12 มิ.ย. 2020 เวลา 07:01 • ธุรกิจ
โรคสัตว์สำคัญที่ต้องระวังในช่วงฤดูฝน
เมื่อฤดูฝนมาถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หมั่นระวังดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงให้ดี ขอแนะนำให้ความรู้ลักษณะอาการทั่วไปของสัตว์ป่วยที่เป็นโรคที่พบเสมอๆ ในช่วงต้นฤดูฝน ดังนี้ โรคพยาธิ โรคท้องอืด (Bloat) โรคไข้สามวัน (Bovine ephemeral fever) โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot & Mouth disease; FMD) โรคคอบวม (Haemorrhagic septicemia) โรคตาอักเสบติดต่อในโค (Infectious bovine keratoconjunctivitis; IBK) โรคกีบเน่า โรคฉี่หนู (โรคเลปโตสไปโรสิส; Leptospirosis) สารพิษอันตรายจากยาฆ่าแมลง/ศัตรูพืช ปุ๋ย และสารกำจัดวัชพืช พิษจากพืชที่มีสารจำพวกไซยาโนจินิกไกลโคไซด์ (Cyanogenic glycosides) และไนเตรทสูง เป็นต้น
โรคพยาธิที่สำคัญในโค-กระบือ
ส่วนมากเป็นพยาธิตัวกลม พบในสัตว์ช่วงอายุน้อย เป็นพวกพยาธิไส้เดือนซึ่งติดต่อมาจากแม่ทางสายรกและทางน้ำนม ทำให้อัตราการตายสูง ถ้าอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะมี พวกพยาธิเม็ดตุ่ม พยาธิปากขอ ซึ่งติดจากการกินตัว่อนของพยาธิที่อยู่ตามหญ้าเข้าไป โค กระบือจะผอม โลหิตจาง ท้องเสียเรื้อรัง เติบโตช้า ป้องกันรักษาได้โดยการให้ยาถ่ายพยาธิลูกโคทุกตัวเมื่ออายุ 3 สัปดาห์ และให้ยาซ้ำเมื่ออายุ 6 สัปดาห์ ส่วนลูกโค กระบือที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ให้ถ่ายพยาธิปีละ 2 ครั้ง ยาถ่ายพยาธิที่ใช้ได้ผลดี เช่น ปิปเปอราซิน ซิเตรท ใช้ผสมอาหารหรือละลายน้ำให้กินใน ขนาด 22 กรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 100 กิโลกรัม เฟนเบนดาโซล ใช้ผสมอาหารให้กินขนาด 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 100 กิโลกรัม มีเบนดาโซล ให้กินขนาด 880 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 100 กิโลกรัม อัลเบนดาโซล (11-12%) ให้กินขนาด 10 ซี.ซี. ต่อน้ำหนักสัตว์ 100 กิโลกรัม เป็นต้น [ รายละเอียดเพิ่มเติม ]
1
โรคท้องอืด (Bloat)
เป็นโรคที่เกิดในสัตว์กินพืชเป็นอาหารหลักหรือสัตว์เคี้ยวเอื้องจำพวกโค กระบือ แพะ แกะ ฯ เป็นความผิดปกติของระบบย่อยอาหารในกระเพาะหมักใหญ่ (Rumen) โดยแก๊สที่เกิดขบวนการย่อยจะถูกขับออกช้าหรือไม่ถูกขับออก จึงสะสมอยู่ในกระเพาะเป็นจำนวนมาก ทำให้กระเพาะโป่งขยายใหญ่ไปกดทับกระบังลมมีผลกระทบต่อปอดและหัวใจในช่องอก
เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกได้แก่ กินอาหารข้นมากเกินไป แต่ได้รับอาหารหยาบน้อย สาเหตุที่สอง มีวัตถุแปลกปลอมหรืออาหารบางชนิดไปอุดตันบริเวณหลอดอาหาร ทำให้สัตว์เรอเอาแก๊สออกไม่ได้ สาเหตุที่สาม กินพืชหรืออาหารสัตว์ที่มีไนเตรทหรือสารก่อให้เกิดไซยาไนต์ (Phytocyanogenic glycosides) ในปริมาณมาก หลังจากสัตว์กินเข้าไปในร่างกาย จะปลดปล่อยแก๊สไซยาไนด์ (Cyanide; Hydrocyanic acid; HCN) ออกมาทำให้สัตว์ตายเนื่องจากไซยาไนด์ขัดขวางไม่ให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ ทำให้เกิดภาวะเลือดไม่นำออกซิเจน (Tissue Anoxia) โดยที่สัตว์จะแสดงอาการท้องอืดและตายอย่างรวดเร็ว พืชที่มีสารก่อให้เกิดไซยาไนต์ เช่น มันสำปะหลัง (ใบ หัว) ใบไมยราบหนาม ข้างฟ่าง กะทกรก ฯลฯ ส่วนสารไนเตรทมีมากในต้นไมยราบไร้หนาม ส่วนสาเหตุที่สี่ คือ กินหญ้าอ่อนๆ ที่ย่อยง่ายและมีน้ำสะสมเข้าไปมากเกินไป สัตว์จะแสดงอาการกระวนกระวาย มักหันหน้าไปทางสวาป น้ำลายไหลยืด หายในหอบ หัวใจเต้นเร็ว บริเวณสวาปด้านซ้ายจะโป่งขยายใหญ่ หายใจขัดและตาม เนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว วิธีการรักษาโดยที่แก้ไขตามสาเหตุ หรือเจาะสวาปซ้ายให้แก๊สออก โดยรีดผิวหนังให้ตึงแล้วแทงท่อเจาะแก๊ส (Trocar canula) ให้ทะลุกล้ามเนื้อเช้าช่องท้องและผนังกระเพาะหมักใหญ่ (rumen)
อาจลดการเกิดแก๊สด้วยสารต้านฟองอากาศ (Anti-foaming agents) เช่น Mineral oil ( Petroleum oil), dioctyl sodium sulfosuccinate 300-500 ซี.ซี. ต่อน้ำหนักสัตว์ 450 กิโลกรัมหรืออาจใช้น้ำมันพืชแทน กรณีที่สัตว์กินหญ้าอ่อนมากเกินไป หรือถ้าเกิดจากการกินอาหารข้นมากเกินไป ให้กรอกโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 กรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม แล้วรีบตามสัตวแพทย์มารักษา แต่ถ้าเกิดจากพิษของยูเรีย ควรกรอกน้ำส้มสายชู หรือน้ำเย็นปริมาณมากๆ [ รายละเอียดเพิ่มเติม ]
โรคไข้สามวัน
โรคนี้จะพบมากในโคทุกอายุ แต่ลูกโคอายุต่ำกว่า 6 เดือนมักไม่แสดงอาการ และจะพบโคเป็นโรคนี้มากในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะต้นฤดูฝน เกิดจากเชื้อไวรัส โคแสดงอาการมีไข้สูงเบื่ออาหาร กล้ามเนื้อสั่น ตัวแข็ง ขาแข็ง ขาเจ็บ ซึม น้ำมูกไหล เป็นอยู่ประมาณ 3 วัน เริ่มจะกินอาหาร ยกเว้นรายที่เป็นมาก จะอ่อนเพลียและนอนหอบไม่ยอมลุก โดยเฉพาะรายที่เจ็บขา ซึ่งจะทำให้มีโรคอื่นแทรกได้ สามารถป้องกันได้โดยการป้องกันแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะของโรคนี้ เมื่อพบโคป่วยเป็นโรคนี้ ควรตามสัตวแพทย์มาทำการรักษาโดยเร็ว โดยเฉพาะรายที่ล้มนอนกับพื้น เพื่อให้สัตว์ได้รับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป [ รายละเอียดเพิ่มเติม ]
โรคปากและเท้าเปื่อย
โรคนี้เกิดขึ้นกับสัตว์กีบคู่โดยเฉพาะโค กระบือ มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เกิดจากเชื้อไวรัส สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ จะมีอาการซึม มีไข้ เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นที่ริมฝีปากเหงือก และลิ้น น้ำลายไหลยืด กินอาหารไม่ได้ และเกิดเม็ดตุ่มที่ระหว่างซอกกีบ ไรกีบ ทำให้เจ็บขา เดินกะเผลก สัตว์จะผอม และอัตราการตายสูงในลูกสัตว์ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนแล้วแผลจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าพบสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าสัตวแพทย์ในท้องที่โดยเร็ว และป้องกันโรคโดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ทั้ง 3 ไทป์ คือ ไทป์โอ เอ และเอเชียวัน โดยในโค กระบือจะฉีดวัคซีนที่อายุ 6 เดือน [ รายละเอียดเพิ่มเติม ]
โรคเฮโมรายิกเซติกซีเมีย หรือโรคคอบวม
เป็นโรคที่รุนแรงในโค กระบือ ความรุนแรงน้อยลงในสัตว์อื่นๆ เช่น ม้า อูฐ และช้าง อาการที่สำคัญคือ หายใจหอบลึกมีเสียงดัง คอและหน้าจะบวมแข็ง อัตราการป่วยและตายสูงเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีการระบาดมากช่วงต้นและปลายฤดูฝน สัตว์ที่เป็นโรคนี้แบบเฉียบพลัน อาจตายภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมง ถ้าแบบเรื้อรัง จะมีอาการเสียดท้อง ท้องอืด อุจจาระมีมูกเลือดปน สัตว์จะตายภายใน 2-3 วัน ควบคุมป้องกันโรคนี้ได้โดยเมื่อมีสัตว์ป่วยและตายเนื่องจากโรคนี้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ในท้องที่โดยเร็ว พร้อมทั้งแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง หลีกเลี่ยงสภาวะที่จะทำให้สัตว์เครียด ทำวัคซินป้องกันโรคให้โค กระบือ ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ทำปีละ 1 ครั้ง [ รายละเอียดเพิ่มเติม ]
โรคตาอักเสบติดต่อในโค
โรคนี้จะมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส หรือปรสิต หรือเชื้อรา แพร่โรคโดยแมลงต่างๆ สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการโดยรวม คือ น้ำตาไหล เยื่อบุตามีสีแดง กระจกตาขุ่นขาว หรือมีสีชมพู อาจมีขี้ตาหรือหนองเกรอะกรัง และถ้าเป็นนานๆ จะทำให้ตาบอดได้ วิธีการควบคุม คือ กำจัดแมลงที่มาตอมบริเวณตาที่อยู่ตามคอกที่อยู่อาศัยของสัตว์ [ รายละเอียดเพิ่มเติม ]
โรคกีบเน่า
แสดงอาการขาเจ็บเนื่องจากส่วนต่างๆ ของกีบมีการอักเสบ โคจะแสดงอาการเจ็บขา เดินกะเผลก สันกีบและซอกกีบบวมแดง มีแผลรูที่มีน้ำสีดำคล้ำไหลออกมากลิ่นเหม็นมาก มักพบในโคทุกอายุ แต่จะพบมากในโคที่มีอายุ แม่โคที่ กำลังให้นม น้ำนมจะลดลงกว่าปกติ โรคนี้เกิดได้ทุกฤดูแต่จะพบมากในฤดูฝน และมีสาเหตุโน้มนำมาจากการเลี้ยงโคในคอกที่ชื้นแฉะตลอดเวลา หรือคอกที่มีแอ่งโคลนมีก้อนหิน ก้อนกรวดปะปนอยู่ หรือคอกที่มีพื้นแข็งและแห้ง ซึ่งสภาพเช่นนี้จะทำให้กีบมีการบวม มีแผลตามสันกีบและซอกกีบ เชื้อแบคทีเรียจึงผ่านเข้าทางบาดแผล เกิดการอักเสบที่บริเวณกีบได้ โคที่เป็นโรคนี้จะมีน้ำสีดำๆ กลิ่นเหม็น ออกมาจากแผลปะปนในแปลงหญ้า พื้นคอก ทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังโคตัวอื่นๆ ได้ [ รายละเอียดเพิ่มเติม ]
โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis)หรือ โรคฉี่หนู
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทีไรอดไม่ได้ที่จะพูดถึงโรคสัตว์ติดคนโรคหนึ่งที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษคือ โรคเลปโตสไปโรสิส หรือ คนทั่วไปเรียกว่า "โรคฉี่หนู" จากการรายงานของสำนักงานระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคเลปโตสไปโรซีสจำนวนมาก รายงานเมื่อปี 2549 สรุปทั้งปีพบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวน 73 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 3,640 ราย พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ มีผู้ป่วยบางส่วนที่ได้รับเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นสุนัข สุกร โค กระบือ แพะ แกะ โดยที่เกษตรกรอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากว่าการแสดงอาการของสัตว์ที่ป่วยไม่ชัดเจน หรืออาจเกิดจากเกษตรกรยังไม่รู้จักโรคเลปโตสไปโรสิสมากพอ จึงควรรู้จักโรคเลปโตสไปโรสิสและธรรมชาติของโรคดังนี้
โรคเลปโตสไปโรซีส เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในเขตที่มีความชื้นสูง เกิดจากเชื้อเลปโตสไปร่า มีลักษณะเป็นเกลียว โดยมีสัตว์ฟันแทะโดยเฉพาะหนูเป็นตัวพาหะจึงเป็นที่มาของชื่อ โรคฉี่หนู เชื้อนี้สามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้หลายชั่วโมง และ อาศัยในโคลนได้นาน เชื้อเลปโตสไปร่าสามารถมีชีวิตอยู่ในดินหรือในน้ำได้นานถึง 6 เดือน ในสภาวะที่เหมาะสม ฝูงปศุสัตว์ได้รับเชื้อจากการเล็มหญ้า ดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือกินอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะหนู
อาการของโรคในสัตว์ แบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ
1. แสดงอาการแบบเฉียบพลัน โดยที่อาการเริ่มแรกในสัตว์ทุกชนิดมักคล้ายคลึงกันไม่มีลักษณะเฉพาะ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการเป็นไข้แบบเฉียบพลัน ซึม เบื่ออาหารและเยื่อบุตาอักเสบ เมื่อโรคดำเนินไปสักระยะหนึ่ง สัตว์จะแสดงอาการเฉพาะของโรคนี้มากขึ้น เช่น อาการเลือดออกเกิดภาวะดีซ่าน อาการทางระบบประสาทส่วนกลาง และอาการตับและไตวาย ส่วนในโคนมที่เป็นโรคเลปโตสไปโรซีสในตอนปลายของระยะเฉียบพลันอาจพบอาการเต้านมอักเสบ คลอดลูกออกมาตาย หรือแท้งลูก
2. แสดงอาการแบบเรื้อรัง โดยทั่วไปมักจะพบการติดเชื้อที่ไต ซึ่งอาจพบในสัตว์ป่วยที่ผ่านพ้นระยะเฉียบพลันไปแล้ว โดยที่สัตว์อาจแสดงหรือไม่แสดงให้เห็นก็ได้ เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะเป็นระยะๆ หรือติดต่อกัน ซึ่งระยะเวลาที่สัตว์เป็นพาหะอาจสั้นหรือยาวนานหลายสัปดาห์หลายเดือนขึ้นกับชนิดของสัตว์และชนิดของเชื้อ ศูนย์เลปโตสโรสิส สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากกรณีศึกษาคนที่ป่วยเป็นโรคเลปโตสไปโรสิสโดยได้รับเชื้อจากสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นพาหะแบบคาดไม่ถึงและคนที่ป่วยนั้นแสดงอาการป่วยแบบเรื้อรังกว่าที่จะรักษาฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็นปกติใช้เวลานานหลายเดือนไปจนถึงหลายปี พร้อมทั้งจะแนะนำวิธีป้องกันอย่างง่าย คือ โรคเลปโตสไปโรซีสเป็นโรคที่เกิดขึ้นในคนได้ง่ายมาก จากการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค หรือเป็นพาหะ คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับขบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์ แต่โรคนี้มีโอกาสติดเชื้อระหว่างคนสู่คนได้น้อยมาก ถ้ามีบาดแผลหรือ รอยถลอก ตามผิวหนังนั้นมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าคนที่ป่วยเป็นโรคเลปโตสไปโรสิสเป็นกลุ่มคนที่มีอาชีพอื่นๆ เช่น คนที่ทำงานขุดลอกท่อระบายน้ำ คนที่ทำสวนทำไร่ ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาในกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนงานที่ทำงานในโรงงานแปรรูปเนื้อสุกรซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งผู้ชายคนนี้ทำหน้าที่กรีดช่องท้อง ดึงและ ล้างอวัยวะภายใน เนื่องจากว่าต้องทำงานด้วยความรวดเร็วเพื่อแข่งกับเวลา ทำให้เขาขาดความระมัดระวังขณะทำงาน ถึงแม้ว่าเขาจะใส่อุปกรณ์ป้องกันเช่น พลาสติกกันเปื้อน ถุงมือ และ รองเท้าบูท บ่อยครั้งที่ของเหลวในช่องท้องหรือปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะกระเด็นโดนหน้า หลายวันต่อมาเขามีอาการปวดศรีษะ เป็นไข้ หนาวสั่นและคลื่นเหียนอาเจียน เมื่อเข้าพบแพทย์และทำการ เจาะเลือดตรวจ ได้รับผลยืนยันว่าติดเชื้อเลปโตสไปร่าขณะที่ทำการรักษาอยู่นั้นเกิดภาวะไตวายแทรกซ้อน แพทย์ได้ทำการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะและรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกนานหลายวัน เขาเล่าว่าหลังจากที่ป่วยหนึ่งปี เขายังมีอาการคลื่นเหียนอาเจียนเป็นบางครั้งและต้องเข้าพบแพทย์อยู่เสมอๆ
จากตัวอย่างเหตุการณ์นี้มีข้อควรปฏิบัติ คือ
- ควรมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากโรคเลปโตสไปโรซีส
- ควรมีวิธีการป้องกันตนเองขณะทำงาน และ ปฏิบัติอย่างเข้มงวด
- ควรเข้าพบแพทย์ทันทีที่พบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับตนเอง
- ต้องแจ้งข่าวสารทันทีที่เกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น สัตวแพทย์ เจ้าของฟาร์ม หัวหน้างาน คนงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
มีอีกกรณีที่น่าสนใจเป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคเลปโตสไปโรซีสแบบคาดไม่ถึง จากการให้ข้อมูลเขาเล่าว่า เขาเลี้ยงโคตัวหนึ่งซึ่งกำลังให้กำเหนิดลูกโค เนื่องจากว่าเขาเคยมีประสบการณ์ช่วยทำคลอด เขาจึงลงมือดำเนินการเอง ตั้งแต่ทำความสะอาดแม่โค โดยไม่ใส่ถุงมือ จากนั้นเขาล้างมือแล้วเช็ดมือด้วยผ้าขนหนู หลังจากนั้นก็ไปดื่มน้ำและใช้ผ้าขนหนูผืนเดียวกับที่เช็ดมือ นำมาเช็ดปาก หลายวันต่อมาเขามีความรู้สึกปวดศรีษะอย่างมาก มีอาการไข้ รู้สึกคลื่นเหียนอาเจียน และมีความผิดปกติอีกอย่างคือ เขาถ่ายปัสสาวะออกมาเป็น “สีสนิม” เมื่อเข้าพบแพทย์ ผลการตรวจพบว่าเขาป่วยเป็นโรคเลปโตสไปโรซีส เขาสงสัยว่าเขาน่าจะติดจากการช่วยทำคลอดแม่โคและผลการตรวจแม่โค โดยสัตวแพทย์แจ้งว่า แม่โคของเขาป่วยเป็นโรคเลปโตสไปโรซีส จริงๆ เขาใช้เวลารักษาตัวนานมากประมาณเกือบปีเหมือนกันที่จะฟื้นกลับมาดีเหมือนเดิม จากกรณีศึกษาที่ผมยกตัวอย่างมานี้ ผมเชื่อแน่ว่า ตัวเกษตรกรบางท่านอาจเคยทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ จริงไหมครับ ท่านลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันกับกรณีศึกษานี้ ตัวท่านจะมีวิธีการป้องกันตัวเองอย่างไร ไม่ยากใช่ไหมครับเพียงแค่
- สวมใส่ถุงมือตลอดขณะทำงาน
- สวมใส่รองเท้าบูท
- สวมใส่พลาสติกกันเปื้อน
และที่สำคัญท่านต้องแยกผ้าเช็ดมือกับผ้าเช็ดหน้าเป็นคนละผืน เห็นไหมครับว่าอันตรายที่เกิดจากโรคเลปโตสไปโรซีสนั้นมีความรุนแรงมากแค่ไหน ยังมีอีกหลายกรณีศึกษาที่น่าสนใจและจะนำเสนอในฉบับต่อไป แต่ในเบื้องต้นนี้ควรระมัดระวังตนเองไว้ ก่อนดีกว่านะครับ ทั้งนี้หากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ ศูนย์เลปโตสไปโรสิส สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2579 7592 ในวันและเวลาราชการ
สารพิษอันตรายในช่วงฤดูฝน
เนื่องจากในฤดูฝนมีการชะล้างของสารเคมีและทำเกษตรกรรมมากกว่าในช่วงฤดูอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย และสารกำจัดวัชพืช ดังนั้นเกษตรกรเจ้าของสัตว์จึงควรระมัดระวังในการปล่อยสัตว์ออกหากินตามทุ่งหญ้า รวมทั้งแหล่งน้ำ สารพิษที่พบบ่อย ได้แก่ กลุ่มคาร์บาเมท ออร์กาโนฟอสเฟต และไนเตรท/ไนไตรท์
 พิษของสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟทและคาร์บาเมท
สาเหตุ
สารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟทและคาร์บาเมท ที่มีการใช้ในทางการเกษตร เช่น ผสมเมล็ดพันธุ์ คลุกในดิน หรือเพื่อการป้องกันและกำจัดแมลง เห็บ พยาธิภายนอก และพยาธิตัวกลมในสัตว์
- ตัวอย่างสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟท ได้แก่ coumaphos, dichlorvos, parathion, methyl-parathion เป็นต้น
- ตัวอย่างสารกำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาเมท ได้แก่ carbofuran, aldicarb, methomyl เป็นต้น
อาการ
อาการจะแตกต่างกันตามชนิดของสัตว์สัตว์ โดยสัตว์ที่อยู่ในสภาวะเครียด ซูบผอม หรืออยู่ระหว่างการให้นมจะเกิดการเป็นพิษได้ง่าย มักพบว่ามีอาการ น้ำลายไหล อาเจียน หายใจขัด มีการบีบตัวของระบบทางเดินอาหาร ท้องเสีย เหงื่อออก น้ำตาไหล ม่านตาหดตัว ซีด เกิดสีดำคล้ำ ไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้ เกิดอาการกระตุกเกร็งทั่วตัว เกิดอัมพาต ชัก และตายในที่สุด
การรักษาเบื้องต้น
ในเบื้องต้นให้กรอกน้ำสบู่อ่อนๆเพื่อล้างพิษ จากนั้นทำการรักษาโดยฉีด atropine sulfate ซึ่งเป็นยาทำลายพิษโดยตรง ขนาด 0.1-0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม และตามด้วยยาบำรุง ถ้าสัตว์มีอาการชักให้ยาระงับประสาท เช่น phenobarbitone
การป้องกัน
การใช้ยาฆ่าแมลงทั้งสองกลุ่มควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยปฏิบัติตามรายละเอียดที่แนบมากับผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้องทั้งขนาด และวิธีการใช้ ส่วนการเก็บรักษาต้องเก็บให้มิดชิดอย่าให้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ดิน รวมถึงสัตว์ หรือเด็กที่สามารถสัมผัสได้ ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ควรเพิ่มความระมัดระวังสำหรับแหล่งอาหาร และน้ำของสัตว์
การเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตัวอย่างอาหารสัตว์ หรือสิ่งอื่นๆที่สัตว์กิน เช่น หญ้า ที่สงสัยว่าปนเปื้อนสารพิษ อาหารในกระเพาะสัตว์ อวัยวะ ภายใน ได้แก่ ไต ตับ และซีรัม
 พิษจากไนเตรท/ไนไตรท์
สาเหตุ
ไนเตรทละลายน้ำได้ดี สัตว์จึงสามารถได้รับจากอาหารหรือน้ำที่มีการเจือปนอยู่ในปริมาณสูงทำให้ เกิดการเป็นพิษ หรือได้รับจากพืชบางชนิดซึ่งมีการดูดซึมและสะสมไนเตรทในปริมาณสูงเช่น ผักโขม ข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง หญ้าอัลฟาฟา หรือจากปุ๋ย เช่น แอมโมเนียมไนเตรท โปแตสเซี่ยมไนเตรท เป็นต้น
อาการ
อาการเป็นพิษพบได้ทั้งชนิดรุนแรงและเรื้อรัง ในรายที่เป็นพิษรุนแรงสัตว์จะแสดงอาการป่วยภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 4 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารและตายอย่างรวดเร็ว อาการที่พบส่วนมากคือ เนื้อเยื่อขาดออกซิเจนจะมีสีคล้ำ สัตว์กระวนกระวาย ล้มตัวลงนอนทันที หายใจขัด หอบอ้าปากหายใจ น้ำลายไหล กล้ามเนื้อสั่น เกร็งทั้งตัว ชักและตายในที่สุด ผ่าซากในโคจะพบจุดเลือดออก และปื้นเลือด ที่กระเพาะหมักหรือผ้าขี้ริ้ว และกระเพาะแท้
การรักษาเบื้องต้น
สำหรับโค ให้สารละลายเมทธีลีนบลูความเข้มข้น 2-4%ในน้ำเกลือ ในขนาด 8.8 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
การป้องกัน
เช่นเดียวกับกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟทและคาร์บาเมท
การเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตัวอย่างพืชอาหารสัตว์ปริมาณ 100 กรัม ตัวอย่างน้ำ 50 มิลลิลิตร เลือดหรือซีรัมปริมาณ 10 มิลลิลิตร
หมายเหตุ อย่างไรก็ตามอาการที่พบอาจไม่รุนแรง หรือไม่ตรงตามที่ระบุอย่างชัดเจน แต่ถ้าพบสัตว์แสดงความอาการผิดปกติ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในท้องที่โดยด่วน
พิษจากมันสำปะหลัง
มันสำปะหลัง เป็นพืชที่มีสารไซยาโนจินิกไกลโคไซด์ ชื่อ linamarin เมื่อสัตว์กินส่วนใบหรือหัว (ราก) ดิบเข้าไป น้ำย่อยจะสลายและเกิดแก๊สไซยาไนด์ (HCN; Hydrocyanic acid; prussic acid) จากปฏิกิริยา Cyanogenic glycoside ----> Cyanohydrin -----> Ketone or aldehyde + HCN ซึ่ง HCN เป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและระบบเลือด ทำให้เซลล์ขาดออกซิเจน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบาก ถึงขั้นตาย โดยที่ปริมาณที่ทำให้เกิดอันตราย คือ 0.5 – 3.5 มิลลิกรัมขึ้นไปต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบในหน่อไม้ กระทกรก เสาวรส ผักเสี้ยน ไมยราบ มะกล่ำ กระถินเทพา กระถินณรงค์ กระถินยักษ์ ขี้เหล็กป่า ชุมเห็ด ข้าวฟ่าง ส้มป่อย ผักหนาม กระถินณรงค์ เทียนต้น ฯ มีข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าในใบยางพาราสารไซยาโนจินิกไกลโคไซด์ด้วยเช่นกัน [รายละเอียด] ดังนั้น ต้องป้องกันไม่ไห้สัตว์กินใบ ลำต้น ดอก ผล เมล็ด และหัว (ราก) ดิบในปริมาณมาก การหมักดอง ตากแห้ง หรือต้ม ช่วยลดปริมาณสารสารไซยาโนจินิกไกลโคไซด์ได้ในพืชเหล่าน้ีได้
พิษจากไมยราบไร้หนาม
ไมยราบไร้หนาม (Mimosa invisa) เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก ใช้เป็นปุ๋ยพืชสด และพืชคลุมดินโดยจะช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีของดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน เพิ่มสัดส่วนของช่องอากาศในดิน ทำให้ดินร่วนซุย และเพิ่มความสามารถในการอุ้มนํ้าของดิน ไมยราบไร้หนามสามารถให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งรวมสูง จึงใช้ในการปรับปรุงดินและเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ทั้งนี้การนำไปใช้เป็นพืชอาหารสัตว์ควรมีการศึกษาและคำนึงถึงพิษที่จะเกิดในสัตว์ด้วย ต้นไมยราบไร้หนามพบขึ้นปนหนาแน่นอยู่ในแปลงหญ้า ความเป็นพิษเกิดจากสารไนเตรท-ไนโตรเจน พบสะสมอยู่ในลำต้นและใบของไมยราบไร้หนาม ซึ่งมีปริมาณสูงมากพอที่จะทำให้เกิดการเป็นพิษขึ้นได้ เมื่่อสัตว์กินพืชชนิดนั้นๆ เข้าไปในปริมาณมาก โดยเฉพาะในช่วงต่อระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน ภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้านอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งมีผลกระทบทำให้เกิดความเครียดในตัวสัตว์ นอกจากนี้พืชอาหารสัตว์ที่พบว่ามีไนเตรทสูงเช่นเดียวกันได้แก่ ข้าวฟ่าง เถามันเทศ ผักโขม ทองหลางใบมน และข้าวโอ๊ต เป็นต้น สำหรับปัจจัยที่่มีผลต่อปริมาณของไนเตรทในพืช ไต้แก่ ระยะการเจริญเติบโตของพืช คือ พืชทื่อยู่ในระยะต้นอ่อนและกำลังเจริญเติบโต จะมีปริมาณไนเตรทสูงกว่าพืชที่โตเต็มที่ และการกินหญ้าอ่อนซึ่่งมีมากในช่วงดังกล่าวได้มากขึ้นจนอาจเกิดภาวะท้องอืด (bloat) ได้ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนระดับสูง จะทำให้พืชสะสมสารไนเตรทเพิ่่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งจะทำให้พืชดูดซึมเอาธาตุไนโตรเจนจากดินไปสะสมเป็นไนเตรทในลำต้นและใบอย่างรวดเร็วอีกด้วย และในสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติ เช่น เกิดความแห้งแล้ง หรือภาวะหลังการพ่นยาปราบศัตรูพืช ทำให้เกิดการสะสมไนเตรทมากขึ้น
โฆษณา