17 มิ.ย. 2020 เวลา 11:08 • การศึกษา
หนังสือที่ถ้าได้อ่านแล้วจะลืมไม่ลง!
THE EXAMINED LIFE (How We Lose and Find Ourselves)
ใจคนเรายากเย็นเกินไป (และนี่คือเหตุผลว่าทำไม)
สวัสดีเพื่อนๆผู้อ่านทุกคนค่ะ ช่วงนี้ใครที่กำลังรู้สึกเบื่อๆอยู่เชิญมาทางนี้ได้เลยค่ะ วันนี้วาฬน้อยจะมารีวิวและเล่าสรุปหนังสือสนุกๆเล่มนี้ให้ทุกคนกันค่ะ รับรองไม่ผิดหวังแน่ๆ โดยเฉพาะคนที่ชอบเรื่องราวแนวจิตวิทยาค่ะ
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Stephen Grosz นักจิตวิเคราะห์ที่ทำงานกับคนไข้มานานกว่า 25 ปี และยังได้รับการยืนยันความยอดเยี่ยมเป็น Book of the year จาก New York Times อีกด้วยล่ะค่ะ
โดยในหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเคสของคนไข้ที่เขาได้รักษาและให้คำปรึกษามาตลอดชีวิตการทำงานของเขา ผู้เขียนได้เล่าถึงเคสคนไข้และปัญหาทางจิตต่างๆที่เขาได้พบเจอ การหาสาเหตุของอาการป่วยทางจิต และการสรุปทิ้งท้ายให้เราได้คิด สำรวจและตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อที่จะเข้าใจจิตใจของเราเองมากขึ้นค่ะ
เนื้อหาในเล่มแบ่งเป็น 5 บทคือ การเริ่มต้น พูเรื่องไม่จริง ความรัก การเปลี่ยนแปลง และการจากลา
วันนี้จะเริ่มเล่าจากบทแรกชื่อบท การเริ่มต้น มีทั้งหมด 5 เรื่องโดยวันนี้จะขอเล่าเรื่องแรกก่อนนั่นก็คือเรื่อง "เราถูกครอบงำด้วยเรื่องเล่าที่ไม่อาจเล่าได้อย่างไร"
ปีเตอร์ หนึ่งในคนไข้รุ่นแรกๆของ Stephen ปีเตอร์อายุ 27 ปีเป็นวิศวกรโครงสร้าง รูปร่างผอมโย่ง บุคลิกท่าทางคล้ายกับคนเป็นโรคซึมเศร้าคือ ชอบก้มหน้า ห่อไหล่ พูดจาติดๆขัดๆ และไม่ค่อยยอมสบตา
พฤติกรรมที่เป็นปัญหาที่ทำให้เขาต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตก็คือฟฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง เขาพยายามกินยาเกินขนาด ใช้มีดกรีดแขน แทงคอ หน้าอกและแขนตัวเองแต่โชคดีที่มีคนช่วยเหลือได้ทันและนำตัวเขาส่งโรงพยาบาล
ในการรักษาปีเตอร์ได้มาทำจิตบำบัดตามนัดทุกครั้ง มาตรงเวลาและตอบคำถามทุกข้อ แต่ในระหว่างเวลารักษาเขาก็เงียบอยู่นานและเริ่มหายตัวไปเรื่อยๆเหมือนอยากปกป้องตัวเองจากการแซกแทรงจาก Stephen
นอกจากพฤติกรรมการทำร้ายตัวเองแล้วเขายังมีพฤติกรรมอีกหนึ่งอย่างที่เกิดขึ้นหลายๆครั้งคือ คบกับเพื่อนอยู่ดีๆก็ทะเลาะกับพวกเขา แม้แต่ในที่ทำงานเขาก็ทำงานอยู่ดีๆไปเรื่อยๆก็ทะเลาะกับเพื่อนที่ทำงานและหัวหน้าและลาออกจากงาน
และเพียงไม่นานรูปแบบพฤติกรรมนี้ก็เกิดขึ้นกับการบำบัดของเขา เขาเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากแต่เดิมคล้อยตามเป็นล้อเลียน ซึ่งทำให้ Stephen กระอักกระอ่วนใจแบบนั้นอยู่เป็นสัปดาห์ และสัปดาห์ต่อมาปีเตอร์ก็เลิกเข้ารับการบำบัด
และอีกสองเดือนต่อมาก็มีจดหมายส่งมาจากคู่หมั้นของเขาบอกว่าปีเตอร์ฆ่าตัวตายแล้ว Stephen รู้สึกผิดและเศร้าใจมากที่ไม่สามารถรักษาให้เขาเลิกคิดฆ่าตัวตายได้และได้เขียนจดหมายแสดงความเสียใจกับการตายของปีเตอร์ เรื่องนี้ติดอยู่กับความคิดและความรู้สึกของเขามาตลอด
แต่แล้วในอีกหกเดือนต่อมามีเสียงจากเครื่องตอบรับอัตโนมัติเป็นเสียงของปีเตอร์บอกว่าเขายังไม่ตาย และเขาอยากที่จะพบกับ Stephen และในอีกสัปดาห์เขาก็มาพบ Stephen จริงๆ เขาสารภาพว่าเขาเป็นคนเขียนจดหมายแจ้งการตายของตัวเองขึ้นเอง และเขาทราบซึ้งใจมากในความเป็นห่วงของ Stephen และตกลงจะเข้ารับการบำบัดอีกครั้ง พร้อมกับเล่าเรื่องราวในช่วงที่เขาหายไป
ในตอนนั้นพ่อแม่ของเขาก็ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น พวกเขายอมรับว่าในช่วงนั้นพวกเขารับมือกับปีเตอร์ไม่ไหวและมีการใช้ความรุนแรงกับเขาในช่วงที่เขายังเป็นเด็กทารก แม่ของเขาได้แต่พูดขอโทษแต่ปีเตอร์กลับรู้สึกโล่งใจที่ในตอนนี้ได้รู้แล้วว่าตลอดระยะเวลาที่เขามีชีวิตอยู่นั้นจริงๆแล้วเขาหวาดกลัวอะไรบางอย่าง นั่นก็คือการถูกกระทำรุนแรงในวัยเด็ก ซึ่งมีผลกระทบต่อความรู้สึกที่สามารถคงอยู่ได้ตลอดชีวิต
พฤติกรรมที่เป็นปัญหาของปีเตอร์นั้นเขาทำไปเพื่อ “อยากทำให้ผู้อื่นช็อก” ปีเตอร์มีความสุขและผูกติดกับการได้เห็นผู้อื่นยุ่งยากใจและทุกข์ร้อนใจด้วยวิธีรุนแรงจากฝีมือเขา และด้วยความโหดร้ายที่เขาได้รับในวัยเด็กทำให้เขาแสดงพฤติกรรมเหล่านี้
เขาไม่สามารถปล่อยให้ตัวเองรู้สึกอ่อนแอและการพึ่งผู้อื่นเป็นเรื่องอันตรายสำหรับเขา ดังนั้นเขาจะต้องเป็น “ผู้เล่นงานให้ผู้อื่นเจ็บช้ำ ไม่ใช่เด็กน้อยที่ถูกทำร้ายจนเจ็บปวด” แต่ปีเตอร์ก็มีความคิดว่าต้องเล่นงานตัวเองที่เป็นเด็กขี้แยและน่าสมเพชด้วยการทำร้ายตัวเองด้วยเช่นกัน
ในที่สุดปีเตอร์ก็ทำการบำบัดจนอาการดีขึ้นมากจนสามารถหยุดการบำบัดได้
Stephen ได้สรุปเคสนี้ไว้ว่า เราทุกคนพยายามทำความเข้าใจชีวิตของตัวเองด้วยการเล่าเรื่องราวของตัวเองออกมา แต่ปีเตอร์ถูกครอบงำด้วยเรื่องราวที่เขาไม่สามารถเล่าออกมาได้ ดังนั้นพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งที่เขาใช้ในการสื่อสาร ปีเตอร์จึงทำให้ผู้เขียนรู้สึกโกรธ สับสนและตกใจ แบบเดียวกับที่เขาเคยรู้สึกในตอนเด็กนั่นเอง
ชีวิตในวัยเด็กมักจะทิ้งเรื่องราวไว้ให้เรา เรื่องราวที่เราไม่รู้จะเล่าออกมาอย่างไร และเมื่อเราไม่เล่ามันออกมาเรื่องราวก็จะเล่าถึงตัวเราเองผ่านสิ่งต่างๆเช่น ความฝัน อาการทางกายหรือใจ และพฤติกรรมการแสดงออกที่บางครั้งเราก็ไม่เข้าใจในตัวเองเหมือนกัน
จากนี้ไปเราคงต้องทำความเข้าใจชีวิตและตัวเราเองให้มากขึ้นด้วยการพยายามเล่าเรื่องราวของตัวเองออกมาอย่างซื่อสัตย์ พร้อมยอมรับและเข้าใจว่านั่นคือเรื่องราวของเราเหมือนกับที่ปีเตอร์ได้ทำ..
เจอกันใหม่ในตอนหน้าค่ะทุกคน..
ฝากกดไลค์กดแชร์กดติดตาม เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะคะ
โฆษณา