14 มิ.ย. 2020 เวลา 11:39
Book Review # 7: Margin of Safety: Risk-Averse Value Investing Strategies for the Thoughtful Investor
by Seth Klarman (1991)
2
ถ้าถามว่าหนังสือเกี่ยวกับ Value Investing ที่ดีที่สุดคือเล่มไหน ส่วนมากเราจะนึกถึงหนังสือของ Ben Graham อย่าง Security Analysis หรือ The Intelligent Investor หรืออาจจะเป็นหนังสือของอาจารย์นิเวศน์อย่างตีแตก แต่ยังมีหนังสืออีกเล่มนึงที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ทั้งในเรื่องของปรัชญา และวิธีการนำทฤษฎี Value Investing ไปใช้หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “Margin of safety” โดย Seth Klarman ครับ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
Seth Andrew Klarman เป็นตำนานของนักลงทุนเน้นคุณค่า โดยใช้แนวทางการลงทุนที่ค่อนข้างคล้าย Warren Buffett มาก ถ้า Buffett มีฉายาว่า “Oracle of Omaha” Klarman เองก็เรียกได้ว่าเป็น "Oracle of Boston."
ในปี 1982 Klarman กับอาจารย์จาก Havard ชื่อว่า William J. Poorvu ร่วมกันก่อตั้ง Baupost group เป็น hedge fund ทีมีกลยุทธ์เน้นการบริหารความเสี่ยง และใช้กลยุทธ์หลักเป็น Long-only หรือซื้อโดยไม่ขาย short sell ปัจจุบันเป็น hedge fund ที่มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ หรือ AUM ถึง 28,900ล้านUSD ใหญ่เป็นลำดับที่ 12 ของโลก ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน Baupost ทำผลตอบแทน 19% ต่อปีแบบทบต้น และทำกำไรเป็นเงินทั้งหมดหรือ Net gain ให้ผู้ลงทุนไปแล้วกว่า 16,000ล้านUSD หรือ ประมาณ 5แสนล้านบาท!!
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีแปลไทย และต้นฉบับปัจจุบันแทบหาไม่ได้แล้ว โดยถ้าจะซื้อจาก Amazon.com จะมีราคาที่เล่มละ 3หมื่นบาท ใครมีต้นฉบับเรียกได้ว่าโชคดีจริงๆครับ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
หนังสือแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ทั้งหมด 14 บท
ส่วนที่ 1 : จุดที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะผิดพลาดอยู่ตรงไหน?
- ไม่แยกระหว่าง การลงทุน กับ การเก็งกำไร
การที่เราไม่แยกให้ดีว่าเราจะซื้อหุ้นมาเพื่อการลงทุนหรือการเก็งกำไรเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในการลงทุนทั้งหมด เพราะทั้ง 2 อย่างมีทัศนคติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ในการเก็งกำไรนั้นคนที่ใช้วิธีนี้จะต้องหาประโยชน์จากความต้องการซื้อที่ราคาสูงกว่าของคนอื่นเพื่อทำกำไรโดยอาจจะใช้กราฟหรือสัญญาณต่างๆเข้าช่วย ในลักษณะเดียวกันกับการซื้อของสะสมอย่างภาพวาด หรือนาฬิกา
การกำหนดราคาแทบจะมาจากว่าเคยมีคนซื้อไปราคาเท่าไหร่ และเพราะการเพิ่มของราคาจึงดึงดูดให้คน “คาดให้ราคาเพิ่มไปต่อ” ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อของผู้คนเป็นพื้นฐาน ต่อเนื่องไปถึงการพยายามหาสูตรลับที่จะทำกำไรได้ง่ายๆโดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาหลักการอย่างถ่องแท้
กลับกันในการลงทุนมีเรื่องที่ต้องคิดในคนละมุม คือ การเข้าใจในมุมของความโลภที่ทำให้เกิด Mr. Market ที่จะพยายามบอกราคาของหุ้นทุกวันๆบางวันแพงไป บางวันก็ถูกไป นักลงทุนจะไม่หลงไปกับการเคลื่อนไหวของราคา แต่จะ “หาประโยชน์จากราคาที่ผิดพลาด” ผ่านการพิจารณามูลค่าการลงทุน เพื่อทำให้โอกาสที่จะได้กำไรมีความปลอดภัยมากทีสุด
- ตลาดหุ้นไม่ได้เกิดมาให้นักลงทุนได้กำไร
เรารู้ดีว่าผู้เล่นที่ทำเงินจากตลาดหุ้นไม่ได้มีแค่ “คนเล่นหุ้น” เท่านั้น ยังมีทั้งโบรกเกอร์ กองทุนรวม วาณิชธนกิจ นักข่าวหุ้น และคนต่างๆอีกมากมายที่ได้เงินจากการหาคนมาลงทุนไม่ใช่กำไรจากการลงทุน หากมองลงไปจริงๆแล้ว Klarman ชี้ว่า การที่นักลงทุนจะได้กำไรหรือไม่นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับผลตอบแทนของผู้เล่นต่าง ๆ มากเท่าที่ควร เช่น โบรกเกอร์เองมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายของลูกค้า ดังนั้นช่วยไม่ได้ที่ “แรงจูงใจ” ของคนที่ทำธุรกิจนี้ต้องพยายามสร้างการซื้อขายเห็นได้จาก Bull Bias ก็คือมักจะไม่มองว่าตลาดแย่ หรือให้ถือเงินสดสอดคล้องไปกับเรื่องของความต้องการ Volume trade นั้นเอง หรือ Product ทางการเงินเองก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนได้เปรียบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ CDS , CDO ที่เป็นส่วนนึงของวิกฤติ Subprime ที่ผ่านมาเหมือนที่ Klarman บอกว่า
"สำหรับตลาดทุนถ้ามีคนอยากเล่นอะไรตลาดก็จะออกมาให้เล่น" โดยไม่ได้สนใจความเสี่ยง หรือกองทุนเองก็ต้องคอยเปรียบเทียบผลตอบแทนกับคู่แข่งหรือ Index และยอมไม่ได้ที่จะต้องแพ้แม้ในเวลาเพียงสั้นๆเพราะมีโอกาสที่คนจะเอาเงินออกไปให้กองทุนที่ทำผลตอบแทนดีกว่า ซึ่งส่งเสริมการเก็งกำไร และมองภาพระยะสั้นมากกว่าผลตอบแทนระยะยาวที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุน ดังนั้นหากมองไปถึงผลประโยชน์ และแรงจูงใจของผู้เล่นในตลาดแต่ละคนจะทำให้เราเข้าใจการกระทำ และข้อจำกัดของผู้เล่นแต่ละคนมากขึ้น
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ส่วนที่ 2 : ปรัชญาการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคืออะไร?
- สิ่งสำคัญคือการกำหนดเป้าหมาย
Klarman แนะนำให้นักลงทุนมองที่ “การเลี่ยงโอกาสขาดทุน” เป็นหลักมากกว่าการตั้งเป้าผลตอบแทน เพราะสำหรับการลงทุนนั้นข้อสำคัญคือ "การจำกัดความเสี่ยง หรือ Risk avoidance"
ยกตัวอย่าง พอร์ตการลงทุนที่ทำผลตอบแทนได้ 16% ต่อปีต่อเนื่อง 10ปี จะชนะพอร์ตที่ทำผลตอบแทน 20% ต่อปีมา 9 ปี แต่พลาดขาดทุน 15 % ในปีที่ 10 การขาดทุนสำหรับการลงทุนระยะยาวแล้วจะมีผลอย่างมาก การคิดแบบมองไปที่โอกาสขาดทุนมากกว่าจะเป็นแก่นให้นักลงทุน VI ทำให้ต้องเลือกการลงทุนอย่างเข้มงวด ไม่ลงทุนตามกระแส การคิดถึงความเสี่ยงจะทำให้เราไม่ใช้อารมณ์ไม่กลัวการตกรถ ไม่อิจฉาเวลาคนอื่นได้กำไร ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่งผลตอบแทนที่เสถียร และถ้าเราไม่ขาดทุนได้แล้ว ก็เหลือแต่ว่าจะกำไรมากหรือน้อยเท่านั้นครับ
**** ส่วนเผื่อความปลอดภัย คือ อะไร และสำคัญยังไง ?
เพราะการลงทุนเน้นคุณค่าเป็นการเลือกที่จะมองหาการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ หมายความว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดต้องเกิดการรับรู้มูลค่าที่เรา “คิดว่ามันผิด” และเข้าไปซื้อของที่ราคาต่ำกว่ามูลค่านั้นได้ หรือจะเรียกได้ว่า Value investing เป็นการทำ Price-value arbitrage นั้นเอง
หลักการนี้จึงอยู่บนพื้นฐานของการเชื่อว่าตลาดผิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม เช่น ภาวะ panic ของตลาด หุ้นที่คนสนใจน้อย หุ้นที่มีข้อจำกัดของกองทุน หรือหุ้นที่อยู่ในภาวะไม่แน่นอนมากๆอย่างหุ้นกำลังล้มละลาย ในภาวะแบบนี้มูลค่าที่เราเองคำนวณได้นั้นก็อาจจะผิดได้เช่นกันจาก “ความไม่แน่นอน” หลายอย่างที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมั่นใจในการประเมินมูลค่าของตัวเอง
สิ่งที่ Klarman บอกก็คือเราต้องประเมินมูลค่าด้วยหลักกการ 3 ข้อคือ
1.ใช้ค่าที่ "อนุรักษ์นิยม" หรือ Conservative ที่สุดเช่นคำนวณมูลค่าได้ 100-150 จะให้เลือกใช้ 100 ครับ
2. จงเป็นคน "ช่างเลือก" จำไว้ว่าเราไม่ต้องลงทุนในทุกโอกาสที่เข้ามาก็ได้
3. อย่าลืมมองหา "ตัวเร่ง" หรือ catalyst ใดก็ตามที่จะทำให้ราคาวิ่งเข้ากลับหามูลค่าให้เร็วที่สุด เพราะเนื่องจากการประเมินมูลค่าของเราอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน ธุรกิจที่เราเคยคิดว่ามีมูลค่า 100 อาจจะลดลงไปเป็น 80 หรือ 50 ก็ได้จากทั้งคู่แข่งที่เข้ามา หรือ เทคโนโลยีใหม่ๆที่มาทดแทน ยิ่งเวลาของการกลับเข้าสู่มูลค่านานเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่ม “ความไม่แน่นอน” ครับ
"ส่วนเผื่อความปลอดภัย" จึงเข้ามามีความสำคัญในจุดนี้ เพราะช่องว่างของมูลค่าอาจจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ก็ได้ในอนาคต เราจึงควรจะซื้อธุรกิจมูลค่า 100 ที่ราคา 80 หรือ 50 หรือน้อยกว่า เพื่อ “ป้องกัน” โอกาสที่จะขาดทุนได้ ซึ่งส่วนต่างนี้จะต้องการมากหรือน้อยจึงอยู่ที่ว่าเรามีความ “มั่นใจ” ในการคำนวณของเราขนาดไหน ธุรกิจที่ดีมีความแข็งแกร่งอยู่มานานไม่ถูก disrupt ง่าย จะทำให้มีความน่าเชื่อถือในการประเมินมากขึ้น และอาจจะต้องการส่วนเผื่อความปลอดภัยน้อยกว่าธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและมีโอกาสถูก disrupt ครับ เมื่อประกอบกับการประเมินมูลค่าอย่างอนุรักษ์นิยม ทำให้นักลงทุน VI แม้ไม่ได้เป็นคนที่มีการคำนวณที่เหนือกว่าคนอื่น หรือมีความสามารถพิเศษในการเทรดอะไร แต่ Klarman บอกว่าด้วยปรัชญาที่เน้นที่การซื้อของที่ราคาต่ำกว่ามูลค่ามากๆ และเลือกลงุทนอย่างเข้มงวดต่างหากที่ทำให้นักลงทุน VI ทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
- การลงทุนเน้นคุณค่าประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก
1. Bottom-up Approach
Klarman แย้งว่าในการลงทุนของสถาบันหรือกองทุนส่วนใหญ่จะใช่วิธีการมองแบบ Top-down เพื่อมองหา Fund flow ว่าเงินจะไหลไปทางไหน ประเด็นก็คือ การทำแบบนี้เป็นการแข่งขันกับทำนายอนาคตเช่น ภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย นโยบายของ Fed ยิ่งไปกว่านั้นเราต้องคิดได้ถูกต้องมากกว่าคนที่กำลังแข่งกับเรา และการทำแบบนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาส่วนเผื่อความปลอดภัย เช่น หากเราคาดว่าหุ้นกลุ่มหนึ่งจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย แล้วการประชุมรอบนี้ดอกเบี้ยไม่ลด เราจะรอการประชุมครั้งหน้ามั้ย? แล้วจะต้องรออีกนานเท่าไหร่ ?
ถ้าลดดอกเบี้ยแล้วหุ้นไม่ขึ้นเราจะต้องถือต่อหรือขายทิ้ง ?
จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจมีปัจจัยต่าง ๆ มากมาย
กลับกันการมองแบบ Bottom-up จะมองหาโอกาสการลงทุนเฉพาะตัว และมีสิ่งยึดเหนี่ยวคือ ส่วนต่างของมูลค่ากับราคา กระบวนการทางความคิดจะเป็นการหามูลค่าของธุรกิจ รอให้ราคาต่ำกว่ามาก ๆ ซื้อแล้วรอให้ราคาวิ่งเข้าหามมูลค่า และขายออก จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางความคิดจะถูกจำกัดในแคบลง และไม่ต้องอาศัยการคิดได้มากกว่าคนอื่น แต่เป็นการ ”เลือกให้มากกว่าคนอื่น” นอกจากนั้นแล้วเวลาที่ต้องขายก็จะชัดเจนคือ เมื่อส่วนต่างแคบลง หรือมีการลงทุนที่มีส่วนต่างกว้างกว่าให้เห็นครับ
2. Absolute-Performance Orientation
กองทุนส่วนมากจะมีแรงกดดันที่จะต้องทำผลตอบแทนให้ดีกว่า หรืออย่างน้อยต้องไม่แย่ไปกว่าคู่แข่ง และ Index อย่าง SET50 เพราะว่าด้วยสภาพตลาดที่แข่งขันสูง นักลงทุนรายย่อยมักจะนำเงินเข้าหากองทุนที่ผลตอบแทนสูงเป็นธรรมดาส่วนนี้เองเป็นแรงกดดันให้กองทุนต้องมอง ผลตอบแทนเปรียบเทียบ หรือ “Relative Performance” ส่งผลให้ต้องซื้อหุ้นที่คล้าย index เพื่อไม่ให้มีโอกาสจะแพ้ index นั้นเอง จะเห็นได้ว่าแนวทางแบบนี้จะบังคับให้ต้องมีการลงทุนตลอดเวลาอย่างช่วยไม่ได้ ประกอบกับข้อจำกัดเช่น กองทุนหุ้นต้องถือหุ้น 70% เป็นต้นทำให้ต่อให้หุ้นแพงหรือความเสี่ยงตลาดสูงกองทุนก็ต้องซื้ออย่างเลี่ยงไม่ได้
การมองผลตอบแทนแข่งกับบางอย่างจะทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรอโอกาสการลงทุนโดยไม่ทำอะไร ไม่สามารถรอโอกาสการลงทุนงามๆได้ และไม่สามารถมองไปที่โอกาสขาดทุนได้ การจะลงทุนแบบ VI จึงต้องยึดโยงกับผลตอบแทนแบบไม่เปรียบเทียบ และมองระยะยาว เพื่อทำให้การลดความเสี่ยง และการลดโอกาสขาดทุนนั้นเป็นไปได้ง่ายนั้นเอง
3. Risk and Return Attitude
ความเสี่ยงในความหมายของตลาดปัจจุบันมักจะมองที่ความผันผวนของราคาเทียบกับ Index หรือเรียกว่า ค่า Beta หรือดูที่ค่า S.D. แต่สำหรับ Klarman แล้วความเสี่ยงที่นักลงทุนควรจะมองมีแค่ "โอกาสที่จะขาดทุนอย่างถาวร" การวิเคราะห์อย่างเข้มงวด และเลือกเฉพาะอะไรที่เรารู้เท่านั้นจึงเป็นการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดนั้นเอง เรามักจะได้ยินกันว่าผลตอบแทนมากย่อมมาคู่กับความเสี่ยงที่มาก แต่ Klarman บอกว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นจริงในตลาดที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่สำหรับ VI ที่มองหาโอกาสลงทุนเฉพาะเวลาที่มีความไม่มีประสิทธิภาพของราคากับมูลค่า ณ จุดนั้นเอง “ผลตอบแทนจะสูงแต่ความเสี่ยงกลับลดลง” นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุน VI ที่ประสบความสำเร็จจึงทำผลตอบแทนได้สูงทั้งๆที่ไม่ได้มีความผันผวน หรือความเสี่ยงที่มากตามไปด้วย
- การประเมินมูลค่าธุรกิจ
ในมุมมองของ Seth แล้ว การประเมินมูลค่าธุรกิจมีได้หลากหลายวิธีและควรจะถูกเลือกใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ และสถานการณ์ของหุ้นนั้นๆ เช่น Net present value (NPV), Private market value, Liquidation value และ Stock market value ครับ
NPV นั้นคือการคิด “กระแสเงินสดที่บริษัทจะทำได้ในอนาคต” แล้วคิดย้อนด้วยส่วนลดกลับมาเป็น ราคาในปัจจุบัน การประเมินมูลค่าแบบนี้นั้น สิ่งสำหรับก็คือ ตัวธุรกิจต้องหากระแสเงินสดได้ง่ายทำให้เหมาะกับพวก ธุรกิจโรงไฟฟ้า รถสาธารณะ หรือ ค้าปลีกเป็นต้น กลับกันธุรกิจอย่างพวกstart up หรือ technology จะเป็นการยากกว่ามากที่จะคำนวณ NPV สิ่งนี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ VI ส่วนมากจะหลักเลี่ยงหุ้น Tech บางกลุ่ม
Private-market value คือการเปรียบเทียบกรณีการซื้อกิจการเช่นว่า การซื้อ Tesco lotus เกิดขึ้นราคาที่เท่าไหร่เทียบกับไม่ว่าจะเป็น PE PBV เพื่อนำมาเทียบกับหุ้นในตลาด การคิดแบบนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าหุ้นที่เราเอามาเปรียบเทียบมีโอกาสโดนซื้อกิจการนั้นเอง
Liquidation value คือการคิดกรณีที่หุ้นนั้นจะถูกแยกขายทรัพย์สินทอดตลาด ราคาของธุรกิจจะอยู่ที่ว่าโรงงาน ที่ดิน เงินสด และอื่นๆที่จะแยกขายได้เป็นเท่าไหร่หักด้วยหนี้สินที่มี วิธีนี้คือวิธีของ Graham ที่เรียกว่า Net-net working capital ครับ
Stock market value คือใช้ราคาตลาดเลย วิธีนี้จะได้ผลกับกองทุน ETF ที่มีราคาตลาด และ มีNAVคือ หุ้นที่ถือในตลาด บางครั้งราคาในตลาดจะถูกซื้อขายต่ำกว่าหรือสูงกว่า NAV ได้ หรือที่เรียกว่า Discount/Premium
นอกจากนั้นแล้วยังมีวิธีคำนวณอื่น ๆ อีกมากมายแต่ Klarman แนะนำว่ากรอบของการคิดควรจะอยู่บนหลักการที่เป็นจริงมากที่สุด เช่นหุ้นของบริษัทที่ล้มละลายควรถูกคิดแบบ Liquidation value ไม่ใช่ NPV เช่นเดียวกันเราก็ไม่ควรจะคำนวณมูลค่าของธุรกิจ tech โดย Liquidation value ซึ่งนักลงทุนควรจะคิดค่าออกมาเป็นช่วง และเลือกค่าที่ต่ำที่สุดเพื่อความอนุรักษ์นิยมครับ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ส่วนที่ 3 : กระบวนการลงทุนแบบเน้นคุณค่าต้องทำอะไรบ้าง ?
- จะหาการลงทุนมีส่วนต่างความปลอดภัยสูงได้ที่ไหน?
ต้องเป็นตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ Klarman ยกตัวอย่างในหนังสือคือ หุ้นที่ล้มละลาย หุ้นที่มีการ spin-off หุ้นที่ออก Option หุ้นที่รวบรวมกิจการ หรือหุ้นที่มีข้อจำกัดที่กองทุนไม่สามารถลงทุนได้ จุดร่วมของหุ้นเหล่านี้คือ ความไม่มีประสิทธิภาพของราคา การที่วิเคราะห์ได้ยากทำให้มีน้อยคนที่จะสนใจ หรือกองทุนเข้ามาเล่นไม่ได้จากข้อจำกัดเหล่านี้จะทำให้เกิดโอกาสที่จะมีส่วนเผื่อความปลอดภัยนั่นเองครับ
- สิ่งที่ขาดไม่ได้ : หลักการเทรด และบริหารพอร์ตแบบ VI
ต่อให้เราใช้ปรัชญาการลงทุนแบบไหนก็ตามยังไงการไปลงทุนในตลาดหุ้นก็ต้องมีการกำหนดการเทรดอยู่ดี เพราะฉะนั้นแล้ว Klarman อธิบายว่าสิ่งที่นอกจาก margin of safety แล้วข้อแนะนำของเค้าคือ ต้องอย่าลืมประเมินสภาพคล่อง และกลยุทธ์การเข้าซื้อด้วย เช่น ต่อให้เป็นหุ้นที่เราเห็นว่าราคาถูกมาก ๆ แต่มีสภาพคล่องไม่พอกับขนาดพอร์ตของก็ไม่ควรจะฝืนไปซื้อปริมาณมากเพราะการซื้อของจะมีผลต่อราคามาก และกรณีที่เราผิดพลาดจะขายออกไม่ได้ เช่นเดียวกับการซื้อเทรดหากเราได้หุ้นที่ดีแล้วการซื้อ Klarman แนะนำให้ “ค่อยๆเข้าซื้อ” มากกว่าการซื้อทีเดียว เพื่อเป็นการบริหารเงินสดครับ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ความคิดเห็น
จะเห็นได้ว่าหลักการของ Klarman จะออกไปทาง Value investing แบบดั้งเดิมของ Graham ที่จะเน้นไปที่ส่วนต่างของมูลค่าโดยไม่ได้มองคุณภาพธุรกิจมากนัก เห็นได้จากการที่เน้นไปในเรื่องทั้งการลงทุนในหุ้นที่ล้มละลาย การลงทุนในหนี้ด้อยคุณภาพ หรือบริษัทที่มีการควบรวมกิจการ หรือ แตกบริษัทลูก ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบัญชี และเข้าใจโครงสร้างหนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างกับ Buffett ที่มองไปทางคุณภาพธุรกิจมากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นส่วนนึงที่ทำให้ Klarman ไม่ค่อยโด่งดังในไทย หรือแม้กระทั้งตลาดรายย่อยเองก็ตามครับ แต่ในส่วนของหลักการ และปรัชญาแล้วแนวความคิดของ Klarman ผมเรียกได้ว่าเป็นการขยายแนวคิดของ Graham แบบเข้าใจง่ายมากขึ้น และเห็นภาพมากครับ
โฆษณา