17 มิ.ย. 2020 เวลา 09:03 • การศึกษา
3 ข้อคิด ทำไมต้องถอดรองเท้าก่อนนำอาหารใส่บาตรพระ
2
เคยสงสัยไหม ? จะใส่บาตรทำไมต้องถอดรองเท้าด้วย ก็พื้นมันเปื้อน มันแฉะ และอีกมากมาย วันไหนลืมถอดก็จะโดนผู้ใหญ่เตือนเป็นประจำ เรามาไขข้อสงสัยให้เกิดความกระจ่างกันดีกว่า
ถ้าไม่ถอดบาปไหมนะ
อันดับแรก เรามาศึกษาก่อนว่า ทำไมพระต้องถอดรองเท้าเดินบิณฑบาต
มีหัวข้อธรรมในเรื่องของการทำทานอยู่ตอนหนึ่งว่า สัตบุรุษ (สัตบุรุษ แปลว่า คนดี มีคุณธรรม ประพฤติอยู่ในศีลในธรรม) ย่อมให้ทานด้วยความเคารพ คือเคารพในวัตถุทานที่ถวาย และเคารพในผู้รับทาน*
1
ดังนั้นพระจึงแสดงความเคารพในวัตถุทานที่ญาติโยมนำมาถวาย ด้วยการถอดรองเท้า และการถอดรองเท้าเพื่อแสดงความเคารพเป็นธรรมเนียมของชาวพุทธ
เมื่อเราเข้าใจดังนี้แล้ว เรามาอ่านข้อคิดกัน
ข้อคิดที่ 1 เป็นธรรมดาเมื่อญาติโยมได้เห็นพระท่านไม่ใส่รองเท้าโยมก็จึงไม่ใส่ตามด้วย เพราะมีความคิดว่า "ถ้าใส่รองเท้าก็จะอยู่สูงกว่าพระ" และตำแหน่งการใส่บาตรก็ไม่ควรอยู่สูงกว่าพระ เช่น พระยืนบนพื้นถนน แต่เราอยู่บนฟุตบาท เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือการแสดงความเคารพในพระสงฆ์ผู้มีศีลมากกว่าเรา
ข้อคิดที่ 2 ถอดรองเท้าแล้วยืนบนรองเท้าได้ไหม
คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะ ถอดแล้วยืนบนรองเท้าก็เท่ากับว่าไม่ได้ถอดอยู่ดี จริงไหม เหมือนจะทำถูกแล้ว แต่กลับผิดอยู่ดี ดังนั้นถอดรองเท้าแล้วต้องยืนบนพื้นนะ
ข้อคิดที่ 3 แล้วถ้าโยมใส่ชุดแบบเต็มยศ เช่น ตำรวจ ทหาร เป็นต้น หรือ ใส่ถุงเท้า เวลาถอดแล้วเหยียบบนพื้นที่มีน้ำแฉะไม่ได้ แล้วต้องถอดรองเท้าไหม
คำตอบคือ ถ้ามาใส่บาตร จะให้มานั่งถอดรองเท้ากลางถนนก็คงไม่เหมาะสม เพราะว่ารองเท้าคอมแบท จะถอดหรือใส่ ก็อยาก และใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นแล้วถ้าเขามีกิริยานอบน้อมเคารพที่จะถวายทาน แล้วไม่ถอดรองเท้าก็พออนุโลมได้
หลวงพี่ขอแนะนำว่าถ้าบางท่านที่มีแผนใส่บาตรทุกวันอยู่แล้ว อาจจะใช้วิธีการใส่รองเท้าที่ถอดสะดวกก่อน เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วจึงใส่รองเท้าที่ถอดยาก แบบนี้ก็ได้
แต่ถ้าฉุกเฉินจริง ๆ ไม่ถอดรองเท้าก็พออนุโลมได้ตามบริบทในขณะนั้น
รองเท้าคอมแบทถอดยากนะ
มีโยมท่านหนึ่งให้ข้อคิดว่า
“ในส่วนตัวผมถ้าประเมินแล้วว่าหากสถานการณ์ที่ถ้าถอดก็พอถอดได้ แต่อาจสร้างความยุ่งยากต่อเนื่องจนใจพลอยพะว้าพะวัง ไม่เป็นกุศลเต็มที่ ก็ไม่ถอดเหมือนกันครับ เช่น บางทีหาจังหวะใส่บาตรตอนเช้าใน กทม. โดยใส่ชุดเตรียมไปทำงานอยู่ด้วย ถ้าถอดรองเท้า ถุงเท้าจะเปื้อนและอาจซึมน้ำที่พื้นถนน (หัวมุมตลาด แถวๆร้านที่ซื้อกับข้าวใส่บาตรน่ะแหละ)  ดูทุลักทุเลเกินเหตุ จะถอดจะใส่รองเท้าถุงเท้ามันวุ่นวายไปหมด เสร็จแล้วต้องไปขึ้นรถไปทำงาน มันจะกังวลในเงื่อนไขนี้เกินไปจนไม่อยากใส่บาตรเอาได้”
สรุปว่าการทำบุญใส่บาตร อยู่ที่จิตใจจริงๆ ถ้าเราให้ทานด้วยความเคารพ ทั้งกาย วาจา และใจ ก็ย่อมมีอานิสงส์มากมาย
ส่วนถ้าไม่สะดวกถอดรองเท้าจริงๆก็ไม่เป็นไรไม่ถึงกับบาป พออนุโลมได้
แต่ถ้าถอดรองเท้าได้ก็ถอดเถอะดีที่สุด
1
โดย พระวรพจน์ ฐิตวจโน
สุดท้ายหลวงพี่ก็มีข้อปฏิบัติในการใส่บาตรมาฝากผู้อ่านทุกท่าน**
นิมนต์พระ
1. นิมนต์พระ
การนิมนต์ ก็ควรใช้คำว่า "นิมนต์ครับ/ค่ะท่าน" แค่นี้พระท่านก็ทราบแล้ว ตอนเป็นพระเคยเดินบิณฑบาตที่ตลาดเขมร โยมนิมนต์ด้วยถ้อยคำอันรื่นหูว่า "ท่านเจ้าประคุณเจ้าคะ นิมนต์เจ้าค่ะ" มีอีกทีนึงโยมใช้คำว่า "นิมนต์เจ้าค่ะ พระอาจารย์"
การนิมนต์พระควรนิมนต์ด้วยความสำรวม และใช้เสียงดังพอประมาณ โยมบางคนเรียกพระด้วยเสียงอันดัง "นิ โมนน!!" การนิมนต์ควรสังเกตอายุของพระด้วย ถ้าอายุน้อยกว่าเราหรือว่าเยอะกว่าไม่มากก็เรียกว่า หลวงพี่ ถ้ามีอายุหน่อยก็เรียก หลวงน้า ถ้าแก่พรรษามากก็เรียก หลวงตา หรือนอกจากนี้ก็อาจจะเรียก หลวงอา, หลวงลุง, หลวงปู่ ฯลฯ แล้วแต่จะลำดับญาติ โยมบางคนคงเขินอายพระ เนื่องจากไม่ค่อยได้ใส่บาตรเท่าไร เวลาพระเดินมาก็ยื่นมือออกมาทำท่ากวักๆ ทำเหมือนพระเป็นรถเมล์ หลังจากนิมนต์พระ ก็เข้าสู่ขั้นตอนถัดไปคือ
จบอาหาร
2. จบ
อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเรื่องจบแล้วนะ การจบ หมายถึง การเอามาทูนไว้ที่หัวแล้วอธิษฐาน การจบ ควรใช้เวลาอธิษฐานแต่พองาม ไม่ต้องอธิษฐานนานจนเกินไป เคยมีโยมนิมนต์ไปรับบาตร ไอเราก็เดินไปเปิดฝาบาตรรอรับ โยมก็จบอยู่ ขอบอกว่านานมากกกกกกก นานจนรู้สึกได้ นานจนอดคิดไม่ได้ว่า "โยมขออะไรเราน้า?"
ถอดรองเท้า ยืนด้วยเท้าเปล่า
3. ถอดรองเท้า ยืนด้วยเท้าเปล่า
เมื่อพระมาถึงให้นั่งลง จะคุกเข่า หรือ นั่งยอง ๆ ก็ได้ (ในเรื่องการถอดรองเท้าก็ได้อธิบายในเบื้องต้นไว้แล้ว)
ใส่บาตร
4. ใส่บาตร
อันนี้ถือเป็นจุดไคลแมกซ์ของการใส่บาตร สิ่งสำคัญที่ทุกคนมองข้ามก็คือ ควรดูว่าของที่นำมาใส่บาตรนั้นเสียรึเปล่า บางคนมีเจตนาอยากทำบุญดี แต่ดันไปซื้อของเสียมาใส่บาตร พระฉันไปเข้าห้องน้ำไป พวกร้านค้าก็จริงๆ บางครั้งเอาของค้างคืนมาขายเอากำไร ไม่สนใจพระเจ้า เห็นแก่ตัว หากินกับพระ ก็ฝากด้วยนะครับ เดี๋ยวทำบุญจะได้บาปเปล่าๆ
นอกจากนี้ ของที่นำมาใส่ถ้าเพิ่งปรุงสุกเสร็จ ควรดูด้วยว่ามันร้อนมากรึเปล่า เคยมีโยมใส่แกงร้อนมากๆๆ บาตรเกือบหล่น ทั้งนี้เพราะบาตรทำจากโลหะ นำความร้อนได้ดี ปริมาณไม่ควรมากจนเกินไป การใส่ก็ควรวางในบาตรด้วยอาการสำรวม โยมผู้หญิงบางคนกลัวโดนพระจัด พอถุงกับข้าวถึงแค่ปากบาตร ก็ปล่อยลงมา ตุ๊บ!! นึกว่ากาลิเลโอกลับชาติมาทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก ขั้นตอนต่อไปคือ
รับพร
5. รับพร
หลังจากใส่บาตรเสร็จ พระสงฆ์ส่วนมากก็จะให้พร เราเป็นญาติโยม ก็ประนมมือรับพรกันตามระเบียบ โดยอาจยืนหรือนั่งยองๆ ก็ได้ ก้มหัวแต่พองาม ถ้าเป็นโยมผู้หญิงก็นั่งให้เรียบร้อย เหมาะสม ระหว่างนี้ก็อุทิศส่วนกุศลให้คนที่รัก คู่กรรมคู่เวรและอื่นๆ ก็ว่ากันไป
แหล่งอ้างอิง
*มนาปทายีสูตร มก. ๓๖/๑๐๐, มจ. ๒๒/๖๙

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา