Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มารชรา
•
ติดตาม
10 มิ.ย. 2020 เวลา 06:24 • ไลฟ์สไตล์
เขียนถึง ... ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ... ยังไม่ใช่เครื่องมือที่พอสำหรับการป้องกันการอุ้มหาย
ก่อนอื่นเข้าใจก่อนว่า กฎหมายฉบับนี้ ยังไม่มี ยังไม่ผ่านสภาฯ ...เสนอครั้งล่าสุดในยุค สนช.ก็ยังไม่ผ่านนะครับ ถูกตีกลับ
ทีนี้มาดูกันว่า "สมมติ" ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้จริงๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง
เคสแรก กรณีคุณวันเฉลิม ที่กำลังเป็นประเด็นถูกคนกลุ่มหนึ่งพาตัวขึ้นรถหายไปที่กัมพูชา ในระหว่างอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ... แน่นอนว่า ไม่เข้าข่ายที่จะใช้กฎหมายนี้ ... และถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ยังไม่แน่ว่าจะเข้าเกณฑ์การใช้กฎหมายนี้
เพราะอะไร ... เดี๋ยวมาว่ากันต่อ
มาดูสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้กันก่อน
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ... เป็นร่างกฎหมายที่ต้องเข้าใจก่อนว่า เสนอใช้สำหรับ "เจ้าหน้าที่รัฐ"
หมายความว่า บุคคลที่ถูกทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหาย ต้องอยู่ระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ ถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้ายว่าถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนจะหายไป
แล้วต่างจากกรณีที่ไม่มีกฎหมายนี้อย่างไร??
มาดูกันก่อนว่า ปัจจุบัน หากมีคนที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐสูญหายไป ทำอะไรได้บ้าง
คำตอบคือ ทำอะไรแทบไม่ได้เลย ถ้าไม่รอดชีวิตกลับมา ... เพราะกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้สามารถฟ้องเจ้าหน้าที่ในข้อหา "กักขังหน่วงเหนี่ยว" ได้ แต่ผู้ฟ้อง ต้องเป็นเจ้าทุกข์ แม้แต่ภรรยาหรือลูกก็ฟ้องแทนไม่ได้ เมื่อเจ้าทุกข์หายตัวไปแล้ว ใครจะมาฟ้อง
ถ้าถูกฆ่าตาย ก็ต้องพบศพ หรือ ชิ้นส่วนที่ระบุตัวตนได้ ก็จะกลายเป็นคดีฆาตกรรม แต่ก็ยากเช่นกันที่จะเอาผิดใคร เพราะการอุ้มหายทำให้ไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่า อย่าลืมว่า คนที่ถูกอุ้มหายเจอเพียงแค่ชิ้นส่วนเล็กน้อย หลังเวลาผ่านไปนานมากแล้ว
ดังนั้นอย่างมากที่สุด คือ ญาติฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำผิดมาตรา 157 คือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรื่องไปไหน... ไป ป.ป.ช.
ถ้าเป็นทหาร ขึ้นศาลทหารเป็นผู้ไต่สวน
งั้นมาลองเปรียบเทียบกรณีของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ
กรณี "บิลลี่" ถ้ามีกฎหมายป้องกันปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะเป็นยังไง
ข้อแรก .... บิลลี่ ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนหายไป และถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายว่าอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่กลุ่มนั้นอ้างว่า ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว
ข้อแรก ถ้ามีกฎหมายนี้ แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าปล่อยตัวไปแล้ว ก็ยังจะถูกระบุเป็นผู้ต้องสงสัยโดยอัตโนมัติ ในฐานะเป็นผู้ควบคุมตัวคนที่หายไปไว้ ก่อนจะหายไป
คนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูญหาย คือ คู่สมรส หรือ ลูก ก็สามารถเป็นผู้เสียหายฟ้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายได้
นั่นหมายความว่า กฎหมายนี้ ทำหน้าที่ตั้งแต่การป้องกัน ... เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่รู้ว่า ถ้าคนที่เขาควบคุมตัวอยู่เกิดหายไป พวกเขาจะมีเรื่องวุ่นวายตามมาอีกเพียบเลย ดังนั้นเจตนาของกฎหมายจึงเหมือนเป็นการคุ้มครองผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ว่าจะไม่ถูกซ้อมทรมานและจะไม่ถูกทำให้หายไป
หลักฐานที่พบพร้อมชิ้นส่วนกะโหลกบิลลี่ ประกอบด้วย ถังขนาด 200 ลิตร ผ่านความร้อน 200-300 องศาเซลเซียส เหล็กเส้น เศษไม้ผ่านความร้อนสูงเช่นกัน .... หลัง DSI ทำสำนวนส่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คน ปรากฎว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องทั้งข้อหาฆาตกรรมและข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว โดยระบุว่า วิธีการตรวจ ไมโตรคอนเดรีย DNA ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นชิ้นส่วนของบิลลี่จริง (แต่ไม่มีวิธีอื่นมาโต้แย้ง) และไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่า
มาดูกรณี ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกทำให้หายไป
แน่นอน คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยา ฟ้องเจ้าหน้าที่ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ได้ เพราะไม่ถือเป็นผู้เสียหาย.. ถ้าจะฟ้อง ทนายสมชาย ต้องรอดมาฟ้องเอง
จะบอกว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ถูกพบเห็นว่าอยู่กับทนายสมชายเป็นกลุ่มสุดท้าย เป็นผู้ต้องสงสัยก็ไม่ได้
ที่สำคัญ คือ ระบุไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทนายสมชายถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว เพราะถึงแม้กลุ่มคนที่ถูกระบุว่าอยู่กับทนายสมชยก่อนหายตัวไปจะเป็นตำรวจ แต่อาจไม่ได้อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีคำสั่งควบคุมตัวเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีหมายจับ .... ถ้าจะเข้าข่าย อาจเจ้าข่ายการลักพาตัว มากกว่า
แปลว่า ถึงมีกฎหมายนี้ ก็อาจใช้ไม่ได้กับกรณีทนายสมชาย
กลับมาดูกรณีคุณวันเฉลิม ถูกพาตัวไปที่กัมพูชา
ใช้กฎหมายนี้ไม่ได้แน่นอน ชัดเจนว่า อยู่นอกราชอาณาจักร .... คนที่พาตัวไป ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของไทยหรือไม่ ... ยิ่งบอกไม่ได้ว่าอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีคำสั่ง ไม่มีหมาย ไม่มีการประสานอย่างเป็นทางการกับทางการกัมพูชา
แต่ประเทศไทย ก็เคยลงนามเมื่อ 9 มกราคม 2555 ใน "อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ" แต่ไทยก็ยังไม่ได้ลงสัตยาบัน เป็นรัฐภาคี
หลักฐานที่ระบุว่า สำนวนการสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 7 ยืนยันว่า ไม่พบการปล่อยตัวบิลลี่ และภาพจากกล้องวงจรปิดเกี่ยวกับเส้นทางของรถก็ขัดแย้งกับคำให้การของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง แต่ข้อหาที่สั่งฟ้องมีเพียงความผิด มาตรา 157 คือ เจ้าหน้าที่อุทยานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฐานควบคุมตัวบิลลี่ในข้อหามีน้ำผึ้งป่า แต่กลับไม่ส่งตัวบิลลี่ให้ตำรวจตามขั้นตอน ทั้งที่มีหลักฐานว่านำตัวบิลลี่ขึ้นรถไปด้วย และอ้างว่าปล่อยตัวแล้วหลังเอาตัวขึ้นรถมาประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนบิลลี่จะหายไป
เขียนมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงสงสัยว่า ... แล้วจะเขียนทำไม สรุปคือ
กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ควรมีโดยเร็ว อย่างน้อยก็ป้องปรามให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมตัวใครไว้ไม่กล้าทำอะไรไม่ดี และเห็นชัดว่า หากมีกฎหมายนี้ รูปคดีของกรณี "บิลลี่' จะเปลี่ยนไปทันที
แต่ถึงมีกฎหมายนี้ เหตุการณ์อย่างกรณีคุณวันเฉลิม ก็อาจจะเกิดขึ้นอีก ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมืออื่นอีกที่จะป้องกันเหตุแบบนี้
หรือ เหตุการณ์แบบกรณีทนายสมชาย ที่การปฏิบัติการอาจไม่ได้เกิดขึ้นในรูปแบบ "การปฏิบัติหน้าที่" จะทำอย่างไร เพราะถึงจะเข้าข่ายลักพาตัว แต่ภรรยาและลูกก็เป็นผู้เสียหายไม่ได้ด้วยซ้ำ ก็กลายเป็นไม่มีเจ้าทุกข์ แถมดำเนินคดีข้อหาฆ่าก็ไม่ได้อีก เพราะไม่พบศพ
ยังพบช่องโหว่ที่สำคัญ ซึ่งพบระหว่างเขียนงานชิ้นนี้ เพราะแม้จะมีกฎหมายใหม่ ก็ยังไม่ครอบคลุมในกรณีหนึ่ง คือ กรณีที่การปฏิบัติการอุ้ม ทำให้หายสาบสูญ ไม่กลับมา ไม่พบศพ และไม่ได้กระทำในนามของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่ไม่ได้ทำในฐานะเจ้าหน้ารัฐ หรือ ไปจ้างมาเฟียที่ไหนก็ได้มาอุ้มไป
เมื่อหายไปเลย และคนทำไม่ถูกระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ก็จะทำให้ยังคงไม่มีผู้เสียหาย ทำอะไรไม่ได้ในทางกฎหมายเลย
ดังนั้นอาจต้อง "เพิ่ม" ไปว่า ถ้าถูกทำให้หายไปโดย "บุคคลใดก็ตาม" ก็ต้องให้คู่สมรสหรือลูกเป็นผู้เสียหายได้ด้วย
สุดท้าย กลับมาที่ "คดีบิลลี่" ถึงจะพบชิ้นส่วนที่ระบุได้ว่าเสียชีวิต ... จะดำเนินคดีอย่างไร เมื่อไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่า
มารชรา สนับสนุนชัดเจน "ไม่มีใครควรถูกทำให้หายไป"
เพราะมันสะท้อนว่า กระบวนการยุติธรรมของคุณมันอ่อนแอ
#มารชรา
มีข้อมูลเพิ่มเติมจาก วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายในคดีของ "บิลลี่" นะครับ จากคนที่ทำงานในคดีอุ้มหายจริงๆ ... วราภรณ์ ระบุว่า ...
ผลจากการตีความอย่างเคร่งครัดของศาลฎีกาที่ตีความไม่ให้ญาติที่ใกล้ชิดเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรงเท่านั้นจึงจะสามารถดำเนินคดีได้ ส่งผลให้กรณีอุ้มหายไม่สามารถดำเนินคดีได้เลย (เพราะไม่มีใครรอดชีวิตกลับมา) เพราะฉะนั้นอาจจะต้องแก้ไขกฎหมายในส่วนความผิดหน่วงเหนี่ยวกักขังด้วย ให้ญาติสามารถดำเนินคดีแทนได้
ส่วนช่องทางกฎหมายในการตรวจสอบการใช้อำนาจควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ที่ญาติสามารถทำได้ ในปัจจุบันมีเพียงช่องทางเดียวคือ การยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและขอให้ปล่อยตัว ตาม ป.วิ.อาญา ม.90 ที่ภรรยาบิลลี่เคยยื่นตอนบิลลี่หายตัวไป
โดยหลักการการไต่สวนการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่ามีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบจริงหรือไม่ แต่คดีบิลลี่ยังไม่ทันให้เจ้าหน้าที่ได้พิสูจน์เลยว่าควบคุมตัวหรือปล่อยไปแล้ว รายละเอียดไปหาอ่านคำพิพากษาเอานะคะ
ในร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายมีการกำหนดกระบวนการไต่สวนนี้ไว้ในกฎหมายด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ศาลที่วินิจฉัยคดีเข้าใจเจตนารมณ์ของกระบวนการนี้มากขึ้น เพราะตัวร่างกฎหมายก็บังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องทำตามข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกคนที่อยู่ในการควบคุมตัวจะมีความปลอดภัยระหว่างควบคุมตัว แน่นอนว่าหากเกิดกรณีซ้อมทรมานหรือสูญหาย เจ้าหน้าที่ทีควบคุมตัวจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยทันที
1 บันทึก
11
7
3
1
11
7
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย