Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE STANDARD
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
10 มิ.ย. 2020 เวลา 09:07 • ประวัติศาสตร์
จากแอฟริกาถึงอเมริกา การค้าทาส และจุดเริ่มต้นของการเหยียดผิวในสหรัฐฯ
การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน จากการใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็นในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เมืองมินนีแอโปลิส มลรัฐมินนิโซตา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวแอฟริกัน-อเมริกันในหลายเมืองทั่วอเมริกา
1
จากการประท้วงอย่างสันติด้วยการชุมนุมและเดินขบวนในช่วงกลางวัน บานปลายไปสู่การประท้วงที่ชุลมุนในช่วงเย็นถึงกลางคืน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม พร้อมกับการผสมโรงของกลุ่มที่เข้าปล้นสินค้าตามร้านค้า
หลายคนอาจตั้งคำถามว่าเหตุใดการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ จึงนำไปสู่การประท้วงที่บานปลายถึงเพียงนี้ และเหตุใดการเหยียดผิวยังคงเป็นปัญหาที่รุนแรงในอเมริกา คำตอบของคำถามเหล่านี้อยู่ในประวัติศาสตร์การสร้างชาติอเมริกาและโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยังคงซ่อนการเลือกปฏิบัติเอาไว้
จากแอฟริกาถึงอเมริกา สู่โลกใหม่ที่ทุกอย่างไม่คุ้นตา
ชาวแอฟริกันถูกนำมายังทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรกโดยเจ้าอาณานิคมชาวสเปนที่นำชาวแอฟริกันมาเป็นแรงงานทาสในมลรัฐฟลอริดาในปัจจุบันในช่วงทศวรรษที่ 1560 อย่างไรก็ตาม การใช้แรงงานทาสขนานใหญ่เริ่มต้นขึ้นบนเกาะเจมส์ทาวน์ มลรัฐเวอร์จิเนีย หนึ่งใน 13 มลรัฐซึ่งครอบครองโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จนกระทั่งในปี 1619 การค้าขายทาสชาวแอฟริกันในทวีปอเมริกาถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพ่อค้าชาวยุโรปที่แล่นเรือออกจากทวีปของตัวเองเพื่อไปนำตัวชาวแอฟริกันมาขายยัง ‘โลกใหม่’ แห่งนี้
ว่ากันว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จนถึงศตวรรษที่ 19 มีชาวแอฟริกันถูกลักพาตัวและนำขึ้นเรือที่แล่นมาจากยุโรปถึง 12.5 ล้านคน แต่มีชีวิตรอดจนได้เหยียบ ‘โลกใหม่’ เพียงประมาณ 10.7 ล้านคน โดยสภาพความเป็นอยู่บนเรือเป็นไปอย่างทารุณ ไม่เพียงแต่เขาต้องเผชิญกับกลุ่มคนที่หน้าตาไม่เหมือนพวกเขา พูดภาษาที่พวกเขาไม่เข้าใจ แต่ชาวแอฟริกันส่วนใหญ่ยังถูกล่ามโซ่และนั่งเบียดเสียดกันจนทุกคนอยู่ในสภาพหวาดกลัว
จนเมื่อมาถึงอเมริกา ชาวแอฟริกันเหล่านี้ยังถูกปฏิบัติราวกับเป็นสินค้า ผู้ซื้อจำนวนมากที่ต้องการซื้อทาสจะวิ่งมายังเรือซึ่งเพิ่งจอดเทียบท่าเพื่อเลือกดู ‘สินค้า’ ชาวแอฟริกันบางคนถูกนำไปประมูลต่อสาธารณะที่อนุญาตให้ผู้ประมูลสามารถตรวจสอบ ‘สินค้า’ ด้วยการจับดูก่อนได้
1
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1600 นี้ ชาวแอฟริกันที่เป็นทาสยังไม่ถูกมองว่าเป็น ‘คนดำ’ ที่มีสถานะต่ำกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ เพียงเพราะสีผิว เพราะในเวลานั้นคนที่เข้ามาเป็นคนรับใช้และทาสไม่ได้มีเพียงคนดำ แต่ยังมีคนขาวจากยุโรปด้วย มีบันทึกว่าแม้จะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะใช้แรงงานคนดำตลอดชีวิต ในขณะที่แรงงานคนอื่นมีสัญญาการใช้แรงงานอย่างชัดเจน แต่ก็มีกรณีนี้คนดำสามารถกลายเป็นอิสระเช่นกัน
จุดเปลี่ยนสำคัญของสถานะของชาวแอฟริกันในอเมริกาคือคำตัดสินในปี 1640 ต่อกรณีที่ จอห์น พันช์ คนรับใช้ชาวแอฟริกัน (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ถือเป็นคนสัญชาติอเมริกัน) หลบหนีจากนายจ้างของตัวเอง แต่ครั้งนี้พันช์ไม่ได้หลบหนีไปคนเดียว หากยังมีคนรับใช้ชาวดัตช์และชาวสกอตที่หลบหนีไปด้วย อย่างไรก็ตาม แทนที่ทุกๆ คนจะได้รับบทลงโทษแบบเดียวกัน กลับกลายเป็นว่าคนรับใช้ชาวดัตช์และชาวสกอตต้องทำงานเพิ่มจากเวลาตามสัญญา แต่สำหรับพันช์ซึ่งเป็นชาวแอฟริกันนั้นจะต้องใช้แรงงานต่อไปเรื่อยๆ และนี่คือเอกสารชิ้นแรกที่มีการระบุถึงการเป็นทาสตลอดชีวิตเอาไว้
3
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากคำตัดสินดังกล่าวคือการใช้ยุทธศาสตร์แบบ ‘แบ่งแยกและปกครอง’ ทำให้คนขาวที่เป็นชนชั้นแรงงานยากจนกลายเป็นพันธมิตรของคนขาวที่มีสถานะร่ำรวย แทนที่จะจับมือกับคนดำที่อยู่ในชนชั้นเดียวกัน และร่วมมือกันประท้วงบอยคอตไม่ทำงานดังที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสมัยนั้น
อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้สถานะของคนแอฟริกันในอเมริกายิ่งย่ำแย่ลงไปอีกคือกรณีของ เอลิซาเบธ คีย์ หญิงสาวลูกครึ่งอังกฤษ-แอฟริกัน เอลิซาเบธเกิดจากแม่ที่เป็นคนรับใช้ชาวแอฟริกันกับพ่อ โทมัส คีย์ ซึ่งเป็นคนขาวเจ้าของไร่ หลังจากปฏิเสธว่าเอลิซาเบธไม่ใช่ลูกของตัวเองมาโดยตลอด โทมัสจำนนกับพยานจนต้องยอมรับว่าเอลิซาเบธเป็นลูก และนำเธอเข้าพิธีศีลจุ่มตามศาสนา
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของเอลิซาเบธไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ก่อนที่โทมัสจะเสียชีวิตลง เขาได้มอบเอลิซาเบธไว้ในความดูแลของเจ้าของไร่ผู้ร่ำรวยอีกคนหนึ่งในฐานะคนรับใช้ และเมื่อเธออายุครบ 15 ปี เธอก็จะเป็นอิสระตามกฎหมายของอาณานิคมที่บังคับใช้กับบุตรนอกสมรสที่เกิดในสมัยนั้น
แต่ก่อนเธอจะเป็นอิสระ เธอถูกขายให้กับเจ้านายอีกคน ซึ่งเธอพบรักกับคนรับใช้ชาวอังกฤษที่เจ้านายใหม่ของเธอนำมาเพื่อใช้แรงงานในไร่ของเขาในโลกใหม่นี้ และมีลูกด้วยกันหนึ่งคน
ในปี 1655 วิลเลียม กรินสเตด สามีของเอลิซาเบธ ซึ่งใช้แรงงานครบตามกำหนด และกลายมาเป็นอัยการเพราะมีความรู้ทางกฎหมาย เป็นตัวแทนเอลิซาเบธในการฟ้องร้องทายาทของเจ้าของไร่ที่จำแนกเอลิซาเบธและลูกของเธอเป็นทาส โดยให้เหตุผลว่าพ่อของเอลิซาเบธเป็นคนผิวขาวซึ่งเป็นอิสระ ดังนั้นเธอและลูกของเธอจึงควรได้รับอิสรภาพเช่นกัน ตามกฎหมายของอังกฤษที่กำหนดว่าสถานะทางกฎหมายของลูกเป็นไปตามสถานะของบิดา และผู้ที่ถือศีลจุ่มแล้วไม่สามารถเป็นทาสได้
ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้เอลิซาเบธและลูกเป็นบุคคลอิสระ และให้เจ้าของไร่ชดใช้ให้บุคคลทั้งสองด้วย นี่ควรจะเป็นชัยชนะของชาวแอฟริกันที่ถูกนำมารับใช้ในอเมริกา หากสภาของเวอร์จิเนียไม่มองว่าการตัดสินดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อสถานะของคนขาว ในปี 1960 สภาของเวอร์จิเนียประกาศว่าคนรับใช้ผิวดำต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต และการเข้าพิธีศีลจุ่มหรือไม่ไม่มีผลต่อสถานะความเป็นทาส ต่อมาสภายังประกาศให้สถานะของบุตรขึ้นอยู่กับสถานะของมารดา นั่นหมายความว่าลูกของแม่ที่เป็นทาส ไม่ว่าพ่อจะเป็นใครก็คงต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต
การประกาศอิสรภาพและสถานะของคนดำ
ตลอดทศวรรษที่ 17 และ 18 ความพยายามปลดแอกตัวเองจากพันธนาการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และบางครั้งก็เกิดขึ้นจากการจับอาวุธขึ้นสู้ของคนผิวดำ ขณะเดียวกันคนอังกฤษก็พยายามลดทอนศักดิ์ศรีของคนดำลงเรื่อยๆ ด้วยการจำกัดการเป็นพลเมืองให้เป็นของคนขาวเท่านั้น นอกจากนี้ยังจำกัดการถือครองทรัพย์สินของทาสที่เป็นคนดำด้วย
จนกระทั่งการประกาศอิสรภาพในปี 1776 อันเป็นจุดกำเนิดของประโยคที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน พวกเขาได้รับมอบสิทธิที่ไม่สามารถถูกพรากออกไปเมื่อกำเนิด อันได้แก่ สิทธิในการมีชีวิต ในการมีอิสรภาพ และการแสวงหาความสุข” อย่างไรก็ตาม มนุษย์ที่ว่าเท่าเทียมกันนั้นไม่ได้รวมเอาทาสชาวแอฟริกันเข้าไว้ด้วย แม้แต่เหล่านายพลผู้ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษและก่อตั้งอเมริกาก็ยังครอบครองทาส
อันที่จริงในช่วงสงครามอิสรภาพ ชาวแอฟริกันจำนวนมากเข้าร่วมเป็นทหารทั้งฝั่งของเจ้าอาณานิคมอังกฤษและฝั่งที่ต้องการจะปลดแอกเพื่อจะได้กลายเป็นอิสระเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ขณะเดียวกันภายหลังการประกาศอิสรภาพ มลรัฐเพนซิลเวเนีย นิวยอร์ก และนิวเจอร์ซีย์ ก็เริ่มออกกฎหมายยกเลิกทาส
แต่เพราะการใช้แรงงานทาสเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกา ซึ่งขับเคลื่อนโดยการปลูกฝ้าย การใช้แรงงานทาสจึงยังไม่หมดไปในอเมริกา แม้ว่าในปี 1808 สภาคองเกรสประกาศให้การค้าทาสข้ามประเทศผิดกฎหมาย การขยายตัวของการทำไร่ฝ้ายทางตอนใต้ของอเมริกา และการค้นหาทำเลใหม่ที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรในภาคตะวันตกขับเร่งให้เกิดการค้าทาสภายในประเทศ อันเป็นผลให้ชาวแอฟริกันนับล้านคนถูกพรากจากครอบครัวอันเป็นที่รัก
การนำตัวเอาทาสชาวแอฟริกันไปยังภาคใต้ยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าของไร่ผู้ถือครองทาส เพราะกฎหมายขณะนั้นนับทาสจำนวน 3/5 เป็นจำนวนประชากร (นั่นหมายถึงว่าทาส 1 คนมีค่าเพียงแค่ 3/5 คน) เมื่อจำนวนทาสในภาคใต้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จำนวนผู้แทนจากรัฐทางใต้ในคองเกรสเพิ่มมากขึ้นจนสามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่อาจส่งผลต่อการใช้แรงงานทาสได้ง่ายขึ้น
จากสงครามกลางเมืองสู่การปลดปล่อยทาส
ในขณะที่การค้าทาสยังคงเข้มข้นในตอนใต้ของอเมริกา มลรัฐทางตอนเหนือกลับเริ่มเห็นการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสิทธิของคนดำ ในปี 1827 ซึ่งเป็นปีที่นิวยอร์กผ่านกฎหมายปลดปล่อยทาส หนังสือพิมพ์ Freedom’s Journal ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่จัดทำโดยคนดำแห่งแรกก็ถือกำเนิดขึ้น หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนดำซึ่งเป็นอิสระแล้วทางตอนเหนือของอเมริกา และต่อต้านวาทกรรมที่กล่าวถึงคนดำและการค้าทาสในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ของอเมริกา หนังสือพิมพ์เล่มนี้เป็นตัวจุดประกายให้เกิดหนังสือพิมพ์ของคนดำอีกหลายฉบับในเวลาต่อมา
ยิ่งความพยายามในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองเพิ่มมากขึ้น แรงต้านจากคนขาวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1840 บางเมืองในมลรัฐเวอร์จิเนียเริ่มมีการออกตรวจตราตามที่อยู่ของทาสในไร่ต่างๆ เพื่อป้องกันการซ่องสุมที่จะนำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐ ในปี 1850 สภาคองเกรสผ่านกฎหมายป้องกันการหลบหนีของทาส โดยระบุว่าพลเมืองทุกคนต้องให้ความช่วยเหลือในการจับกุมทาสคนดำที่ทำการหลบหนี และหากไม่ให้ความช่วยเหลือถือว่ามีความผิด
ที่แย่กว่านั้นคือหากคนดำที่เป็นอิสระถูกจับกุมและกล่าวหาว่าเขาเป็นทาสที่หลบหนีมา คนดำคนดังกล่าวจะไม่สามารถยืนยันสถานะของตัวเองต่อหน้าศาลได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นอิสระหรือเป็นทาส คนดำไม่มีสถานะพลเมืองตามที่รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ นั่นทำให้แม้แต่คนดำที่เป็นอิสระก็ไม่มีสิทธิพลเมืองเท่ากับคนขาวคนอื่นๆ
กฎหมายที่เพิ่มสิทธิของนายทาสเหนือตัวทาสยิ่งทำให้ความแตกต่างทางความคิดระหว่างมลรัฐทางตอนเหนือซึ่งเป็นสังคมการเกษตรและพึ่งพิงการใช้แรงงานทาส และมลรัฐทางตอนใต้ซึ่งเป็นสังคมอุตสาหกรรมและต้องการแรงงานอิสระก่อตัวมากยิ่งขึ้น ยิ่งนานวันไปความขัดแย้งยิ่งแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนจนเกินกว่าที่จะประนีประนอมได้
1
ในปี 1860 อับราฮัม ลินคอห์น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาประกาศตัวต่อต้านการใช้แรงงานทาสอย่างชัดเจน ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อรัฐทางตอนใต้เป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดการถอนตัวจากรัฐบาลอเมริกา และก่อตั้งสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America) อันประกอบด้วย เซาท์แคโรไลนา มิสซิสซิปปี ฟลอริดา แอละแบมา จอร์เจีย ลุยเซียนา และเท็กซัส จากนั้นจึงมีเวอร์จิเนีย อาร์คันซอ เทนเนสซี นอร์ทแคโรไลนา เข้าร่วมในเวลาต่อมา
ในสายตาของรัฐบาลอเมริกา การถอนตัวและจัดตั้งสมาพันธรัฐนั้นถือเป็นเรื่องไม่ชอบธรรมและยอมรับไม่ได้ ส่งผลให้สงครามกลางเมืองเริ่มต้นขึ้นในปี 1861 และแม้ในช่วงแรกลินคอห์นจะประนีประนอมกับรัฐทางใต้ว่าจะยกเลิกการขยายตัวของการใช้แรงงานทาส แต่ไม่ยกเลิกการใช้แรงงานทาสที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว แต่กระแสของสังคมในขณะนั้นทำให้ลินคอห์นตัดสินใจสนับสนุนการยกเลิกทาสทั้งหมด
สงครามสิ้นสุดลงในปี 1865 ด้วยการยอมแพ้ของฝ่ายสมาพันธรัฐ ในปีเดียวกัน สภาคองเกรสได้ผ่านมติการแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ซึ่งห้ามการใช้แรงงานทาสทั่วอเมริกา ในปีต่อมาสภาคองเกรสผ่านกฎหมายสิทธิพลเมืองแห่งปี 1866 ที่ให้สิทธิที่เท่าเทียมกันกับพลเมืองชาวอเมริกัน อันหมายรวมทุกคนที่เกิดในอเมริกา
ในปี 1969 สภาคองเกรสผ่านมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 15 (ให้สัตยาบันในปี 1970) ซึ่งให้สิทธิในการเลือกตั้งกับพลเมืองทุกคน (ไม่รวมผู้หญิง) โดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ สีผิว หรือประวัติการรับใช้ในกองทัพ
แต่กระนั้นการเลือกปฏิบัติต่อคนดำในอเมริกาก็ไม่ได้หายไปโดยสมบูรณ์ ปลายศตวรรษที่ 19 หลายรัฐมีการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อแบ่งแยกคนขาวออกจากคนเชื้อชาติอื่นๆ ในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นบนรถไฟ รถบัส ร้านอาหาร โรงเรียน ห้องน้ำ หรือแม้แต่ตู้น้ำดื่ม จนนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนดำระหว่างปี 1954-1968 ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทความต่อไป
และแม้การต่อสู้ในครั้งนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนดำ แต่การเหยียดสีผิวก็ยังคงอยู่ในสังคมอเมริกัน ยิ่งไปกว่านั้น ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสในอเมริกายังแทบไม่ถูกพูดถึงในโรงเรียนด้วยซ้ำ เหตุเพราะการถกเถียงถึงประวัติศาสตร์ในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่อง ‘น่ากระอักกระอ่วน’
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Yonaia Robinson, “ELIZABETH KEY GRINSTEAD (1630–1665),” Blackpast, July 14, 2016,
https://www.blackpast.org/african-american-history/grinstead-elizabeth-key-1630
- John Biewen, “The Invention of Race,” Seing White, n.d.,
https://www.wnyc.org/story/invention-race/
.
- Mike Cole, Racism: A Critical Analysis.
- Mike Cole, Racism: A Critical Analysis (London: Pluto Press, 2016)
- Cory Turner, “Why Schools Fail To Teach Slavery’s ‘Hard History,’” NPR, February 4, 2018,
https://www.npr.org/sections/ed/2018/02/04/582468315/why-schools-fail-to-teach-slaverys-hard-history
.
- “African Americans at Jamestown,” August 9, 2019,
https://www.nps.gov/jame/learn/historyculture/african-americans-at-jamestown.htm
59 บันทึก
128
4
61
59
128
4
61
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย