13 มิ.ย. 2020 เวลา 06:30 • ธุรกิจ
'องค์การเภสัช' ชี้หากไทยร่วม 'CPTPP' เสียผลประโยชน์ 3 ด้าน
1
องค์การเภสัชฯ แจงยิบ หากไทยเข้าร่วม CPTPP เสียประโยชน์ 3 ด้าน กระทบด้านสิทธิบัตรและยา การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
'องค์การเภสัช' ชี้หากไทยร่วม 'CPTPP' เสียผลประโยชน์ 3 ด้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การเภสัชกรรม ได้จัดทำข้อโต้แย้งที่เป็นข้อกังวลเกี่ยวกับ "CPTPP" หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยล่าสุดในการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ CPTPP สภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพื่อจัดทำความเห็นข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วม CPTPP ในครั้งนี้
ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรม ได้จัดทำข้อโต้แย้งต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลโดยชี้ให้เห็นถึงข้อเสีย 3 ด้าน รวม 8 ข้อ ดังนี้
ประการแรก กระทบด้านสิทธิบัตรและยา 3 ประการ คือ
1.การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL) โดยรัฐเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา มีขอบเขตของการใช้ลดลง ไม่สามารถใช้กรณี public non-commercial use (การใช้งานสาธารณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์) เหมือนที่ผ่านมา เพราะจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน
2.การจำหน่ายยา generic ช้าลง /ยากขึ้น เนื่องจากต้องมีกระบวนการเชื่อมโยงการทะเบียนยา และกระบวนการสิทธิบัตร รวมถึงกระบวนการอุทธรณ์ ทำให้ยา generic เข้าสู่ตลาดได้ช้าลง
3.ไทยไม่ได้ประโยชน์ในด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากร เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบยาของไทยอยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP
4.ต้องเปิดตลาดของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้กับอุตสาหกรรมจากต่างประเทศให้เข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม รัฐจึงไม่สามารถใช้นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย หรือระเบียบพัสดุ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศได้ ผู้ผลิตยาอาจต้องปรับเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ผลิต” เป็น “ผู้นำเข้ายาจากต่างประเทศ” อุตสาหกรรมยาใน ประเทศจะถูกทำลาย และไทยจะไม่สามารถพึ่งพาตนเองด้านยาได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข
2
ประการที่ 2 กระทบต่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) 2 ประการ คือ
1.การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ไทยต้องเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งเพิ่มอำนาจการผูกขาดสายพันธุ์พืชใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 20-25 ปี ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ
รวมทั้งขยายอำนาจการผูกขาดจากเดิมเฉพาะสายพันธุ์พืชไปยังผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ ส่งผลกระทบต่อการผูกขาดยาผ่านการผูกขาดสายพันธุ์พืชด้วย และกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและ เกษตรกรซึ่งรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ส่งผลต่อต้นทุนการเพาะปลูกและราคาสมุนไพร การแข่งขัน และการต่อยอด การค้นคว้าวิจัยต่างๆ
2.การเข้าร่วม CPTPP ยังทำให้ไทยต้องเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) ว่าด้วยการยอมรับระหว่างประเทศในการฝากเก็บจุลชีพเพื่อการจดสิทธิบัตร และต้องแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งจะผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งในเรื่องทรัพยากรจุลชีพและการคุ้มครองพืช ท้องถิ่นในประเทศไทย
ประการที่สาม คือ กระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ รวม 2 ประการ คือ
1
1.ในการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำและการขอเวลาปรับตัวในการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ตามที่กรมเจรจาฯ แจ้งนั้น เรายังไม่ทราบว่าจะสามารถกำหนดได้ที่มูลค่าเท่าใด และจะได้รับการผ่อนผันหรือไม่ เนื่องจากไทยตามเข้าร่วมภายหลัง ดังนั้น หากการเจรจาขอผ่อนผันในประเด็นอ่อนไหวต่างๆไม่ได้ ไทยไม่ควรเข้าร่วมภาคี
1
2.การยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจขององค์การเภสัชกรรมทำให้ไม่สามารถดำเนินภารกิจเชิงสังคมในการรองรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็นต่อระบบ สาธารณสุขของประเทศได้ เช่น การเกิดโรคระบาดโควิด-19
ติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา