Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TongRerd Creator
•
ติดตาม
12 มิ.ย. 2020 เวลา 11:51 • การศึกษา
มีอะไรอยู่ในเมล็ดข้าว?
พวกเราทานกันอยู่ทุกวัน ‘ข้าว’ อาหารหลักของมนุษย์
เช้า กลางวัน เย็น เอ๊ะ!!! หรือว่ามีใครแอบทานมื้อดึกหรือเปล่าคะ ฮ่าๆ
บทความที่ 2 ของเพจ ‘เพราะชีวะ คือชีวิต Mouth BIO’
จึงขอนำเสนอเรื่องราวของ ‘ข้าว’ ผ่านข้อสอบชีววิทยา วิชาสามัญ
ของน้องๆ ม.6 ที่สอบกันไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2562 มาเริ่มกันเลยนะคะ
ภาพเมล็ดข้าวจาก https://bit.ly/3dVNOLj
ข้อสอบวิชาสามัญ เป็นข้อสอบที่น้องๆ ม.6 จะต้องสอบกัน เพื่อนำคะแนนที่ได้ไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัย แต่ไม่จำเป็นต้องสอบทุกคน หรือทุกวิชา แต่ถ้าใครจะสอบเข้าคณะทางสายวิทย์ วิชาชีววิทยาก็จำเป็นที่จะต้องสอบด้วยนะคะ
ต้อง เลยไปเจอข้อสอบข้อนี้ที่น่าสนใจ ซึ่งคำถาม สามารถนำมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ
เพราะอะไรหรอคะ??
เพราะชีวะ คือ...ชีวิตไงคะ (ขายของ)
ข้อสอบชีววิทยา วิชาสามัญ มีนาคม 2562 จาก สทศ.
คำถามเกริ่นว่า ข้าวเป็นแหล่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) คำนี้เกิดจากคำศัพท์ 2 คำค่ะ
คือคำว่า carbon ซึ่งหมายถึงธาตุคาร์บอน (C) และอีกคำคือ hydrate แปลว่า อิ่มตัวไปด้วยน้ำ คำนี้มาจากรากศัพท์ hydro ที่แปลว่า น้ำ
พอ 2 คำนี้มารวมกัน carbohydrate จึงแปลว่า ‘คาร์บอนที่อิ่มตัวไปด้วยน้ำ’
เนื่องจากโมเลกุลของคาร์โบไฮเดรตนั้นประกอบไปด้วยธาตุ 3 ชนิด คือ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) พอเขียนเป็นสูตรเคมีอย่างง่ายจึงออกมาเป็น (C•H2O)n (เลข 2 ต้องเขียนเป็นตัวห้อยนะคะ) H2O ก็คือน้ำนั่นเองล่ะค่ะ
แหล่งอาหารที่เราจะได้รับสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตนี้ก็มีมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว แป้ง เผือก มัน น้ำตาล แต่แน่นอนว่าหลักๆ คนไทยอย่างเราก็ต้องได้รับคาร์โบไฮเดรตมาจาก ‘ข้าว’ แน่นอน เพราะวันหนึ่งๆ เรากินข้าวเกือบ 3 มื้อ แต่บางคนอาจจะได้คาร์โบไฮเดรตมาจากน้ำตาลก็ได้ จริงไหมคะ? เพราะเห็นหลายคนดื่มน้ำหวาน น้ำชา กาแฟ วันละหลายแก้วเลยล่ะค่ะ ฮ่าๆ ลดลงนิดนึงนะคะ ต้อง เป็นห่วง ☺️
แหล่งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต https://bit.ly/2MNiyT4
กลับมาที่คำถามต่อนะคะ จากนั้นนำเมล็ดข้าวสารที่ผ่านการสีแล้ว มาหาองค์ประกอบทางเคมี พบว่ามีสารชีวโมเลกุลหลายชนิดเลยค่ะ โจทย์จึงถามว่าในเมล็ดข้าวสารจะพบสารชีวโมเลกุลใดบ้าง จากตารางในตัวเลือก มีทั้งหมด 5 ชนิดด้วยกัน เรามาทำความรู้จักทั้ง 5 ชนิดนี้กันนะคะ ว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร
สารชีวโมเลกุล (biomolecules) ตามชื่อเลยค่ะ ‘ชีวะ’ กับ ‘bio’ คือสารนี้พบได้ในสิ่งมีชีวิต โดยหลักๆ ต้องมีธาตุ 3 ชนิดเป็นองค์ประกอบ คือ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) เช่น คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) โปรตีน (protein) ไขมัน (lipid) และกรดนิวคลีอิก (nucleic acid) ซึ่งสารชีวโมเลกุลเหล่านี้ ก็จะมีประเภทย่อยๆ ออกไปอีก และแต่ละชนิดก็จะส่งผลต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันออกไปค่ะ
มาเริ่มต้นที่ชนิดแรกตามตารางด้านบนเลยนะคะ
1. ไคทิน (chitin) เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งค่ะ มีโครงสร้างขนาดใหญ่ เป็นสายยาว หรือที่เรียกว่า พอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) เราจะพบไคทิน เป็นองค์ประกอบของโครงร่างภายนอกแบบแข็ง (exoskeleton) ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate) หลายชนิด เช่น เปลือกกุ้ง กระดองปู ลำตัวแมลง แกนด้านในใสๆ ของหมึก และพบได้อีกที่คือ เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ (cell wall) ของสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรฟังไจ (kingdom fungi) เช่น เห็ด รา ยีสต์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายอินทรียสารในระบบนิเวศ (ecosystem) ดังนั้นไคทินไม่พบในพืชนะคะ
แหล่งของไคทิน https://bit.ly/3dWlZml
พอพูดถึงไคทิน ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยได้ยิน ‘ไคโทซาน’ บ้างไหมคะ?
ไคโทซาน (chitosan) คือ สารธรรมชาติที่สกัดได้จากไคทินที่แหละค่ะ มีคุณสมบัติในการดูดจับไขมัน และคอเลสเตอรอล (cholesterol) จึงถูกนำมาผลิตอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักนั่นเองค่ะ
2. อะไมโลส (amylose) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีขนาดใหญ่ หรือ พอลิแซ็กคาไรด์ เป็นองค์ประกอบหลักของแป้งที่สะสมในพืช (starch) ดังนั้นในเมล็ดข้าวสารมีอะไมโลสแน่นอน โดยเฉพาะข้าวเจ้า ข้าวหอมมะลิที่เราหุงรับประทานกัน จะมีปริมาณอะไมโลสมาก ซึ่งไม่ทำให้ข้าวเหล่านี้เหนียวหนึบแบบข้าวเหนียวนั่นเอง เนื่องจากอะไมโลสมีขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลกลูโคส (glucose) ต่อกันเป็นสายยาวด้วยพันธะไกลโคซิดิก (glycosidic bond) ดังนั้นถ้ากินข้าวมากเกินไป ก็ได้น้ำตาลมากเช่นกันนะคะ
ข้าวสวยร้อนๆ และโครงสร้างของอะไมโลส รูปภาพจาก https://bit.ly/2C0yQ8Y และ https://bit.ly/2YpPTZy
3. เซลลูโลส (cellulose) เป็นคาร์โบไฮเดรตขนาดใหญ่ มีองค์ประกอบเป็นน้ำตาลกลูโคสต่อกันเป็นสายยาว ด้วยพันธะไกลโคซิดิก เช่นเดียวกับอะไมโลสเลยค่ะ เราจะพบเซลลูโลสเป็นโครงสร้างสำคัญในผนังเซลล์ (cell wall) ของสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืช (kingdom plantae) เพราะฉะนั้นต้นไม้ พืชผัก ดอกไม้ ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ทั้งหลาย จะต้องมีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบอย่างแน่นอน เพราะทุกส่วนของพืชประกอบขึ้นจากเซลล์ (cell) ซึ่งเซลล์พืชต้องมีส่วนห่อหุ้มที่แข็งแรง ที่อยู่ชั้นนอกสุดของเซลล์นั่นคือ ผนังเซลล์ ที่มีเซลลูโลสอยู่ภายใน ดังนั้นเมล็ดข้าวสารมีเซลลูโลสแน่นอน
ภาพโครงสร้างผนังเซลล์พืชที่มีองค์ประกอบเป็นเซลลูโลส https://bit.ly/3hkx2rn
ในผักและผลไม้ที่เรารับประทาน มีเส้นใยเซลลูโลสเป็นเส้นใยอาหาร หรือที่เราเรียกว่า fiber เส้นใยเหล่านี้จะทำให้เราขับถ่ายสะดวก และกากอาหารถูกขับออกมาจนหมด เนื่องจาก fiber ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ มันจะไปครูดเอากากอาหารที่ติดตามผนังลำไส้ออกมา ทำให้เราขับถ่ายได้ง่าย และกากอาหารไม่ตกค้างในลำไส้ด้วยนะคะ
4. ไกลโคเจน (glycogen) เป็นคาร์โบไฮเดรตขนาดใหญ่ สายยาว แต่มีการแตกกิ่งสั้นๆ ในโมเลกุล มีองค์ประกอบเป็นน้ำตาลกลูโคสจำนวนมาก เชื่อมต่อกันด้วยพันธะไกลโคซิดิก เป็นแป้งที่สะสมในสัตว์ โดยจะสะสมบริเวณกล้ามเนื้อลาย (skeletal muscle) หรือกล้ามเนื้อตามแขนขาของเรา รวมทั้งตับ (liver) ก็เป็นแหล่งสะสมไกลโคเจนเช่นกัน
ไกลโคเจน เป็นสารชีวโมเลกุลที่ช่วยชีวิตเราได้!!!
ขนาดนั้นเลยหรอ???
นึกถึงกรณีเด็กๆ ทีมหมูป่าที่ติดถ้ำหลวงได้ไหมคะ ทำไมพวกเขาถึงมีชีวิตอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับประทานอาหารเป็น 10 วัน หลายท่านคงทราบว่ามนุษย์อดอาหารได้เป็นเดือนๆ โดยที่ไม่ต้องกินอะไรเข้าไป นอกจากดื่มน้ำก็พอประทังชีวิตต่อไปได้ เหตุผลที่มนุษย์อยู่ได้โดยไม่กินอาหารเป็นเวลานานๆ ก็เพราะ เรามีไกลโคเจนที่สะสมในกล้ามเนื้อลาย และตับ เมื่อร่างกายเราขาดอาหาร ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (glucagon) ไปกระตุ้นที่ตับ และกล้ามเนื้อลาย ให้สลายไกลโคเจนที่สะสมไว้ ให้เป็นน้ำตาลกลูโคสที่เป็นหน่วยย่อยของคาร์โบไฮเดรต ออกมาหล่อเลี้ยงร่างกาย หรือประทังชีวิตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้กินอาหารเข้ามา แต่ถ้ายังไม่ได้รับอาหารเข้าสู่ร่างกาย ไกลโคเจนจะถูกสลายต่อไปอีกเรื่อยๆ เราจะสังเกตเห็นได้จาก ตอนที่ทีมกู้ภัยเข้าไปพบเด็กๆ ร่างกายของพวกเขาซูบผอม มีแต่หนังหุ้มกระดูก เหตุผลก็ตามที่เล่าเลยค่ะ ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อแขนขา มันถูกร่างกายสลายไปใช้เพื่อประทังชีวิตนั่นเอง
ไกลโคเจนที่สะสมในตับและกล้ามเนื้อลาย https://bit.ly/2YpX8kc
สุดท้ายแล้วค่ะ
5. อะไมโลเพกติน (amylopectin) เป็นแป้งที่สะสมในพืช คล้ายๆ กับอะไมโลสเลยค่ะ โครงสร้างของโมเลกุลก็คล้ายกัน แต่ต่างกันตรงที่อะไมโลเพกตินจะมีการแตกกิ่งก้านของโมเลกุล ซึ่งในอะไมโลสไม่มี นี่จึงเป็นเหตุผลว่า เราจะพบอะไมโลเพกตินในข้าวเหนียวมากกว่าข้าวเจ้า เพราะการแตกกิ่งก้านของโครงสร้างอะไมโลเพกตินนี้ทำให้เนื้อข้าวมีความเหนียวขึ้นนั่นเอง หรือในเมล็ดข้าวโพดที่เราเคี้ยวหนึบๆ ก็มีอะไมโลเพกตินสูงเช่นกัน
ภาพข้าวเหนียวสุก และโครงสร้างของอะไมโลเพกติน รูปภาพจาก https://bit.ly/2C0yQ8Y และ https://bit.ly/2XVGSZl
เรียบร้อยแล้วนะคะสำหรับสารชีวโมเลกุลทั้ง 5 ชนิดที่อยู่ในตารางตัวเลือกของคำถามข้อนี้
ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ต้อง เชื่อแน่ว่าจะต้องตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างแน่นอนค่ะ
ดังนั้นตอบพร้อมกันเลยนะคะ
สารชีวโมเลกุลที่พบในเมล็ดข้าวสาร คือ ...
อะไมโลส (amylose) เซลลูโลส (cellulose) และ อะไมโลเพกติน (amylopectin)
ตัวเลือกที่ 5) นั่นเองค่ะ
เย้ๆ 🥳
เห็นไหมล่ะคะว่า ข้อสอบชีววิทยาข้อนี้ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตได้อย่างยาวเหยียดเลยทีเดียว แค่เมล็ดข้าวสารสีขาวเม็ดเล็กๆ มีองค์ความรู้ที่ซ่อนอยู่มากมาย และความรู้เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราเลย
ต้อง หวังว่าทุกคนจะสนุกกับบทความนี้นะคะ
ฝากกด follow ติดตามไว้ด้วยนะคะ
👉เพราะชีวะ คือ ชีวิต👈
ขอบคุณค่ะ 🙏
1 บันทึก
2
4
1
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย