11 มิ.ย. 2020 เวลา 06:22 • การศึกษา
พยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm) ภัยร้ายใกล้ตัวสุนัข
>>ทราบหรือไม่ สุนัข 1ใน 10 ตัวเป็นพาหะของโรคพยาธิหนอนหัวใจ
>>สุนัขบางตัว อาจไม่แสดงอาการใดๆจากโรคพยาธิหนอนหัวใจเลย
พยาธิหนอนหัวใจคืออะไร ติดต่อสัตว์เลี้ยงของเราได้อย่างไร?
พยาธิหนอนหัวใจ หรือ Heart worm เป็นพยาธิที่อยู่ในกระแสเลือด และเมื่อโตเต็มวัย จะอาศัยอยู่ที่หัวใจห้องล่างขวา (right ventricle) และ หลอดเลือดใหญ่ pulmonary artery ที่จะส่งเลือดไปที่ปอด จากนั้นพยาธิตัวเต็มวัยก็จะสืบพันธุ์ ออกลูกหลาน และปล่อยตัวอ่อนพยาธิ เข้าสู่กระแสเลือด
พยาธิหนอนหัวใจบริเวณหัวใจและหลอดเลือด
พาหะนำโรคนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน คือยุง แมลงที่พบได้ทั่วประเทศไทยค่ะ เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศเขตร้อนชื้น ทำให้เราพบยุงได้ตลอดปี โดยเฉพาะหน้าฝนค่ะ
การติดต่อ
โดยยุง ไปกัดและดูดเลือดสุนัข ที่มีตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจ ผ่านไป 10-14วัน ตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจก็เติบโตในตัวของยุง และยุงตัวนั้น ก็มากัดและดูดเลือดสุนัขของเรา (L3 3-4วัน) ทำให้ได้รับเชื้อ
หลังจากได้รับเชื้อมา ตัวอ่อนก็จะอยู่ในเนื้อเยื่อนาน 45-65วัน (L4) และพัฒนาเป็นพยาธิตัวเต็มวัย และอาศัยในหัวใจ และหลอดเลือด ภายใน4-5เดือน โดยพยาธิตัวเต็มวัย อาจมีความยาวลำตัวได้มากถึง 1 ไม้บรรทัด และสามารถอาศัยอยู่ในร่างกายสุนัขได้นานถึง 6-7ปี และตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจ อาศัยได้นาน 1-2 ปี
วงจรชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจ
ความรุนแรงที่ส่งผลต่อสุขภาพ และชีวิตอย่างไร?
ขึ้นกับ
- จำนวนของพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัย ที่อาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือด
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ระยะเวลาที่ติดเชื้อ
โดยยิ่งมีจำนวนพยาธิหนอนหัวใจเยอะ ติดเชื้อเป็นเวลานาน และระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี อาการจะยิ่งรุนแรงค่ะ พบได้ตั้งแต่ไม่แสดงอาการ จนถึงขั้นหัวใจล้มเหลว
อาการ
ซึม อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจหอบ ไอแห้งๆ และอาจพบน้ำในท้อง หรือท้องมานได้
สิ่งที่ต้องระวังคือ ...
โรคแทรกซ้อน หากมีพยาธิหนอนหัวใจจำนวนมาก อาจทำให้ไปขัดขวางการไหลเวียนของระบบเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และหัวใจวายได้
นอกจากนี้พยาธิตัวแก่ที่ตาย ก็จะไปอุดตันหลอดเลือดที่ไหลเวียนเข้าสู่ปอด ทำให้ความดันโลหิตสูง และหัวใจวายได้ค่ะ
การตรวจวินิจฉัย
ทำได้ไม่ยาก และรอผลไม่นานค่ะ โดยสัตวแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเลือด และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ชุดตรวจแอนติเจนพยาธิหนอนหัวใจ (heartworm testkit)
- Fresh blood smear ตรวจหาตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจในกระแสเลือด
สุนัขของเราจะมีความเสี่ยงเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจหรือไม่?
ไม่ว่าสุนัขเราจะเลี้ยงในบ้าน ในคอนโด นอกตัวบ้าน หรือข้างถนน ก็มีโอกาสติดค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับลักษณะการเลี้ยงค่ะ หากบริเวณที่เลี้ยง มีโอกาสพบยุงมาก และมีสุนัขบริเวณใกล้เคียง ก็จะมีโอกาสได้รับเชื้อมาก และเนื่องจากว่า เราไม่สามารถควบคุมไม่ให้สุนัขโดนยุงกัดได้ 100% การป้องกันไว้ก่อน เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดค่ะ
การป้องกัน
1. ป้องกันภายนอกตัวสุนัข โดยหลีกเลี่ยงการเลี้ยงในพื้นที่ที่มียุงชุกชุม เช่น เลี้ยงในตัวบ้านปิด กางมุ้ง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หรือใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
2. ป้องกันภายในตัวสุนัข
ปัจจุบันมีตัวยาสำหรับป้องกันพยาธิหนอนหัวใจให้เลือกหลากหลายประเภท มีผลิตภัณฑ์หลายแบบ ตามความสะดวกของเจ้าของสัตว์ ความเหมาะสมกับลักษณะการเลี้ยงค่ะ โดยแนะนำป้องกันเป็นประจำทุก 1 เดือน และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ ควรอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ค่ะ
ยา และผลิตภัณฑ์ป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ
1.ยาฉีด : มีทั้งแบบประจำรายเดือน และรายปี
2.ยาหยอดหลัง spot on
3.ยากิน
ดังนั้น เมื่อเราทราบถึงความรุนแรงของพยาธิหนอนหัวใจ และปัญหาสุขภาพของสัตว์เลี้ยงที่ตามมาแล้ว เจ้าของควรให้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับวัคซีน ยาป้องกันเห็บหมัด และยาถ่ายพยาธิ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ
โฆษณา