ผลการทดลองนี้ตรงกับแบบจำลองว่า การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมนี้จะถูกถ่ายทอดเป็นคู่ โดยตัวหนึ่งจะได้จากพ่อ และอีกตัวหนึ่งจะได้จากแม่ โดยถ้าเรากำหนดให้ A แทนพันธุกรรมที่แสดงลักษณะสีม่วง และ a แทนพันธุกรรมที่แสดงลักษณะสีขาว รุ่นพ่อแม่ที่เป็นสีม่วงจะมีลักษณะพันธุกรรม (Genotype) AA และสีขาวมีลักษณะทางพันธุกรรม aa ในลูกรุ่นแรกที่เกิดขึ้นจะได้ A มาจากต้นพ่อ และ a มาจากต้นแม่ ทำให้ทุกต้นมีลักษณะทางพันธุกรรมเป็น Aa
ในลูกรุ่นที่ 2 ที่ Aa 2 ต้นมาผสมพันธุ์กัน จะได้ลูกเป็น 4 แบบ AA, Aa, aA และ aa เพราะอาจจะได้ A หรือ a จากพ่อหรือแม่ก็ได้ แต่ลักษณะ AA, Aa และ aA (3 ส่วน) แสดงลักษณะภายนอกเดียวกันคือ เป็นดอกสีม่วง ในขณะที่ aa (1 ส่วน) จะแสดงออกเป็นลักษณะสีขาว ทำให้จำนวนต้นที่ดอกสีม่วงต่อจำนวนต้นที่ดอกสีขาวคือ 3:1
รุ่นพ่อแม่ (P generation): AA(สีม่วง) x aa (สีขาว)
รุ่นลูกรุ่นที่ 1 (F1 generation): Aa (สีม่วง) x Aa (สีม่วง)
รุ่นลูกรุ่นที่ 2 (F2 generation): AA (สีม่วง) Aa (สีม่วง) aA (สีม่วง) aa (สีขาว)
แต่ว่าถ้าเรานำลูกรุ่น F1 ที่เราปลูกมาผลิตเป็นพืชรุ่น F2 จะทำให้เราเจอปรากฏการณ์เดียวกันกับการทดลองของเมนเดลข้างต้น คือ เราจะได้ลูกรุ่น F2 ที่มีลักษณะที่ผันแปร บางต้นอาจจะมีพันธุกรรมเป็น AA, Aa, aA หรือ aa ก็ได้ ทำให้ลูกส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นสูญเสียคุณสมบัติที่ดีของรุ่น F1 แต่ข้อดีของการผลิตลูกรุ่น F2 คือ จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าลูกรุ่น F1 เนื่องจากไม่ต้องการทำการควบคุมการผสมเกสรเหมือนรุ่น F1
ลักษณะที่ผันแปรในรุ่น F2 จากรุ่น F1 นี้ก็อาจจะเป็นที่พึงพอใจของบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากถ้าเกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธ์ุไปปลูกต่อ ลูกที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีคุณภาพเท่าที่บริษัทขาย และทำให้ผลผลิตลดลง ทำให้เกษตรกรต้องกลับมาซื้อเมล็ดพันธุ์ของบริษัทอีก