12 มิ.ย. 2020 เวลา 01:00
ทำไมถึงไม่ควรเอาทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้
บทความเกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ผมว่าคงมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการเงินและเศรษฐกิจ เขียนเอาไว้มากมายทั้งในส่วนของความหมาย หน้าที่ หรือมูลค่าแล้ว ถ้าเขียนก็คงจะซ้ำกับคนที่มีความรู้มากกว่าผมแน่นอน แต่มันมีคำถามแบบบ้านๆ ว่า ในเมื่อประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสินทรัพย์ก้อนนี้ราว 235,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 7.2 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับที่ 13 ของโลก แล้วทำไมไม่เอาเงินก้อนนี้ เบิกมาใช้จ่าย หรือนำมาสร้างสาธารณูปโภค มันเบิกมาใช้ได้ไหม หรือควรเบิกมาใช้หรือไม่ วันนี้ขอเขียนในมุมของผมจากความเข้าใจเพื่อให้อ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ
1
1. ทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นเหมือนเงินหนุนหลังค่าเงินหลักของเงินแต่ละสกุล ในอดีตมักเลือกจะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐมาค้ำค่าเงิน เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐถือเป็นเงินที่มีความเสถียรและสหรัฐถือเป็นประเทศที่มีทองคำสำรองมากที่สุด เพราะทองคำคือโลหะมีค่าที่ใช้ในการคำประกันค่าเงินไว้ ไม่ให้เงินที่พิมพ์ออกมาเป็นแค่กระดาษเปล่าๆ ไร้คุณค่า แต่ปัจจุบันทุกประเทศมีการค้าขายกับประเทศอื่นเพิ่มขึ้น ค่าเงินหลักๆ ในตะกร้าเงินโลกแข็งค่ามากขึ้น เช่นเงินปอนด์ เงินเยน จึงทำให้มีการสำรองเงินตราสกุลอื่นเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นเงินบาทที่เราใช้จับจ่ายในระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้า ก็มีพลังของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศปนอยู่ด้วย ขืนเราดึงเงินนี้มาใช้สุ่มสี่สุ่มห้าเงินกระดาษที่เราใช้อยู่ก็จะเสื่อมค่าลง ทำให้ความน่าเชื่อถือของธนบัตรนั้น ๆ ลดลงด้วย
4
สมัยเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศไทยต่ำมากเกินกว่าที่จะมีเงินหนุนหลังเงินบาท เพราะทุนสำรองฯ หายไปหมดจึงทำให้ไทยต้องกู้เงินดอลลาร์สหรัฐ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพื่อมาโปะทุนสำรองฯ ที่ร่อยหรอ เพื่อทำให้เงินบาทน่าเชื่อถือ ไม่อย่างนั้นค่าเงินบาทจะกลายเป็นแค่เศษกระดาษ ซึ่งถ้าถึงตอนนั้นคือเข้าขั้นวิกฤตแล้ว และปัจจุบันหนี้ IMF ก้อนนั้นบวกดอกเบี้ยใช้คืนไปหมดแล้ว
1
ประเด็นเรื่องการกู้ IMF นั้นก็คือการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าไปปล่อย supply เงินบาท เพื่อลดการแข็งค่าลง สั้น ๆ คือ การขายเงินบาท ซื้อเงินตราต่างประเทศ การที่เราขายเงินบาท ไม่ใช่แค่เราพิมพ์เงินบาทไปขายเฉย ๆ เพราะอย่างนั้นเท่ากับพิมพ์กระดาษอย่างเดียว ตามหลักแล้วแบงค์ชาติก็จะดูดซับปริมาณเงินบาทที่ออกไปด้วยการใช้พันธบัตรดูดเงินกลับกลับมา ซึ่งตรงนี้แหล่ะที่อาจจะมีคนพูดว่า เราต้องกู้ แต่ก็เป็นการกู้เงินบาท ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดภาวะเงินเฟ้อขนาดหนักได้ ซึ่งแน่นอนการออกพันธบัตรรัฐบาล ถ้าแบงค์ชาติให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ถ้าออกพันธบัตรมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หมายความว่า มีภาระต้องจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 1 หมื่นล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นต้นทุนของแบงค์ชาติ จะว่าไปมันก็คือต้นทุนของคนไทยทุกคน ทางแบงค์ชาติถึงไม่ค่อยยอมตอบสนองเมื่อมีคนบอกว่า ก็แค่พิมพ์เงินบาทออกไปเลยไม่ต้องกู้กลับ ในทางหลักเศรษฐศาสตร์อันตรายมาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมไม่พิมพ์แบงค์มาเยอะๆ เรื่องการเงินมันก็ไม่ได้ง่าย เหมือนอย่างที่หลายคนนึกว่า เงินแข็งก็พิมพ์เงินออกแจกประชาชนไปสิ มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น
2
2. ทุนสำรองระหว่างประเทศเกิดจากหลายๆ วิธีทั้งในรูปของทองคำ พันธบัตรรัฐบาลต่างชาติ และตราสารหนี้ทางการเงิน มาจากการที่ธนาคารกลางเข้าไปลงทุนหรือซื้อหาเอาไว้ ส่วนเงินตราต่างประเทศนั้นเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหรือการเกินดุลการค้า (การส่งออกมากกว่าการนำเข้า) ซึ่งจะทำให้มีเงินตราต่างประเทศส่วนเกิน สุดท้ายเงินเหล่านั้นจะถูกแลกเปลี่ยนเป็นทอดๆ จนไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทยในที่สุด
เกิดจากการลงทุนจากต่างชาติก็ได้ เช่น ต่างชาติมาตั้งโรงงานในไทยเอาเงินมาลงทุนซึ่งเป็นเงินสกุลต่างประเทศ สมมุติเป็นดอลลาร์สหรัฐจะมาซื้อที่ตั้งโรงงานในเมืองไทย เขาก็ต้องแลกเป็นเงินบาทมาซื้อ ดังนั้นเงินดอลลาร์นี้หมันกลับไปที่แบงค์ชาติผ่านระบบอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร สมมุติในสมมุติถ้าวันหนึ่งเขาจะถอนทุนกลับประเทศ หรือขายที่ดินทิ้ง เขาก็ต้องเอาเงินกลับไปในรูปแบบของเงินสกุลเดิม เช่นดอลลาร์ แบงค์ก็ต้องมีเงินดอลลาร์ให้เขา ซึ่งนี่คือเหตุผลว่าทำไมทุนสำรองระหว่างประเทศมันถึงไม่สมควรไปเอาออกมาใช้สุ่มสี่สุ่มห้า เพราะเงินนี้ไม่ใช่ของเราจริง ๆ มันเป็นของเอกชนทั้งหลายที่ลงทุนก็ดี หรือมาท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยก็ดี แต่ถ้าอยากให้เงินต่างประเทศเหล่านี้นอนนิ่งๆ ยาวๆ อยู่ในแบงค์ล่ะก็ มันก็ต้องเป็นการลงทุนในระยะยาว หรือคล้ายกับว่าเงินสกุลต่างชาติพวกนี้ จะไม่หนี้หายไปไหน แต่ไม่มีใครกล้าการันตี เพราะวันดีคืนดี เขาก็แลกกลับประเทศไปได้เช่นกัน
3
3. เกิดจากการแลกเปลี่ยนชั่วครั้งชั่วคราว เช่น การท่องเที่ยว กล่าวคือ การที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทย เขาก็ต้องแลกเงินตัวเองเป็นเงินบาทมาถือไว้ชั่วระยะหนึ่งถ้ามาใช้จ่ายในบ้านเรา เงินบาทก็กลับสู่ระบบเงิน ส่วนเงินต่างชาตินั้น ๆ ก็จะแปรไปเป็นรูปของสินค้าและบริการต่าง ๆ ตรงนี้เมื่อการท่องเที่ยวเราบูม จึงทำให้ค่าเงินเราแข็ง เพราะมีดีมานด์ตรงนี้มากแล้วเขามาใช้จ่ายจริงจัง คือเปลี่ยนจากเงินเป็นสินค้าและบริการ ซึ่งยอดที่เกิดขึ้นจากตรงนี้จะไปแสดงที่บัญชีเงินเดินสะพัด
3
4. เกิดจากการค้าขายกับต่างประเทศ เช่น ไทยอาจจะขายข้าว ถ้าขายในประเทศก็ได้เงินบาท แต่ผู้ส่งออกเอาเงินบาทซื้อข้าวมา แล้วเอาข้าวไปขายได้เงินดอลลาร์ พอได้เงินดอลลาร์มาจากต่างประเทศ ก็ต้องเอาไปแลกเป็นเงินบาทเพื่อไปซื้อข้าวจากผู้ผลิตในประเทศต่อ ดำเนินเป็นวงจรธุรกิจต่อไป และเมื่อไทยค้าขายได้เปรียบ หรือได้กำไร มันก็ทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นได้ กลับกันคือถ้าไทยเกิดสั่งเครื่องจักรมาเยอะๆ และต้องจ่ายเป็นดอลลาร์ ก็ต้องเอาเงินบาทที่มีไปแลกเป็นดอลลาร์ ซึ่งตรงนี้ถ้าเราเกิดขาดดุลการค้าก็ทำให้ค่าเงินอ่อนได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าเรามีเงินตราต่างประเทศน้อยเกินไป ก็จะทำให้การซื้อสินค้าจากต่างประเทศทำได้ลำบาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและผู้ที่จำเป็นต้องใช้สินค้านำเข้ามาก
3
ทั้งหลายทั้งปวงทำให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วเงินที่เป็นของเราจริง ๆ ไม่ได้แต่อยู่ในรูปของทุนสำรองระหว่างประเทศที่ฝากไว้ที่แบงค์ชาติ เราเอาไปใช้ไม่ได้ เหมือนเราขโมยเงินคนเขา ซึ่งมันหมดจะทำให้แบงค์ชาติสิ้นความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าจะเอามาใช้จริง ๆ ถามว่ามันใช้ได้ไหม มันก็มีกฎหมายที่มีช่องให้นำมาใช้ได้อยู่ แต่มันมีกฎหมายหลายตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้จะดูเหมือนว่า ทุนสำรองฯ ของไทยอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอที่น่าจะสามารถดึงมาใช้ประโยชน์ได้ แต่การคำนวณระดับ “ทุนสำรองฯ ส่วนเกิน” ซึ่งแม้ว่าปริมาณทุนสำรองฯ ส่วนเกินดังกล่าว น่าจะเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง และมันมีผลต่อความั่นคงของค่าเงิน และฐานะการเงินอีกด้วย ซึ่งในทางปกติแล้ว ไม่มีใครไปแตะต้องเอาออกมาใช้กันนั่นเอง
โฆษณา