27 มิ.ย. 2020 เวลา 08:24 • การศึกษา
ตอน...พักตรงนี้..ดีกว่า
ความสุข memory คิดถึงสมาธิแก้ว
โดย ดร.สุรัติยา ธารณปกรณ์
พักตรงนี้....ดีกว่า
“ห้วงเวลาแห่งความสุข..ได้ย้อนคืนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง..เมื่อฉันได้ดูซีดีสมาธิแก้วรุ่นพิเศษ๗ฉันระลึกถึงความสุขภายใน.. ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น..
บรรยากาศที่เรียบง่าย..สงบงดงาม..คณะพระอาจารย์..คณะพี่เลี้ยง..
เพื่อนๆทุกๆท่าน..ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ก่อให้เกิดความประทับใจ..”
ในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์ ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๒๖ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๖
ที่ฉันเข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรมสมาธิแก้ว รุ่นพิเศษ ๗
ณ หมู่บ้านปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
นับเป็นครั้งแรกที่ฉันได้มาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาได้เพียง แต่อ่านจากหนังสือแล้วปฏิบัติเองที่บ้าน ซึ่งก็เป็นเพียงขั้นต้นยังไม่ได้รู้
อะไรที่ต้องรู้อยู่อีกมาก
การศึกษาในทางพระพุทธศาสนานั้นมีความจำเป็นที่เราต้องศึกษา ให้ได้ทั้งปริยัติปฏิบัติจนเกิดผลของการปฏิบัติ คือปฏิเวธตามแบบแผนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ จึงจะยังผลให้เกิดความรู้ความเห็นที่ถูกต้องได้ด้วยตนเองหรือสัมมาทิฏฐิอันเป็นบันไดก้าวแรกที่จะสร้างผล
ให้เกิดความสุขอันไพบูลย์ที่จะนำชีวิตของเราไปสู่ความสุขที่แท้จริง
“สรรพวิชาต่างๆในโลกใบนี้..เราเคยคิดไหมว่า..
ส่วนใหญ่แล้วเราเรียนเรื่องนอกตัวเรา..
จึงทำให้เราไม่รู้จักตนเอง..
..และไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ ณ ที่ใด..”
ส่วนหนึ่งแห่งความประทับใจของฉันคือสถานที่การอบรมที่เรียกว่า ”หมู่บ้านปฏิบัติธรรม”
ก่อนอื่นจะขอเล่าบรรยากาศของหมู่บ้านปฏิบัติธรรม ในช่วงเวลานั้นสักเล็กน้อยสำหรับผู้ที่มาในภายหลังจะได้ทราบความเป็นอยู่ของพวกเรากันได้ดียิ่งขึ้น
ในบริเวณของวัดพระธรรมกายพื้นที่ใหม่๒,๐๐๐ไร่ที่อยู่ริมคลองแอน มีถนนเส้นเล็กๆอยู่เส้นหนึ่งอยู่ในแนวทิศตะวันออกและตะวันตกถนนมีความกว้างพอรถ ๒คัน วิ่งสวนกันได้ สองฝั่งเป็น
คลองที่มีบัวขึ้นอยู่สวยงาม
ฉันชอบเดินเล่นบนถนนเล็กๆสายนี้ในยามอรุณรุ่ง..ขณะที่พระอาทิตย์ดวงโตลอยขึ้นมา..ตรงแนวกลางของถนนเส้นนี้พอดี..ทำให้ได้อารมณ์สบายมาก.. คล้ายใจที่เข้ากลางโดยอาศัย
ดวงอาทิตย์เป็นบริกรรมนิมิต..
พื้นที่ริมฝั่งคลองบัวทั้งสองข้างของถนน..ด้านทิศใต้มีทิวต้นไผ่และต้นไม้ใหญ่นานาชนิด
เรียงล้อลมเล่นอยู่หลังแนวรั้วสีเขียว ฝั่งด้านนี้คือ ที่ตั้งของอาศรมอุบาสิกา
ส่วนริมฝั่งตรงข้ามด้านทิศเหนือ คือ หมู่บ้านปฏิบัติธรรม มีแนวต้นตาลใบดก ลำต้นอวบ
อ้วนดูสมบูรณ์ยิ่งนัก เรียงรายสร้างความร่มรื่นอยู่เป็นระยะๆสลับกับ กอเตยใหญ่ที่มีใบเขียวชอุ่ม ที่พี่เลี้ยงมักนํามาผสมกับเกร็ดการบูร เพื่อทําเป็นเครื่องหอมวางไว้ในห้องปฏิบัติธรรม..ทำให้บรรยากาศหอมสดชื่นชื่นใจ..
จากถนนแนวกลางนี้มีทางเชื่อมเข้ามาสู่หมู่บ้านปฏิบัติธรรมที่ตั้งอยู่ในท่ามกลางสวนที่มีความร่มรื่นสวยงาม บริเวณนี้มีเรือนไทยหลังเล็กๆ ๒ ชั้นของโยมพ่อโยมแม่ของคุณป้าถวิล วัติรางกูล ถวายให้วัดเพื่อไว้ใช้เป็นที่พักของพระ และอุบาสกที่มาบุกเบิกพื้นที่ ๑๙๖ ไร่
ในช่วงต้น..ของการสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม..
น่าแปลก..ทุกครั้งที่ฉันเดินผ่านเข้ามาทางนี้ทีไร..ฉันรู้สึกว่ากําลังเดินกลับมาบ้านทุกครั้งไป..
ต้นไม้ใหญ่น้อยที่นี่ถูกจัดให้เป็นระเบียบสวยงามร่มรี่นมีทั้งไม้พุ่มไม้ดอกเล็กๆต้นไม้ดัดกระถางบัวสีต่างๆ ที่ฉันชอบเอามือวักน้ำเล่นมีต้นไทรใหญ่ให้ร่มเงาที่นั่งพักในสวนโรยกรวดเล็กๆสีขาวไม่ไกล
จากเรือนปฏิบัติธรรมหลังเล็กที่เราเรียกว่า “ห้องอธิศีล”
ส่วนเรือนปฏิบัติธรรมหลังใหญ่มี ๒ หลัง เราเรียกว่า “ห้องอธิจิต” และ “ห้องอธิปัญญา” ซึ่งมีพื้นตัวเรือนลาดเอียงเพื่อการนั่งปฏิบัติธรรมได้สะดวกขึ้นตั้งอยู่ด้านใน ซึ่งใกล้กับส่วนที่พักของ
อุบาสกที่เป็นเรือนใหญ่มี ๒ ชั้น ส่วนของอุบาสิกาเป็นเรือนชั้นเดียวมีอยู่ ๕ หลัง ตั้งอยู่บริเวณ
ใกล้สวนข้างห้องอธิศีล บริเวณทางเข้าด้านหน้า เลียบแนวคลองบัว..
มีเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้น ใช้เป็นห้องทำงานของพระอาจารย์และเจ้าหน้าที่
อยู่เคียงกับโรงอาหารที่เป็นศาลาใหญ่โล่ง๔ด้าน มีรั้วไม้โปร่งเตี้ยๆแนวนอนทาสีเขียวกั้นเป็น
บริเวณรอบโรงอาหาร มีประตูไม้เล็กๆปิดเปิดได้ตรงกลางทั้ง ๔ ด้าน ด้านหนึ่งของโรงอาหาร
ขนานกับคลองบัว ด้านหนึ่งติดกับสนามหญ้ากว้างๆไว้สำหรับออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลุ่ม
ส่วนด้านในเป็นถนนทางเดินที่ไปสู่เรือนพักเรือนปฏิบัติธรรมและห้องนํ้า ถนนทางเดินมักโค้งขึ้น
แนวกลางเพื่อให้น้ำไหลลงไปข้างๆทางเดินได้บริเวณสวนก็มีทางโรยกรวดสีขาว หรือแผ่นหิน
ทางเดินเล็กๆถนนภายในหมู่บ้านฯ จะไม่กว้างมากนักพอเหมาะสำหรับเดินสวนกันสบายสบายหรือพอที่รถขนของคันเล็กๆจะเข้ามาได้เท่านั้น
ฉันชอบ..ที่ตัวเรือนถูกสร้างด้วยวัสดุที่สามารถถอดไปประกอบใหม่และยกย้ายได้..ออกแบบอย่าง
เรียบง่าย..แต่กลับอยู่สบายหน้าเรือนมีชานพักให้นั่ง ประตูทางเข้าใช้บานเลื่อนกระจกใสภายใน
จะเป็นพื้นที่เล็กๆ โล่งสำหรับดักยุง ไม่ให้เข้าสู่ห้องพักโดยตรง บริเวณนี้ใช้หน้าต่างบานเกร็ด
กระจกใส และมุ้งลวดเพื่อระบายอากาศส่วนห้องพักภายในใช้หน้าต่างทึบบานยาวสูงจากพื้นไม่
มาก และเพื่อบังสายตา จึงเปิดไปในทิศทางเดียวกันเนื่องจากเพดานห้องค่อนข้างสูง จึงทำให้มีลมพัดเข้ามาได้สะดวก พื้นของเรือนเป็นไม้แผ่นกว้างเรียบ เงาสะอาดปูเรียงกัน ในเรือนมีห้องน้ำ
เล็กๆอยู่เพียง 1 ห้อง เครื่องเรือนมีเพียงตู้ไม้เก็บผ้าห่มปลอกหมอนปลอก ที่นอนใหม่อยู่ติดผนัง
ส่วนภายในห้องจะว่างโล่ง มีเพียงตู้เก็บอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวเล็กๆวางบริเวณเหนือหัว
นอนวางเป็นระยะๆ ตอนมาหมู่บ้านฯ ครั้งแรกฉันหาห้องน้ำไม่พบ เพราะมีรั้วทาสีเขียวบังอยู่
มีบริเวณค่อนข้างกว้าง(มาก) อากาศถ่ายเทดี ใช้ประโยชน์ทั้งเป็นที่อาบนํ้า, ซักผ้า, ตากผ้าที่สำคัญคือเป็นที่ที่พวกเราใช้รับบุญใหญ่คือบุญขัดวิมานเพื่อลดทิฏฐิมานะ
จากกิจวัตรประจำวันที่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่เวลา๔.๓๐น. ล้างหน้าแปรงฟันอาบนํ้าเพื่อมานั่งสมาธิเวลา๕.๐๐น. ทุกวันและกับทุกกิจกรรมของสมาธิแก้ว สังเกตได้ว่าตนเองมีกำลังกายและกำลังใจที่เพิ่มมากขึ้น พลังที่เกิดขึ้นภายในตนเองและพลังที่ได้จากการอยู่ร่วมกับหมู่คณะฯ......
ไม่รู้ว่าพวกเขาจะรู้ตัวกันไหมหนอ..ว่าทุกท่านเป็นกำลังใจที่สำคัญยิ่งของฉัน....
ที่ทำให้การปฏิบัติธรรมในครั้งนี้..มีความสุขสนุกสนาน..ไม่น่าเชื่อแต่เป็นความจริง..ที่มีกระแส
แห่งความสุขลอยอ้อยอิ่งอยู่ในบรรยากาศของที่นี่..อยู่ตลอดเวลา.
ฉันสัมผัสได้ถึงความพิเศษของสมาธิแก้ว..ว่าไม่ใช่เพียงโครงการอบรมปฏิบัติธรรมทั่วๆไป..
หากเป็นดุจแสงประทีปดวงน้อยๆในโลกกว้างใหญ่ของเรา..ที่ช่วยนำความสว่างมาสู่ดวงใจตามเส้นทางสายกลางหรือ “มัชฌิมาปฏิปทา”
นับได้ว่าเป็นโครงการอบรมที่มีคุณค่าเกินกว่าที่จะประมาณได้เหตุเพราะบังเกิดขึ้นได้ยากเนื่องด้วยการอบรมนั้นจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลัก๔ประการหรือปฏิรูปเทศ๔ อันประกอบด้วย
๑. อาวาสเป็นที่สบาย
๒. อาหารเป็นที่สบาย
๓.บุคคลเป็นที่สบาย
๔.ธรรมะเป็นที่สบาย
ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ มีอยู่ในสมาธิแก้วจึงทำให้ผู้รับการอบรมได้ผลการปฏิบัติธรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว..จุดแสงสว่างแห่งธรรมกลางดวงใจอย่างไม่มีวันลืม..
สถานที่เป็นที่สบาย
อาหารเป็นที่สบาย
บุคคลเป็นที่สบาย
ธรรมะเป็นที่สบาย
ยามใดที่ดวงใจน้อยๆของฉันระลึกถึงบรรยากาศของห้องปฏิบัติธรรมในหมู่บ้านฯ..ใจของฉันก็สัมผัสได้ถึงกระแสความอบอุ่นแห่งธรรมะ..ใจจะนิ่งเย็นมีความสุขช่างเป็นความสุขที่หาได้ง่าย
เหลือเกิน..เพราะเพียงแค่นึกเบาๆก็ได้แล้ว
หยุด..ใน..หยุด
..อานุภาพของการหยุด..นิ่ง..
..ทำให้ฉันทราบว่าจุดเริ่มต้นของความสุขนั้น..
..ต้องเริ่มที่ใจของเราเองก่อน..
คล้ายๆกับปรากฏการณ์ที่หยดน้ำหยดหนึ่ง..
..เมื่อตกลงสู่ผิวนํ้าเรียบนิ่ง..
..จะเกิดระลอกวงคลื่นแผ่ขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ..
..ยิ่งมีพลังมากเท่าไร..
..ก็ยิ่งแผ่ขยายออกไปได้กว้างเท่านั้น..
..เช่นเดียวกับใจที่ยิ่งใสบริสุทธิ์ของเรา..
..ก็จะยิ่งมีอานุภาพปรับปรุงสิ่งต่างๆรอบตัวได้ฉันนั้น..
..นี่ช่างเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่..
..ฉันได้พบความสุขที่เกิดจากความสงบ..
..ดังพุทธวจนะที่ว่า..
นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
“ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ..ไม่มี “
โฆษณา