10 มิ.ย. 2020 เวลา 07:13 • การศึกษา
ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือเฉพาะทางในสถานศึกษานั้นสำคัญไฉน
วันนี้ขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เราอยู่ในวงการการศึกษามาเกือบ 10 ปี
เราทำงานในสายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในมหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจเน้นทางด้านการวิจัยควบคู่กับการเรียนการสอน
ในสายงานของเรานั้น ในงานวิจัยมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่อาศัยความเชี่ยวชาญในการควบคุมการทำงานของเครื่องมือ ตลอดจนความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องมือนั้นๆเป็นอย่างมาก เครื่องมือดังกล่าวมีตั้งแต่เครื่องมือพื้นฐานทางสายงานช่างทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น เครื่องกลึง เครื่องเจาะ เครื่องตัดโลหะ หรือ เครื่องมือที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากๆเช่นเลเซอร์ หรือพวกปั๊มสุญญากาศ เป็นต้น
ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาตลอดจนนักวิจัยในสายงานที่เกี่ยวข้องที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้แวะเวียนกันมาใช้งานอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเครื่องมือพื้นฐานในทางการช่างก็จะมีการแนะนำการใช้เครื่องมือ วิธีปฏิบัติ
เบื้องต้น ตลอดจนสิ่งที่ต้องระมัดระวังในการใช้เครื่องมือนั้นๆควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติ
ส่วนเครื่องมือเฉพาะทาง จะมีการแนะนำก็ต่อเมื่อมี “ผู้ใช้” เข้ามาใช้และ “ผู้ดูแล” จะอธิบายการใช้งาน ตลอดจนความปลอดภัยในการใช้งานเป็นกรณีๆไป
ซึ่งในบางครั้งการแนะนำในระหว่างปฏิบัติอาจไม่เพียงพอ ในบางครั้งพบว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความไม่ระมัดระวังและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้งานนั้นๆ อุบัติเหตุนี้อยู่ในระดับตั้งแต่ไม่ร้ายแรงจนกระทั่งร้ายแรงได้ค่ะ
ดังนั้นความจำเป็นถึงการศึกษาความปลอดภัยอย่างจริงจังในการใช้เครื่องมือเฉพาะทางจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่ในสเกลของสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก
ขนาดกลางต่างๆอีกด้วย
สำหรับการศึกษาในสายงานวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือเฉพาะทางนั้น ในมหาวิทยาลัยของรัสเซียมีการเรียนการสอนวิชา “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” หรือภาษารัสเซียเรียกว่า “безопасность жизнедеятельности” ตัวย่อ БЖД เป็นวิชาแยกไปเฉพาะ
เกร็ดทวนการอ่านภาษารัสเซีย: “безопасность” มีตัว “о” 2 ตัว แต่ไม่มีตัวใดที่ออกเสียง “โอ” เลย เนื่องจากตัวที่ stress คือ ตัว “a” ที่เป็นสระ “อา” ในพยางค์ที่ 3 ค่ะ ดังนั้นคำนี้จึงอ่านว่า “เบซอะปาสนัส” ส่วนตัวอักษรแรกของ
คำว่า “жизнедеятельности” คือตัว “Ж” ออกเสียงว่า “แขร์ (แบบต้องมีตัว “z” ผสมด้วย) “ ตัวนี้เป็นตัวอักษรที่คนไทยเราออกเสียงลำบากที่สุด เพราะว่ามันต้องใส่เสียงตัว “Z” มาด้วย ภาษาไทยมีแต่ “ช.ข้าง” อย่างเดียว แต่
ภาษารัสเซียมี ч, Ж ш, และ щ ที่ออกเสียง “ช.ช้าง” ที่แตกต่างกันไปค่ะ ไว้จะอธิบายให้ฟัง
ด้วยเหตุที่มีการเรียนการสอนวิชา БЖД นี้เอง ทำให้เมื่อนักศึกษาจะเขียนเล่มโครงงานระดับป.ตรี หรือเขียนวิทยานิพนธ์ในระดับป.โท นักศึกษาทุกคนต้องเพิ่มเนื้อหา “ความปลอดภัยในการทำงาน” ของเครื่องมือที่นศ.ใช้ เข้ามาในเล่มรายงานด้วยโดยต้องเขียนแยกเป็นบทๆหนึ่งเลยทีเดียว
ตัวอย่างความปลอดภัยในการทำงานในเล่มวิทยานิพนธ์ป.โท
จะเห็นได้ว่ารัสเซียตระหนักในการให้ความรู้ความปลอดภัยของการทำงาน การใช้งานเครื่องมือเฉพาะทางเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมใน
การทำงานที่สามารถปฏิบัติจริงได้อย่างประสิทธิภาพนั่นเองค่ะ
โฆษณา