15 มิ.ย. 2020 เวลา 16:29 • ศิลปะ & ออกแบบ
ทำไมแบรนด์ Supreme ขายอะไรก็แพง
"ความแพง" เหล่านี้ ... มีที่มา !
ว่ากันว่า อัตราส่วนของ “ความสำเร็จ” ประกอบไปด้วย “โชค” เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่นอกเหนือจากนั้น 80 เปอร์เซ็นต์ คือ “ความพยายาม” แล้วอะไรคือสิ่งที่แบรนด์ Supreme พยายามจนได้มาซึ่งความสำเร็จ ที่ไม่ว่าจะขายอะไรก็ดูแพงไปเสียหมด
แม้แต่กระทั่งการขายอิฐธรรมดา ๆ ที่ก้อนละพันกว่าบาท ก็ยังมีคนซื้อไปเก็งกำไรเพื่อขายต่อเป็นก้อนละ 3 หมื่น ! ... ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่มุกตลกแต่อย่างใด หากแต่ Supreme ได้ทำสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ แถมยังขายได้ด้วย มากไปกว่านั้นคือ ของหมดในเวลาอันรวดเร็ว !
แบรนด์ชื่อดังระดับโลก ที่มีโลโก้เป็นบล็อกแสนคลาสสิค และเรียบง่าย ที่คุ้นหูคุ้นตากันดีด้วยตัวหนังสือสีขาวบนพื้นแดง ความดูเหมือนไม่มีอะไร ... แต่มีอะไรที่ซ่อนอยู่ข้างในมากกว่านั้น มาหาคำตอบของความแพงเหล่านี้กันเถอะ !
.
Supreme กับการเป็นผู้เริ่ม มากกว่าผู้ตาม !?
จุดเริ่มต้นของสินค้าแบรนด์ Supreme ในยุคแรก ๆ นั้น เป็นเพียงสินค้าเฉพาะกลุ่มของชาวผู้เล่นสเกตบอร์ด ที่เน้นการสร้าง Product คุณภาพดี เนี้ยบ เรียบง่าย แต่มีสไตล์ และดีไซน์เก๋ มีเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญหลัก ๆ ที่ทำให้ครองใจลูกค้า คนต่างก็ตกหลุมรักแบรนด์นี้ไปแบบง่าย ๆ
แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นจุดขายสำคัญ แต่แบรนด์ Supreme ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้แปลก แตกต่างจากแบรนด์ทั่ว ๆ ไป นั่นก็คือ การทำสินค้าในแบบที่ตัวเองอยากทำ มากกว่าที่จะเป็นสินค้าตามเทรนด์ในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งหากสังเกตดูจะพบกว่า สินค้าในวงการแฟชั่นส่วนใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะในอดีต หรือ ปัจจุบันก็ตามแต่ ต่างก็ทำสิ่งค้าตามเทรนด์กันทั้งนั้น
ทำให้สิ่งนี้เป็นก้าวสำคัญที่เปลี่ยน แบรนด์ Supreme จากการเป็นผู้ตาม มาเป็นผู้สร้าง และนำเทรนด์ไปโดยปริยาย
ถอดรหัสความแมส สู่ Logo ที่แมส !?
เจมส์ เจบเบีย ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Supreme ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า Logo ของแบรนด์นั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานของ บาร์บารา ครูเกอร์ ศิลปินคอนเซปท์ชวลอาร์ตชาวอเมริกัน ผู้ที่เป็นที่รู้จักการทำงานศิลปะในสไตล์ของการใช้สโลแกนสั้น ๆ แรง ๆ กระแทกใจคนอ่าน โดยมีรูปแบบเป็นการนำเสนอด้วยการเขียนข้อความสีขาวบนพื้นสีแดงฉูดฉาด สร้างความโดดเด่น และเตะตา ซึ่งผลงานที่ทำให้เธอโด่งดัง และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ก็คืองาน I shop, there fore I am (1987) และ Your body is a battleground (1985)
ด้วยรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จัก หรือ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นงานแมส ที่เจมส์ เจบเบีย ได้นำเอามาปรับใช้ในการสร้าง Logo ของตัวเอง ก็อาจจะเป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้ แบรนด์ Supreme เป็น Supreme ได้อย่างทุกวันนี้
หนึ่งข้อดีของการที่ Supreme มี Logo เป็นลักษณะที่ดัดแปลงจากสไตล์งานที่แมส คือเมื่อเราได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับงานเหล่านั้น สมองจะทำการเชื่อมโยงความคิดไปยังแบรนด์ Supreme ได้เลยทันทีอีกด้วย
“Collaboration” การรวมกันอย่างเข้ากัน แต่ไม่ถูกกลืนหายไป
หนึ่งสิ่งที่ทำให้ แบรนด์ Supreme ประสบความสำเร็จ และเป็นที่รู้จักในระดับโลก คือการที่ทางแบรนด์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อแบรนด์ดังอื่น ๆ ที่ไม่มีมองว่าแบรนด์เหล่านั้นคือคู่แข่ง หากแต่กลับรวมตัว จับมือกันทำคอลเลคชั่นพิเศษ อาทิ แบรนด์รองเท้าอย่าง Vans , Nike เป็นต้น
แต่การรวมตัวเหล่านั้น เป็นจับมือกันอย่างลงตัว และเข้ากัน แต่แบรนด์ Supreme ไม่ถูกกลืนหายไปแต่อย่างใด แม้ว่าจะอยู่บน Product อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ Product ของแบรนด์ตัวเอง … ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น … ?
นั่นก็เพราะว่า เกิดจากการที่ แบรนด์ Supreme มี Logo และ CI ที่แข็งแรง แม้ว่าจะมีเพียงตัวหนังสือ สไตล์ของ Font หรือมีเพียงแค่สี ก็ยังชัดเจน และโดดเด่น มองออกว่าเป็น Supreme อยู่ดี เช่นกัน เอกลักษณ์ของ CI ที่ชัดเจน มองจากมุมไหน มันก็มองออกว่าใช่ Supreme อย่างแน่นอน
.
จะเห็นได้ว่า เส้นการเดินทางจากจุดเริ่มต้นของ Supreme จนมาถึงบันไดที่เรียกว่าความสำเร็จ ขึ้นแท่นว่าเป็นของมันต้องมี และภาพลักษณ์ที่ดูแพง มันมีที่มาที่ไปหลายด้าน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญกันแบบสุด ๆ ก็คือเรื่องของ Logo และ CI ที่มีความคงเส้น คงวาของแบรนด์ ที่ได้สร้างเอกลักษณ์ เป็นความแตกต่างที่โดดเด่น ไม่แน่นะว่าสิ่งเหล่านี้ อาจเป็นหนึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของ แบรนด์ Supreme ก็เป็นไปได้
ติดตามอ่านบทความสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ และ แบ่งปันทริคง่าย ๆ
ผ่านบทความ การสร้างแบรนด์ ธุรกิจ ดีไซน์ เพิ่มเติมได้ที่ :
โฆษณา