9 ก.ค. 2020 เวลา 03:14 • การศึกษา
⭐️⭐️⭐️รวมดาว 5 ปรสิตภายนอก ที่ต้องป้องกัน⭐️⭐️⭐️
พูดถึงปรสิตภายนอกที่พบได้บ่อยในสุนัข และแมว หากมีก็จะก่อความรำคาญให้สัตว์เลี้ยงของเรา และก่อความกังวลให้กับเจ้าของ แถมยังนำโรคต่างๆมายังสัตว์เลี้ยงของเราอีกด้วย
1. เห็บ
เลี้ยงสุนัข ก็จะไม่รู้จักเห็บไม่ได้ค่ะ เหมือนของที่ต้องมาคู่กัน ในบ้านก็ไม่มี แต่บางทีก็ไม่รู้ติดมาจากไหน
เห็บ สามารถนำโรคต่างๆมาติดสัตว์เลี้ยงของเราได้มากเลยค่ะ ส่งผลต่อสุขภาพ บางตัวอาการแย่มากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ
โรคยอดฮิตคือ โรคพยาธิเม็ดเลือด (Blood parasite) เรียกง่ายๆว่า โรคไข้เห็บค่ะ
เป็นโรคติดเชื้อกลุ่ม โปรโตซัว และริคเก็ตเซีย
(คล้ายๆโรคไข้เลือดออกในคน)
พยาธิเม็ดเลือดมีหลายชนิดได้แก่
Ehrlichia spp.
Anaplasma spp.
Babesia spp.
Hepatozoon spp.
เชื้อจะติดอยู่บนเม็ดเลือดแดง หรือเกล็ดเลือด และทำลายเซลเม็ดเลือด ทำให้มีภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำค่ะ
ความรุนแรงของโรคในแต่ละตัวอาจจะแตกต่างกัน
ขึ้นกับชนิดของเชื้อ สุขภาพ ช่วงอายุ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
บางตัวอาจจะไม่แสดงอาการเป็นโรคแฝง หรือแสดงอาการป่วยแบบเรื้อรัง
บางตัวอาจจะอาการรุนแรงเฉียบพลัน จนถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มีค่ะ
อาการเบื้องต้นที่พบได้
ซึม เบื่ออาหาร
มีไข้
เยื่อเมือกซีด
มีจ้ำเลือดออก เลือดกำเดาไหล
อาเจียน ถ่ายเหลว
มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ
และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ไตวายเป็นต้น
การวินิจฉัยคือ เจาะเลือดเก็บตัวอย่างไปตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
หรือใช้ชุดตรวจtest kit ที่ตรวจจากantibody ของร่างกาย
การรักษา ต้องได้รับยาปฏิชีวนะ Doxycycline นาน 4สัปดาห์
และยาตามอาการอื่นๆหากมีโรคแทรกซ้อนค่ะ
ต้องทานยานานมากๆเลยค่ะ เป็นการฝึกความอดทน และวินัยของเจ้าของมากๆ
2.หมัด
หมัด เป็นปรสิตภายนอกที่พบได้บ่อยๆ และนำโรคพอๆกับเห็บค่ะ
โรคที่พบบ่อยได้แก่
โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด (flea allergic dermatitis)
ทำให้สุนัข หรือแมว มีอาการคันผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ขนร่วง
.
โรคพยาธิตัวตืด เม็ดแตงกวา
เป็นพยาธิลำไส้ชนิดหนึ่ง ติดจากสุนัขหรือแมว ที่มีหมัด และกินหมัดที่มีไข่พยาธิเข้าไป ทำให้ติดพยาธิเม็ดแตงกวาได้
อาการอาจไม่ชัดเจน อาจมีอาการท้องเสีย น้ำหนักลด จากการติดพยาธิ
.
โรคโลหิตจาง
หมัด และเห็บเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูดเลือดเป็นอาหาร อาจทำให้สุนัขหรือแมวของเรา มีภาวะโลหิตจากเรื้อรังได้
3. ไรขี้เรื้อนเปียก Demodex
ไร Demodex จะอาศัยอยู่ในรูขุมขน มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
พบได้เป็นปกติอยู่แล้ว (normal flora)
แต่จะก่อโรคเมื่อ ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีภาวะกดภูมิคุ้มกัน
เช่น ความเครียด โรคเบาหวาน ไทรอยด์ต่ำ มะเร็ง ขาดสารอาหาร ติดพยาธิ หรือได้รับยาsteriod เป็นเวลานาน
อาการที่พบได้คือ ขนร่วง ผิวหนังแดงอักเสบ รูขุมขนอักเสบ มีตุ่มนูน คัน เกา
หากมีติดเชื้อผิวหนังแทรกซ้อน อาจพบว่า มีแผล ตุ่มหนอง ผิวเปลี่ยนสี เจ็บบริเวณที่เป็น
วินิจฉัยโดย ขูดผิวหนังไปตรวจ (Deep skin scraping) แล้วส่องในกล้องจุลทรรศน์
การรักษาขึ้นกับความรุนแรง และแก้ที่ต้นเหตุที่ส่งผลให้ระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง
อาจใช้แชมพูยาอาบภายนอก มีส่วนประกอบของ benzoyl peroxide หรือ sulfer
ยาฆ่าไรขี้เรื้อน ivermectin milbemycin fluralaner afoxolaner เป็นต้น
ยาปฏิชีวนะป้องกันติดเชื้อแทรกซ้อน
4. ไรขี้เรื้อนแห้ง Sarcoptes / Notoedres
ไร Sarcoptes จะอาศัยบนผิวหนัง และกินเศษเซลผิวหนังเป็นอาหาร
ทำให้เกิดรอยโรคบนผิวหนัง เช่น ขนร่วง ผิวหนังหนา มีสะเก็ด แห้ง ผิวหยาบ คัน เกา ผิวหนังอักเสบ
การตรวจวินิจฉับลย และรักษาจะคล้ายกับการรักษาไรขี้เรื้อนเปียก
5. ไรหู Otodextes
ไรชนิดนี้ อาศัยในหู กินขี้หู และเซลผิวหนังเป็นอาหาร
ทำให้เห็นว่า มีขี้หูดำ คล้ายผงกาแฟ คัน เกา หูอักเสบ สะบัดหูบ่อย และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือยีสต์แทรกซ้อน
หากเกาหูมากๆอาจทำให้เกิด เส้นเลือดใบหูแตก และหูบวมได้ (aural hematoma)
หากพาไปตรวจ คุณหมออาจเก็บตัวอย่างขี้หูไปตรวจในกล้องจุลทรรศน์
การรักษา โดยล้างทำความสะอาดช่องหู หยอดยารักษาไรในหู และอาจมียากินฆ่าเชื้อ และลดคัน หากมีอาการคันมากๆหรือมีการติดเชื้อแทรกซ้อนค่ะ
การป้องกันปรสิตภายนอกทำได้ไม่ยากค่ะ
ปัจจุบันนี้มีตัวยา และผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมาย ซึ่งตัวยาก็สามารถป้องกัน และกำจัดปรสิตภายนอกได้หลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น
1. ยาฉีด ivermectin /moxidextin ทุก 1 เดือน
2. ยาหยอดหลัง Spot on เช่น Fipronyl ,Selamectin , Moxidectin
3. ยากิน fluralaner ,afoxolaner
4. ปลอกคอป้องกันเห็บหมัด
.
การป้องกันจะส่วนมากจะทำทุกๆเดือนค่ะ มีบางผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันได้ยาวถึง 3 เดือน
หากป้องกันไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้มีการติดปรสิตภายนอกซ้ำ และนำโรคต่างๆซ้ำอีกได้ค่ะ
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขึ้นกับการเลี้ยง วิธีการดูแล และความสะดวกของเจ้าของค่ะ สามารถปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรเลือกใช้ยา หรือผลิตภัณฑ์ที่มีทะเบียนยา และอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ จะได้ใช้ยาที่ปลอดภัย ลดโอกาสเกิดความเสี่ยงจากการใช้ยาเกินขนาด ยาปลอม ยาเถื่อน ยาไม่มีทะเบียนค่ะ
การป้องกันโรค ย่อมดีกว่าการรักษาเสมอ อย่ารอให้ป่วยก่อนค่อยรักษา
ข้อดีทั้งสุขภาพแข็งแรง ปลอดโรค และค่าใช้จ่ายยังถูกกว่าด้วยค่ะ
ป้องกันโรคราคาหลักร้อย แต่ถ้ารักษาค่าใช้จ่ายอาจสูงถึงหลักพัน ถึงหลักหมื่นเลยก็ได้
แถมถ้าติดเชื้อรุนแรง มีอาการแทรกซ้อนเยอะ ก็อาจทำให้สัตวเลี้ยงของเราเสียชีวิตได้อีกด้วยค่ะ
โฆษณา