16 มิ.ย. 2020 เวลา 09:30 • ปรัชญา
บทกวีมีชีวิต บทที่1 : คำนินทา
“อันนินทา กาเล เหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำ เหมือนเอามีด มากรีดหิน
แค่องค์พระ ปฏิมา ยังราคิน
คนเดินดิน หรือจะสิ้น คนนินทา”
- บทประพันธ์จากสุนทรภู่ (พระอภัยมณี) -
8
คำนินทาอุปมาเหมือนดั่งน้ำกรดที่จะกัดกร่อนความรู้สึกและจิตใจเมื่อผู้โดนนินทาได้รับรู้ ในชีวิตของคนเราคงไม่มีใครที่ไม่เคยถูกนินทา หลายๆคนไร้ซึ่งหนทางในการรับมือกับคำพูดเหล่านั้น จนเกิดเป็นความเครียดและความทุกข์ขึ้นในจิตใจ
1
แล้วเราจะรับมือกับคำนินทาเหล่านั้นได้อย่างไร???
จากบทกลอนข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าแม้องค์พระที่เป็นเพียงรูปปั้นยังถูก ติฉิน นินทา วิจารณ์ได้ แล้วคนธรรมดาที่มีลมหายใจอย่างเราจะรอดพ้นคำนินทาไปได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ ให้เรามองว่าคำนินทาเหล่านั้นคือคำพูดประเภทหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เราทุกคนต้องพบเจออย่าใส่ใจจนเกินกว่าเหตุ
หลังจากนั้น ให้เราลองนำเอาคำนินทาเหล่านั้นมาพิจารณาว่ามีสาระหรือไม่
[โดยผู้เขียนจะขอนิยาม คำนินทาที่ไม่มีสาระเป็นน้ำกรดและคำนินทาที่มีสาระเป็นน้ำหอม]
น้ำกรด คือ คำนินทาที่ไม่มีสาระ
ถ้าเป็นคำนินทาที่ไม่มีสาระ เป็นคำพูดที่เลื่อนลอย ไม่เป็นความจริง เป็นคำพูดเพียงแค่ความสนุกปากของผู้พูดเปรียบเสมือนเขาได้ยื่นน้ำกรดมาให้เรา คงไม่มีใครที่อยากจะเก็บน้ำกรดที่เต็มไปด้วยอันตราย พร้อมจะกัดกร่อนเราได้ทุกเมื่อไว้กับตัว เพราะฉะนั้นให้เราโยนทิ้งไปเสีย อย่าเก็บไว้ให้ขุ่นข้องหมองใจ คิดเพียงว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นบาปใครทำอะไรไว้เขาก็ย่อมได้รับกรรมจากสิ่งนั้น
น้ำหอม คือ คำนินทาที่มีสาระ
ส่วนคำนินทาที่มีสาระสอดแทรกอยู่ เช่น คำนินทาเกี่ยวกับข้อเสียของตัวเรา ซึ่งเป็นความจริง ให้คิดว่าเขามอบน้ำหอมให้แก่เรา ในจุดนี้เราต้องยอมรับคำนินทาเหล่านั้นแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขข้อเสียตรงจุดนั้นของตัวเราให้ดีขึ้น ไม่ให้เป็นไปตามที่เขาเคยกล่าวไว้ เปรียบเสมือนเราได้นำน้ำหอมที่เขาให้นั้น มาประพรมร่างกายให้เราได้เป็นคนที่มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
โฆษณา