ขั้นตอนการโอนที่ดิน ที่คุณต้องรู้
สำหรับผู้ที่ซื้อที่ดินเปล่า บ้านพร้อมที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่น เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว ก็จะต้องทำสัญญาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่กรมที่ดินและดำเนินการโอนที่ดิน ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ เพื่อไม่ให้เสียเวลาและสามารถทำเรื่องโอนที่ดินให้จบครบอย่างรวดเร็วในวันเดียว มาดูว่าโอนที่ดินต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง คิดค่าโอนที่ดินอย่างไร มีค่าใช้จ่ายและค่าภาษีอะไรบ้าง โอนที่ดินที่ไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง ใช้เวลานานหรือไม่
เอกสารโอนที่ดิน
กรณีบุคคลธรรมดา
1. บัตรประชาชน พร้อมสำเนาที่ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
2. หนังสือเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล พร้อมสำเนาลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง (ถ้ามี)
3. ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนาลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
4. หนังสือมอบอำนาจ (ทด.21) ในกรณีที่มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
5. สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
6. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
กรณีนิติบุคคล
1. หนังสือรับรองนิติบุคคล ที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน
2. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน พร้อมรายละเอียดในบัญชีรายชื่อของนิติบุคคลที่สามารถซื้อที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าว ต้องมีหุ้นไม่ถึงร้อยละ 40 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
3. รายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งระบุวัตถุประสงค์ในการซื้อและแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการซื้อ
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
5. หนังสือแสดงตัวอย่างลายมือชื่อกรรมการ
6. หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
7. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
8. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
การเตรียมค่าใช้จ่ายโอนที่ดิน
1. ค่าคำขอโอนที่ดิน 5 บาท
2. ค่าอากร 5 บาท
3. ค่าพยาน 20 บาท
4. ค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดิน ซึ่งคิดที่ 2% ของราคาประเมินหรือราคาขาย โดยใช้ราคาสูงสุดในการคำนวณ
ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่กรมที่ดินประเมินราคาที่ดิน 5,000,000 บาท แต่ราคาขายอยู่ที่ 5,500,000 บาท คำนวณค่าโอนที่ดินโดย 5,500,000 x 2% = 110,000 บาท
5. ค่าจดจำนอง เฉพาะสำหรับกรณีกู้เงินจากสถาบันการเงินมาซื้อ ซึ่งคิดที่ 1% ของมูลค่าที่จดจำนอง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ตัวอย่าง กู้เงิน 5,000,000 บาทมาซื้อที่ดิน มูลค่าที่จดจำนองคือ 5,000,000 บาท และคำนวณค่าจดจำนองโดย 5,000,000 x 1% = 50,000 บาท
6. ค่าอากรแสตมป์ ซึ่งคิดที่ 0.50% ของราคาซื้อขาย แต่หากต่ำกว่าราคาประเมิน ให้ใช้ราคาประเมินในการคำนวณ แต่ถ้าเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์
ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่กรมที่ดินประเมินราคาที่ดิน 5,000,000 บาท แต่ราคาขายอยู่ที่ 5,500,000 บาท คำนวณค่าอากรแสตมป์โดย 5,500,000 x 0.50% = 27,500 บาท
7. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งคิดที่ 3.3% ของราคาซื้อขาย ซึ่งหากต่ำกว่าราคาประเมิน ให้ใช้ราคาประเมินในการคำนวณ
ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่กรมที่ดินประเมินราคาที่ดิน 5,000,000 บาท แต่ราคาขายอยู่ที่ 5,500,000 บาท คำนวณค่าภาษีธุรกิจเฉพาะโดย 5,500,000 x 3.3% = 181,500 บาท
สำหรับค่าโอนที่ดิน และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะหรือค่าอากรแสตมป์นั้น ผู้ซื้อกับผู้ขายอาจออกคนละครึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย นอกจากนี้ หากเป็นการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอย่างบ้าน ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เช่น ค่าเงินประกันการใช้มิเตอร์น้ำและมิเตอร์ไฟฟ้า ค่าส่วนกลาง อ่านเพิ่มเติม 10 ค่าใช้จ่ายในการโอนบ้าน ที่ดิน คอนโดมิเนียม
การโอนที่ดินทำได้ที่กรมที่ดิน
ขั้นตอนการโอนที่ดินที่กรมที่ดิน
ระยะเวลาที่ใช้ในการโอนที่ดินจะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับคิวหรือจำนวนคนที่ใช้บริการที่กรมที่ดิน หากไม่มีคิวยาว ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี ขอแนะนำให้ไปกรมที่ดินแต่เช้าเพื่อจองคิวและลดเวลาที่ต้องรอคอย
1. กรอกคำขอ พร้อมแนบเอกสารที่ใช้ในการโอนที่ดินตามที่ระบุในข้างต้น
2. นำคำขอและเอกสารดังกล่าวไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เมื่อผ่านการตรวจสอบเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ฯ จะให้บัตรคิวเพื่อไปรอเรียกที่ฝ่ายชำนาญงาน
3. เมื่อถึงคิว ผู้โอนและผู้รับโอนที่ดินจะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่ชำนาญงาน
4. เจ้าหน้าที่ชำนาญงานจะประเมินราคาที่ดินและนำไปใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนที่ดิน เมื่อทราบยอดค่าใช้จ่ายแล้ว จะได้รับใบคำนวณค่าใช้จ่ายจากเจ้าหน้าที่
5. ให้นำใบคำนวณค่าใช้จ่ายไปชำระเงินที่ฝ่ายการเงิน จากนั้นจะได้รับใบเสร็จสีฟ้าและสีเหลือง
6. ให้มอบใบเสร็จสีเหลืองแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายชำนาญงาน และรับสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าจากผู้ขาย (ตัวจริงผู้ขายเก็บรักษา)
7. เจ้าหน้าที่ชำนาญงานจะพิมพ์สลักหลังโฉนดและมอบให้ตรวจสอบ เมื่อโฉนดถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับโฉนดพร้อมสัญญาซื้อขาย (ทด.13) ซึ่งถือว่าสิ้นสุดขั้นตอนการโอนที่ดิน และกรรมสิทธิ์ของที่ดินก็ถือเป็นของผู้ซื้อหรือผู้รับโอนโดยสมบูรณ์
หากไม่สะดวกไปดำเนินการโอนที่ดินด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทนได้
การโอนที่ดินนั้นไม่ยาก หากแต่ต้องเตรียมเอกสารให้ถูกต้องเรียบร้อยและเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในวันโอนให้พร้อมและครบถ้วน สำหรับผู้ที่ซื้อบ้าน งานยังไม่จบ เพราะยังมีอีกสิ่งที่ต้องทำก่อนคือการโอนมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นเรื่องต้องรู้หลังย้ายบ้านใหม่
กรณีการจดทะเบียนโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว ห้องชุด หรืออาคารพาณิชย์ โดยราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือ 0.01% มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ฉะนั้น ยังมีเวลาใช้สิทธิจนถึงสิ้นปี 2563
ขอบคุณข้อมูลจาก www.ddproperty.com
โฆษณา