12 มิ.ย. 2020 เวลา 05:05 • การศึกษา
พระสูตรเรื่อง : "ธรรมเป็นอุปการะเฉพาะแก่อานาปานสติภาวนา"
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๓๕/๙๖.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มุ่งประพฤติ กระทำอานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมแทงตลอด อกุปปธรรม (ผู้มีธรรมไม่กำเริบ) ได้ต่อกาลไม่นานเทียว.
๕ ประการอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ๕ ประการ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุ :
๑. เป็นผู้มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษในบริกขารแห่งชีวิต;
๒. เป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบตนอยู่ในความเป็นผู้มีท้องอันพร่อง;
๓. เป็นผู้ไม่มีความมึนชา ประกอบตนอยู่ในความตื่น;
๔. เป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ คือ ธรรมเหล่าใดอันงดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด แสดงอยู่ซึ่งพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ ธรรมมีลักษณะเห็นปานนั้น เป็นธรรมที่เธอสดับแล้วมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ;
๕. พิจารณาเห็นเฉพาะอยู่ซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้ว (ตามลำดับ) อย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มุ่งประพฤติกระทำ อานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม ได้ต่อกาลไม่นานเทียว.
(นัยที่สอง)
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม ได้ต่อกาลไม่นานเทียว.
๕ ประการอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ๕ ประการ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุ :
๑. เป็นผู้มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษในบริกขารแห่งชีวิต;
๒. เป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบตนอยู่ในความเป็นผู้มีท้องอันพร่อง;
๓. เป็นผู้ไม่มีความมึนชา ประกอบตนอยู่ในความตื่น;
๔. เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อการขูดเกลากิเลส เป็นที่สบายแก่ธรรมเครื่องเปิดโล่งแห่งจิต คือ :-
อัปปิจฉกถา (เรื่องปรารถนาน้อย) สันตุฏฐิกถา (เรื่องสันโดษ) ปวิเวกกถา (เรื่องความสงัด) อสังสัคคกถา (เรื่องไม่คลุกคลี) วิริยารัมภกถา
(เรื่องมีความเพียร) สีลกถา (เรื่องศีล) สมาธิกถา (เรื่องสมาธิ) ปัญญากถา (เรื่องปัญญา)วิมุตติกถา (เรื่องวิมุตติ)วิมุตติญาณทัสสนกถา
(เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ);
๕. พิจารณาเห็นเฉพาะอยู่ซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้ว (ตามลำดับ) อย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหล่านี้แล ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม ได้ต่อกาลไม่นานเทียว.
(นัยที่สาม)
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้กระทำให้มากซึ่ง อานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วย ธรรม ๕ ประการ ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม ได้ต่อกาลไม่นานเทียว.
๕ ประการอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ๕ ประการ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุ :
๑. เป็นผู้มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษในบริกขารแห่งชีวิต;
๒. เป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบตนอยู่ในความเป็นผู้มีท้องอันพร่อง;
๓. เป็นผู้ไม่มีความมึนชา ประกอบตนอยู่ในความตื่น;
๔. เป็นผู้อยู่ป่า มีเสนาสนะอันสงัด;
๕. พิจารณาเห็นเฉพาะอยู่ซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้ว (ตามลำดับ) อย่างไร.
1
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้กระทำให้มากซึ่ง อานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม ได้ต่อกาลไม่นานเทียว.
อ้างอิงจาก : พุทธวจนหมวดธรรม เล่มที่ ๖
พุทธวจน อานาปานสติ
หน้าที่ ๑๒๔ - ๑๒๙
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา