Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Behavioral design สร้างนิสัยให้ productive
•
ติดตาม
12 มิ.ย. 2020 เวลา 11:18 • ความคิดเห็น
Fake news และทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory)
หลังจากล่าสุดได้เห็นข่าวเพจสุขภาพหนึ่งซึ่งออกมาแนะนำวิธีการรักษาโรคแนวทางเลือกแบบแปลกๆ เช่น ปรับอาหารรักษามะเร็ง รักษาเก๊าท์โดยการพันผ้า ประคบเย็น ไล่น้ำเหลือง? แถมยังบอกว่าการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (mammogram) เป็นต้นเหตุของมะเร็งเต้านมอีกต่างหาก
Rawpixel
ทั้งนี้อาจทำเพื่อขายของตัวเอง หรือจะเรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ก็ตาม ทำให้รู้สึกไม่ค่อยดี เพราะคนไข้หลายคนจะเสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากแทบทุกโรค รู้เร็ว รักษาเร็วอย่างถูกทาง ยิ่งได้ผลการรักษาดี จึงอดไม่ได้ที่จะต้องมาเขียนบทความ
ช่วงหลายปีหลังมานี้ได้เห็นข่าวประเภทเฟคนิวส์หรือข่าวปลอมแทบทุกวัน ซึ่งรวมไปถึงพวกความเชื่อและศาสตร์มืดต่างๆที่พยายามออกมาสร้างกระแสให้คนเชื่อ ซึ่งบางอย่างฟังตอนแรกก็ดูตลกมาก แต่ก็มีคนเชื่อหรือทำตาม และเรื่องพวกนี้ก็มักจะถูกแชร์ไปอย่างรวดเร็ว บางคนอาจจะแชร์เพราะมองเป็นเรื่องตลก ฮาๆ แต่บางคนอ่านแล้วก็เชื่อเลย
เท่าที่สังเกตพวกเฟคนิวส์หรือข้อมูลไม่น่าเชื่อถือจะมีลักษณะดังนี้
1. เล่นกับอารมณ์คน เน้นดราม่า เรื่องสะเทือนใจ ทำให้คนใช้เหตุผลน้อยลง และคล้อยตามไปอย่างรวดเร็ว
2. เล่นกับความเชื่อของคนบางกลุ่ม
3. เล่นกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ
4. เล่นกับเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคล (แต่ตัวมันเองนั้นแหละ ที่จะสร้างความไม่ปลอดภัย ถ้าทำตาม)
5. เล่นพิเรนทร์ไปเลย เพื่อให้พวกวัยรุ่นหรือคนที่ชอบรู้ชอบลองทำตาม
6. เล่นกับคนมีชื่อเสียง โดยที่คนคนนั้นอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเลย แต่ถูกนำมาหากิน
และอื่นๆอีกมากมาย
แต่วันนี้จะขอลงรายละเอียดเรื่องของทางการแพทย์เป็นหลักก่อนครับ
ต้องยอมรับว่าการแพทย์เองนั้นก็มีหลายแขนง แพทย์แผนปัจจุบันมักเป็นตัวเลือกแรกๆในการรักษา เนื่องจากการรักษานั้นมีการเก็บข้อมูล มีงานวิจัยหลายชิ้น มีการประชุมของผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเพื่อออกแนวทางปฏิบัติ และเมื่ออะไรที่ไม่ได้ผลดี ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยนกันไป เพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด และเกิดอันตรายน้อยที่สุด
และต้องบอกว่า หลายๆงานวิจัยที่ไม่มีน้ำหนักมากพอ ผลการวิจัยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ดี หรืออาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็จะไม่ได้นำมาใช้ในการรักษา ทั้งๆที่หลายครั้งก็ดูได้ผลค่อนข้างดี แต่ต้องเอาให้ค่อนข้างชัวร์ก่อนจึงนำมาใช้
แพทย์ทางเลือกอื่นๆก็มีแนวทางที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น แพทย์แผนไทย แผนจีน ซึ่งก็มีแนวทางที่น่าสนใจเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ควรเป็นวิธีการที่มีการศึกษาที่ชัดเจนก่อนเช่นกัน อันนี้ถ้ามีหลักการทางวิชาการมาสนับสนุนก็โอเค
*แต่ความน่ากลัวอยู่ที่กลุ่มที่สาม*
คือ กลุ่มที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญแบบปลอมๆ โดยอ้างศาสตร์ต่างๆทั้งหลาย ที่ร่ำเรียนมาจากไหนก็ไม่รู้ หรือบางคนก็มโนขึ้นมาเอง และทำตัวเองเป็นลักษณะเฟคนิวส์ บางคนก็ไม่ได้จบแพทย์ แต่เรียกตัวเองว่าหมอ โดยเล่นกับอารมณ์ ความเชื่อ หรือความเป็นความตายคน เพื่อให้เรื่องราวถูกแพร่กระจายออกไปมากๆและรวดเร็ว และเมื่อมีคนจำนวนหนึ่งเชื่อ ซึ่งอาจจะน้อยมาก หลายๆครั้งแค่ 1% ก็เพียงพอแล้วที่จะหาผลประโยชน์กับคนเหล่านั้น ที่อาจขาดความรู้ความเข้าใจ หรือขาดความมั่นใจในตัวเอง ก็พร้อมจะเชื่อในแนวทางที่ไม่มีการพิสูจน์ความถูกต้องเหล่านั้นทันที ซึ่งหลายครั้งก็อาจให้ผลการรักษาทางใจหรือผลยาหลอก (placebo effect) และพร้อมที่จะช่วยกระจายปากต่อปากให้คนอื่นเชื่อต่อไปอีกเป็นทอดๆ
ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory)
เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์ 1412 cardiology ได้ลองทำ poll เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของยาไขมันกลุ่ม statin ซึ่งพบว่า มีถึง 17% ของคนที่โหวต คิดว่า บริษัทยาหลอกขายยา ซึ่งอาจจะไม่ได้สะท้อนประชากรทั่วไปได้ชัดเจนก็จริง หรืออาจมีคนกดโหวตเล่นก็ตาม ก็ถือว่าตัวเลขค่อนข้างสูงเลยทีเดียว และจากประสบการณ์ของผมเองนั้น ก็มีคนไข้ประมาณ 2-3 คน จาก 10 คน ที่ปฏิเสธการกินยาไขมันเช่นกัน แม้จะเข้าข่ายที่ได้รับประโยชน์จากการกินยาชัดเจน
1412 cardiology
ทำไมหลายคนถึงคิดว่าถูกบริษัทยา”หลอก”
มีผู้ตั้งทฤษฎีสมคบคิดในการอธิบายลักษณะของปรากฏการณ์ที่มีความเชื่อว่ากลุ่มคนหรือองค์กรบางแห่งมีการตั้งมาเพื่อจุดประสงค์ที่ไม่ดี อย่างเช่น กลุ่มคนที่คิดว่า พวกยารักษาโรคต่างๆเป็นสารเคมี มีโทษกับร่างกาย โดยเชื่อว่าบริษัทยารวมถึงแพทย์ร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์จากการขายยา เป็นต้น
ตัวอย่างอื่นๆ เช่น การที่เชื่อว่า บริษัทแอนตี้ไวรัส เป็นคนปล่อยไวรัสเอง หรือ คนที่เชื่อว่าจีนเป็นคนปล่อยไวรัสโคโรน่าจากห้องทดลอง เป็นต้น
ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าการสงสัยในเรื่องเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์เลย เพราะบางครั้งการค้นพบสิ่งใหม่ๆหรือการล้มล้างสิ่งที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ก็เกิดจากความไม่เชื่อในสิ่งที่ทุกคนยอมรับกัน
เพียงแต่ว่ามันคงจะไม่ดีแน่ ถ้าเราเลือกที่จะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสิ่งที่มีหลักฐานยืนยันหนักแน่นกว่าอยู่ตลอด เพราะการล้มล้างข้อมูลเก่าที่มีความน่าเชื่อถือเกิดจากการที่ค้นหา รวบรวมข้อมูลใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ไม่ใช่การคิดขึ้นมาเองจากคนใดคนหนึ่ง
ทฤษฎีสมคบคิดนี้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มที่อ่านข่าวปลอมแล้วเชื่ออยู่ไม่น้อย เนื่องจากมีข่าวปลอมหลายประเภทที่เน้นการโจมตีบุคคลหรือองค์กร โดยสามารถนั่งเทียนเขียนข่าวขึ้นมาได้เองเลย โดยไม่มีหลักฐานข้อมูลรองรับ และคนเราโดยทั่วไป มีแนวโน้มที่จะเชื่ออะไรง่ายๆจาก 2 ประเภทหลักๆคือ
1. เชื่อในคนบอกข้อมูลสิ่งที่ตัวเองไม่รู้
2. เชื่อในสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตนเอง
สิ่งที่อันตรายมากของการเสพข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วมากในยุคนี้ก็คือ เรามักจะให้ความสนใจกับเนื้อหาข้อมูล มากกว่าความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล หรือเรียกง่ายๆก็คือ อ่านแล้วเชื่อเลย
คำแนะนำในการเสพข้อมูล
1. ดูความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ว่ามีที่มาจากไหน เช่น พวกข้อมูลลอยๆแชร์มาตามไลน์ จัดว่าความน่าเชื่อถือต่ำมาก เพราะใครเขียนขึ้นมาก็ได้ แถมบางครั้งยังไปอ้างอิงบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เพื่ออาศัยชื่อคนนั้นอีก
2. ต้องเป็นคนช่างสงสัย อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ
3. ลองฝึกวิเคราะห์ข้อมูลที่อ่าน ถ้าไม่รู้ก็หาข้อมูลจากแหล่งอื่นเสริม
4. หาข้อมูลจากหลายๆแหล่งก่อนที่จะเชื่อ
5. ข่าวที่กระทบกับอารมณ์มากๆ อย่าพึ่งเชื่อหรือแชร์ทันที รอสักพักให้เราคิดโดยใช้เหตุผลประกอบให้ได้ก่อน
ขอให้ทุกคนเสพข้อมูลอย่างมีสติกันมากขึ้น และไม่ตกเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์จากใครนะครับ
“เพราะการไม่รู้ ยังดีกว่ารู้ในสิ่งที่ผิดและคิดว่ามันถูก”
4 บันทึก
14
12
2
4
14
12
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย