สีของเมล็ดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และเมื่อนำไปผึ่งให้แห้ง สีของเมล็ดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มและสีดำในที่สุด ผลกาแฟแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่สองเมล็ด แต่ผลกาแฟประมาณ 5-10% จะมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว เมล็ดจำพวกนี้จะเรียกว่า พีเบอร์รี่ โดยปกติแล้ว ผลกาแฟจะสุกภายในเจ็ดถึงเก้าเดือน
การคั่ว
รูปภาพการคั่วกาแฟจากsites.google.com
ผลกาแฟและเมล็ดกาแฟต้องผ่านกระบวนการมากมายก่อนที่จะกลายมาเป็นเมล็ดกาแฟคั่ว ขั้นแรก กาแฟจะถูกเลือกสรร โดยใช้มือเป็นส่วนใหญ่ จากนั้น นำมาจัดเรียงตามความสุก สี จากนั้นเนื้อกาแฟจะถูกนำออกโดยเครื่องจักร ส่วนเมล็ดกาแฟจะถูกหมักเพื่อกำจัดชั้นเมือกบาง ๆ ที่เกาะอยู่ตามเมล็ด เมื่อกระบวนการหมักเสร็จสิ้น เมล็ดกาแฟจะถูกล้างทำความสะอาดโดยใช้น้ำบริสุทธิ์คุณภาพสูงเพื่อกำจัดกากที่เกิดจากการหมัก ซึ่งก่อให้เกิดน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนสูงปริมาณมาก หลังจากนั้น เมล็ดกาแฟจะถูกนำไปตากแห้ง จัดเรียงและระบุว่าเป็นเมล็ดกาแฟเขียว
ขั้นตอนต่อไปคือการคั่วเมล็ดกาแฟเขียว โดยปกติแล้ว กาแฟมักจะถูกจำหน่ายหลังจากคั่วแล้ว และกาแฟทุกรูปแบบจำเป็นต้องคั่วก่อนที่จะบริโภค กาแฟสามารถคั่วได้โดยผู้ประกอบการหรือคั่วเองได้ที่บ้าน กระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟจะส่งผลต่อรสชาติของเมล็ดกาแฟ เนื่องจากเมล็ดกาแฟมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและทางเคมี เมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วจะมีมวลลดลงเพราะสูญเสียความชื้นไป แต่จะมีปริมาตรมากขึ้น ทำให้มันมีความหนาแน่นลดลง ความหนาแน่นของเมล็ดกาแฟเองก็ส่งผลต่อความเข้มของกาแฟและความจำเป็นในการบรรจุ กระบวนการคั่วจะเริ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิภายในเมล็ดกาแฟสูงถึง 200 °C แม้ว่าเมล็ดกาแฟแต่ละประเภทจะมีความชื้นและความหนาแน่นที่แตกต่างกัน และยังคั่วด้วยอัตราเร็วที่แตกต่างกัน ระหว่างการคั่ว ปฏิกิริยารีดอกซ์ของน้ำตาลจะเกิดขึ้นภายในเมล็ดกาแฟ หลังจากที่ความร้อนมหาศาลได้เผาแป้งที่อยู่ในเมล็ดกาแฟ และเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวซึ่งจะเริ่มเกรียม และเปลี่ยนสีของเมล็ดกาแฟ ระหว่างกระบวนการคั่ว เมล็ดกาแฟจะสูญเสียซูโครสอย่างรวดเร็วและอาจสูญเสียไปทั้งหมดหากคั่วติดต่อกันเป็นเวลานาน ระหว่างการคั่ว น้ำมันหอม กรดและคาเฟอีนจะอ่อนลง ทำให้รสชาติของกาแฟเปลี่ยนไป ที่อุณหภูมิ 205 °C น้ำมันชนิดอื่นจะขยายขึ้น หนึ่งในนั้นคือ caffeol ซึ่งเกิดขึ้นที่อุณหภูมิ 200 °C ซึ่งทำให้กาแฟมีกลิ่นและรสชาติ
สีของเมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่ว สามารถแบ่งได้ด้วยสายตามนุษย์ออกเป็น อ่อน อ่อนปานกลาง ปานกลาง เข้มปานกลาง เข้มและเข้มมาก วิธีตรวจสอบที่มีความแน่นอนกว่าในการตรวจหาระดับของการคั่ว คือ การตรวจวัดแสงสะท้อนจากเมล็ดกาแฟหลังจากการคั่วแล้ว โดยอาศัยแสงจากแหล่งกำเนิดแสงที่ใกล้กับอินฟราเรดสเปคตรัม เครื่องวัดแสงอย่างประณีตใช้กระบวนการที่เรียกว่า สเปคโตรสโกปี เพื่อคืนจำนวนที่ไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งจะบ่งบอกถึงความสัมพันธ์กับระดับการคั่วของเมล็ดกาแฟหรือการพัฒนารสชาติของมัน เครื่องมือดังกล่าวจะถูกใช้ในการรับประกันคุณภาพของกาแฟในธุรกิจคั่วกาแฟเท่านั้น
การคั่วให้เมล็ดกาแฟมีสีเข้มมักจะทำให้เมล็ดกาแฟมีผิวเรียบขึ้น เพราะว่าเมล็ดกาแฟเหลือใยอาหารอยู่น้อยและจะมีความหวานมากขึ้น การคั่วอ่อน ๆ เมล็ดกาแฟจะเหลือคาเฟอีนสะสมอยู่มาก ทำให้กาแฟมีรสชาติขมอ่อน ๆ และมีรสชาติเข้มขึ้นจากน้ำมันหอมและกรด ซึ่งจะสูญเสียไปหากคั่วเมล็ดกาแฟเป็นเวลานาน ระหว่างการคั่วเมล็ดกาแฟ จะก่อให้เกิดกากเล็กน้อยจากผิวของเมล็ดกาแฟภายหลังการคั่วแล้ว กากจะถูกกำจัดโดยการเคลื่อนไหวของอากาศ แม้ว่าในเมล็ดกาแฟคั่วที่มีสีเข้มกว่าจะมีการเติมกากเพื่อให้เมล็ดกาแฟมีน้ำมันชุ่ม นอกจากนี้ ระหว่างกระบวนการอาจมีการกำจัดคาเฟอีนด้วย เมล็ดกาแฟจะถูกกำจัดคาเฟอีนขณะยังเขียวอยู่ มีหลากหลายวิธีในการกำจัดคาเฟอีนออกจากกาแฟ เช่น การแช่เมล็ดกาแฟในน้ำร้อนหรือการอบเมล็ดกาแฟ จากนั้นใช้ตัวทำละลายในการละลายน้ำมันที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ด้วย การกำจัดคาเฟอีนมักจะทำโดยบริษัทผู้ประกอบการ จากนั้นคาเฟอีนที่ถูกแยกออกมามักจะถูกจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมทางยา
รูปภาพกาแฟจากpixabay.com
การเก็บรักษา
เมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วแล้วจำเป็นต้องได้รับการเก็บรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อคงความสดของรสชาติเอาไว้ เงื่อนไขในการคงความสด คือ ความกดอากาศและความเย็น อากาศ ความชื้น ความร้อนและแสงสว่างถือว่าเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่สำคัญในการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ
ถุงที่พับขึ้นนับว่าเป็นวิธีการทั่วไปที่ลูกค้ามักจะใช้ในการซื้อกาแฟนั้นไม่เหมาะสำหรับการเก็บรักษาในเวลานาน เนื่องจากอากาศสามารถเข้าไปในถุงได้ บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมควรจะเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทมีลิ้นทางเดียวเพื่อป้องกันอากาศไม่ให้เข้าไปในบรรจุภัณฑ์นั้น
รูปภาพกาแฟจากpixabay.com
กระบวนการผลิตกาแฟ
กระบวนการผลิตกาแฟ คือ กระบวนการเปลี่ยนเมล็ดกาแฟให้กลายเป็นกาแฟพร้อมดื่ม
การบ่ม
ในการผลิตกาแฟ วิธีที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันดีนักวิธีหนึ่งได้แก่การบ่ม (Aging) กาแฟหลายๆ ประเภทจะมีคุณภาพดีขึ้นเมื่อผ่านการบ่ม รสเปรี้ยวของมันจะลดลง ในขณะที่ความกลมกลืนของรสชาติโดยรวมก็จะเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตหลายๆ รายมักจะขายเมล็ดกาแฟออกไปหลังจากได้บ่มเอาไว้แล้วถึง 3 ปี และร้านที่ขึ้นชื่อเป็นพิเศษบางร้าน (เช่น "Toko Aroma" ในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย) ถึงกับบ่มเมล็ดที่ยังไม่ได้คั่วไว้ถึง 8 ปีทีเดียว
การบด
ความละเอียดของกากที่ได้จากการบดมีผลอย่างมากต่อรสชาติ ยิ่งบดกาแฟละเอียดเท่าไร ก็จะยิ่งได้รสชาติที่เข้มข้นและครบบริบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น เหตุผลหลักที่บางคนไม่บดละเอียดมากนัก คือเพื่อไม่ให้กากสามารถผ่านตัวกรองชนิดหยาบๆ ออกไปได้ (เช่น cafetière) การผลิตกากกาแฟพร้อมชงมี3วิธีด้วยกัน
การโม่: กดเมล็ดโดยใช้อุปกรณ์หมุนสองตัว ใช้การหมุนเพื่อให้เมล็ดแตก วิธีนี้มีความเสี่ยงน้อยที่เมล็ดจะไหม้ เครื่องบดอาจมีลักษณะเป็นแบบล้อหรือแบบกรวย โดยที่แบบกรวยจะทำงานได้เงียบกว่าและมีโอกาสเกิดการอุดตันน้อยกว่า
Grinder แบบกรวยช่วยรักษากลิ่นส่วนใหญ่ไว้ได้ และสามารถบดได้ละเอียดมาก อีกทั้งกากที่ได้ก็จะมีความละเอียดสม่ำเสมอกันอีกด้วย โม่ที่ทำจากเหล็กซึ่งมีการออกแบบที่ยุ่งยากซับซ้อน อาจทำให้ลดประสิทธิภาพของเฟืองลง ส่งผลให้การบดทำได้ช้าลง ยิ่งการบดช้าลงเท่าไร ก็ยิ่งมีความร้อนเข้าไปในกากกาแฟน้อยลงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงสามารถรักษากลิ่นไว้ได้อย่างดี เนื่องจากสามารถปรับความละเอียดได้หลายระดับมา การบดวิธีนี้จึงเหมาะกับกาแฟทุกประเภท ทั้งแบบที่ทำด้วยเครื่องชงเอสเพรสโซ (Espresso) แบบหยด (Drip) แบบใช้เครื่องต้มให้น้ำซึมเข้า (Percolator) และแบบเฟรนช์เพรส (French Press) เครื่องโม่แบบกรวยที่คุณภาพดียังสามารถบดให้ละเอียดเป็นพิเศษสำหรับใช้ในการทำกาแฟแบบตุรกี ความเร็วในการบดโดยทั่วไปไม่เกิน 500 รอบต่อนาที
เครื่องโม่ประเภทจานหมุน สามารถบดได้รวดเร็วกว่าแบบกรวย (10,000 ถึง 20,000 รอบต่อนาที) และจะส่งผลให้มีความร้อนเข้าไปในกาแฟเล็กน้อย เครื่องแบบนี้เป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดในการผลิตกากละเอียดสม่ำเสมอ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายแบบ กากแบบนี้เหมาะสมมากกับเครื่องชงเอสเพรสโซ่แบบปัมป์ตามบ้าน อย่างไรก็ตามมันไม่สามารถบดให้ละเอียดได้เท่ากับเครื่องแบบกรวย
การสับ: 'เครื่องบด'สมัยใหม่มักใช้วิธีการหั่นเมล็ดกาแฟออกเป็นชิ้นๆ ถึงแม้จะให้ผลเหมือนกับการบดดีๆ โดยทั่วไป คนที่พิถีพิถันมักตำหนิว่าวิธีนี้ให้กาแฟคุณภาพสู้วิธีแบบเก่าไม่ได้
เครื่องบดแบบใบมีด “ปั่น” เมล็ดให้ละเอียดโดยใช้ใบมีดหมุนด้วยความเร็วสูง (20,000 ถึง 30,000 รอบต่อนาที) กากกาแฟที่ได้จะไม่ละเอียดสม่ำเสมอ และจะได้รับความร้อนมากกว่าการใช้เครื่องโม่ เครื่องบดใบมีดจะก่อให้เกิด “ฝุ่นกาแฟ” ซึ่งอาจทำให้ตะแกรงร่อนของเครื่องชงเอสเพรสโซและเครื่องชงเฟรนช์เพรสเกิดการอุดตันได้ ดังนั้นเครื่องบดแบบนี้ จึงเหมาะสมกับเฉพาะเครื่องชงแบบหยด และมันยังสามารถใช้บดเครื่องเทศและสมุนไพรได้เป็นอย่างดี เครื่องชนิดนี้ไม่ควรใช้กับเครื่องชงเอสเพรสโซแบบปัมป์
การบดเป็นผง: กาแฟตุรกีหรือ (เตอร์กิส คอฟฟี่) เป็นการต้มทั้งกากที่ได้จากการบด โดยวิธีการดื่มจะเทดื่มเลยและต่อมาจึงเริ่มมีการกรองดื่มเฉพาะน้ำ วิธีการนี้ให้กากซึ่งละเอียดเกินไปและเหมาะสำหรับการชงแบบนี้เท่านั้น
ประเภทของกาแฟ
รูปภาพกาแฟดำจากsites.google.com
กาแฟดำ เป็นการชงด้วยวิธีการหยดน้ำ อาจเป็นแบบให้น้ำซึมหรือแบบเฟรนช์เพรส เสิร์ฟโดยไม่ใส่นม อาจเติมน้ำตาลได้ ผู้คนมักเข้าใจผิดว่ากาแฟดำกับเอสเพรสโซเป็นอย่างเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วกาแฟทั้งสองชนิดมีข้อแตกต่างกันหลายข้อ ข้อที่สำคัญคือ ถ้วยเสิร์ฟของเอสเพรสโซมีขนาดเล็กกว่า เพราะนิยมดื่มให้หมดในอึกเดียว ปกติแล้วเอสเพรสโซจะไม่ใส่น้ำตาลหรือนม และคนไม่นิยม เอสเพรสโซที่ชงถูกวิธีจะต้องมีฟองสีทองลอยอยู่ด้านบน รสชาติของเอสเพรสโซจะติดปากหลังจากดื่มนานกว่า (15-30 นาที)
รูปภาพเอสเพรสโซ่จากsites.google.com
เอสเพรสโซ่ คือกาแฟที่มีรสแก่และเข้ม ซึ่งมีวิธีการชงโดยใช้แรงอัดไอน้ำหรือน้ำร้อนผ่านเมล็ดกาแฟคั่วที่บดละเอียด ที่มาของชื่อ เอสเปรสโซ มาจากคำภาษาอิตาลี "espresso" แปลว่า เร่งด่วน เอสเปรสโซเป็นกาแฟที่นิยมมากที่สุดในแถบประเทศยุโรปตอนใต้ และด้วยวิธีการชงแบบใช้แรงอัด ทำให้เอสเปรสโซมีรสชาติกาแฟซึ่งเข้มข้นและหนักแน่น ต่างจากกาแฟทั่ว ๆ ไปซึ่งชงแบบผ่านน้ำหยด และเพราะรสชาติเข้มข้นและหนักแน่นอันเป็นเอกลักษณ์นี้เอง ทำให้คอกาแฟดื่มเอสเปรสโซโดยไม่ปรุงด้วยน้ำตาลหรือนม และมักจะเสิร์ฟเป็นชอต (แก้วแบบจอก) เพื่อให้ปริมาณไม่มากจนเกินไป (ประมาณ 1-2 ออนซ์ หรือ 30-60มิลลิลิตร แตกต่างตาม พฤติกรรมการดื่ม ของแต่ละประเทศ) การสั่งเอสเปรสโซตามร้านกาแฟทั่วไป มักสั่งตามปริมาณเป็น "ซิงเกิล" หรือ "ดับเบิ้ล" (ชอตเดียว หรือ สองชอต) เอสเปรสโซมีความไวสูงในการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เพื่อไม่ให้เสียรสชาติจึงควรดื่มตอนชงเสร็จใหม่ ๆ
รูปภาพอเมริกาโน่ หรือ คาเฟ่อเมริกาโน่จากsites.google.com
อเมริกาโน่ หรือ คาเฟ่อเมริกาโน่ คือเครื่องดื่มกาแฟชนิดหนึ่ง ซึ่งมีวิธีการชงโดยเติมน้ำร้อนผสมลงไปในเอสเพรสโซ. การเจือจางเอสเพรสโซซึ่งเป็นกาแฟเข้มข้นด้วยน้ำร้อน ทำให้อเมริกาโนมีความแก่พอ ๆ กับกาแฟธรรมดา แต่มีกลิ่นและรสชาติที่เข้มอันมาจากเอสเพรสโซ อเมริกาโนเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกาแฟดำ แต่ไม่แก่และหนักถึงขั้นเอสเพรสโซ คอกาแฟส่วนใหญ่นิยมดื่มอเมริกาโนโดยไม่ปรุงด้วยนมหรือน้ำตาล เพื่อดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟของอเมริกาโนซึ่งแตกต่างจากกาแฟธรรมดา สำหรับที่มาของชื่ออเมริกาโนซึ่งหมายถึงสหรัฐอเมริกานั้น ว่ากันว่าเอสเพรสโซเพียว ๆ นั้น เข้มข้นเกินไปสำหรับคอกาแฟชาวอเมริกา จึงมีการเสิร์ฟกาแฟเอสเพรสโซซึ่งทำให้เจือจางด้วยน้ำร้อน. แม้ที่มาของชื่อจะหมายถึงกาแฟสไตล์อเมริกา แต่อเมริกาโนก็มิได้เป็นกาแฟที่ชาวอเมริกานิยมดื่ม จนกระทั่งยุครุ่งเรืองของร้านกาแฟแฟรนไชส์ สตาร์บัคส์ ในปี พ.ศ. 2533 แต่ถึงกระนั้นอเมริกาโนก็ไม่จัดเป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมมากนัก
รูปภาพคาปูชิโนจากsites.google.com
คาปูชิโน มีส่วนประกอบหลักคือ เอสเพรสโซ และ นม การชงคาปูชิโนโดยส่วนใหญ่มักมีอัตราส่วนของเอสเพรสโซ 1/3 ส่วน ผสมกับนมสตีม (นมร้อนผ่านไอน้ำ) 1/3 ส่วน และนมตีเป็นโฟมละเอียด 1/3 ส่วนลอยอยู่ด้านบน นอกจากนั้นอาจโรยหน้าด้วยผงซินนามอน หรือ ผงโกโก้เล็กน้อยตามความชอบ ส่วนผสมของคาปูชิโนต่างจากของลาเต้ มาเกียโต้ (latte macchiato) ซึ่งประกอบไปด้วยนมเป็นส่วนใหญ่และนมตีโฟมเพียงเล็กน้อย ในประเทศอิตาลี ผู้คนมักดื่มคาปูชิโนเป็นอาหารเช้าโดยเฉพาะ โดยอาจมีขนมปังแผ่นหรือคุกกี้ประกอบ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าวิถีชีวิตของชาวอิตาลีมักไม่ค่อยรับประทานอาหารเช้าแบบเป็นกิจลักษณะ คาปูชิโนและขนมปังเบาๆ จึงเหมาะเป็นอาหารรองท้องสำหรับยามเช้า และด้วยเหตุนี้ทำให้ไม่ดื่มคาปูชิโนในช่วงอื่นของวัน แต่สำหรับต่างประเทศรวมถึงประเทศไทย การดื่มคาปูชิโน ดื่มได้ทุกเวลาโดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก
รูปภาพมอคค่าจากsites.google.com
มอคค่า (mocha) คือ กาแฟที่มีส่วนผสมของ เอสเพรสโซ่ (esspresso) น้ำนมสด และช็อกโกแลต
การชงกาแฟมอคค่า จะใช้เอสเปรสโซ 1/3 ส่วน ผสมกัน น้ำนมร้อน 2/3 ส่วน มีการชงคล้ายกับกาแฟลาเต้ (latte) แตกต่างกันที่มอคค่า จะมีส่วนผสมของช็อกโกแลต โดยมักจะใส่ในรูปของน้ำเชื่อมช็อกโกแลต เสิร์ฟได้ทั้งแบบร้อนและแบบเย็นใส่น้ำแข็ง มักมีวิปครีมปิดหน้า
มอคค่า อาจหมายถึงกาแฟอะราบิก้า (Arabica) ชนิดหนึ่ง ซึ่งปลูกอยู่บริเวณท่าเรือมอคค่าในประเทศเยเมน กาแฟมอคค่ามีสีและกลิ่นคล้ายช็อกโกแลต อันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้กาแฟมอคค่าเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
รูปภาพลาเต้จากsites.google.com
ลาเต้ เป็นภาษาอิตาลีแปลว่านม ส่วนในประเทศอื่น จะหมายถึง กาแฟลาเต้ หรือเครื่องดื่มกาแฟที่เตรียมด้วยนมร้อน โดยการเทเอสเปรสโซ 1/3 ส่วน และนมร้อนอีก 2/3 ส่วน ลงในถ้วยพร้อมๆ กัน และจะหยอดโฟมนมหนาประมาณ 1 ซม. ทับข้างบน ในประเทศอิตาลี กาแฟลาเต้นี้รู้จักกันในชื่อของ "caffè e latte" ซึ่งหมายถึง กาแฟกับนม ซึ่งใกล้เคียงกับในภาษาฝรั่งเศส คำว่า "café au lait" กาแฟลาเต้เริ่มเป็นที่นิยมนอกประเทศอิตาลีในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980
ในการชงกาแฟลาเต้ บาริสต้า (หรือผู้ชงกาแฟที่ชำนาญงาน) จะใช้วิธีขยับข้อมือเล็กน้อยขณะที่รินนมและโฟมนมลงบนกาแฟ ทำให้เกิดลวดลายต่าง ๆ เรียกว่า ลาเต้อาร์ต (latte art) หรือศิลปะฟองนมในถ้วยกาแฟ
รูปภาพมัคคิอาโตจากsites.google.com
มัคคิอาโต คำว่า “มัคคิอาโต” ในภาษาอิตาเลียนแปลว่า “การทำเครื่องหมาย” ฉะนั้นในโลกของกาแฟ ถ้ามีคำว่ามัคคิอาโตขึ้นมาเมื่อไร ความสวยงามจะต้องบังเกิด ถ้าเราสั่ง “คาเฟ่มัคคิอาโต” ก็จะเป็นกาแฟเอสเพรสโซปิดหน้าด้วยฟองนม ก่อนทำเครื่องหมายด้วยการเทนมอุ่นลงไปตรงกลางแก้วจนเห็นเป็นชั้นสวยงาม ในขณะที่ “ลาเต้มัคคิอาโต” จะเป็นนมร้อนที่ถูกทำเครื่องหมายด้วยกาแฟเอสเปรสโซ
“คาราเมลมัคคิอาโต” (Caramel Macchiato) ซึ่งก็คือนมร้อนผสมคาราเมล แล้วทำเครื่องหมายสีน้ำตาลด้วยกาแฟเอสเปรสโซ ถ้ายิ่งปิดหน้าด้วยฟองนม แต่งหน้าด้วยคาราเมลอีกสักรอบ ก็จะยิ่งสวยหวานเข้าไปอีก
รูปภาพอัฟโฟกาโตจากsites.google.com
อัฟโฟกาโต ในภาษาอิตาลีแปลว่า “ถูกทำให้จม” คือของหวานที่ใช้กาแฟเป็นฐานการปรุง สำหรับ “อัฟโฟกาโต สไตล์ (Affogato style)” หมายถึงการราดหน้าเครื่องดื่มหรือของหวานด้วยเอ็กเพรสโซ และอาจะราดตามด้วยซอสคาราเมล หรือซอสช๊อคโกแลต
รูปภาพกาแฟขาวจากsites.google.com
กาแฟขาว เป็นชาสมุนไพรชนิดหนึ่ง ค้นพบที่เมืองเบรุต นิยมดื่มกันมากในประเทศเลบานอนและซีเรีย และนิยมทานคู่กับ ขนมหวาน ในประเทศทางยุโรปบางประเทศ จะกล่าวถึง ไวต์คอฟฟี (white coffee) ในลักษณะของกาแฟใส่นม ในขณะเดียวกันไวต์คอฟฟีในสหรัฐอเมริกาจะหมายถึง กาแฟที่กลั่นไว้นานจนมีสีคล้ายกับสีเหลือง
รูปภาพกาแฟผงพร้อมชงจากsites.google.com
กาแฟผงพร้อมชง เป็นกาแฟที่ถูกตากจนแห้งกลายเป็นผงหรือเม็ดเล็กๆ ซึ่งละลายน้ำได้ มันมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากกาแฟสดและวิธีการชงก็แตกต่างกันด้วย ความเห็นต่อกาแฟประเภทนี้มีตั้งแต่ “ของเลียนแบบที่สุดจะทนดื่มได้” ไปจนถึง “ทางเลือกที่ดี” และ “ดีกว่าของแท้” ในประเทศที่มันได้รับความนิยม มักจะเรียกมันว่า “กาแฟปูโร (Café Puro) ” ในฐานะที่มันเป็นที่ขยาดของพวกเซียนกาแฟ
ขยาด หมายถึง ครั่นคร้าม, คร้ามกลัว, เข็ดหลาบ
รูปภาพความหมายขยาดจากgoogle.com
รูปภาพกาแฟไอริชจากsites.google.com
กาแฟไอริช คือกาแฟที่ชงแล้วผสมด้วยวิสกี้ และมีชั้นของครีมอยู่ข้างบน จัดเป็นประเภทเหล้ากาแฟ
รูปภาพแฟลท ไวท์จากsites.google.com
แฟลท ไวท์ คือกาแฟที่ได้จากการเทนมที่ผ่านการอุ่นด้วยไอน้ำและมีลักษณะเป้นครีม จากก้นเหยือกลงบนเอ็กเพรสโซหนึ่งช็อต แฟลทไวท์นิยมเสริฟในถ้วยทเซรามิกรงดอกทิวลิป
รูปภาพกาแฟกรองอินเดียจากsites.google.com
กาแฟกรองอินเดีย (มัทราส) (Indian (Madras) filter coffee) นิยมทั่วไปทางภาคใต้ของอินเดีย ทำจากกากกาแฟหยาบๆ ที่ได้จากเมล็ดที่ถูกอบจนไหม้ (อาราบิกา, พีเบอร์รี) ชงด้วยวิธีหยดประมาณสองถึงสามชั่วโมง ในตัวกรองโลหะแบบของอินเดียโดยเฉพาะ ก่อนที่จะนำไปเสิร์ฟกับนมและน้ำตาล โดยปกติมักมีสัดส่วนกาแฟหนึ่งนมสาม
รูปภาพกาแฟสไตล์เวียดนามจากsites.google.com
กาแฟสไตล์เวียดนาม เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้จากการชงแบบหยด ชงโดยการหยดน้ำผ่านตะแกรงโลหะลงไปในถ้วย ซึ่งมีผลให้ได้น้ำกาแฟเข้มข้น จากนั้นนำไปเทผ่านน้ำแข็งลงไปในแก้วที่เติมนมข้นหวานไว้ก่อนแล้ว เนื่องจากการชงกาแฟประเภทนี้ใช้กากกาแฟปริมาณมาก จึงทำให้การชงกินระยะเวลานาน
รูปภาพกาแฟกรีก หรือ กาแฟตุรกีจากsites.google.com
กาแฟกรีก หรือ กาแฟตุรกี ชงด้วยการต้มกากกาแฟละเอียดกับน้ำพร้อมกันในไอบริก ซึ่งเป็นหม้อทำจากทองเหลืองหรือทองแดงมีด้ามยาวและเปิดด้านบน เมื่อชงเสร็จ ก็จะนำไปรินลงในถ้วยเล็กๆ โดยไม่กรองกากกาแฟออก ตั้งกาแฟทิ้งไว้สักพักก่อนดื่ม มักเติมเครื่องเทศและน้ำตาลด้วย
รูปภาพโกปิทูบรูคจากsites.google.com
โกปิทูบรูค เป็นกาแฟสไตล์อินโดนีเซียลักษณะเหมือนกับกาแฟกรีก แต่ชงจากเมล็ดกาแฟหยาบ และต้มพร้อมกับน้ำตาลปอนด์ปึกใหญ่ๆ นิยมดื่มในชวา, บาหลี, และบริเวณใกล้เคียง
9 ข้อดีของกาแฟ
1. ลดความเสี่ยงเป็นโรคนิ่ว
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปี 2002 เผยว่า ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟ 4 แก้วต่อวัน จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีลดลงประมาณ 25% เช่นเดียวกับผลการวิจัยก่อนหน้านี้ที่บอกว่า ผู้ชายที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วย
2. กาแฟช่วยลดความเครียด
เชื่อว่าหลายคนแอบเห็นด้วยกับผลวิจัยนี้ เพราะเมื่อรู้สึกเครียด ๆ เหนื่อย ๆ ทีไร ได้จิบกาแฟสักหน่อยก็จะรู้สึกดีขึ้นใช่ไหมคะ ซึ่งคราวนี้เราการันตีด้วยผลการวิจัยเพิ่มเติมอีกด้วยว่า คนที่ดื่มกาแฟประมาณ 2-3 แก้วต่อวัน จะลดความเครียดได้ประมาณ 15% แต่หากดื่มกาแฟ 4 แก้วต่อวัน จะสามารถลดความเครียดได้ถึง 20% เลยทีเดียว
3. ช่วยกระตุ้นความจำ
ผลการวิจัยจากภาครังสีวิทยาของอเมริกาเหนือกล่าวว่า หากดื่มกาแฟ 2 แก้วต่อวัน จะสามารถพัฒนาความจำ และปฏิกิริยาตอบโต้ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับการวิจัยของอีกสถาบันหนึ่งที่บอกว่า ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป หากดื่มกาแฟมากกว่า 3 แก้วต่อวัน จะมีความจำที่ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ หรือดื่มกาแฟน้อยกว่านี้
ส่วนมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดาก็เผยว่า คนอายุล่วงเข้าวัยกลางคน ควรดื่มกาแฟประมาณ 4-5 แก้วต่อวัน เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมน G-CSF สารที่ช่วยลดความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ด้วย
4. รอดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2
จากการศึกษาของภาคการเกษตรและเคมีอาหารของสหรัฐอเมริกา ทำให้ทราบว่า นักดื่มกาแฟตัวยงจะมีโอกาสรอดพ้นจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 50% เนื่องจากคาเฟอีนมีคุณสมบัติช่วยยับยั้ง hIAPP และโพลีเปปไทด์ ตัวการก่อให้เกิดโปรตีนผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั่นเอง
5. ลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง
มีผลการวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า การดื่มกาแฟวันละ 2-5 แก้วต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับได้ด้วย โดยประสิทธิภาพของคาเฟอีน จะช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์ผิดปกติ และกำจัดสารพิษที่ร่างกายได้รับในระดับหนึ่ง
6. กระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญ
มีผลการวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า คาเฟอีนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเมตาบอลิซึม และอาจจะทำให้น้ำหนักคุณลดลงได้ แต่ล่าสุดผลการวิจัยเมื่อปี 2006 เพิ่งจะได้ข้อสรุปว่า คาเฟอีนในเมล็ดกาแฟสดคั่วบด มีผลกับการลดน้ำหนักในผู้หญิงได้จริง และสามารถลดน้ำหนักเฉลี่ยได้ 7.7 กิโลกรัม ภายใน 22 สัปดาห์เลยทีเดียว
7. ลดความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน
สถาบันการแพทย์อเมริกันได้ทำการวิจัยและพบว่า คาเฟอีนในกาแฟมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน โดยผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้วเป็นประจำทุกวัน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคพาร์กินสันได้ถึง 25% เลยนะจ๊ะ
8. ปลุกความตื่นตัวได้ในทันที
คาเฟอีนมีคุณสมบัติไม่ต่างจากสารกระตุ้นดี ๆ ชนิดหนึ่ง ที่สามารถปลุกความตื่นตัวให้กับร่างกายที่อ่อนล้า หรืออ่อนเพลียได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ยืนยันด้วยการทดลองกับนักกีฬากลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้ดื่มกาแฟระหว่างที่ฝึกซ้อม และพบว่านักกีฬากลุ่มที่ดื่มกาแฟจะสามารถฝึกซ้อมกีฬาได้นานขึ้น เรียกได้ว่ามีความอึดมากกว่าเดิมนั่นเอง โดยความคึกคักที่เกิดขึ้นจะมีระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
9. ลดโอกาสเป็นโรคเกาต์
สำหรับคนที่กลัวตัวเองจะเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ดื่มกาแฟประมาณ 3-6 แก้วต่อวันอย่างต่อเนื่อง เพราะผลการวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งหนึ่งยืนยันแล้วว่า คาเฟอีนมีส่วนช่วยบรรเทาการอักเสบของข้อ เนื่องมาจากกรดยูริกที่เกินขนาดอย่างได้ผล และคนที่ดื่มกาแฟ 6 แก้วต่อวัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ได้ถึง 60%
ภาพทั้งหมดเป็นภาพประกอบอาจจะผิดพลาดประการใดก็แนะนำและติชมได้
เนื้อหาจาก
รูปภาพจาก
กาแฟดำ,เอสเพรสโซ่,อเมริกาโน่ หรือ คาเฟ่อเมริกาโน่,คาปูชิโน,มอคค่า,ลาเต้,มัคคิอาโต,อัฟโฟกาโต,กาแฟขาว,กาแฟผงพร้อมชง,กาแฟไอริช,แฟลท ไวท์,กาแฟกรองอินเดีย,กาแฟสไตล์เวียดนาม,กาแฟกรีก หรือ กาแฟตุรกี,โกปิทูบรูค
โฆษณา