Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SUS Library
•
ติดตาม
17 มิ.ย. 2020 เวลา 02:11 • การศึกษา
เก้าอี้ขาวในห้องแดง
“เก้าอี้ขาวในห้องแดง” เป็นนวนิยายคลาสสิคเล่มหนึ่งที่ยังคงครองใจนักอ่าน ทั้งเนื้อหาและการใช้ภาษาที่ชัดเจนและได้อารมณ์
เก้าอี้ขาวในห้องแดง
นวนิยายเรื่องนี้นำไปสร้างเป็นละครในครั้งแรกเมื่อปี 2527 สาวในยุคเจนเบบี้บูมยังจำตัวบทบาทของนักแสดงและเพลงจากละครโทรทัศน์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ละครเรื่องนี้มีการพูดถึงอีกครั้ง เนื่องจากหนึ่งในผู้สวมบทบาทตัวเอกได้เสียชีวิตลง (คุณศรัณญู วงศ์กระจ่าง ผู้รับบท บูรพา)
เนื้อหาเป็นการเล่าชีวิตของ “ละเวง” บัณฑิตคณะมัณฑนศิลป์ กับเพื่อนสาว “สาวิตรี” และ “บูรพา” จากวัยใสๆ ก้าวสู่ชีวิตการทำงานที่คนรอบตัวมีหลากหลายนอกจากเพื่อนทั้งสองคนแล้ว โลกของ “ละเวง” ยังมีสามหนุ่ม “ตะวันฉาย” “ จิตดี” และ “อินทร”
เวลาอ่านนิยายผู้อ่านทั่วไปนึกถึงบทสรุปหน้าสุดท้ายที่มีข้อความว่า จบบริบูรณ์ บอกว่า “เวลานี้ละเวงคิดว่า ความสุขนั้นเป็นของที่มีจริง ดังที่กำลังได้รับอยู่ในขณะนี้”
แม้ในภาคของการอ่านนวนิยายคือความอิ่มเอมในอารมณ์ แต่ในห้องสมุดยังมีภาคของวิชาการที่ทำให้การอ่านมีความลึกซึ้ง เพราะผ่านการตีความคลี่คลายความสงสัย ให้ความรู้ทั้งเรื่องภาษาและสังคมในยุคนั้น
ด้วยความที่ชื่อเรื่องสะดุดตาและใจ ให้ชวนคิดว่าหมายถึงอะไร ผู้อ่านอย่างเราอาจพอทราบประวัติการศึกษาของผู้เขียนคือคุณสุวรรณี สุคนธา ว่าจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร "เก้าอี้ขาวในห้องแดง" ทำให้จินตนาการถึงศิลปินที่กำลังใช้ฝีแปรงปาดสีลงผืนผ้าใบ แต่ฝั่งวิชาการมีคำตอบให้คนอ่าน ปรับจินตนาการให้จับต้องได้
"เก้าอี้ขาวในห้องแดง” เป็นความคิดและจินตนาการของผู้เขียนที่ลึกซึ้งซับซ้อน โดยนำสัญลักษณ์ที่ตนกำหนดให้เป็นตัวแทนของตัวละครเอก คือ “เก้าอี้ขาว” กับสังคมที่แวดล้อมตัวเอกคือ “ห้องแดง” มาเป็นชื่อเรื่อง ช่วยสื่อนัยให้เห็นถึงแนวความคิดที่ปรากฏในเรื่องชัดเจนขึ้น
“เก้าอี้ขาว” เป็นตัวแทนของละเวง ส่วนห้องแดง เป็นตัวแทนของความสับสนวุ่นวายแก่งแย่งชิงดีกัน ตัวละครของที่เป็นตัวแทนของกลุ่มนี้คือ วิลาศพักตร์ สาวิตรี จิตดี บูรพา การกำหนดให้เก้าอี้ขาวอยู่ในห้องแดง เป็นการใช้เทคนิคการให้สีตัดกันอย่างรุนแรง เป็นการสร้างจินตนภาพที่รุนแรงและชัดเจนในความรู้สึกขงอผู้อ่าน ช่วยเน้นให้ภาพเก้าอี้ขาวแปลกแยกและโดดเด่นจากห้องสีแดง
ส่วนนางเอกของเรื่องละเวงจะเหมือนหรือต่างกับละเวงวัลลา ในเรื่องพระอภัยมณีอย่างไร มีคำตอบให้เช่นกัน
ความรู้ทั้งหมดนี้ได้จากวิทยานิพนธ์ของสุวัฒนา วรรณรังษี ภาษาในวรรณกรรมของสุวรรณี สุคนธา : ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดกับจินตภาพ. หน้า 179-180. อ่านต่อได้ที่นี่
https://bit.ly/30Pz25d
ขอบคุณคลังปัญญาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าทั้งงานวิชาการทั้งมวล
เพลินพิศ เทียรฆราตร ได้ทำปริญญานิพนธ์เรื่อง วิเคราะห์ท่วงทำนองแต่งและกลวิธีการแต่งนวนิยายของ สุวรรณี สุคนธา ไว้เมื่อปี 2525 โดยศึกษาจากนวนิยายของสุวรรณี สุคนธา ที่แต่งตั้งแต่ พ.ศ.2511-2522 จำนวน 21 เรื่อง โดยมีหัวข้อที่ศึกษาคือ ท่วงทำนองการแต่ง (Style) และ กลวิธีการแต่ง (Techniques)
ตัวอย่างท่วงทำนองการแต่ง (Style) ของ เก้าอี้ขาวในห้อง เช่น 1) การใช้คำแสลง เขากำลังอยู่ในอารมณ์อยากพูดเป็นอย่างยิ่ง กำลังมันปากว่างั้นเถอะ 2) คำติดปาก ที่ผู้เขียนใช้บ่อยๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น หนอ ค่า แล อะไร ทำนองนั้น ด้วยว่า นักหนา เช่น ตะวันฉายมองไปทางดอย มักเขียวครึ้มทะมึนในความมืด ตรงไหนหนอที่ละเวงอยู่, จะมีความโศกเศร้าชนาดใดร้ายกาจรุนแรงมากกว่านี้ไหมหนอ ละเวงนึก, บูรพาชำเรืองดูหน้าผู้พูดเวบหนึ่ง เขาให้นึกอยากรู้ไปเสียหมด หล่อนจะโศกเศร้าสักเท่าไหนหนอและใครจะเป็นคนปลอบโยน 3) การใช้คำที่เป็นสื่อสร้างความเข้าใจ แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ คำแสดงภาพ เช่น ละเวงนั่งหันหลังให้ทะเล ลมพัดผมหยิกหยองของหล่อนกระจุยกระจาย คำแสดงอาการ เช่น ตาไปล่มักจะนั่งง่วงหงุบหงับอยู่กับสนามหญ้า และคำแสดงความรู้สึก 4) คำซ้อน แบ่งเป็น คำซ้อนเสียง เช่น สาวิตรีหัวเราะสุ้มเสียงของหล่อนก็มีกังวานและรื่นเริง คำซ้อนสองคู่ เช่น ตะวันฉายอดนึกขันไม่ได้ ท่าทางคุณแม่ตกอกตกใจเอาจริงเอาจังไม่น่าจะเป็นเรื่องเป็นราวถึงเพียงนี้ ฯลฯ
ส่วนกลวิธีการแต่ง (Techniques) ซึ่งคือวิธีการที่นักเขียนแต่ละคนนำมาใช้ในการสร้างงานประพันธ์ของตนให้มีคุณค่าและน่าสนใจมากกว่าการบอกเล่าตามธรรมดา เช่น กลวิธีการเล่าเรื่อง การดำเนินเรื่องและฉาก การสร้างตัวละครและบทสนทนา โดยเก้าอี้ขาวในห้องแดงใช้วิธีให้ผู้แต่งเป็นคนเล่าเรื่อง ใช้การดำเนินเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ มีการใช้การดำเนินเรื่องโดยการสร้างความใคร่รู้เรื่องต่อไป ด้วยการละเหตุการณ์สำคัญบางตอนของเรื่อง เช่น ฉากอินทรผลุนผลันออกจากบ้านด้วยความไม่พอใจ ขับรถออกจากบ้านและรถเสียหลักพิลพคว่ำ ผู้เขียนทิ้งเหตุการณ์ไว้แค่นี้ ส่วนการสร้างตัวละครผู้เขียนนิยมเสนอตัวละครโดยวิธีการแนะให้ผู้อ่านสังเกตลักษระนิสัยจากพฤติกรรม คำพูด หรือสาพความเป็นอยู่ของตัวละครโดยตรง โดยบทสนทนาที่ใช้มีความสมจริงเป็นธรรมชาติและเหมาะสมกับบุคลิกภูมิหลังของตัวละคร
2
การอ่านเรื่องราวในภาคนักวิชาการทำให้ผู้อ่านได้เห็นอีกมุมหนึ่งของนักเขียนที่เราอาจจะพลาดอรรถรส หรือสุนทรียภาพทางภาษา รวมถึงสร้างความเข้าใจว่าเหตุใดงานเขียนจึงได้รับความนิยมอย่างมากในอดีตและปัจจุบันก็ยังคงกล่าวขวัญ เหนืออื่นใดทำให้เรารักสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ของภาษาไทย
ชวนอ่านต่อเล่มจริงค่ะ
เพลินพิศ เทียรฆราตร. (2525). วิเคราะห์ท่วงทำนองแต่งและกลวิธีการแต่งนวนิยายของสุวรรณี สุคนธา = An analysis of Suwannee Sukhontha's style and techniques in novel writing. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. เลขเรียกหนังสือ ว PN3365พ7
สุวรรณี สุคนเที่ยง. (2559). เก้าอี้ขาวในห้องแดง. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร เลขเรียกหนังสือ น ส7ก7 2559
สุวัฒนา วรรณรังษี. (2540). ภาษาในวรรณกรรมของสุวรรณี สุคนธา : ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดกับจินตภาพ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เข้าถึงได้จาก
https://bit.ly/30Pz25d
1 บันทึก
3
2
1
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย