11 มิ.ย. 2020 เวลา 08:01 • สุขภาพ
ผัดไทย … ใครทำ
Pad Thai ... Who made it?
ผัดไทย อาหารเลื่องชื่อของประเทศไทยที่ใครๆก็ต้องพูดถึง ไม่ว่าคุณจะมาจากส่วนไหนของโลกใบนี้เมื่อคุณมาถึงประเทศไทยแล้วหากไม่ได้ชิมผัดไทยแล้วไซร้ ย่อมถือกันว่ายังมิถึงราชอาณาจักรไทยดอกนะเจ้าค่ะ จริงฤาไม่? … แม้ขนาดคนไทยเองก็นิยมทานผัดไทยกันมาก เพราะผัดไทยนั้นถือเป็นอาหารที่ปรุงง่าย ใช้วัตุดิบหาต้องเยอะไม่ แถมอร่อยถูกปากคนไทยเสียอีกด้วย จึงทำให้ผัดไทยนั้นเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับอาหารระหว่างวันได้ดีเลยทีเดียวละเจ้าค่ะ
แล้วพี่ท่านทั้งหลายทราบฤาไม่เจ้าค่ะว่าผัดไทยนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วเจ้าผัดไทยเนี่ยมันมีที่มาที่แท้จริงอย่างไรกัน ?! หากยังไม่ทราบความเป็นไปเป็นมาที่แท้จริง วันนี้พี่ท่านทางหลายก็โปรดเตรียมกระทะและตะหลิว ติดเตารอที่จะผสมผัดไทยไปพร้อมๆกันกับฉันได้เลยเจ้าค่ะ
ผัดไทยเป็นอาหารที่เกิดขึ้นมาในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เจ้าค่ะ ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชาติไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากการกำลังตกอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และขณะนั้นก๋วยเตี๋ยวซึ่งเป็นอาหารจีน กำลังแพร่ขยายและเป็นที่นิยมอย่างมากภายในประเทศตอนนั้นเจ้าค่ะ
และด้วยเหตุนี้เองที่ไทยเรากำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และก๋วยเตี๋ยวกำลังได้รับความนิยม รัฐบาลจึงได้มีการส่งเสริมให้คนไทยนั้นบริโภคก๋วยเตี๋ยวมากขึ้น เพราะเนื่องด้วยก๋วยเตี๋ยว นั้นมีกรรมวิธีการผลิตที่มีราคาที่ถูก รสชาติอร่อย แถมถูกปากและยังสามารถปรุงรสชาติได้ตามแต่ความพอใจของแต่ละคนอีกด้วย
ดังความในคำประกาศของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อเรื่องก๋วยเตี๋ยวในภาวะเศษฐกิจตกต่ำ ความว่า
“อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็มหวาน พร้อมทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเต๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน คิดชามละห้าสตางค์ วันหนึ่งจะมีคนก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่ง ค่าก๋วยเตี๋ยวของไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์ เท่ากับเก้าแสนล้านบาทเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้นก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเล ทั่วกัน ไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงินมันเอง” (อ้างอิง ปรัศนีย์ เกศะบุตร,2554, น.137)
หลังจากที่ก๋วยเตี๋ยวเป็นที่นิยมอย่างมาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้มีแนวคิดที่จะลบความเป็นจีนออกจากอาหารจีนโดยมิให้เหลือความหมายของการเป็นอาหารจีนอีกต่อไป พร้อมกับได้สถาปนา “ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย” แล้วใส่ความเป็นไทยทั้งหมดลงไปแทน ด้วยการนำเส้นก๋วยเตี๋ยวมาผัดกับเต้าหู้เหลืองซอยแห้ง กุ้งแห้ง ใบกระเทียม ไข่ ถั่วงอกดิบ ใส่กุ้งแทนเนื้อหมู เพราะในตอนนั้นคนไทยไม่นิยมทานเนื้อหมู เพราะเนื้อหมูเป็นอาหารที่ชาวจีนที่นิยมทานกันเจ้าค่ะ
จะว่าไปแล้วหากถามว่าอาหารจำพวกผัดนี้เป็นอาหารของคนไทยเราหรือเปล่า ฉันก็ต้องขอตอบตามตรงเจ้าค่ะว่า หาใช่กรรมวิธีของไทยเราไม่เจ้าค่ะ หากแต่เป็นกรรมวิธีที่เริ่มต้นหลังจากที่ไทยเรานั้นมีการติดต่อกับจีน และชาวจีนเนี่ยเขาก็ได้เอาเครื่องโลหะที่นำความร้อนกับกรรมวิธีการผัดที่ต้องใช้พวกน้ำมันเข้ามาในประเทศไทยด้วยจึงทำให้ไทยเรารับเอาอิทธิพลการปรุงอาหารด้วยกรรมวิธีผัดแบบใช้น้ำมันมานั้นเองเจ้าค่ะ
จะว่าไปแล้ว ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยในตอนนั้น มิใช่เพียงแค่เป็นอาหารที่ช่วยลดต้นทุนของประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจของไทยกำลังแย่เพียงอย่างเดียวไม่ แต่ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย นั้นยังสามารถช่วยลดความเลื่อมล้ำทางสังคมได้อีกด้วย เป็นก๋วยเตี๋ยวผัดไทยที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารของคนทุกชนชั้น ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็สามารถทานได้หมดทุกคนนั้นเองเจ้าค่ะ
และนี้ก็คือที่มาของ “ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย” อาหารที่เกิดจากความหลากหลายของวัฒนธรรมในประเทศไทย ที่ได้หลอมรวมไทยไว้ ให้เป็น “ไทยแท้” อย่างในทุกวันนี้เจ้าค่ะ
และก่อนที่ฉันจะจบบทความนี้ ฉันอยากจะบอกกับทุกคนสำหรับคนที่งงว่าจะเขียน “ผักไท” หรือ “ผัดไทย” ดี ฉัน!ก็ขออนุญาตตอบอย่างเต็มภาคภูมิได้เลยเจ้าค่ะว่า “ผัดไทย” เจ้าค่ะเพราะไทยเรานั้นเป็นคนทำ
ผัดไทย … ไทยทำ ไทยปรับใช้
Le Siam
“สยาม … ที่คุณต้องรู้”
เขียนและเรียบเรียงโดย : Le Siam

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา