14 มิ.ย. 2020 เวลา 04:30
ก่อน ... จะไม่มีแผ่นดิน-ผืนน้ำ ที่สะอาดพอที่ลูกหลานเราจะอยู่ต่อไป
เชิญอ่านบทความที่เขียนด้วยความเจ็บใจชิ้นนี้ของผม
#มารชรา
ไล่ทีละช็อต “น้ำเสีย” รอบโรงงานรีไซเคิลหนองพะวา บ้านค่าย ระยอง สวนยางตายเรียบ พืชเกษตรไม่เหลือ แต่โรงงานบอก “น้ำเสียเอง”
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนๆในเพจ “มารชรา” คงเห็นกันแล้วว่า แอดมิน ให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับกรณีพบน้ำเสียรอบโรงงานที่ถูกเรียกว่า “โรงงานรีไซเคิล” ที่บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
เข้าใจกันก่อนว่า โรงงานแห่งนี้ เหมือนจะมีความพยายามเป็นโรงงานรีไซเคิล ทำให้ถูกเข้าใจว่าเป็นโรงงานรีไซเคิล แต่ในความเป็นจริง “ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นโรงงานรีไซเคิล” (106) เมื่อตรวจสอบจากฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมิตรสหายของแอดมิน ทั้งสายกฎหมาย สายโรงงาน สายองค์กรสิ่งแวดล้อมยืนยันตรงกัน
จากฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม “โรงงานแห่งนี้” มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) 2 ใบ คือ ลำดับที่ 40 ประกอบกิจการ อัดเศษกระดาษ เศษโลหะ พลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป และลำกับที่ 60 ประกอบกิจการ หล่อและหลอมโลหะ ซึ่งทั้ง 2 ใบ ได้มาในปี 2560
แต่ชาวบ้าน ยืนยันตรงกันว่า โรงงานมาตั้งตั้งแต่ปี 2554 และสีของน้ำในหนองพะวา เริ่มเปลี่ยนไปหลังจากนั้น ทั้งที่ปี 2554 โรงงานเคยขออนุญาตประกอบกิจการคัดแยกขยะ (105) แต่ถูกคัดค้าน จึงไม่ได้ใบอนุญาต
โรงงานนี้ ยังไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย และไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (ใบนี้ขอกับท้องถิ่นได้) แต่ในโรงงานมีวัตถุอันตรายปริมาณมาก
ถังบรรจุสารเคมีขนาด 1000 ลิตร และ 200 ลิตร จำนวนมากในโรงงาน ต่อมาถูกยืนยันว่าเป็น "วัตถุอันตราย"
ภายในโรงงานพบวัตถุอันตรายจำนวนมาก จากการเก็บภาพของทีมงาน พบภาพถังบรรจุสารเคมีทั้งขนาด 1000 ลิตร และขนาด 200 ลิตร จำนวนมาก (ดูในภาพ – ไม่สามารถระบุจำนวนได้) ในถังส่วนใหญ่มีของเหลวบรรจุอยู่ ต่อมามีเอกสารยืนยันจากเจ้าหน้าที่ในสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ยืนยันว่า ของเหลวที่พบ อย่างน้อยที่มีแน่ๆ คือ น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันที่ใช้แล้ว ส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้กลางแจ้ง
ในภาพที่ถูกบันทึกมา ยังพบ “กากตะกอนน้ำมัน” ซึ่งในวงการรู้กันดีว่าเป็น “กากสุดท้าย” หมายถึง “ของเสียอันตราย ที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิล ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใดๆได้อีกแล้ว” จึงเป็นคำถามว่า ถูกนำเข้ามาในโรงงานทำไม ... เพราะ “กากสุดท้าย” เช่นนี้ ควรถูกส่งไปกำจัดในโรงงานรับกำจัดของเสียอันตราย(101) เท่านั้น ซึ่งราคากำจัดถือว่า “สูง” พอสมควร
จากประสบการณ์ของแอดมิน เคยพบว่า มีขบวนการลักลอบทิ้ง “กากสุดท้ายของเสียอันตราย” ที่มีราคาค่ากำจัดสูง เพื่อลดต้นทุน มีทั้งแอบทิ้งไปเลยถ้าเป็นของเหลว เช่นที่เกิดขึ้นที่ หนองแหน ฉะเชิงเทรา หรือมีอีกวิธีคือส่งปะปนไปกับของรีไซเคิล ไปยังโรงงานรีไซเคิล(106)ที่รับไปกำจัดในราคาถูก หรือ ตัดราคาจากค่ากำจัดขงโรงงาน 101 ที่เขาทำถูกต้อง และสุดท้ายก็มักไปพบว่า “กากสุดท้าย” เหล่านั้น ถูกลักลอบฝังกลบ สร้างมลพิษลงไปในดิน น้ำ เพราะค่ากำจัดที่รับมามันถูกกว่าต้นทุนที่แท้จริง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำจัดอย่างถูกวิธี
วัตถุอันตรายที่เก็บไว้กลางแจ้ง ในโรงงาน
ดูวิธีการจัดเก็ยวัตถุอันตราย
ที่น่าสนใจ คือ จากข่าวของ PPTV มีคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ว่า ได้เข้าไปพบว่าโรงงานครอบครองวัตถุอันตรายจำนวนมากตั้งแต่หลายเดือนก่อน อย่างน้อยก็มี “น้ำมันที่ใช้แล้ว” โดยในเอกสารของอุตสาหกรรม จ.ระยอง ใช้คำว่า "ไม่มีใบอนุญาตในการประกอบกิจการประเภทนำสารเคมีพิษมาบำบัด” พร้อมอ้างว่า ได้ขอให้นำเอกสารการขอครอบครองวัตถุอันตรายมาแสดงถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถแสดงเอกสารได้ จึงดำเนินคดีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังเป็นข่าวไปแล้ว
นี่เป็นคำถามใหญ่ เพราะการตรวจสอบว่า โรงงานมีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ในระบบฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าไม่มีในในระบบ ก็ไม่จำเป็นต้องไปถามหาจากโรงงาน
“เหตุใด เจ้าหน้าที่ต้องถามหาถึง 3 ครั้ง ใช้เวลาตรวจซ้ำตั้งหลายเดือน ... ทั้งที่เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า มีวัตถุอันตรายอยู่ในโรงงาน ไม่มีใบอนุญาตรีไซเคิล ไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย การจัดเก็บวัตถุอันตรายกลางแจ้งก็ยังผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และหากดูจากใบอนุญาตที่มี คือ หล่อหลอมโลหะ ซึ่งเป็นของแข็ง แต่วัตถุอันตรายที่ครอบครองกลับเป็น ของเหลว จึงไม่สอดคล้องกันแม้แต่น้อย”
ทำไมจึงเพิ่งมาดำเนินคดี ทำไมต้องขอดูเอกสาร ทั้งที่ตรวจสอบในระบบง่ายนิดเดียว
ก่อนจะดำเนินคดีเมื่อ 11 มิถุนายน 63 (หลังเป็นข่าว) ก็เคยตรวจสอบแล้ว คำสั่งก็ตามนี้
เอกสารจากอุตสาหกรรม จ.ระยอง ที่ยืนยันว่า โรงงานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่มีใบอนุญาตครอบครอง และไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทนี้ จะเพิ่งดำเนินนคดีทั้งที่เข้าไปตรวจแล้วหลายครั้ง และข้อมูลใบอนุญาตสามารถตรวจสอบได้ในระบบของกรมโรงงานฯ
จากข้อมูลของทีมข่าว PPTV ที่เขาไปลงพื้นที่ พบว่า เฉพาะสวนยางเสียหายไป 36 ไร่ ลักษณะยืนต้นตาย แต่ถ้ารวมพื้นที่แหล่งน้ำและพื้นที่เกษตรอื่นๆ น่าจะเสียหายไป 100-200 ไร่ แล้ว และสภาพน้ำแย่ลงเรื่อยๆตามระยะเวลาที่ปล่อยไว้
ในขณะที่โรงงานถูกคำสั่งห้ามประกอบกิจการชั่วคราว ชาวบ้านยืนยันว่า ยังมีรถบรรทุกวิ่งเข้าออกอยู่ตลอด พอนักข่าวไปถามเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตอบว่า ทางโรงงานอ้างว่ารถบรรทุกวิ่งเข้ามานอนพัก ก่อนเอาของไปส่งที่อื่น ทั้งที่ตามกฎหมาย การเคลื่อนย้ายวัตถุอันตรายต้องเคลื่อนย้ายจากต้นทางไปปลายทางทันที ออกนอกเส้นทางไม่ได้เด็ดขาด เพราะเสียงต่อการลักลอบทิ้ง รถจะต้องติด GPS รู้ทันทีเมื่ออกนอกเส้นทาง หากจำเป็นต้องพัก ก็ต้องมีใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ที่สำคัญ คือ หากเจ้าหน้าที่ได้รับคำตอบเช่นนั้น ก็สามารถขอดูใบขนส่งได้ว่ารับวัตถุอันตรายมาจากไหน จะไปส่งที่ไหน อยู่ในเส้นทางหรือไม่ ไกลแค่ไหน ทำไมต้องพัก และมีใบอนุญาตให้พักได้จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่
ไม่ใช่แค่ “เชื่อตามนั้น” ตามคำอธิบายของโรงงาน แล้วอ้างว่า “ไม่มีอำนาจเปิดดูของ”
สภาพน้ำที่ทำให้สวนยางพารายืนต้นตาย
สวนยางพารายืนต้นตายทั้งหมด
ล่าสุด อ้างอิงจากข่าว PPTV เจ้าของโรงงานอ้างว่า “น้ำเสียเอง” เพราะก่อนโรงงานมาตั้ง ทางด้านบนของโรงงานมีสภาพน้ำเสียอยู่ก่อนแล้ว คงต้องไปพิสูจน์กัน พร้อมให้ความเป็นธรรมกับโรงงาน
แต่คำถามที่ใหญ่กว่า คือ โรงงานนี้ เปิดอยู่ได้ด้วยใบอนุญาตอะไร แล้ววัตถุอันตรายที่อยู่ในโรงงานสอดคล้องกัลใบอนุญาตที่มีอย่างไร
เมื่อไม่ตรงกัน ทำไม โรงงานจึงเปิดมาได้ตั้งนาน จนครอบครองวัตถุอันตรายไว้เต็มไปหมด
ถ้าไม่สามารถครอบครองวัตถุอันตรายได้ตั้งแต่แรก น้ำจะเสียหรือไม่ ... ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะได้รู้กันไม่ยากว่า น้ำเสียจากอะไรกันแน่
ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม จึงเสนอให้ชาวบ้านผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ทั้งฟ้องตรงต่อศาลอาญาคดีทุจริต / ฟ้อง ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อ ป.ป.ช. และยังสามารถฟ้องต่อศาลปกครองให้เจ้าหน้าที่รัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิด
*** มีเอกสารเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ที่ระบุว่า หน่วยงานสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรม เคยเข้าไปตรวจโรงงานแห่งนี้ หลังถูกร้องเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ว่าได้กลิ่นเหม็นมาก และพบว่าแหล่งน้ำในหนองพะวาเป็นสีแดง เมื่อไปขุดดูก็พบว่ามีการฝังกลบของเสียอันตรายในที่ดินของโรงงาน ทั้งที่ในปี 2556 โรงงานนี้ ยังไม่มีใบอนุญาตอะไรเลย แต่มีแค่คำสั่งให้ปรับปรุง??
ไม่มีใบอนุญาต แต่ถูกร้องเรียนว่าก่อมลพิษ ... เปิดได้ยังไง??
ภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2563
ทุกครั้งที่ทำข่าวพวกนี้ ... นานๆทีจะมีคนสนใจช่วยแชร์ ช่วยส่งต่อ ช่วยทำให้เป็นกระแส จนคนทำงานด้านนี้ต่างก็เหนื่อยล้าอ่อนแรงกันไปมากแล้ว สู้อำนาจทุนก็ยากก็เสียงมากแล้ว พอลุกมาต่อสู้ก็ไม่มีใครสนใจ
ความสนใจต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากขยะพิษเหล่านี้ ไม่สามารถไปต่อกรกับข่าวดราม่า ข่าวแย่งหวย ความไสยศาสตร์ลี้ลับ ข่าวข่มขืน ได้เลย ... ไม่ได้บอกว่าข่าวเหล่านั้นไม่ดี
แค่อยากอยากบอกว่า ช่วยมาสนใจเรื่องขยะพิษกันบ้าง คุณรู้มั้ย มันกระจายเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดแล้ว จากภาคตะวันออกทั้งภาค มาภาคตะวันตก แม่กลอง มหาชัย ตอนนี้กระจายลงไปเพชรบุรีแล้ว
ตั้งแต่ผังเมืองพังทลาย ถูกยกเลิกไป โรงงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นนับพันแห่ง แต่ละแห่งล้วนมีปัญหาต่อมาตรฐาน มีคนมากมายกำลังทนทุกข์ทรมาน
รู้มั้ย แผ่นดิน หนองน้ำ แหล่งน้ำใต้ดินของเรากำลังเต็มไปด้วยสารพิษ บนฟ้าก็เต็มไปสารพิษ
นี่เป็นทรัพยากรที่คุณต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันต่อไปนะ หลีกเลี่ยงไม่ได้นะ
ดิน น้ำ ฟ้า ที่กำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆในวันนี้ คือ ทรัพยากรที่ลูกหลานของเรา ต้องใช้ต่อไป ในวันที่เราตายไปแล้วนะ
ผมขอยืมเนื้อร้องจากเพลง “สานใจคนรักษ์ป่า” ของพี่สุวิชชานนท์ รัตนภิมล มาปิดท้าย
“พ่อแม่ สุขสำราญ ... ลูกหลานรับกรรม”
โฆษณา