17 มิ.ย. 2020 เวลา 03:31 • ประวัติศาสตร์
…”สาธารณรัฐจีนโบราณ”...
ในยุคราชอาณาจักรจีนโบราณ สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (Western Zhou Dynasty) รัชสมัยของพระเจ้าโจวลี่หวัง (King Li of Zhou : 周厉王) กษัตริย์องค์ที่ 10 ของซีโจว (西周)
มีพระนามเดิมว่า “จีหู (Ji Hu : 姬胡)” ครองราชย์ตั้งแต่ช่วง 877 BC - 841 BC ก่อนคริสตกาล พระองค์เป็นพระราชาที่ใช้ชีวิตเหลวไหล ทรราชผู้ลุ่มหลงสุรานารี ทำให้ในรัชกาลดังกล่าวนี้ บ้านเมืองอ่อนแอเป็นอย่างมาก เกิดความวุ่นวายภายในอาณาจักร ทั้งส่งผลให้บรรดารัฐต่างๆ ทั้งหลายที่อยู่ใต้อาณัติการปกครองของกษัตริย์ต่างไม่มาถวายบรรณาการดังเดิมอีก ท้องพระคลังเริ่มร่อยหรอ ประกอบกับเกิดเหตุทุพภิกขภัยหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ราษฎรต้องอดอยาก มิอาจทำการเกษตรได้มากนัก
เกิดอาเพศในแผ่นดิน แต่พระเจ้าโจวลี่หวังกลับใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย ทั้งยังโลภในทรัพย์ศฤงคารอีกด้วย ปล่อยปละให้ชนชั้นศักดินามัวเมาแต่เรื่องโลกีย์ ไม่นำพาทุกข์สุขชาวบ้าน พระราชามีขุนนางรับใช้คนสนิทผู้หนึ่ง คือ เจ้าพระยาหรงอี๋กง (荣夷公) ด้วยเป็นคนสันดานเดียวกัน ทำให้อ่านใจกันและกันได้ หรงอี๋กงทูลเสนอนโยบายกับพระเจ้าโจวลี่หวังว่า
…’ทรัพยากรที่อยู่ตามแม่น้ำ ป่าเขาลำเนาไพรควรเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ราษฎรทั้งหลายไม่สามารถเข้ามาตัดไม้ จับปลาจับกุ้งใดๆ ได้โดยพลการอีก’...
พระราชาเพลย์บอยผู้ใช้ชีวิตสำราญ มีพระดำริอยากเพิ่มอัตราภาษีแต่ก็ยังหาข้ออ้างไม่ได้ เมื่อได้ยินข้อเสนอแนะนี้ก็พอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงออกราชโองการบังคับใช้เป็นกฎหมายทันที ไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์แซ่จี ขุนนางจูเหา ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ทั้งหมดถ้ายังอยากต้องการใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ กล่าวคือ เข้าไปเก็บสมุนไพร ตัดไม้ทำฟืน ล่าสัตว์ ใช้ถนน หรือแม้แต่จะดื่มน้ำจากแม่น้ำ ต่างต้องเสียภาษีเข้าหลวงทั้งสิ้น
พระเจ้าโจวลี่หวัง กษัตริย์ (อ๋อง) รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์โจวตะวันตก
แต่แล้วก็มีขุนนางชั้นสูงนาม รุ่ยเหลียงฟู (芮良夫) กราบทูลทัดทานลี่อ๋องว่า
…’ทรัพยากรทั้งปวงในพระราชอาณาจักร ควรให้ราษฎรทั้งมวลมีสิทธิ์ใช้ได้อย่างเสรี จะมัวแต่มุ่งกอบโกยผลประโยชน์เข้าสู่คนๆ เดียวได้อย่างไร มีเพียงแต่คนต่ำทรามเช่นหรงอี๋กงเท่านั้นกระมังที่เห็นแต่ผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ตรงหน้านี้ แต่ไม่สำเหนียกหรอกว่าแค่ผลประโยชน์เพียงเท่านี้ก็จะนำภัยร้ายมาสู่บ้านเมือง หากพระองค์ยังยืนกรานตามข้อเสนอให้จงได้ ราชอาณาจักรคงไปไม่รอดแน่ !
เป็นธรรมดาหากคนทั่วไป “ยึดเอาผลประโยชน์มาเป็นของส่วนตน” ย่อมต้องถูกประณามว่าเป็นโจรชั่วช้า
แต่ถ้าพระราชาก็ “มุ่งแต่หวังผลประโยชน์ส่วนองค์เอง” ต่อไปจะไม่มีราษฎรคนใดจงรักภักดีต่อพระองค์อีก หากดึงดันจะใช้วิธีสกปรกของหรงอี๋กงนี้ ในไม่ช้าอาณาจักรโจวต้องเกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่แน่แท้’...
ความจริงนั้นพระเจ้าโจวลี่หวังคิดอยู่แต่เรื่องจะรีดไถยังไงให้ได้มากที่สุด จึงไม่แยแสต่อคำทัดทานของรุ่ยเหลียงฟู ซ้ำยังปูนบำเหน็จหรงอี๋กง จอมกังฉินให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี มีหน้าที่รับผิดชอบการขูดภาษีโดยเฉพาะ
หลังดำเนินนโยบายที่ว่านี้ เท่ากับเป็นการตัดหนทางดำรงชีวิตของผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่ของไพร่ฟ้ายากเข็ญแสนสาหัส ทุกหย่อมหญ้ามีแต่เสียงโอดครวญ ชาวบ้านโกรธแค้นและพากันสาปแช่งกษัตริย์ ทั่วแผ่นดินมีแต่เสียงก่นด่าถึงขนาดที่ว่า เมื่อมิตรสหายพบปะเจอหน้ากันเป็นต้องวิจารณ์นโยบายกักขฬะของราชสำนัก
เจ้าพระยาเจ้ามู่กง (召穆公) ข้าราชสำนักเมื่อเห็นสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ จึงเข้าเฝ้ากราบทูลอ้อนวอนขอให้ยกเลิกกฎหมายป่าเถื่อนเช่นนี้เถิด ลี่อ๋องเมื่อสดับได้ว่ามีแต่คนด่าวิจารณ์ตนก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แทนที่จะสำนึกพระองค์กลับมีรับสั่งถึงกองทหารองครักษ์ ประกาศรับสั่งที่ว่า หากมีผู้ใดกล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและบังอาจสาปแช่ง ลบหลู่พระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์แล้ว ให้ประหารได้ทันทีไม่มีละเว้นใครทั้งนั้น
ราษฎรแม้จะโกรธแค้นสักเพียงไร แต่ก็ยังรักและหวงแหนชีวิตตน ต่อจากนี้ตามพื้นถนนเมื่อผู้คนพบปะกัน จึงทำได้แต่มองหน้าส่งลักษณะขยิบตาให้กันและกัน ไม่กล้าพูดคุยกันแต่ก็แฝงไปถึงความไม่พอใจอยู่เต็มอก ปรากฏการณ์ดังกล่าวพบในหนังสือสื่อจี้ของซือหม่าเชียนที่รจนาไว้ว่า
…’ผู้คนต่างไม่กล้าพูด ทำได้แต่ส่งสายตาถึงกันบนท้องถนน’...
บรรยากาศในพระนครเงียบดั่งป่าช้า พระเจ้าโจวลี่หวังรู้สึกปีติที่ไม่มีใครกล้าหือ ก็เรียกตัวเจ้ามู่กงเข้าเฝ้าแล้วก็กล่าวว่าสามารถปิดปากผู้คน ระงับเสียงวิพากษ์ได้หมดแล้ว แต่เจ้ามู่กงก็ทูลต่อกษัตริย์ว่า
…’การห้ามปากผู้คน ก็เหมือนกั้นสายน้ำมิให้ไหล’...
.....เมื่อปิดกั้นแม่น้ำ พลังมวลน้ำมหาศาลก็ทำลายเขื่อนพังลงได้ การปิดปากราษฎรก็เช่นกัน ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านจัดการน้ำก็ต้องรู้จักขุดลอกสิ่งกีดขวางออก ขณะเดียวกัน ผู้ปรีชาการปกครองแผ่นดินก็ต้องรู้จักให้ราษฎรชี้แจงแถลงไข เมื่อพวกเขาได้เปิดอกเผยความในใจแล้ว ผู้ปกครองก็พินิจพิจารณาว่าเห็นควรด้วยหรือไม่เท่านั้น เพียงเท่านี้ก็คลี่คลายสถานการณ์ให้กลับมาดีปกติได้ การบังคับปิดปากทำให้เขาโกรธแต่ก็ไม่อาจระบายออกได้ นั่นทำให้สถานการณ์เลวร้ายยังยืดเยื้อออกไปอีก.....
ในที่สุด ฟางเส้นสุดท้ายก็ขาดสะบั้นลง ราษฎรต่างทนไม่ไหวกับการขูดรีดเช่นนี้อีกก็รวมกลุ่มเป็นกองกำลังติดอาวุธ พากันบุกพระราชวังหลวงนครเฮ่าจิง คราวนี้แม้แต่กองทหารรักษาพระองค์ก็เข้าร่วมกับพวกก่อจลาจลด้วย เมื่อพระราชาลี่อ๋องเห็นว่าผู้คนลุกฮือต่อต้านก็ลี้ภัยหนีออกจากวังไป ทั้งยังฝากฝังองค์ชายรัชทายาท “จีจิ้ง (姬静 : Ji Jing)” ไว้กับเจ้ามู่กง
สถานการณ์จลาจลเลวร้ายกู่ไม่กลับแล้ว เมื่อหากษัตริย์จอมบงการไม่เจอก็จะไปคิดบัญชีกับรัชทายาทแทน ชาวบ้านพอทราบว่าไท่จื่อซ่อนตัวที่บ้านพักของเจ้ามู่กง ก็ไปล้อมบ้านและบีบคั้นให้ส่งตัวองค์ชายมา เจ้ามู่กงที่ยังภักดีต่อราชวงศ์โจวจำต้องสละบุตรชายของตนเองเพื่อคลี่คลายเรื่องร้ายๆ ลง
วันรุ่งขึ้น เจ้าพระยาเว่ยอู่กง (卫武公) เจ้าผู้ครองรัฐเว่ย เดินทางมายังนครเฮ่าจิง ราชธานีของอาณาจักร เดิมทียกกองทัพต้องการมาปราบเหตุจลาจล แต่เมื่อเห็นชาวบ้านสลายการชุมนุมออกไปแล้ว เขาจึงเดินทางมาที่พระราชวังหลวงทันที ลี่อ๋องหลบหนีไม่กลับเข้าพระนครอีก ส่วนไท่จื่อยังทรงพระเยาว์ การปกครองพระราชอาณาจักรยังต้องดำเนินต่อไม่ขาดสาย
เจ้าพระยาเจ้ามู่กง กับ เจ้าพระยาโจวติ้งกง (周定公) มีความเห็นพ้องกันว่าควรให้เว่ยอู่กงอยู่เมืองหลวง ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินชั่วคราวก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากขุนนางราชสำนักและบรรดาเจ้าผู้ครองรัฐ สถานะของเว่ยอู่กงแท้จริงแล้วแทบไม่ต่างกับกษัตริย์เลย
แต่การบริหารบ้านเมืองในยุคสมัยนี้ คือ ขุนนางทั้งมวลพากันขับเคลื่อนอาณาจักรโดยมีเจ้ามู่กงกับโจวติ้งกงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ และมีเว่ยอู่กง หรือ “ก้งป๋อเหอ (共伯和)” กุมอำนาจสูงสุด เปิดศักราชขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ 841 BC ก่อนคริสตกาล เรียกยุคสมัยดังกล่าวในราชวงศ์โจวนี้ว่า “การบริหารราชการแบบสาธารณรัฐ (Gonghe Regency : 共和)”
อาณาจักรโจวปกครองแบบก้งเหอหรือรูปแบบสาธารณรัฐเป็นเวลา 14 ปี มีหลักการปกครองซื้อใจปวงประชา ให้ผู้คนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น กล่าวคือเพื่อให้สังคมสงบสุข มีการสั่งยกเลิกนโยบายภาษี ‘ทรัพย์สินส่วนพระองค์’ และลดอัตราภาษีตามคำชี้แนะของเจ้ามู่กง
ส่วนทางอดีตกษัตริย์ พระเจ้าโจวลี่หวังหลังหนีออกจากวังแล้วก็ไปพำนักที่เมืองจื้อ ปัจจุบันอยู่แถวจังหวัดหลินเฝิน มณฑลซานซี (Linfen Shanxi : 临汾 山西) และสวรรคตที่นั่นหลังเหตุจลาจล 14 ปี
ทางด้านรัชทายาท องค์ชายจีจิ้งก็เจริญพระชนมพรรษาบรรลุนิติภาวะ เจ้ามู่กงเห็นว่าสมควรถวายพระราชบัลลังก์คืนให้กับว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไปดีกว่า เขาก็นำความทั้งหมดบอกแก่ก้งป๋อเหอและเหล่าขุนนางจูเหาทั้งหมด มติเป็นเอกฉันท์ที่ให้พระราชวงศ์แซ่จีสมควรปกครองอาณาจักรโจวต่อดังเดิม ก้งป๋อเหอนับว่าไม่ใช่วัวลืมตีน เขาสำเหนียกว่าไม่ใช่เชื้อพระวงศ์และมิอาจขัดประสงค์ของข้าราชสำนักได้ จึงยินยอมสละตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแต่โดยดี
ก่อนที่ก้งป๋อเหอจะเดินทางกลับรัฐเว่ยเพื่อปกครองเฉพาะพื้นที่ตนเองนั้น เขาได้เดินทางไปรับไท่จื่อถึงบ้านพักของเจ้ามู่กง ทั้งยังจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้กับพระราชาองค์ใหม่อีกด้วย จีจิ้งจึงได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น “พระเจ้าโจวเซวียนหวัง (King Xuan of Zhou : 周宣王)” กษัตริย์รัชกาลที่ 11 ของโจวตะวันตก มีอีกพระนามที่คนไทยอาจคุ้นเคยนั่นคือ “จิวซวนอ๋อง”
โจวเซวียนอ๋อง เป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคเรืองรองสุดท้ายของอาณาจักรโจวก่อนที่จะแตกแยกเป็นหลายก๊ก แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ก็เพราะพระราชโอรสของจีจิ้งก็คือ “พระเจ้าโจวโยวหวัง” หรือ ‘จิวอิวอ๋อง’ ที่มีพระราชินีคือ “เปาซื่อ” อันเป็นที่มาของเหตุการณ์ “ยิ้มพันตำลึงทอง” อันลือลั่นในประวัติศาสตร์จีนนั่นเอง แล้วราชวงศ์โจวตะวันตกก็ถึงคราวอวสานจากเหตุนี้และเกิดยุคสมัยของ “เลียดก๊ก” ด้วยประการฉะนี้เอง
..
.
หมายเหตุ : นี่คือช่วงไทม์ไลน์ก่อนรัชกาลจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฉิน หรือช่วงก่อนยุค “จักรวรรดิจีน” (Chinese Empire / Chinese Imperial) ดังนั้นฐานันดรของโอรสสวรรค์ จึงเป็นแค่ “กษัตริย์ (King)” หรือพระราชา (อ๋อง / หวาง) เท่านั้น
เทียนจื่อในช่วงเวลานี้ไม่ใช่ ‘ฮ่องเต้’ แต่อย่างใด ผมจึงไม่อาจใช้คำไทยว่า “จักรพรรดิ (Emperor)” ได้
……….
.....”สามารถติดตาม Blockdit เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สิ่งน่าสนใจโดยผม เจมส์เซิ่งจู่ แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน ได้ง่ายๆ
เพียงแค่กดไลก์และฟอลโลว์เพจของผมกันนะครับ”.....
โฆษณา