15 มิ.ย. 2020 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
กบฏเมืองนครราชสีมา สงครามกวาดล้างศัตรูราชสมบัติของพระเพทราชา
เมื่อกล่าวถึงกบฏในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา กบฏเมืองนครราชสีมาอาจเป็นกบฏครั้งใหญ่ที่สุดที่ต้องใช้เวลาปราบปรามยาวนานแรมปีพร้อมกับอาศัยกลยุทธ์พิสดารหลายประการ
ทั้งนี้เพราะสมเด็จพระเพทราชาไม่ได้ทำสงครามกับเมืองนครราชสีมาเท่านั้น แต่ในเวลาเดียวกันยังต้องทรงทำสงครามกับขั้วอำนาจในราชสำนักที่ต้องสงสัยว่าวางแผนโค่นล้มพระองค์จากราชสมบัติ จนนำมาสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของกรุงศรีอยุทธยาหลายประการ
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองนครราชสีมา ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ (พ.ศ.๒๔๘๙) โดย ปีเตอร์ วิลเลียม-ฮันท์ (Peter William-Hunt)
เมืองนครราชสีมา หรือ โคราช เป็นหนึ่งในศูนย์อำนาจแห่งสำคัญของกรุงศรีอยุทธยา ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่าเป็น ๑ ใน ๘ เมืองพญามหานคร เป็นปราการของอาณาจักรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดต่อกับดินแดนลาวและเขมร จึงนับได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และยังเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญกรุงศรีอยุทธยาเนื่องจากเป็นแหล่งขนส่งสินค้าของป่าสำคัญในลุ่มแม่น้ำมูลที่ถูกลงมาขายที่ตลาดในพระนคร
เมืองนครราชสีมาปรากฏความสำคัญมากขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจากพบการขุดคูเมืองและสร้างป้อมกำแพงด้วยวิทยาการแบบยุโรปที่นิยมในสมัยนั้น สันนิษฐานว่าเพราะในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้การสนับสนุนทางทหารแก่กษัตริย์กัมพูชาเพื่อทำสงครามกับญวนบ่อยครั้ง ประกอบกับเมืองนครราชสีมาตั้งอยู่ใกล้เมืองลพบุรีซึ่งเป็นเสมือนราชธานีอีกแห่งหนึ่ง ทำให้ต้องทรงเสริมสร้างการป้องกันเมืองให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นในฐานะปราการของอาณาจักร และส่งข้าราชการจากราชธานีที่ทรงไว้วางพระทัยมาดูแลรักษาศูนย์อำนาจแห่งนี้ ดังที่ปรากฏในพงศาวดารว่าทรงแต่งตั้งพระยายมราช (สังข์) มาเป็นเจ้าเมือง
แต่ด้วยความที่ศูนย์อำนาจแห่งนี้มีความแข็งแกร่ง จึงเอื้อต่อการที่ผู้ปกครองเมืองจะแยกตนเป็นอิสระจากราชธานีได้ ดังที่ปรากฏว่าเกิดกบฏเมืองนครราชสีมาในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา กลายเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อกรุงศรีอยุทธยา เพราะเมืองนครราชสีมาตั้งอยู่ไม่ไกลมาก ปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยว่าใช้เวลาเดินทางเพียง ๘-๑๐ วัน
.
หลักฐานของไทยที่กล่าวถึงกบฏเมืองนครราชสีมาคือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ละฉบับมีเนื้อหาผิดแผกกันทั้งปีศักราชและรายละเอียดของการกบฏ ทำให้เกิดความสับสนมากพอสมควร
- พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ชำระใน พ.ศ. ๒๓๓๘ สมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นพงศาวดารฉบับเก่าที่สุดที่กล่าวถึงกบฏเมืองนครราชสีมา มีเนื้อหาสองส่วน ส่วนแรกเป็นความเก่าตั้งแต่สถาปนากรุงถึงรัชกาลพระเจ้าเสือ ส่วนที่สองเป็นความใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยชำระเหตุการณ์ตั้งแต่ปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ลงมาถึงเสียกรุงขึ้นใหม่ ทำให้พงศาวดารฉบับนี้มีเรื่องกบฏเมืองนครราชสีมาสองเรื่อง เรื่องหนึ่งเป็นการกบฏของพระยายมราช (สังข์) อีกเรื่องหนึ่งเป็นกบฏของอ้ายคิดมิชอบ ๒๘ คน
- พระราชพงศาวดารที่ชำระในลำดับถัดมาคือ “พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม” (ตีพิมพ์ในชื่อ ‘พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน) ที่ชำระเสร็จประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๐ ปลายรัชกาลที่ ๑ ได้นำเนื้อหาทั้งความเก่าและความใหม่ของพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มาเรียบเรียงใหม่ให้ต่อเนื่องกัน ทำให้พงศาวดารฉบับนี้เอาเรื่องกบฏนครราชสีมาทั้งสองเรื่องมาแยกว่ามีกบฏนครราชสีมาสองครั้ง และมีการปรับแก้โยกย้ายรายละเอียดของทั้งสองเรื่องมาปะปนกัน
พระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ที่ชำระภายหลัง ยึดถือเนื้อหาเรื่องกบฏเมืองนครราชสีมาว่ามีสองครั้งตามพระราชนิพลพงศาวดารเป็นหลัก
.
แต่เมื่อตรวจสอบกับหลักฐานร่วมสมัยของดัตช์และฝรั่งเศส พบว่ามีบันทึกกบฏเมืองนครราชสีมาในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาเพียงครั้งเดียว เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๖๙๙ (พ.ศ. ๒๒๔๒) ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๐๐ (พ.ศ. ๒๒๔๓)
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาเรื่องกบฏนครราชสีมาในพงศาวดารทั้งสองเรื่อง พบว่าแม้จะมีรายละเอียดต่างกัน แต่ทั้งสองเรื่องมีองค์ประกอบที่สอดคล้องทับซ้อนอยู่กับหลักฐานร่วมสมัยที่กล่าวถึงเหตุการณ์กบฏครั้งเดียว และยังมีเนื้อหาบางส่วนที่ทับซ้อนกันเองด้วย ทำให้น่าเชื่อว่าในความเป็นจริงมีกบฏเมืองนครราชสีมาเพียงครั้งเดียว แต่ผู้ชำระพงศาวดารในสมัยรัตนโกสินทร์อาจเกิดความสับสน จึงชำระว่ามีกบฏเกิดขึ้นสองครั้ง
เนื้อหาของกบฏเมืองนครราชสีมาในหลักฐานร่วมสมัยใกล้เคียงกับเนื้อหาในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ส่วนความใหม่ที่เจ้าพระยาพิพิธพิชัยชำระมาก ผู้เขียนจึงอ้างอิงเนื้อหาตามพระราชพงศาวดารฉบับนี้เป็นหลัก แต่จะกล่าวถึงเนื้อหาในพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ประกอบด้วย
ภาพถ่ายประตูชุมพล เมือนครราชสีมา (ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ส่วนที่เจ้าพระยาพิพิธพิชัยชำระ กล่าวถึงผู้นำกบฏเมืองนครราชสีมาว่าเริ่มต้นมาจาก “อ้ายคิดมิชอบ” กับพรรคพวกรวม ๒๘ คน เข้าไปยึดครองเมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ
“อยู่ ณ ปีขาล (จ.ศ. ๑๐๖๐ พ.ศ. ๒๒๔๑) อ้ายคิดมิชอบคบกัน ๒๘ คน เข้ามาอยู่ ณ ศาลานอกประตูเมืองนครราชสีมา กันม่านมิด มีผู้เข้าไปบอกพระยานครราชสีมา ๆ จึงขี่ช้างทั้งบ่าวไพร่ ตามออกมาด้วย ๒๐ คน ครั้นมาถึงศาลาที่อ้ายคิดมิชอบอยู่นั้น ช้างพระยานครราชสีมาขี่นั้นตกใจ กลับหน้าวิ่งเข้ามาในเมืองทั้งบ่าวไพร่ อ้ายคิดมิชอบแลพวกตามเข้ามาตั้งอยู่ในเมือง ผู้รักษาเมืองกรมการกลัวเกรงมัน ชวนกันคิดกบฏแข็งเมืองสิ้น”
หลักฐานดัตช์ระบุว่ากบฏเข้าโจมตีและยึดเมืองนครราชสีมาในวันที่ ๑๗ ถึง ๑๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๖๙๙
.
หลักฐานของดัตช์และฝรั่งเศสระบุว่าผู้นำของกบฏเป็น “บุคคลลึกลับ” สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่เรียกผู้นำกบฏว่า “อ้ายคิดมิชอบ” โดยไม่ระบุชื่อ
จดหมายของเมอซิเออร์กาเบรียล โบรด์ (Gabriel Braud) รองประมุขมิสซังสยามส่งถึงผู้อำนายการคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีสเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๐๐ เรียกผู้นำกบฏว่า “Le prétendant” (ผู้อ้างสิทธิเป็นกษัตริย์) เป็นบุคคลที่ชำนาญการปิดบังซ่อนเร้นตัวตน การใช้อำนาจอย่างมิชอบและการหลอกลวง แม้ว่าตายไปก็อาจหาผู้ที่มีหน้าตาคล้ายกันมาสืบทอดตัวตนต่อไปได้ แม้ว่าหลังการก่อกบฏจะสิ้นสุดไปแล้วก็ยังไม่สามารถระบุตัวตนของบุคคลนี้ได้
ในเวลานั้นมีข่าวลือเกี่ยวกับผู้นำกบฏหลายเรื่อง บางคนเชื่อว่าคือพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ บางคนเชื่อว่าคือ “พญาสุรศักดิ์” (พระเจ้าเสือ) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเพทราชาที่ต้องสงสัยว่ามีแผนการชิงราชสมบัติมานานแล้ว โดยในช่วงที่เกิดกบฏทรงเก็บตัวเงียบอยู่ในวังหน้าเป็นเวลานาน จนมีข่าวลือว่าทรงถูกลอบวางยาพิษหรือประชวนพระโรคร้ายแรงจนสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่โมเสส บร็อชบูร์ด (Moses Brochebourde) ศัลย์แพทย์หลวงรายงานต่อชาวดัตช์ว่าพระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่ทรงพระประชวรอัมพาตในเวลานั้น
.
พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม ที่ชำระภายหลังขยายความว่า “อ้ายคิดมิชอบ” มีชื่อว่า “บุญกว้าง” เป็นลาวอยู่แขวงหัวเมืองลาวตะวันออก เป็นผู้มีความรู้วิชาการดี สามารถใช้คุณวิชาของตนเองยึดเมืองนครราชสีมาได้โดยง่ายแม้ว่าจะมีกำลังเพียง ๒๘ คน จนกรมการเมืองและราษฎรเกรงกลัวยอมเข้าร่วมทั้งสิ้น
“จึ่งพญานครราชศรีมาก็ขี่ข้างพังตัวหนึ่งมีบ่าวไพร่ทนายตามออกมา ๒๐ เศศ ครั้นออกมานอกเมืองเกือบจถึ่งณสาลา แลบุญกวางขบถก็ลุกออกมายืนอยู่นอกม่าน แล้วชีนีวร้องตวาดด้วยเสิยงเปนอันดัง ด้วยอำนาจ์คุณวิชาบันดานให้พญานครราชศรีมาสดุงตกใจกลัวยิ่งนัก แลขับช้างหันหวนแล่นหนีเข้าประตูเมืองทังบ่าวไพร่ด้วยกัน แลไอ้คิดหมิชอบกับสมักพักพวกไล่ตามเข้ามาในเมืองไพร่พลเมืองแลกรมการเมืองทังหลาย ก็เกรงกลัวมันด้วยอนุภาพคุนวิชาการมิได้มีผู้ใดจอาจ์หาญเข้าจับกุมมันได้ ต้องอยู่ในอำนาถไอ้ขบถสิ้น”
ข้อมูลจากพงศาวดารที่ระบุว่าผู้นำกบฏเป็นลาว ใกล้เคียงจดหมายของบาทหลวงโบรด์ที่ระบุว่ากองกำลังกบฏในเมืองนครราชสีมามีจำนวน ๔๐๐-๕๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ (differentes nations) สอดคล้องกับสภาพเมืองนครราชสีมาที่เป็นชายแดนติดต่อหัวเมืองลาวและเขมร จึงน่าจะมีประชากรต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก
.
การที่ “อ้ายคิดมิชอบ” สามารถยึดเมืองนครราชสีมาอย่างง่ายดาย หากเชื่อตามพงศาวดารสมัยหลังอาจเพราะเป็นลาว “ผู้มีอำนาจคุณวิชาการ” หรือ “ผู้มีบุญ” ในท้องถิ่นที่มีอิทธิปาฏิหาริย์สามารถทำให้ผู้คนในสมัยโบราณที่เชื่อถือในเรื่องเหนือธรรมชาติเกรงกลัวเคารพนับถือจนยอมร่วมก่อการกบฏเพราะเชื่อถือในบารมี อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่เนื้อหาส่วนนี้ถูกเพิ่มเติมในสมัยหลัง มีความอภินิหารเจือปน และไม่สอดคล้องกับพงศาวดารที่เก่าแก่กว่าหรือหลักฐานร่วมสมัยที่ไม่สามารถระบุตัวผู้นำกบฏได้ จึงอาจต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือต่อไป
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานอื่นๆ พบว่ากบฏเมืองนครราชสีมาน่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองในราชสำนักที่ต้องการโค่นล้มสมเด็จพระเพทราชามากกว่าที่พงศาวดารนำเสนอ
ซากกำแพงเมืองนครราชสีมา ถ่ายเมืองสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาตรวจโบราณวัตถุ มณฑลนครราชสีมา พ.ศ. ๒๔๗๒ (ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
รายงานของ กิเดโยน ตันต์ (Gideon Tant) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ประจำสยาม ส่งไปเมืองปัตตาเวียในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๙๙ รายงานว่า มีชาวกรุงศรีอยุทธยาที่เชื่อว่ากบฏนครราชสีมาเป็นภาพสะท้อนถึงความขัดแย้งภายในราชสำนักระหว่างสมเด็จพระเพทราชากับและกลุ่มการเมืองในราชสำนักต่อต้านพระองค์
ตันต์ไม่เชื่อข่าวลือว่าผู้นำกบฏคือพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ แต่เชื่อว่ากบฏครั้งนี้เกิดขึ้นจากบุคคลวงในของราชสำนักที่มีจุดประสงค์โค่นล้มสมเด็จพระเพทราชาจากราชสมบัติ แล้วสถาปนา “เจ้าพระขวัญ” พระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติด้วยเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์ที่ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน โดยเชื่อกันว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพผู้เป็นที่ทราบกันดีว่าปรารถนาให้พระราชโอรสรับราชสมบัติให้การสนับสนุนอยู่
มีรายงานว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพทรงขัดแย้งกับพระสวามีมาตั้งแต่พระราชพิธีโสกันต์ของเจ้าพระขวัญที่จัดในต้นปีนั้นในเรื่องรายละเอียดของพิธี หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดกบฏเมืองนครราชสีมาขึ้น ทำให้ชาวอยุทธยาจำนวนมากมองว่ากบฏครั้งนี้ไม่น่าเป็นเพียงเหตุบังเอิญ ยังมีคนบางกลุ่มที่เชื่อว่าเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) หรือ “โกษาปาน” เสนาบดีกรมพระคลัง อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกบฏด้วย ซึ่งตันต์เชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้โกษาปานถูกลงพระราชอาญาจนสิ้นชีวิตในเวลาต่อมา
ตันต์ระบุว่า การปฏิบัติต่อข้าราชการอย่างรุนแรงของสมเด็จพระเพทราชาเป็นสาเหตุที่ทำให้ขุนนางบางคนอาจวางแผนก่อกบฏ เพราะต้องการพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ที่ยังทรงพระเยาว์ อยู่ในโอวาท และไม่มีประสบการณ์แบบเจ้าพระขวัญ
ทั้งนี้สมเด็จพระเพทราชาทรงได้ราชสมบัติจากการ “ปฏิวัติ” และยังทรงสำเร็จโทษพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ถึงสององค์ เป็นเหตุให้ต้องทรงเผชิญกับการก่อกบฏตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นาน สิทธิธรรมในราชบัลลังก์ถูกท้าทายบ่อยครั้งจนทำให้พระองค์ไม่ทรงไว้วางพระทัยข้าราชการของพระองค์เอง ปรากฏทั้งในหลักฐานร่วมสมัยของดัตช์และฝรั่งเศสหลายชิ้นว่าพระองค์ทรงลงพระราชอาญาขุนนางอย่างรุนแรงเป็นประจำ เฉพาะเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) มีรายงานว่าถูกลงพระราชอาญาเป็นประจำมาเป็นเวลาหลายปีทั้งถูกเฆี่ยนหลังและจำคุกเพราะไม่ทรงไว้วางพระทัย รวมถึงโดนพระแสงดาบตัดปลายจมูกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่ามีกระแสความไม่พอใจสมเด็จพระเพทราชามากพอสมควร และมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มข้าราชการที่ยังจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์ จะพยายามสนับสนุนเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพหรือเจ้าพระขวัญที่เป็นพระราชวงศ์ของสมเด็จพระนารายณ์ให้ขึ้นมามีอำนาจแทน
สมเด็จพระนารายณ์และเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ (คำบรรยายระบุว่า พระราชินีแห่งสยาม) ภาพวาดตามจินตนาการของชาวฝรั่งเศส
พระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ นอกเหนือจากความที่เจ้าพระยาพิพิธพิชัยชำระ ระบุว่าผู้นำกบฏเมืองนครราชสีมาคือพระยายมราช (สังข์) ที่ไม่พอใจการแย่งชิงราชสมบัติของสมเด็จพระเพทราชาจนแข็งเมืองไม่ยอมลงมาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และยังมีท้าวทรงกันดาล (อู่) ท้าวนางฝ่ายในที่ต้องโทษถูกถอดจากตำแหน่งไปเข้าร่วมกับกบฏด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกบฏกับกลุ่มการเมืองในราชสำนักเป็นอย่างดี
ทั้งนี้หากเชื่อว่ากบฏเมืองนครราชสีมามีครั้งเดียวตามที่หลักฐานร่วมสมัยระบุ พระยานครราชสีมาที่ยอมร่วมมือกับ “อ้ายคิดมิชอบ” ก่อกบฏคงเป็นบุคคลเดียวกับพระยายมราช (สังข์) และ “อ้ายคิดมิชอบ” ผู้นี้อาจมีเบื้องหลังมากกว่าเป็นเพียงผู้มีบุญในท้องถิ่นตามที่พงศาวดารสมัยหลังนำเสนอไว้
ทั้งนี้การที่ "อ้ายคิดมิชอบ" ใช้กำลังคนเพียง ๒๘ คนยึดครองเมืองนครราชสีมาได้พิจารณาแล้วเป็นไปได้ยาก แม้จะเชื่อว่ามีคุณวิชาก็ตามที่พงศาวดารสมัยหลังระบุก็ตาม จึงมีความเป็นไปได้ว่าพระยานครราชสีมา (สังข์) ที่ไม่ได้พอใจการขึ้นครองราชสมบัติสมเด็จพระเพทราชามาแต่เดิม จะวางแผนคิดการกับกลุ่มกบฏเหล่านี้ตั้งแต่แรก โดยมีคนในกรุงศรีอยุทธยาลอบสนับสนุนอยู่
.
.
เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงทราบข่าวกบฏ จึงมีพระราชโองการให้ยกกองทัพขึ้นไปเมืองนครราชสีมา ซึ่งพงศาวดารแต่ละฉบับระบุรายชื่อแม่ทัพนายกองไม่ตรงกัน
- พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ส่วนความเก่า ระบุว่า “พระยาเดโชยันหีปะ” (พระราชนิพลพงศาวดารฯ ออกชื่อว่า ‘พญาศรีราชเดโชยะหิปะ’ เป็นแม่ทัพคนสำคัญในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์) คุมทหาร ๕,๐๐๐ คนยกขึ้นไปตีเมืองนครราชสีมา พระยายมราช (สังข์) สั่งให้ตั้งค่ายรับนอกเมืองแต่ถูกพระยาเดโชแยกพลหักค่ายในคราวเดียว ค่ายหัวเมืองโคราชแตกกระจาย ไพร่พลล้มตายจำนวนมาก กบฏที่เหลือหนีเข้าเมืองได้ พระยายมราช (สังข์) จึงแต่งคนรักษาเมืองไว้ พระยาเดโชจึงตั้งทัพล้อมเมืองโคราชไว้นับแต่นั้น
- พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม ตอนกบฏพระยายมราช (สังข์) ระบุว่า ในเวลานั้นพระยาศรีราชเดโชในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว สมเด็จพระเพทราชาจึงทรงตั้งข้าหลวงเดิมคนหนึ่งเป็นพระยาศรีราชเดโชแทนที่ ให้เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองนครราชสีมา แล้วตั้งข้าหลวงเดิมอีกคนหนึ่งเป็นพระยานครราชสีมาให้เป็นกองหน้า ถ้าตีได้เมืองนครราชสีมาแล้วให้อยู่รั้งเมือง คุมไพร่พล ๑๐,๐๐๐ ช้างเครื่อง ๒๐๐ ม้า ๓๐๐ ขึ้นไปปราบกบฏทางเมืองสระบุรี พระยาศรีราชเดโชเข้าตีค่ายหัวเมืองแตกแล้วเข้าปิดล้อมเมือง พยายามบุกเข้าตีเมืองหลายครั้งแต่ชาวเมืองป้องกันไว้ได้ สอดคล้องกับรายงานของ กิเดโยน ตันต์ ที่กล่าวถึง “ออกญานคร” (Lakhon) ว่าเป็นแม่ทัพที่ถูกส่งไปปราบกบฏ
- พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม ตอนกบฏบุญกว้าง ระบุว่า พระยาสุรเสนาเป็นแม่ทัพหลวงคุมไพร่พล ๕,๐๐๐ ยกไปปราบกบฏ พระยานครราชสีมาแกล้งเข้ากับกบฏ แล้วยกทัพลงมากวาดต้อนผู้คนแถบเมืองบัวชุม เมืองไชยบาดาล ลงมาซ่องสุมผู้คนที่เมืองลพบุรีแล้วร่วมมือกับทัพกรุงจับบุญกว้างและกบฏทั้ง ๒๘ คนได้โดยง่าย (เรื่องนี้ ไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัย ซึ่งจะกล่าวต่อไป)
.
รายงานของกิเดโยน ตันต์ระบุว่า สมเด็จพระเพทราชายังทรงขอกำลังสนับสนุนจากชาวต่างประเทศในกรุงศรีอยุทธยา ทั้งชาวจีน ชาวมัวร์ ชาวโปรตุเกส รวมถึงคนในบังคับดัตช์ขึ้นไปปราบกบฏ แต่ VOC พยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในของสยาม และหลีกเลี่ยงการส่งกำลังคนกับศัสตราวุธให้ราชสำนัก พร้อมชี้แจงว่าพวกตนเป็นพ่อค้าไม่ใช่นักรบ
ทั้งนี้ตันต์เห็นว่าดัตช์จะปลอดภัยหากวางตัวเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แสดงให้เห็นว่าเขาไม่มั่นใจว่าสมเด็จพระเพทราชาจะปราบปรามกบฏได้ อาจเพราะมองว่ามีคนวงในให้การสนับสนุนอยู่มาก
กำแพงเมืองนครราชสีมา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ (ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
กองทัพกรุงศรีอยุทธยาปิดล้อมเมืองนครราชสีมาอยู่เป็นเวลานาน พยายามเข้าโจมตีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จเพราะชาวเมืองรบพุ่งป้องกันอย่างเข้มแข็ง สันนิษฐานว่าเพราะเมืองนครราชสีมามีชัยภูมิแข็งแกร่งคือมีค่ายคูกำแพงเมืองมั่นคง และปรากฏในพงศาวดารว่าพระยายมราช (สังข์) มีฝีมือเข้มแข็ง ตรวจจัดรี้พลขึ้นอยู่ประจำ รักษาหน้าที่เชิงเทินปราการป้องกันเมืองเป็นสามารถ
ตรงกันข้าม กองทัพกรุงศรีอยุทธยาไม่ได้มีการเตรียมพร้อมที่ดีนัก บาทหลวงโบรด์ได้รายงานว่าพลทหารของไทย (ซึ่งถูกเกณฑ์มา) ไม่ได้รับเบี้ยหวัดหรือผลประโยชน์ใดๆ การเดินทางไกลไปทำสงครามจึงเป็นสิ่งที่ลำบากมาก ราชสำนักก็แทบไม่ได้ให้การสนับสนุน ทำให้กองทัพขาดแคลนเสบียงอาหารจนไพร่พลและช้างศึกเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก นอกจากนี้สมเด็จพระเพทราชาไม่ได้ทรงไว้วางพระทัยแม่ทัพนายกองของพระองค์เพราะเกรงว่าจะสมคบกับกบฏ และมีรายงานว่าทรงจับครอบครัวของแม่ทัพนายกองเหล่านี้คุมขังไว้เป็นตัวประกันด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงพบว่ากองทัพอยุทธยาขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีแนวโน้มว่าจะเอาใจออกหากไปเข้ากับกบฏแทน
.
รายงานของ กิเดโยน ตันต์ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๑๗๐๐ ระบุว่าออกญานครกลับมาพระนครเพื่อขอกำลังไปเพิ่ม แต่ถูกสงสัยว่ามีเจตนาทำให้เกิดความแตกแยกในกองทัพ จึงต้องพระราชอาญาถูกจับใส่กรงขังพร้อมกับขุนนางบางคน ออกญานครพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ สมเด็จพระเพทราชาทรงมีรับสั่งรักษาบาดแผลให้ “...อาจเพราะเพื่อจะสังหารเขาด้วยวิธีการที่โหดร้ายกว่าในภายหลัง...”
ออกญาพลเทพ เสนาบดีกรมนาลูกครึ่งญี่ปุ่น ผู้เป็นรองแม่ทัพเกิดความกลัว จึงยกไพร่พลของตนไปที่เมืองนครนายก (Koenajock) มีข่าวลือว่าจะไปเข้าร่วมกับกัมพูชายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยาจากทางใต้ ในเวลาเดียวกันยังมีข่าวว่า ปตานีซึ่งเป็นประเทศราชต้องการยกกองทัพขึ้นมายึดป้อมเมืองบางกอก ตันต์ระบุว่าสมเด็จพระเพทราชายังทรงตั้งพระทัยจะยึดครองเมืองนครราชสีมาให้ได้ แม้ว่าจะมีภัยคุกคามจากหลายด้าน
.
รายงานของสภาเมืองปัตตาเวียลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๐๐ ระบุไว้ใกล้เคียงว่ากองทัพที่สมเด็จพระเพทราชาส่งไปปราบกบฏกลับไปเข้าข้างกับกบฏเสียเองเพราะ “...รังเกียจการปกครองอันโหดร้ายของพระองค์...” นอกจากนี้ยังมีข้าศึกยกมาจากทางใต้ ทำให้สมเด็จพระเพทราชาต้องทรงเรียกเกณฑ์ไพร่พลและพ่อค้าต่างประเทศเข้ามาในพระนครเพื่อเตรียมปืนใหญ่รับศึก
.
หลักฐานดัตช์ระบุว่าในช่วงที่เกิดกบฏเมืองนครราชสีมา มีข่าวลือว่าอาณาจักรใกล้เคียงคือล้านช้าง กัมพูชา หรืออังวะจะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยาด้วย เรื่องนี้สอดคล้องกับพงศาวดารพม่าที่ระบุว่า พระเจ้าอังวะทรงเตรียมการไปตีกรุงศรีอยุทธยาตั้งแต่เดือน ๗ จุลศักราช ๑๐๖๑ (ค.ศ. ๑๖๙๙/พ.ศ. ๒๒๔๒) กองทัพพม่าเคลื่อนทัพในเดือน ๑๑ ยกทัพไปสองทางทางเมืองเชียงใหม่และเมืองเมาตะมะ เมื่อถึงเดือนอ้ายกองทัพพม่ายกออกจากเมืองเมาะตะมะแต่ถูกกองทัพกรุงศรีอยุทธยาตีแตก กองทัพที่ยกไปทางเชียงใหม่ถูกตีแตกเช่นเดียวกัน ต่อมาในเดือน ๓ ปลายปีกองทัพพม่ายกออกจากเมืองเมาะตะมะไปตีกรุงศรีอยุทธยาอีกครั้ง
การที่อังวะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยาในช่วงกบฏเมืองนครราชสีมาพอดีอาจเพราะต้องการฉวยโอกาสที่อยุทธยากำลังเกิดความวุ่นวายภายในขยายอำนาจเข้ามา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มกบฏจะสมคบคิดประสานงานกับอังวะอยู่เบื้องหลังด้วย
ปืนครก (mortar) ของฝรั่งเศส สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ใช้สำหรับยิงกระสุนวิถีโค้ง
ภาพส่วนประกอบของปืนครก (mortar) ของฝรั่งเศส สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘
บาทหลวงโบรด์รายงานว่า กองทัพกรุงขึ้นไปล้อมเมืองนครราชสีมาอยู่ประมาณ ๖ เดือน สมเด็จพระเพทราชาจึงทรงคิดกลอุบายใหม่เพื่อเผาทำลายเมือง โดยโปรดให้ส่งว่าวขึ้นไปให้กองทัพ สำหรับใช้ผูกดอกไม้ไฟหย่อนทิ้งลงไปในเมือง
พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงการใช้ว่าวจุฬาผูกหม้อดินไปเผาเมืองเช่นเดียวกัน และยังกล่าวถึงการใช้ “ปืนกล” ที่สันนิษฐานว่าเป็นปืนครก (mortar) บรรจุกระสุนลูกแตก (explosive shell) ติดชนวน ซึ่งเป็นวิทยาการที่ไทยได้รับมาจากกองทหารฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ยิงเข้าไปทำลายเมือง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะชาวเมืองสามารถแก้ทางได้
“อ้ายคิดมิชอบก็มิได้ออกรบพุ่งนอกเมือง รักษาแต่เชิงเทินและกำแพงไว้มั่นคง ทรงพระกรุณาสั่งให้เอาปืนกลขึ้นไปตั้งจุดยิงเข้าไปในเมือง ลูกปืนกลตกลงในเมือง ชาวเมืองนครราชสีมาหาเคยเห็นไม่ จึงมายืนล้อมดู ครั้นลูกปืนวูบเข้าไปถึงดินเร็วแตกออก ถูกคนเจ็บปวดเป็นอันมากและเหย้าเรือนในเมืองนั้น มันให้รื้อแฝกหลังคาลงเสียสิ้นแล้ว ให้ขุดหลุมรายไว้ ครั้นยิงปืนกลเข้าไปอีกตกลง ชาวเมืองเอาไม้คัดรุนลงเสีย เอาหนังใหญ่และไม้ปิดเสียแตกออกในหลุมก็หาถูกผู้คนไม่ และทรงพระกรุณาสั่งให้เอาว่าวคุลาใหญ่ขึ้นไปชัก เอาหม้อใส่ดินตกลงให้ไหม้เมือง และหย่อนว่าวให้หม้อดินตกลงในเมืองหลายครั้ง ก็หาไหม้เมืองไม่”
ซ้าย : ภาพปืนครก (mortar) และลูกปืน ขวา : ทหารปืนใหญ่ (bombadier) ของฝรั่งเศสใช้ปืนครกยิงโจมตีเมือง ภาพพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๖๙๑ (พ.ศ. ๒๒๓๔)
พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม ยังกล่าวถึงการใช้ “เพลีงอังแพลม” (สันนิษฐานว่าเป็นวัตถุติดไฟชนิดหนึ่ง อาจเป็นที่มาของชื่อตะเกียงอังแพลม) ผูกลูกธนูยิงระดมเข้าไปเผาเมืองอีกวิธีหนึ่งด้วย
“แลท้าวพญานายทับนายกองซึ่งตั้งลอ้มอยู่นั้น ก็ปฤกษากันเหนว่าจแหกหักเอาหมิได้ ด้วยช้าวเมืองรบพุ่งต้านทานแฃงมืออยู่ จึ่งคิดกลอุบายเปนหลายหย่างแลทำให้ลูกปืนกลยิงตกแล้วก็สงบอยู่ ต่อเพลีงติดลามเข้าไปถึงดีนเรัวจึงแตกออกผู้คนล้มตาย อุบายอนึ่งนั้นให้ผูกว้าวจุลาใหญ่ชักขึ้น แล้วเอามอดีนผูกแฃวนสายปั่นอันไหญ่หยอนเข้าไปในเมือง แลจุดเพลิงฉนวนล่ำมไว้ ครั้นเพลีงฉนวนติดถึ่งดินแล้วให้ตกลงไหม่ในเมือง แลอุบายอนึ่งนั้นให้เอาเพลีงอังแพลมผูกลูกธนูยิงระดมเข้าไปเผาเมือง ครั้นจัดแจงแต่งการทังปวงนั้นพร้อมแล้ว เพลากลางคืนดึ่กประมาณสามยาม ก็ให้ยิงปืนกลชักว้าวจุลาแลยิงธนูระดมเข้าไปพร้อมกัน แล้วแต่งพลอาษาหนุนเข้าไปปล้นเอาเมือง”
แต่วิธีการเหล่านี้ล้วนไม่ประสบความสำเร็จ
.
กองทัพกรุงศรีอยุทธยาโจมตีเมืองนครราชสีมาอยู่หลายเดือนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้แต่ตั้งล้อมเมืองไว้จนสิ้นเสบียงอาหารและกระสุนดินดำ ไพร่พลอดอยากซูบผอม มีผู้หนีทัพจำนวนมาก บรรดาแม่ทัพนายกองต้องมีหนังสือลงมาถึงสมุหนายกขอกองทัพหนุนขึ้นไปช่วย พร้อมทั้งขอเสบียงอาหารและกระสุนดินดำเพิ่มเติม
แต่สมเด็จพระเพทราชากลับทรงระแวงบรรดาแม่ทัพนายกองของพระองค์ว่าจะเป็นกบฏ นำมาสู่การลงพระราชอาญาข้าราชการอย่างรุนแรง
พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าในเวลานั้นมีข่าวลือว่าสมเด็จพระเพทราชาสวรรคตแล้ว บรรดาแม่ทัพนายกองจึงเลิกทัพกลับมา แต่ภายหลังทราบว่าไม่ได้สวรรคตจริงจึงเกรงกลัวหลบหนีไป เป็นเหตุให้แม่ทัพนายกองเหล่านี้ต้องพระราชอาญาอย่างหนัก
“ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งปวงซึ่งขึ้นไปล้อมเมืองนครราชสีมานั้น ได้กิตติศัพท์ขึ้นว่าสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ชวนกันเลิกทัพกลับมา ถึงแขวงเมืองสรรคบุรีจึงรู้ว่าหาเสด็จสวรรคตไม่ ยังเสด็จอยู่ ต่างคนต่างก็แตกกันไปข้างแขวงนครนายกบ้าง ทางเมืองปราจินบ้าง ทางเมืองลพบุรีบ้าง จึงทรงพระกรุณาสั่งให้กะเกณฑ์ไปทั่ว สกัดจับนายกองทุกทาง ข้าหลวงซึ่งติดตามไปท่าสกัดนั้นจับได้พระยาพระหลวงขุนหมื่นนายทัพนายกองมาสิ้นแล้ว ทรงพระกรุณาให้ลงพระราชอาญาขับเฆี่ยนไป ตีริบราชบาทว์ ทะเวนบกทะเวนเรือ แล้วประหารชีวิตเสียเป็นอันมาก”
การที่แม่ทัพนายกองผู้มีอำนาจบัญชาการทหารในมือละทิ้งการศึก ถอยทัพกลับมาโดยไม่มีพระราชโองการเป็นความผิดร้ายแรง เพราะนอกจากละทิ้งหน้าที่แล้ว กำลังทหารที่มียังอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อพระเจ้าแผ่นดินได้ จึงมีบทลงโทษเสมอกบฏ ดังปรากฏในพระไอยการกระบดศึกว่า
“อนึ่งพระผู้เปนเจ้าใช้ให้ผู้ใดไปการณรงคสงคราม ท่านว่าให้เอาชีวิตรเปนแดนแทนพระเดชพระคุณ อย่าย่อหย่อนถอยท้อต่อราชสัตรูสักอันเลย ให้เอาชำนะจงได้ ถ้าผู้ใดหนีละตาทับเสีย ให้ฆ่าเสีย อย่าให้ดูเยี่ยงหย่างกัน แลบุตรภรรยาทรัพยสิ่งของให้เอาเปนหลวง”
.
จดหมายของบาทหลวงโบรด์รายงานไว้ใกล้เคียงกันว่า ในช่วงที่กองทัพกรุงศรีอยุทธยาทดลองส่งว่าวไปเผาเมืองนครราชสีมา มีข่าวลือว่ากองทัพที่สมเด็จพระเพทราชาส่งไปปราบกบฏกำลังจะแปรพักตร์ไปเข้ากับกบฏ หรือไม่ก็เข้ากับกบฏไปแล้ว ซึ่งไม่สามารถยืนยันได้ว่าจริงหรือเท็จ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเวลานั้นคือมีความแตกแยกในกองทัพกรุงศรีอยุทธยาอย่างหนัก เพราะมีข่าวการสิ้นพระชนม์ของ “เจ้า” (prince) ที่คนทั่วไปในเวลานั้นเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
พิจารณาจากบริบทของจดหมายเข้าใจว่า "เจ้า" หมายถึงกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่มีข่าวลือว่าสิ้นพระชนม์ไปแล้วในเวลานั้น แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับพงศาวดารอาจหมายถึงการสวรรคตของสมเด็จพระเพทราชาก็ได้ เพราะบ่อยครั้งที่หลักฐานฝรั่งเศสนิยมเรียกกษัตริย์สยามว่า prince
ในเวลาเดียวกันสมเด็จพระเพทราชาทรงเตรียมการระวังพระองค์ ทรงมีพระราชโองการเรียกแม่ทัพนายกองที่ถูกส่งไปเมืองนครราชสีมากลับพระนครทั้งหมด
.
แม่ทัพนายกองทั้งหลายทราบดีว่าครอบครัวของตนถูกคุมขังมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะสมเด็จพระเพทราชาทรงระแวงว่าข้าราชการเหล่านี้ไม่ซื่อตรง ในระหว่างที่กำลังตัดสินใจดำเนินการต่อไป ในเวลาเช้ามืดวันหนึ่งเกิดเพลิงไหม้ในที่พักทำให้ข้าราชการเหล่านี้ตกใจ ต่างคนต่างก็หลบหนีทิ้งอาวุธ รีบลงมาเฝ้ากราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบที่กรุงศรีอยุทธยา แต่มีข้าราชการบางคน เช่น ออกขุนชำนาญ (Okon Channang) หลบหนีหายไป ข้าราชการเหล่านี้ทยอยกันลงมาที่พระนคร ต่างคนต่างเข้าเฝ้ากล่าวโทษกันเองเพื่อเอาตัวรอด มีข้าราชการบางคนไม่ยอมลงมาเฝ้าในทันทีและมีท่าทีจะหลบหนีจึงถูกจับกุม
สมเด็จพระเพทราชาทรงระแวงข้าราชการเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้คิดการประทุษร้าย จึงมีรับสั่งให้เอาเหล็กที่เผาไฟจนแดงนาบฝ่าเท้าข้าราชการเหล่านี้ แล้วทำการสอบสวนอย่างหนัก จากนั้นจึงใช้ไม้แหลมบีบลิ้นปิดปากไม่ให้พูด หลังจากทำการทรมานสอบสวนอยู่ประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ จึงมีพระราชโองการให้พระราชอาญาประหารชีวิตข้าราชการ ๔๘ คนในข้อหากบฏ โดยไม่ได้คำนึงถึงอายุ คุณสมบัติ ชาติตระกูล หรือบรรดาศักดิ์แต่อย่างใด
.
การประหารครั้งนั้นเกิดขึ้นประมาณเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๐๐ ซึ่งบาทหลวงโบรด์บรรยายไว้อย่างละเอียดว่า
“ในเช้าวันหนึ่ง พวกเขาเอาหลักไปปักไว้ในที่ประชุมชน แล้วคุมพวกนักโทษที่ถูกล่ามโซ่ตรวนไว้อย่างแน่นหนาและมีไม้อุดปากมายังที่นั้น บังคับให้นั่งขัดสมาธิที่หลักหลักละคนแล้วมัดไว้กับหลักอย่างแน่นหนา พวกเขาเอาใช้ดาบสับศีรษะนักโทษ ๗ แห่ง เอามือจับคอไว้แล้วใช้มีดถลกหนังตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไปถึงหัวไหล่ และได้เฉือนเนื้ออกจากแขนเป็นชิ้นๆ บังคับให้เหล่านักโทษกิน บางคนถูกตัดนิ้วเท้านิ้วมือ บางคนถูกเอาเงินบาทละลายกรอกปาก
เมื่อเสร็จแล้ว ผู้หญิงทั้งในเมืองและนอกเมืองถูกบังคับให้มาใช้กำปั้นทุบศีรษะของนักโทษเพื่อเป็นการแสดงความเหยียดหยาม หลังจากพวกนักโทษถูกทิ้งให้ตากแดดอยู่ ๕ หรือ ๖ ชั่วโมง พวกเขาจึงได้คุมตัวกลับเข้าคุกโดยไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าพบ
พวกนักโทษถูกทรมานซ้ำเช่นนี้อยู่หลายครั้ง บางคนอดทนได้ ๑๐ หรือ ๑๒ วัน จนกระทั่งพวกเขาไม่สามารถอดทนได้อีกต่อไป จึงถูกแหวะท้องแล้วเสียบประจานไว้ที่ประตูเมืองโดยมีไม้ไผ่และขวากหนามล้อมรอบ
ทรัพย์สมบัติของพวกเขาถูกริบหมดสิ้น บุตรภรรยาและครอบครัวของพวกเขาถูกคุมตัวออกจากคุกไปยังสวนแห่งหนึ่งกลางทุ่งนอกเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์จะใช้เป็นสถานที่เผาคนเหล่านี้ทั้งเป็นในทันที พระองค์คงทรงทำเช่นนั้นอย่างไม่ลังเลถ้าไม่ใช่เพราะบรรดาพระสงฆ์ได้กราบทูลคัดค้านไว้โดยอ้างพระราชกำหนดโบราณ พระสงฆ์เหล่านี้ได้เพียรพยายามเฝ้าพิทักษ์อยู่รอบสวนนั้นทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อป้องกันการประหารชีวิต จนเหล่าพวกเขาได้รับการปล่อยตัวแต่ถูกเอาตัวลงเป็นทาสตลอดชีวิต บุคคลที่โชคร้ายเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนมาจากตระกูลที่เก่าแก่ที่สุดของอาณาจักร
ข้าราชการที่ถูกลงพระราชอาญาประกอบด้วยเจ้าพระยา ออกญา หลวง ชาวมลายูผู้มีบรรดาศักดิ์บางคน กับหัวหน้าชาวญี่ปุ่นสองคน คนเหล่านี้ล้วนต้องโทษในข้อหากบฏ
ข้าพเจ้าได้สอบถามขนบธรรมเนียมและกฎหมายของอาณาจักรว่าด้วยบทลงโทษของกบฏ และได้ความว่าตามปกติมีเพียงการแหวะท้องหรือตัดศีรษะเท่านั้น เพราะฉะนั้นการประหารอย่างป่าเถื่อนในครั้งนี้ เข้าใจว่าเป็นผลมาจากความพิโรธและและความโหดร้ายอย่างรุนแรงของพระเจ้าแผ่นดิน”
ภาพเหมือนของโกษาปาน เมื่อเป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๖๘๖ (พ.ศ. ๒๒๒๙) ผลงานของ ชาร์ลส์ เลอ เบริง (Charles Le Brun) จิตรกรหลวงชาวฝรั่งเศส
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หลักฐานของดัตช์ระบุว่าสมเด็จพระเพทราชาทรงกวาดล้างข้าราชการผู้ดีมีตระกูลเก่าแก่ในราชสำนักที่เคยถวายงานสมเด็จพระนารายณ์มาก่อนจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ที่ถูกลงพระราชอาญาจองจำอยู่ในพระราชวังแล้วล้มป่วยหนักจนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๖๙๙ ก่อนการลงพระราชอาญาประหารชีวิตแม่ทัพนายกองประมาณ ๒ เดือน เนื่องจากไม่เป็นที่ทรงไว้วางพระทัยและถูกต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกบฏ
รายงานของกิเดโยน ตันต์ ส่งถึงเมืองปัตตาเวียลงวันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๑๗๐๐ ระบุว่าหลังจากเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) สิ้นไปแล้ว สมเด็จพระเพทราชาทรงปฏิบัติต่อเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพซึ่งเป็นมิตรกับเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) อย่างเลวร้าย ถึงขั้นทรงใช้กำลังลงมือทำร้ายพระนางครั้งหนึ่ง
.
หลังจากนั้นกรุงศรีอยุทธยาได้เตรียมกองทัพพร้อมกับเบิกกระสุนดินดำส่งขึ้นไปยังเมืองนครราชสีมา แต่เกิดเหตุร้ายคือเจ้าพนักงานกรมพระกลาโหมรักษาตึกดินที่ไปเบิกดินดำเอาจอบคัดปากตุ่มปากแงที่บรรจุดินปืนไว้ แต่มีประกายไฟตกลงในตุ่ม จนตึกดินทั้งตึกระเบิดพังพินาศ เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในพระนคร
“...ประกายเพลีงกระเดนลงในดีนดำ ๆ นั้นก็วุบขึ้นเปนอันหนึ่งอันเดยีว แลเทือกดีนนั้นมากมีกำลังมาก ก็โชดขึ้นทำลายทับสำภาระแห่งตึ่กนั้นพังลง แล้วหอบหุ้มขึ้นบนอากาษแตกไปโดยทิศนอ้ยใหญ่ เสยีงกึกก้องสนั้นหวันไหวกำมนาถพระธรณี ดุจเสยีงมหาอสุนิบาทต้องช้าวพระนครล้มตายเจบปว่ยได้ทุกขเวทนาเปนอันมาก แลได้ลูกดีนนั้นก็นอ้ย...” - พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม
กิเดโยน ตันต์ ระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๑๗๐๐ ตึกดินนั้นตั้งอยู่ห่างจากกำแพงพระราชวังเพียง ๗-๘ โรเด็น (ประมาณ ๓๒-๓๖ เมตร) ภายในเก็บรักษาตุ่มบรรจุดินปืน เศษกระเบื้อง และชิ้นส่วนกระทะเหล็กของจีนปิดไว้ด้วยหนังควาย การระเบิดของตึกดินรุนแรงมากจนสถานีการค้าของดัตช์ที่ต้องใช้เวลาล่องเรือลงมาจากเกาะเมืองมากกว่า ๔๕ นาทีสั่นสะเทือน เกิดเพลิงไหม้อยู่ ๓ ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิต ๑๐ คน และบาดเจ็บอีกนับสิบคน
สมเด็จพระเพทราชาทรงตกพระทัยมาก เพราะสะเก็ดระเบิดเกือบต้องพระองค์ในขณะที่ประทับอยู่ในท้องพระโรง พระองค์ไม่ได้มีรับสั่งให้จัดการกับเหตุระเบิดอย่างใด แต่โปรดให้ปิดประตูพระราชวังอย่างแน่นหนา และเสด็จทรงม้าไปตามที่ต่างๆ ในพระราชวังจนไฟดับลง (สันนิษฐานว่าเพื่อป้องกันให้ศัตรูทราบว่าพระองค์อยู่ที่ใด) มีผู้สงสัยว่าเหตุตึกดินระเบิดครั้งนี้อาจไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นฝีมือของคนใกล้ชิดสมเด็จพระเพทราชาเอง (ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับกบฏเมืองนครราชสีมา)
.
สำหรับกองทัพชุดใหม่ บาทหลวงโบรด์ระบุว่าประกอบด้วยข้าราชการที่สมเด็จพระเพทราชาทรงเห็นว่าเป็นคนซื่อสัตย์ เป็นผู้ที่สามารถทำศึกแก้ตัวลบล้างความผิด หรือเป็นผู้ที่ทรงโปรดปราน ถูกส่งขึ้นไปเมืองนครราชสีมาพร้อมกับข้าราชการที่ตั้งขึ้นใหม่อีกหลายคน
มีทหารอาสามลายูที่หนีตามทหารไทยกลับมากรุง และที่มีความภักดีในราชการได้รับพระราชทานบำเหน็จเป็นเงินหรือได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ ได้กราบทูลขออาสาขึ้นไปตีเมืองนครราชสีมา และติดตามกองทัพไทยขึ้นไปด้วย อาสามลายูเหล่านี้ได้แสดงความกล้าหาญด้วยการพยายามปีนกำแพงเมืองขึ้นไป แต่ชาวเมืองรบป้องกันอย่างหนักจนชาวมลายูล้มตายไปหลายคน เมื่อเห็นความเข้มแข็งของกบฏจึงทำให้ทหารอาสามลายูเหล่านี้ไม่อยากต่อสู้ต่อไป จึงเพียงแต่ตั้งมั่นอยู่โดยไม่ได้ทำสิ่งใดเกือบ ๔ เดือน
กำแพงเมืองนครราชสีมา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ (ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
แม้ว่ากลุ่มกบฏจะรักษาเมืองนครราชสีมาได้อย่างเข้มแข็ง แต่การถูกปิดล้อมเมืองอยู่แรมปีทำให้เสบียงอาหารและยุทธปัจจัยร่อยหรอลงตามเวลา ชาวเมืองไม่สามารถออกมาทำนาเป็นฐานเสบียงเพิ่มเติมได้ สุดท้ายบรรดาแกนนำกบฏเห็นว่าจะต้านทานต่อไปไม่ได้ จึงหลบหนีออกจากเมืองนครราชสีมา ดังที่พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ส่วนความใหม่ที่ระบุว่า
“...แต่ทัพไปล้อมเมืองนครราชสีมาถึง ๓ ปี เทศกาลฝน ไพร่พลช้างม้าโคกระบือล้มตายเป็นอันมาก และฝ่ายในเมืองนครราชสีมาขาดเสบียง อ้ายคิดมิชอบกับพวก ๒๘ คนหนีออก หาได้ตัวไม่”
เช่นเดียวกับส่วนความเก่าที่ระบุว่า
“แต่ทัพกรุงไปล้อมเมืองนคร ราชสีมาถึง ๓ ปี ฝ่ายนายสังข์ ยมราช กับท้าวทรงกันดาล เห็นจะต้านทานมิได้ ก็ลอบหนีไปจากเมืองโคราช กองทัพกรุงก็เข้าเมืองได้”
พระยายมราช (สังข์) กับท้าวทรงกันดาล (อู่) หลบหนีลงไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ซ่องสุมผู้คนก่อกบฏในเวลาต่อมา
.
บาทหลวงโบรด์รายงานว่า ปลายเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๐๐ ชาวเมืองนครราชสีมาได้เปิดประตูเมืองและแจ้งต่อกองทัพกรุงว่ากบฏได้หลบหนีไปหมดแล้ว ทัพกรุงจึงสามารถยึดครองเมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ ราชสำนักแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ ซึ่งได้ส่งชาวเมืองนครราชสีมาจำนวนมากลงมาชำระความที่กรุงศรีอยุทธยา มีผู้ถูกประหารชีวิตหลายคน
กบฏที่หลงเหลือเข้าไปยึดเมืองพิษณุโลกและเมืองอื่นๆ แต่ราชสำนักพยายามปิดเป็นความลับเท่าที่จะทำได้ และมีคำสั่งให้จัดงานมหรสพรื่นเริงเหมือนปกติ แต่ในสายตาของโบรด์เห็นได้ชัดเจนว่าสงครามยังไม่ถึงจุดจบ
.
วันที่ ๘ มิถุนายน บาทหลวงโบรด์ไปพบออกญาพิพัฒน์ ปลัดทูลฉลองกรมพระคลัง ออกญาพิพัฒน์รายงานถึงการก่อกบฏที่เมืองพิษณุโลกและเมืองอื่นๆ พร้อมแจ้งว่ากบฏเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกจับกุมตัวได้แล้ว แต่ “อ้ายคิดมิชอบ” ต้นคิดชิงราชสมบัติหลบหนีไปได้พร้อมผู้ติดตามไม่ทราบจำนวน แต่ล้วนเป็นผู้ที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญ (gens qui se battaient vaillamment - อาจหมายถึงพระยายมราช (สังข์)) เข้าใจว่าหลบหนีไปเมืองเขมรหรือลาว
เมื่อบาทหลวงโบรด์สอบถามถึงตัวตนของ “อ้ายคิดมิชอบ” ออกญาพิพัฒน์ให้คำตอบได้เพียงว่า “ราวกับมันผู้นี้ผุดขึ้นมาจากดิน” (qu'il semblait qu'il fut sorti de dessous terre) และมีมหาดเล็กของสมเด็จพระเพทราชาคนหนึ่งคอยติดตามรับใช้ใกล้ชิดทุกอย่างด้วย ในเวลานี้กองทัพกำลังไล่ล่ากบฏที่หลงเหลืออยู่
เช่นเดียวกับรายงาน กิเดโยน ตันต์ ส่งถึงเมืองปัตตาเวียลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๐๐ รายงานว่า มีข่าวลือว่ากบฏที่เหลือรอดไปสมคบคิดกับพระเจ้าล้านช้าง อังวะ หงสาวดี ฯลฯ และสมเด็จพระเพทราชาทรงปฏิบัติต่อราษฎรในพื้นที่ที่เกิดกบฏอย่างรุนแรง นอกจากมีผู้บาดเจ็บล้มตายในสงครามจำนวนมากแล้วยังมี “ชาวนาผู้บริสุทธิ์” และ “พ่อค้าท้องถิ่น” ที่ถูกสงสัยว่าเป็นกบฏถูกจับไปทรมานและประหารชีวิต ศพถูกเสียบประจานไว้ตามกำแพงเมืองนครราชสีมา
ภาพสีน้ำมัน IUDEA หรือกรุงศรีอยุทธยา ผลงานของ David กับ Johannes Vingboons จิตรกรชาวดัชต์ เมื่อ ค.ศ. ๑๖๖๓ (พ.ศ.๒๒๐๖) ต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์
กบฏเมืองนครราชสีมาส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของกรุงศรีอยุทธยาหลายประการ ผลกระทบสำคัญอย่างหนึ่งคือสมเด็จพระเพทราชาทรงปราบปรามขั้วอำนาจทางการเมืองที่เป็นศัตรูของพระองค์ให้อ่อนกำลังลงได้สำเร็จ ด้วยการกำจัดข้าราชการที่ถูกระแวงว่าเป็นภัยคุกคาม แล้วแต่งตั้งข้าราชการใหม่จำนวนมาก
รายงานของตันต์เมื่อปลาย ค.ศ. ๑๗๐๐ ระบุว่าข้าราชการผู้ใหญ่ชุดใหม่เป็นที่โปรดปรานและไว้วางพระทัยของสมเด็จพระเพทราชา แต่ล้วนมีอายุน้อย ขาดประสบการณ์ และยังคงขูดรีดราษฎรไม่ต่างจากในอดีต จึงน่าจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการปกครองมากพอสมควร
ผู้รับตำแหน่ง “พระคลัง” ต่อเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) คือเจ้าพระยาธรรมเสนา (น่าจะเป็นเจ้าพระยาธรรมา เสนาบดีกรมวัง) ที่อยู่ในตำแหน่งประมาณ ๙ เดือนก่อนจะถูกถอดเนื่องจากมีอายุมาก แล้วถูกแทนที่โดยออกญามหาอำมาตย์ เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ หนึ่งในขุนนางที่สมเด็จพระเพทราชาโปรดปรานมากที่สุด แต่เป็นคนหนุ่มที่หยิ่งผยอง ไม่มีประสบการณ์ และเอาแต่ใจตนเอง
ชาวจีนคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นคนของคอนสตันซ์ ฟอลคอน (Constance Phaulkon) ได้ทำความดีความชอบยึดเอาหนังสือลับที่เมืองนครราชสีมาส่งมาถึงพระสงฆ์ในกรุงหลายรูปไปถวาย จึงกลายเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเพทราชา ภายหลังได้เลื่อนเป็นออกญาสมบัติบาล เจ้ากรมพระคลังในขวา เป็นหนึ่งในขุนนางที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปลายรัชกาล จนมีบันทึกว่าเป็นเสนาบดีคนเดียวที่สมเด็จพระเพทราชาทรงไว้วางพระทัย ในระดับที่พระองค์ต้องพึ่งพาเขามากยิ่งกว่าที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเคยพึ่งพาฟอลคอน ออกญาสมบัติบาลยังมีอำนาจดูแลด้านการค้าต่างประเทศมากจนออกญาพระคลังยังไม่อาจตัดสินใจในเรื่องการค้าต่างประเทศได้เอง หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากออกญาสมบัติบาล
จากการกวาดล้างข้าราชการอย่างรุนแรง ทำให้บาทหลวงโบรด์รายงานว่า มีคนบางกลุ่มเชื่อว่าสงครามปราบกบฏเมืองนครราชสีมาเป็น “อุบาย” (stratagème) ที่สมเด็จพระเพทราชาทรงสร้างขึ้นเพราะต้องการ “ปฏิรูปขุนนาง” (reformer le madarinat) ทั้งหมดด้วยการกำจัดขุนนางเก่าที่อาจมีความริษยาพระองค์หรืออาจเป็นภัยต่อราชสมบัติ และเพื่อให้ข้าราชการของเจ้าพระขวัญ (พระราชโอรสที่อาจได้รับราชสมบัติในอนาคต) ไม่มีผู้ที่เคยใกล้ชิดหรือถวายงานสมเด็จพระนารายณ์มาก่อน
โบรด์เห็นว่าราชสำนักเตรียมการปราบกบฏอย่างจริงจังจนยากจะเชื่อว่ากบฏครั้งนี้เป็นเพียง “อุบาย” อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่สมเด็จพระเพทราชาจะทรงใช้สงครามปราบกบฏให้เป็นประโยชน์ในการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองในราชสำนักไปพร้อมกันด้วย
.
เศรษฐกิจของอาณาจักรได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างหนัก เพราะเมืองนครราชสีมาที่เป็นแหล่งขนส่งสินค้าของป่าสำคัญของกรุงศรีอยุทธยาได้รับความเสียหาย ประชากรในพื้นที่เบาบางลงมากเพราะล้มตายในสงครามหรือถูกประหารชีวิต เรือกสวนไร่นาขาดผู้ดูแล การค้าของอาณาจักรทั้งภายในและต่างประเทศซบเซาลงจนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
บาทหลวงโบรด์รายงานว่า “สงครามครั้งนี้ส่งผลให้การค้าขายพินาศสิ้น เหล่าพ่อค้ายากจนลงจนมีความเดือดร้อนมาก ชาวต่างประเทศไม่เดินทางเข้ามาอีก เราพบว่าในปีนี้มีสำเภาจีนเดินทางเข้ามาเพียง ๓ หรือ ๔ ลำ ซึ่งไม่มีสินค้ามากนักและแทบหาผู้ซื้อไม่ได้แม้ว่าจะลดราคาจนเข้าเนื้อ ทั้งการร้องรำทำเพลง งานฉลองรื่นเริง งานบุญ งานมหรสพ และงานเผาศพถูกงดมาตั้งแต่เกิดสงคราม ไม่มีผู้ใดกล้าทำอะไร ทำให้บรรดาพระสงฆ์ที่น่าสงสารเป็นทุกข์มาก เพราะได้รับบิณฑบาตได้น้อยลงอย่างมากตั้งแต่มีการสั่งห้ามนี้”
อีกตอนหนึ่งรายงานว่า “ผ่านมาไม่ถึงหนึ่งเดือนตั้งแต่ออกญาพิพัฒน์ได้ถามว่า ชาวฝรั่งเศสจะเดินทางเข้ามาในปีนี้หรือไม่ ดูเหมือนทุก ๆ คนจะถอนใจได้ด้วยความโล่งใจหากมีชาวฝรั่งเศสเดินทางเข้ามา พวกเขานึกถึงเรื่องนี้อยู่ทุกคืน และคาดหวังอยู่เสมอว่าจะได้เห็นเรือจากฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาจำนวนมาก” สะท้อนให้เห็นถึงความตกต่ำของการค้าต่างประเทศหลังสงครามได้เป็นอย่างดี
โบรด์ยังประเมินว่าสงครามครั้งนี้ แทนที่จะทำให้สมเด็จพระเพทราชาทรงยากจนลง กลับทำให้ทรงมั่งคั่งขึ้นไปอีก เพราะสามารถริบทรัพย์สมบัติของข้าราชการเข้าท้องพระคลังได้จำนวนมาก
การค้ากับดัตช์ได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะกำลังคนของบริษัทถูกดึงไปใช้ในสงคราม พระคลังไม่สามารถจัดหาสินค้าขึ้นเรือของดัตช์ได้ครบถ้วนเพราะไม่สามารถกราบบังคมทูลสมเด็จพระเพทราชาที่กำลังวุ่นวายกับความไม่สงบรอบด้าน บวกกับข้าราชการใหม่ที่ไร้ประสบการณ์ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทั้งสมเด็จพระเพทราชาและกรมพระราชวังบวรสถานมงคลต้องทรงยุติการทำการค้าทางทะเลของพระองค์ในช่วง ค.ศ. ๑๗๐๐
ภาพพิมพ์สมเด็จพระเพทราชา พระเจ้ากรุงสยาม (PITERA TJAY Rex Siam) ผลงานของ Gaspar Bouttats ช่างพิมพ์และช่างแกะสลักชาวเฟลมิช ในหนังสือภาษาดัตช์ชื่อ Revolutie ofte Staedts Veranderinghe Vooghevallen In Turchyen Cheduerende dese Eeuwe deser 1600. Tot 1690. ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๖๙๕ (พ.ศ. ๒๒๓๘) เข้าใจว่าดัดแปลงมาจากภาพพิมพ์ออกพระวิสุทสุนธร (ปาน) ของโยฮันน์ ไฮเซลมานน์ (Johann Hainzelman) เมื่อ ค.ศ. ๑๖๘๖ (พ.ศ. ๒๒๒๙)
ผลกระทบสำคัญของกบฏเมืองนครราชสีมาอีกประการคือทำให้พระอัธยาศัยของสมเด็จพระเพทราชาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับตอนต้นรัชกาล ปรากฏในหลักฐานดัตช์นับตั้งแต่ทรงค้นพบข่าวการกบฏก็ทรงเลิกสนพระทัยการพระศาสนาแทบทั้งหมด ทรงเปลี่ยนมาสนพระทัยแต่เรื่องทางโลก และทรงประหัตประหารข้าราชการอย่างรุนแรง จนกิเดโยน ตันต์ วิจารณ์ว่า
“...ทรงเปลี่ยนแปลงพระองค์จากผู้ทรงพระราชศรัทธาในพระศาสนาอย่างยิ่ง กลายเป็นทรราชโดยเด็ดขาด จนทำให้บัดนี้พระองค์หาได้เกรงกลัวผู้ใด และเป็นที่เกรงกลัวของทุกคน”
เหตุที่เป็นเช่นนี้เข้าใจว่าเพราะพระราชอำนาจถูกท้าทายจากศัตรูราชสมบัติบ่อยครั้งนับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ ตลอดรัชสมัยต้องประทับอยู่ใต้เศวตรฉัตรด้วยความหวาดระแวงจนถึงจุดที่ไม่สามารถไว้วางพระทัยผู้ใดได้อีกต่อไป เมื่อเผชิญกับกบฏเมืองนครราชสีมาที่เป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ จึงน่าจะส่งผลกระทบต่อพระองค์มากพอสมควร จนทรงเลือกใช้ความโหดร้ายเด็ดขาดกำจัดภัยคุกคามทั้งหมดเพื่อรักษาพระราชอำนาจ
ความเด็ดขาดของสมเด็จพระเพทราชาทำให้ขุนนางอ่อนกำลังและเกรงกลัวเกินกว่าที่จะเป็นปรปักษ์พระองค์อีกต่อไป จนตันต์วิจารณ์ว่า สถานะอันน่าอนาถของขุนนางในเวลานั้นเกิดจากการที่ไม่มีขุนนางคนใดกล้าทัดทานพระองค์ในเรื่องการปฏิบัติที่มิชอบและการลงพระราชอาญาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอย่างรุนแรง เพราะชาวสยามมีความเชื่ออย่างมืดบอดว่าการกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกับที่บิดาลงโทษบุตรด้วยความรัก และเชื่อว่าหากขัดพระทัยเจ้าเหนือหัวจะทำให้ชาติหน้าไม่ได้อยู่ในภพภูมิที่ดี แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วขุนนางเหล่านี้น่าจะต้องการรักษาชีวิตตนเองให้รอดในปัจจุบันมากกว่า
.
สุดท้าย แม้สมเด็จพระเพทราชาจะทรงปราบปรามกบฏเมืองนครราชสีมาและศัตรูราชสมบัติในราชสำนักได้สำเร็จ แต่นำมาสู่การสูญเสียเลือดเนื้อครั้งใหญ่ ความเสื่อมโทรมของการปกครองและเศรษฐกิจ และความเกลียดชังของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ดังที่บาทหลวงโบรด์บันทึกไว้ว่า
“ความจริงแล้ว บรรดาพระสงฆ์ที่เชื่อว่าตนทำความดีความชอบด้วยการยกพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ เริ่มมองเห็นแล้วว่าพระองค์เป็นคนหน้าซื่อใจคดที่หลอกลวงพวกตน ความตายอันโหดร้ายและน่าอัปยศของบรรดาข้าราชการรวมถึงบุตรภรรยาและครอบครัวที่ต้องตกเป็นทาส ทำให้บรรดาพระสงฆ์สะเทือนใจเกินกว่าจะเข้าข้างพระองค์ต่อไปอีกในยามนี้ พระองค์ทรงเป็นที่เกลียดชังโดยราษฎรและข้าราชการโดยทั่วไป ที่ยังเหลือความเกรงกลัวอยู่เพียงน้อยนิด (ที่ยับยั้งไม่ให้ก่อการกบฏ) อาจกล่าวได้ว่าพระอัครมเหสีและเจ้าฟ้าพระองค์เล็กผู้เป็นพระราชโอรสอาจเป็นสาเหตุเพียงหนึ่งเดียวที่ยังชะลอไม่ให้เกิด ‘การปฏิวัติครั้งใหญ่’ ขึ้น”
บรรณานุกรม
- กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๒. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม ๓ เรื่อง. (๒๕๕๓). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: แสงดาว.
- ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๖ เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเพทราชา ภาค ๓. (๒๔๗๐). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. (๒๕๕๓). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล. (๒๕๔๙). พิมพ์ครั้งที่สอง. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. (๒๕๔๕). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (นายต่อ, ผู้แปล.). กรุงเทพฯ: มติชน.
- Bhawan Ruangsilp. (2007). Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perception of the Thai Kingdom, c 1604-1765, Leiden: Brill.
- Dhiravat na Pompejra. (2002). Dutch and French Evidence Concerning Court Conflicts at the End of King Petracha’s Reign, c 1699-1703. Silpakorn University International Journal, 2(1), 47-70.
- Dhiravat na Pompejra. (1988). Prince, Pretender, and the Chinese Phraklang: An Analysis of the Dutch Evidence Cocerning Siamese Court Politic, 1699-1734. In L. Bluss & F. Gaastra (Eds.), The Eighteenth Century as a Category of Asian History: Van Leur in Tetrospect. (pp. 107-130). Aldershot: Ashgate.
- Launey, A. (1920). “Histoire de la Mission de Siam, 1662-1811 documents historiques. T. 1”. Paris: Anciennes Maisons Charles Douniol et Retaux.
- Record of the Relations Between Siam and Foreign Countries in the 17th Century. Volume V: 1688-1700. (1916). Bangkok: Council of the Vajirañāṇa National Library.
- Royal chronicle of Ayutthaya พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม. (n.d.) Retrived from http://www.bl.uk/manuscripts/FullDisplay.aspx?index=20&ref=Or_11827
- Terwiel, B.J. (2016). Two Scrolls Depicting Phra Petracha’s Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation. Journal of the Siam Society, (14), 79 - 94.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา