14 มิ.ย. 2020 เวลา 14:12 • ธุรกิจ
เศรษฐศาสตร์อิสลาม ว่าด้วยการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์
ก่อนจะเข้าเรื่องหลักกัน ก็มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าอะไรคือตลาดหลักทรัพย์ มีรายละเอียดยังไง จากนั้นเราก็มาพูดคุยกันถึงเรื่องหลักการทางศาสนาว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งก็อย่าพึ่งรีบร้อนในการด่วนตัดสิน ก่อนจะลงมือศึกษาเรื่องนั้น ๆ
เอาละครับมาเข้าเรื่องกันเลย
ตลาดหลักทรัพย์คืออะไร?
ตลาดหลักทรัพย์หรือรู้จักกันอีกชื่อว่า "ตลาดหุ้น" นั่นเอง คือตลาดซึ่งเป็นแหล่งรวมของบริษัทหลาย ๆ บริษัทที่เข้ามาทำการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ที่มีเงินเหลือเก็บ ซึ่งคนเหล่านี้จะถูกเรียกว่า "นักลงทุน" เข้ามาร่วมลงทุน
และนักลงทุนเหล่านั้นก็จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมถือหุ้นของบริษัทแม้จะมีเพียงหุ้นเดียว หรือร่วมเป็นเจ้าของในบริษัทนั้น ๆ (หากได้ถือครองหุ้นจำนวนมาก)
การลงทุนในตลาดหุ้นจึงเป็นทางเลือกเพื่อการออมเงินในระยะยาวที่ผู้ออมสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการขาดทุนที่เกิดจากระดับอัตราเงินเฟ้อได้
1
คำศัพท์บางคำที่มีความหมายเฉพาะในเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งใช้กันอยู่ในวงการตลาดหลักทรัพย์ เราก็ขอวางบางคำ บางสำนวนไว้สำหรับผู้สนใจ ซึ่งจะได้ทราบเป็นพื้นฐานในการที่จะหาความรู้เพิ่มเติมอย่างละเอียดต่อไป
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย The Stock Exchange of Thailand เรียกชื่อย่อว่า : SET
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่คุ้นเคยกัน ได้แก่
ตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ ดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones)
ตลาดหลักทรัพย์ของอังกฤษ ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ ดัชนีไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times)
ตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ ดัชนีนิกเกอิ (Nikkei)
ตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ ดัชนีคอมโพไซต์ (Composite)
ตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ ดัชนีสเตรตสไทม์ (Striats Times)
และยังมีคำย่ออีกมากมายที่จะต้องแสวงหาความหมายกัน ซึ่งก็เป็นข้อมูลพื้นฐานที่นักเล่นหุ้นมือใหม่สมควรที่จะศึกษา
แต่อีกศัพย์หนึ่งที่จะพลาดไม่ได้เลยก็คือ "หุ้น"
หุ้นคืออะไร?
หลังจากได้ทราบไปคร่าว ๆ แล้วว่า ตลาดหุ้นคืออะไร มีวัตถุประสงค์และหน้าที่อย่างไรแล้วนั้น เราก็มาดูว่า ตลาดแห่งนี้มีสินค้าอะไรบ้าง
ซึ่งสินค้าของตลาดหุ้นก็คือ "หุ้น" นั่นเอง ซึ่งสินค้าก็จะมีหลากหลายแบ่งแยกตามประเภทของสินค้า และตามความสนใจของนักลงทุน
จริง ๆ แล้วสินค้าเหล่านี้ คงจะเคยผ่านสายตาใครหลายๆคนมาแล้ว ตามสื่อต่าง ๆ ซึ่งจะมีตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษต่าง ๆ วิ่งผ่านทางหน้าจอ โดยอักษรเหล่านั้นจะเป็นตัวย่อของบริษัท ยกตัวอย่างเช่น MCOT ย่อมาจาก บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ เรียกโดยรวมว่า "ตราสาร"
แล้วตราสารหมายถึงอะไร?
ตราสาร ประกอบด้วยคำว่า ตรา หมายถึง เครื่องหมายที่มีรูปและลวดลายต่าง ๆ และ สาร หมายถึง ข้อความ ถ้อยคำ เรื่องราว ตราสาร จึงหมายถึงหนังสือสําคัญซึ่งเป็นเอกสารแสดงสิทธิต่าง ๆ อย่างโฉนดที่ดิน ตั๋วเงิน เช่น ธนาคารมักเพิ่มสภาพคล่องโดยการออกตราสารหลากหลายประเภท มีตราสารหนี้ ตราสารระยะยาว ตราสารระยะสั้น พันธบัตร เป็นต้น
ตราสารระยะยาวให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารระยะสั้น ตราสารที่ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนเรียกว่า ตราสารหนี้ เช่น ตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายในประเทศไทยแบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้ภาคเอกชน. ตลาดหลักทรัพย์เป็นศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้(1) ซึ่งตัวหุ้นเองนั้นก็มีหลากหลายประเภทดังนี้
1) หุ้นสามัญ (الأسهم العادية)
คือหุ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดซื้อขายกันอยู่ และมีจำนวนมากกว่า 80% ของหุ้นในตลาดทั้งหมด โดยหุ้นสามัญนี้เป็นตราสารประเภท หุ้นทุน ซึ่งออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด ที่ต้องการระดมเงินทุนจากประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในธุรกิจนั้น ๆ โดยตรง เช่น การมีสิทธิในการลงคะแนนเสียง ร่วมตัดสินในปัญหาสำคัญในที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยผลตอบแทนที่คุณจะได้โดยตรงก็คือ เงินปันผลจากกำไรในธุรกิจนั้น และเป็นกำไรจากการขายหุ้น ถ้าหุ้นเกิดปรับตัวขึ้น และสิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่ ในกรณีที่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน
2) หุ้นบุริมสิทธิ (الأسهم الممتازة)
เป็นตราสารประเภทหุ้นทุน มีข้อแตกต่างจากหุ้นสามัญ คือ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับชำระคืนเงินทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ หุ้นประเภทนี้มีไม่มากนักในตลาดหลักทรัพย์ มีการซื้อขายกันน้อย มีสภาพคล่องต่ำ บนกระดานหุ้นจะสังเกตุได้จาก -P เช่น SCB-P, TISCO -P เป็นต้น
3) หุ้นกู้ (سند الدخل)
เป็นตราสารที่บริษัทเอกชนออกเพื่อกู้เงินระยะยาวจากผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการบริษัท และบริษัทจะต้องจ่ายผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือตามระยะเวลา และอัตราที่กำหนด โดยผู้ถือจะได้รับเงินต้นคืนครบถ้วน เมื่อสิ้นอายุตามระบุในเอกสาร ตลาดหุ้นกู้มักมีสภาพคล่องในการซื้อขายไม่มากนัก ส่วนใหญ่ซื้อขายโดยผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หรือผู้ลงทุนระยะยาว
4) หุ้นกู้แปลงสภาพ (سند قابل للتحويل)
หุ้นกู้แปลงสภาพ คล้ายคลึงกับหุ้นกู้ แต่แตกต่างกันตรงที่หุ้นกู้แปลงสภาพมีสิทธิที่จะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ในช่วงเวลาอัตราและราคาที่กำหนดในหนังสือชี้ชวนในช่วงที่เศรษฐกิจดี หุ้นประเภทนี้ได้รับความนิยมมาก เพราะผู้ซื้อคาดหวังผลตอบแทนได้จากราคาหุ้นเมื่อแปลงสภาพแล้ว ซึ่งจะทำให้ได้กำไรมากกว่า ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยของหุ้นกู้ธรรมดา
5) ใบสำคัญแสดงสิทธิ (سند الخزن)
เป็นตราสารที่ระบุว่าผู้ถือครองจะได้รับสิทธิจองซื้อ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือตราสารอนุพันธ์ (عقد اشتقاقي) ในราคาที่กำหนดเมื่อถึงระยะเวลาที่ระบุไว้ ใบสำคัญแสดงสิทธิ มักจะออกควบคู่กับการเพิ่มทุน
6) ใบสำคัญแสดงสิทธอนุพันธ์ (Derivative Warrant : DW)
เป็นตราสารที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับใบสำคัญแสดงสิทธิทั่วไป โดยจะให้สิทธิแก่ผู้ถือ DW ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งอาจเป็นหลักทรัพย์ หรือดัชนีหลักทรัพย์ในราคาใช้สิทธิ อัตราการใช้สิทธิ และระยะเวลาใช้สิทธิที่กำหนดไว้ โดยบริษัทผู้ออก DW เป็นหลักทรัพย์หรือ เงินสดก็ได้
7) หน่วยลงทุน (صندوق استثمار)
คือ ตราสารที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ในรูปของหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการระดมเงินทุนจากประชาชน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะเป็นผู้บริหารกองทุนให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปของเงินปันผล
ข้อดีของการลงทุนประเภทนี้คือ จะมีผู้บริหารมืออาชีพดูแลเงินแทนเรา มีการกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และมีอำนาจต่อรองที่มากกว่า เพราะเป็นกองทุนขนาดใหญ่
จะเห็นได้ว่า "หุ้น" มีอยู่หลากหลายประเภท แต่ละประเภทก็จะแตกต่างกัน ซึ่งนักลงทุนมือใหม่ควรที่จะทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มลงทุน โดยในทางทฤษฎีแล้ว นักลงทุนทุกคนมักต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด โดยมีความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด
แต่ในความเป็นจริง ผลตอบแทนในการลงทุนนั้น แปรผันตรงกับความเสี่ยง หมายความว่า ยิ่งผลตอบแทนสูง ยิ่งต้องมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ การเลือกลงทุนยังขึ้นอยู่กับ อุปนิสัยของนักลงทุนแต่ละคน และเวลาที่นักลงทุนแต่ละคนจะมีด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสิ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องรู้ แต่คนอื่น ๆ อ่านแล้วก็งงเป็นไก่ตาแตกเลยใช่ไหมละครับ ก็เป็นไรครับ หากอ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็พยายามศึกษาถึงรายละเอียดให้ดี ๆ
และต่อจากนี้เราก็เข้าประเด็นกันครับว่า หลักการศาสนานั้นจะว่าอย่างไรกับการเข้าไปทำธุรกรรมในตลาดหุ้น ห้ามทุกกรณีเลย หรือว่าห้ามแค่บางส่วน หรืออนุญาตทุกกรณี?
ในประเด็นนี้เคยมีการทำหัวข้อวิจัยกันมานานมากแล้ว ซึ่งจะขอยกมติจากสภานิติศาสตร์อิสลามนานาชาติแห่งสภาความร่วมมืออิสลามหรือ OIC ที่เป็นการรวมตัวของนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาแสดงความคิดเห็นกันจนผลิผลเกิดเป็นข้อมติในที่สุด
หลังจากที่ทางสภาได้จัดการประชุมครั้งที่ 6 เพื่อพิจารณางานค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ที่เคยจัดขึ้นในปี ค.ศ.1989 โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสภานี้และสถาบันเพื่อการวิจัยศาสนาอิสลามของกลุ่มธนาคารต่าง ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า กฎหมายอิสลามส่งเสริมการประกอบอาชีพ การดำเนินธุรกิจ การลงทุนด้วยทรัพย์สิน และการลงทุนด้านอื่น ๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของอัลอิสลาม โดยจะต้องร่วมกันแบกรับความเสี่ยงและภาระต่าง ๆ ร่วมกัน
เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์เป็นตลาดเงินหมุนเวียน สร้างผลกำไร และได้รับความสนใจอย่างสูง การค้นคว้าหาข้อชี้ขาดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์จึงถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อทุกคนจะได้เข้าใจถึงแก่นของหลักศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องดังกล่าวและพร้อมเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นักนิติศาสตร์อิสลามได้พยายามอธิบายหลักการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและการลงทุน โดยเฉพาะการตลาดและการดูแลตลาด หลังจากที่ทางสภานิติศาสตร์อิสลามพิจารณางานวิจัยเกี่ยวกับระบบและเงื่อนไขของตลาดหลักทรัพย์ที่เสนอมาแล้ว ทางสภาฯได้มีมติเอกฉันท์ดังนี้
1. การให้ความสำคัญต่อ ตลาดหลักทรัพย์ คือส่วนหนึ่งจากการทำหน้าที่จำเป็นเกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาทรัพย์สินก่อนจะ นำไปใช้พัฒนา ช่วยเหลือ และสนองต่อความต้องการทางสังคม ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกนี้และโลกหน้า
2. ตลาดหลักทรัพย์ (แม้ว่าจะมีความต้องการ) มิใช่รูปแบบและเป้าหมายทางการลงทุนและการพัฒนาด้านทรัพย์สินที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้นักนิติศาสตร์อิสลามและนักเศรษฐศาสตร์อิสลามต่างใช้ความพยายาม ทุ่มเท เสียสละเวลา เพื่อตรวจสอบระบบ เครื่องมือ และการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ พร้อมแก้ไขสิ่งที่สมควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม
3. แนวคิดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ต้องยึดถือการบริหารและการดำเนินงานเป็นหลัก ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีการอ้างอิงถึงการบริหารและการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถนำมาปฏิบัติและเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้ ตลอดจนอยู่ภายใต้หลักบัญญัติศาสนาโดยรวม โดยตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อตัวบทหลักฐานหรือหลักเกณฑ์ทางศาสนา ที่กล่าวมาจึงเป็นหน้าที่ของนักปกครองที่จะต้องดูแลฝ่ายบริหารและจัดระบบตลาดหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม(2)
อ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี สรุปแล้วการลงไปเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นทำได้ไหม?
พิจารณาได้ดังนี้
1.เนื่องจากต้นตอเดิมของการประกอบธุรกิจทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นการก่อตั้งบริษัทฯโดยมีวัตถุประสงค์และดำเนินงานสอดคล้องตามศาสนาจึงถือว่าอนุญาตตามกฎหมายอิสลาม
2.ห้ามถือหุ้นกับบริษัทฯที่มีวัตถุประสงค์การก่อตั้งที่ขัดกับหลักศาสนาบัญญัติ เช่น เกี่ยวกับดอกเบี้ย ผลิตสิ่งที่ศาสนาห้าม และดำเนินธุรกิจในสิ่งที่ศาสนาห้าม อาทิ
3.ไม่อนุญาตให้ซื้อหุ้นของบริษัทฯและธนาคาร หากพบว่าการดำเนินงานบางส่วนมีความเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย โดยที่ผู้ซื้อทราบเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี
4.หากบุคคลใดซื้อหุ้นโดยไม่ทราบว่าบริษัทฯดำเนินงานเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย ต่อมาเขาทราบภายหลัง บุคคลนั้นจำเป็นต้องถอนตัวและห้ามถือหุ้น เพราะ
1) หลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะของท่านศาสดาครอบคลุมถึงข้อห้ามเรื่องดอกเบี้ยด้วย
2) การซื้อหุ้นกับบริษัทดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับผู้ซื้อทราบดี
ดังนั้นการลงทุนนั้นย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนในตลาด ๆ หากท่านเล่นแบบการพนันมันก็จะจบแบบการพนัน การศึกษาและปรับเปลี่ยน Mind Set และคิดวิเคราะห์จึงสามารถช่วยท่านได้เป็นอย่างดี และข้อมูลทั้งหมดนี้คือข้อมูลพื้นฐานของกฎหมายอิสลามว่าด้วยการทำธุรกรรมกับตลาดหลักทรัพย์
ทางสถาบันชี้ขาดปัญหาศาสนาประเทศอียิปต์ก็ได้ให้คำตอบไว้สั้น ๆว่า :
การซื้อขายในตลาดหุ้นนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาตตามกฎหมายอิสลาม ตราบใดที่ไม่มีการปั่นราคาหุ้นกัน(3)
และทางสถาบันชี้ขาดปัญหาศาสนาประเทศจอร์แดนก็ได้อธิบายการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กับบริษัทต่าง ๆ ไว้ว่า :
นักนิติศาสตร์สมัยใหม่ได้แบ่งกลุ่มบริษัทต่าง ๆ (ในตลาดหุ้น) ออกเป็นสามกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
กลุ่มแรก : คือบริษัทที่สามารถเข้าไปลงทุนและช้อนซื้อหุ้นในบริษัทได้ เช่นกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมและบริษัทการเกษตรและบริษัทการค้าที่ไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับของที่ไม่หะลาล กลุ่มบริษัทเหล่านี้แหล่ะสามารถที่จะเข้าไปลงทุนและรับเงินปันผลได้
กลุ่มที่สอง : คือกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่หะลาล เช่น ธนาคาร กลุ่มบริษัทประกันภัยเชิงพาณิชย์ และกลุ่มบริษัทที่ขายสิ่งที่ไม่หะลาลเช่น เหล้า หมู และบุหรี่หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่หะลาล ดังกล่าวนี้คือกลุ่มบริษัทที่ไม่อนุญาตให่ร่วมลงทุน และไม่อนุญาตให้ซื้อหุ้น ดังกล่าวตรงนี้ไม่มีการขัดแย้งกันของนักนิติศาสตร์อิสลาม
กลุ่มที่สาม : คือกลุ่มบริษัทลูกผสม กล่าวคือ ดั้งเดิมแล้วบริษัทเหล่านี้ทำธุรกิจที่ดี ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งศาสนาได้ห้ามเอาไว้ แต่มีธุรกิจ (หรือบริษัท) บางส่วนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่หะลาล กลุ่มบริษัทในข้อนี้นี้นักนิติศาสตร์อิสลามสมัยใหม่จะให้คำตอบที่แตกต่างกัน(4)
ซึ่งกลุ่มบริษัทในข้อสุดท้ายนั้นนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่จะเอนเอียงไปในทางไม่อนุญาตให้ทำธุรกรรมกับบบริษัทเหล่านี้มากกว่า(5)
อ้างอิง :
บรรณานุกรม
โฆษณา