10 มิ.ย. 2020 เวลา 17:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
พระรามถมถนน - God or Geology?
วรรณกรรมเก่าแก่ที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ "รามเกียรติ์" มีตอนหนึ่งกล่าวถึงกองทัพลิงของพระราม ช่วยกันนำหินถมทะเลเพื่อสร้างเป็นสะพานไปสู่กรุงลงกา ในฉบับ "รามายณะ" แบบสากลนั้น ระบุว่า เป็นการสร้างสะพานจาก "ทมิฬนาดู" ข้ามช่องแคบปาล์กเพื่อไปสู่เกาะ "ศรีลังกา"
ในรามายณะฉบับสากล กล่าวถึงเรื่องราวของสองสามีภรรยา "ราม" และ "สีดา" ผู้ถูกเนรเทศออกมาจากอาณาจักรของตัวเอง และถูกบังคับให้ดำรงชีวิตอยู่ในสถานะ "ฤาษี"
วันหนึ่ง "ราวณะ" หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ "ทศกัณฐ์" พญายักษ์ผู้มี 10 หน้า 20 มือ เกิดตกหลุมรักนางสีดาเข้า จึงเสกกวางทองเพื่อหลอกล่อและขโมยตัวนางไปที่เกาะศรีลังกา รามจึงต้องออกเดินทางเพื่อตามตัวสีดากลับคืนมา แต่ก่อนอื่น เขาจะต้องหาทางข้ามทะเลความยาวกว่า 50 กิโลเมตร ที่คั่นกลางระหว่างอินเดียและศรีลังกาให้ได้เสียก่อน
(อนึ่ง บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ เกร็ดเรื่องรามเกียรติ์บางส่วนบางตอนอาจเพี้ยนไปจากสิ่งที่เราเคยทราบมา)
:: สะพานพระราม ::
"ทมิฬนาดู (Tamil Nadu)" เป็นรัฐหนึ่งของประเทศอินเดียในปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของอนุทวีปอินเดีย ชายฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับช่องแคบปาล์ก (Palk Strait) และอ่าวมันนาร์ (Gulf of Mannar) และมีชายแดนทางทะเลติดกับประเทศศรีลังกา (via wikipedia)
5,000 ปีหลังกองทัพของรามถมทะเลจนแล้วเสร็จ ทีมนักโบราณคดีของอินเดียทำการสำรวจบริเวณช่องแคบปาล์ก ที่ซึ่งมีตะกอนหินปูนทับถมจนทะเลตื้นเขิน ลักษณะเป็นทางคดเคี้ยวคล้ายกับถนน ความยาวประมาณ 48 กิโลเมตร รู้จักกันในชื่อ "รามเซตู (Ram Setu) หรือ สะพานพระราม (Ram’s Bridge) หรือ สะพานของอดัม (Adam's Bridge)"
สะพานพระราม ได้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างความเชื่อ กับ วิทยาศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน
คำถามสำคัญคือ: มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากฝีมือมนุษย์?
"นับเป็นเรื่องที่เซ้นซิทีฟมากครับ เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของชาวฮินดูนับล้านคน"
Dayanath Tripathi อดีตประธานสภาการวิจัยประวัติศาสตร์แห่งอินเดีย (Indian Council of Historical Research (ICHR)) กล่าว
โดย ICHR เป็นสปอนเซอร์หลักของการสำรวจสะพานพระรามในครั้งนี้
:: The Sethusamudram Shipping Canal Project ::
ย้อนกลับไปปี 2005 เกิดโปรเจค "Sethusamudram Shipping Canal" ที่ต้องการขุดลอกสะพานพระรามออกจากกัน เพื่อเปิดทางให้เรือขนส่งสินค้าสามารถเดินทางผ่านช่องแคบโดยไม่ต้องเสียเวลาอ้อมเกาะศรีลังกา (ไอเดียนี้มีต้นกำเนิดจากพวกอังกฤษสมัยเป็นเจ้าอาณานิคมของอินเดีย ตั้งแต่ราวปี 1800)
โปรเจคไม่ราบรื่นอย่างที่คิด โดยเฉพาะในหมู่ชาวฮินดู (ที่มีประชากรรวมกันกว่า 900 ล้านคน) ออกมาคัดค้านรัฐบาลอย่างหนัก พวกเขาเชื่อว่า สะพานพระรามเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญและเก่าแก่กว่ากำแพงเมืองจีน
Sethusamudram Shipping Canal
นอกจากนั้น กลุ่มผู้ประท้วงยังได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองชื่อดังอย่างนาย Subramanian Swamy ผู้ประกาศว่า สะพานพระรามเป็น "อนุสรณ์สถานแห่งชาติ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู"
กรมสำรวจโบราณคดีอินเดีย (Archaeological Survey of India (ASI)) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่กำกับดูแลด้านโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถานของอินเดีย ออกมาโต้แย้งผู้ประท้วงว่า
สะพานพระรามเป็นเพียงสันทราย ที่เกิดจากการสะสมของตะกอนทรายระหว่างช่องแคบเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นแนวหินปูนคล้ายกับสะพาน
"ไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นชิ้นเป็นอันจากนักโบราณคดีเลยนะครับ ว่าสันดอนตรงนี้เป็นฝีมือมนุษย์ ที่พวกเขาเอามาประท้วงก็แค่ความเชื่อที่เล่าต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น" Tripathi วิพากษ์วิจารณ์
ปี 2013 โปรเจคเป็นอันล้มเลิก ไม่ใช่เพราะคำคัดค้านจากชาวฮินดู หากแต่เป็นเหตุผลที่ว่า "การก่อสร้างจะทำลายระบบนิเวศน์ทางทะเล และเพิ่มความเสี่ยงที่แนวชายฝั่งจะเสียหายจากคลื่นสึนามิ"
โปรเจค Sethusamudram Shipping Canal ยังคงอยู่ในสถานะถูกระงับไว้ชั่วคราวจนถึงปัจจุบัน
:: เหตุผลในการสำรวจทางทะเล ::
โครงการสำรวจสะพานพระราม เริ่มต้นขึ้นในปี 2017 นำโดยนาย Alok Tripathi นักโบราณคดีใต้น้ำจากมหาวิทยาลัย Assam (อนึ่ง นาย Alok Tripathi ไม่ได้เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับนาย Dayanath Tripathi อดีตประธาน ICHR)
Alok Tripathi เคยทำงานกับกรมสำรวจโบราณคดีของอินเดีย (ASI) ผลงานเด่นของเขาก็คือ เป็นหัวหน้าทีมสำรวจเมืองโบราณ "ทวารกา (Dwaraka)" ในปี 2007 ก่อนที่จะลาออกจาก ASI ในปี 2009 ด้วยเหตุผลส่วนตัว
ทวารกา เมืองลึกลับที่เชื่อว่าจมอยู่ใต้ท้องทะเล
เขาเล่าให้ฟังว่า ASI ออกแถลงการณ์ประกาศให้สะพานพระราม เป็นเพียง กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของโลก (Geological Processes) ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยออกสำรวจอย่างจริงจังเสียด้วยซ้ำ
"เพราะงั้น จะเอาข้อมูลอะไรไปโต้แย้งพวกที่เชื่อว่า กองทัพลิงเอาหินมาถมถนนได้ล่ะครับ?"
ในการประชุมวิชาการเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2017 นาย Yellapragada Sudershan Rao ประธานสภาการวิจัยประวัติศาสตร์อินเดีย (ICHR) คนปัจจุบัน กล่าวว่า สะพานพระราม เปรียบเสมือนพระนางเฮเลนแห่งกรุงทรอย
เราทราบกันอยู่แล้วว่ากรุงทรอยมีอยู่จริงจากการขุดค้นทางโบราณคดี แต่ตัวพระนางเฮเลนยังคงเป็นเพียงเรื่องเล่า เพราะไม่มีใครพบหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับพระนางเลย
สถานที่ขุดค้นทางโบราณคดีกรุงทรอย
อย่างไรก็ตาม Alok Tripathi ก็ยังพอยอมรับเรื่องที่ว่า สันดอนทรายแห่งนี้อาจเกี่ยวข้องกับชุมชนโบราณบนเกาะศรีลังกา
"มันอาจไม่ได้สร้างขึ้นจากมนุษย์นะครับ แต่พื้นที่ตรงนี้ถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แน่ๆล่ะ ผมก็หวังว่ามันจะได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถานอย่างจริงจังเสียที"
อย่างไรก็ตาม โครงการสำรวจอาจไม่ราบรื่นเฉกเช่นเดียวกับโปรเจคขุดลอกช่องแคบปาล์ก พวกเขาอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนจนถึงหลายปี ในการฝ่าแรงกดดันจากชาวฮินดู รวมไปถึงความวุ่นวายเกี่ยวกับการเมืองหลังจากมีพรรคฝ่ายค้านออกมาสนับสนุนผู้ประท้วง
การประท้วงโครงการขุดลอกช่องแคบปาล์กในช่วงต้นปี 2013
:: ข้อเท็จจริงของสะพานพระราม ::
หลังจากนาซ่าเผยแพร่ภาพถ่ายสะพานโบราณที่เชื่อมต่ออินเดียกับศรีลังกาเมื่อราวปลายปี 2002 ก็ถูกชาวเน็ตแต่งเติมเสริมต่อไปเองว่า สะพานมีอายุเก่าแก่ถึงหลัก "เป็นล้านปี" นอกจากนั้นยังดันไปสอดคล้องกับตำนานมหากาพย์ "รามายณะ" และถูกเชื่อมโยงกันมั่วซั่วว่าเป็นยุคสมัยเดียวกันกับภาพถ่ายจากนาซ่า
นาย Jayant Vishnu Narlikar นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับทาง Times of India ว่า "ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารอ้างอิงใดๆ ยืนยันว่าสะพานพระราม กับ มหากาพย์รามายณะ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกัน"
ด้านนักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวอินเดีย นาย Ram Sharan Sharma กล่าวว่า “รามายณะไม่ได้เก่าแก่ขนาดนั้น แล้วเมื่อล้านๆปีก่อน ก็ยังไม่มีมนุษย์แบบในปัจจุบันด้วย”
นอกจากนี้นาซ่ายังใช้พื้นที่ของ Times of India ออกมาปฏิเสธว่า ไม่เคยแถลงการณ์บ่งชี้ว่าแนวสันดอนทรายดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับมหากาพย์ชื่อดัง หรือสร้างขึ้นจากฝีมือมนุษย์
ในปี 2007 ข่าวนี้ได้เกิดเป็นประเด็นใหญ่อีกครั้งเมื่อพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) ซึ่งเป็นพรรคฮินดูชาตินิยม ได้กล่าวอ้างชื่อนาซ่าว่าเป็นผู้ยืนยันอายุของสะพาน นอกจากนั้น งานวิจัยทางโบราณคดีก็พบว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในศรีลังกามาตั้งแต่ยุคบรรพกาลราว 1,750,000 ปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับอายุของสะพานแห่งนี้
ใบปลิวหาเสียของของพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) ในปี 2014 (via wikipedia)
แต่นาย Michael Brukus โฆษกของนาซ่าในขณะนั้นได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของ BJP และนิตยสาร New Scientist ระบุว่า กลุ่มฮินดูชาตินิยมกำลังพยายามผลักดันให้สันทรายแห่งนี้เป็นอนุสรณ์ทางศาสนา
อย่างไรก็ดี เมื่อ 1.75 ล้านปีก่อน ยังไม่มีมนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens) กำเนิดขึ้นแต่อย่างใด มีเพียงมนุษย์โฮโมอิเรกตัส (Homo erectus) ที่คาดกันว่าสามารถสร้างเครื่องมือหินได้ และเพิ่งจะเริ่มรู้จักการใช้ไฟเมื่อราว 1 ล้านปีก่อน ก่อนสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 2 แสนปีที่แล้ว (ข้อมูลจาก Encyclopedia Britannica)
ต่อมา ทีมสำรวจจากศูนย์เพื่อการสำรวจระยะไกล มหาวิทยาลัย Bharathidasan ระบุว่าสะพานแห่งนี้อาจมีอายุเพียง 3,500 ปี โดยศึกษาข้อมูลจากแนวปะการังใต้ทะเล
ดังนั้น คำกล่าวอ้างที่ว่า แนวสันทรายดังกล่าวถูกสร้างจากมนุษย์เมื่อล้านกว่าปีก่อนจึงถูกปัดตกไป และแม้ว่าตำนานรามายณะจะมีมาก่อนการบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า กองทัพลิงขนก้อนหินเพื่อถมทำถนนไปสู่เกาะศรีลังกาอยู่ดี
อ่านเพิ่มเติม:
โฆษณา