17 มิ.ย. 2020 เวลา 16:53 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ขอเชิญพบกับเฮลิคอปเตอร์ยุคถัดไป เมื่อ Sikorsky-Boeing: SB1-Defiant ทำสถิติการบินด้วยความเร็ว 375 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดยใช้กำลังแค่ไม่ถึง 50% ของกำลังเครื่องยนต์ที่ติดตั้ง (ขนาดว่าเร่งไม่เต็มที่ยังเร็วขนาดนี้) เป้าต่อไปคือไปให้ถึง 465 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 😮👍
SB1-Defiant หนึ่งในตัวเต็งเข้าชิงในการเป็นตัวแทนฝูงบินแบล็คฮอค์วในปัจจุบันของกองทัพบกสหรัฐฯ
เฮลิคอปเตอร์ใบพัดคู่แกนร่วมที่มีใบพัดท้ายดูแปลกตาลำนี้เป็นผลงานพัฒนาร่วมกันของ Sikorsky Aircraft ส่วนงานหนึ่งของบริษัท Lockheed กับบริษัท Boeing ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า X2 Technology™
1
โดย X2 Technology™ นี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างเฮลิคอปเตอร์ยุคใหม่ที่มีทั้งความเร็ว ความคล่องตัว เสถียรภาพในการบิน โดยพัฒนาต่อยอดมาจาก XH-59A prototype
XH-59A prototype คอปเตอร์ใบพัดคู่ร่วมแกนติดเครื่องยนต์เจต สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ ถึง 518 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ก่อนไปต่อขออธิบายก่อนว่าทำไมต้องใบพัดคู่แกนร่วม (Coaxial rotors)
เฮลิคอปเตอร์ทั่วไปที่เราเห็นในปัจจุบันจะประกอบด้วยใบพัดหลักสำหรับสร้างแรงยกให้ตัวเครื่อง ส่วนใบพัดหาง (Tail Rotor) นั้นใช้เพื่อต้านการหมุนของตัวเครื่องที่เกิดขึ้น
หลักการทำงานของเฮลิคอปเตอร์
ถ้าไม่มีใบพัดหางนี้เครื่องก็จะหมุนเป็นลูกข่างกลางอากาศ อย่างเช่นที่เราเห็นในภาพยนตร์เวลาที่ใบพัดหางเสียหายเครื่องจะหมุนควงอย่างไร้การควบคุม
ดังนั้นจึงมีแนวคิดการออกแบบโดยใช้ใบพัดซ้อนหมุนสวนทางกันบนแกนหมุนเดียวกันเพื่อต้านการหมุนของตัวเครื่อง
เปรียบเทียบใบพัดเดี่ยวกับใบพัดคู่
ซึ่งแนวคิดนี้นอกจากไม่ต้องมีใบพัดท้ายแล้ว ใบพัดคู่นี้ยังช่วยสร้างแรงยกได้มากกว่าใบพัดเดี่ยวด้วย ตัวอย่างเครื่องใบพัดคู่ลำใหญ่ขนเยอะก็หนีไม่พ้น CH-47 Chinook
แต่ชีนุกนี้จะแยกแกนหมุนไม่ใช่ Coaxial rotors แต่ก็ยังใช้หลักการเพิ่มแรงยกและต้านการหมุนด้วยใบพัดหลัก 2 ใบ
กลับมาที่ Coaxial rotors เราเพิ่งจะเห็นเฮลิคอปเตอร์แบบนี้ไม่กี่รุ่น ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเมื่อก่อนการออกแบบ Coaxial rotors นั้นมีความซับซ้อนมาก และระบบ Flight Control ยังไม่ก้าวหน้าแบบในปัจจุบัน
Coaxial rotors เฮลิคอปเตอร์เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับ SB1 นั้น Coaxial rotors นี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความล้ำ เราลองมาดูส่วนท้ายเครื่องทำไมต้องมีใบพัดหลังและดูเหมือนจะเป็นใบพัดเครื่องบินเลย
ไม่ใช่แค่ใบพัดท้ายเหมือนเครื่องบินแต่เจ้าปีกท้ายเครื่องนี่ก็ด้วยยังกับปีกเครื่องบินเลย
ดูไปแล้วก็คล้ายกับ Kyūshū J7W1 Shinden เครื่องบินรบของกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
Kyūshū J7W1 Shinden เครื่องบินใบพัดดีไซส์สุดล้ำด้วยใบพัดอยู่ด้านหลังเครื่อง
ซึ่งแน่นอนว่าเขาตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ใบพัดที่เห็นนั้นคือ pusher propeller ทำหน้าที่ช่วยให้เครื่อง SB1 บินได้เร็วขึ้นอีกประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว
ส่วนปีกด้านท้ายนั้นยังมีประโยชน์ในการควบคุมอากาศยานและการบังคับทิศทาง ทำให้สามารถหักเลี้ยวได้อย่างรวดเร็วขณะทำการบินด้วยความเร็วสูงได้
ลองดูในคลิปด้านบนแล้วจะทึ่งในความสามารถในการบินที่นิ่งมาก ๆ โดยเฉพาะการบินควงวนรอบเป้าหมายนี่น่าทึ่งมากครับ (ในคลิปเป็น S-97 RAIDER® เฮลิคอปเตอร์จู่โจมเบาที่ใช้ X2 Technology™ เช่นเดียวกัน)
SB1 นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวเลือกนำเสนอในโครงการ Future Vertical Lift ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในการจัดหาอากาศยานขึ้นลงแนวดิ่งทดแทนเฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอค์วในปัจจุบัน
สรุปรวมฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ SB1
โดยการออกแบบตัวถังเป็นชิ้นเดียวด้วยวัสดุคอมโพสิทที่แข็งแรงและมีน้ำหนักเบา
ส่วนตัวใบพัดหลักนั้นมีระบบลดการสั่นสะเทือน ตัวใบทำจากวัสดุคอมโพสิทเพื่อลดการสั่นสะเทือนเช่นกัน พร้อมใบที่สามารถพับเก็บได้ด้วย
ด้วยขุมกำลังเครื่องยนต์ T55-L-71A ของ Honeywell จำนวน 2 เครื่อง แต่ละเครื่องให้กำลังสูงสุดเกือบ 5,000 แรงม้า โดยเครื่องตระกูล T-55 นี้ก็มีติดตั้งอยู่ในเครื่องชีนุกอยู่แล้ว
ส่งกำลังให้กับเพลาขับของใบพัดหลัก รวมถึงใบพัดหลังโดยผ่านระบบครัชเพื่อตัดการส่งกำลังในกรณีไม่ต้องการใช้ใบพัดหลัง
นั่นทำให้ SB1 นั้นจะมีความเร็ว ระยะทำการ และความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกสูงกว่าเฮลิคอปเตอร์ในปัจจุบันในทุกด้าน
ในส่วนระบบควบคุมการบินนั้นก็เป็นแบบ fly-by-wire ที่แปลงสัญญานควบคุมเป็นสัญญาณดิจิทัลผ่านสายส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ควบคุมในส่วนต่าง ๆ ซึ่งลดความเสี่ยงของการขัดข้องของระบบควบคุมการบินแบบดั้งเดิม
และด้วยระบบ Flight Control อันทันสมัยที่ทำให้นักบินไม่ต้องพะวงกับการควบคุมการบินอันซับซ้อน แค่ป้อนคำสั่งว่าอยากให้เครื่องทำการบินแบบไหน คอยดูผลและปรับแก้การบินหากจำเป็นเท่านั้น
ทั้งนี้ SB1 ยังต้องเจอกับคู่แข่งที่น่ากลัวจาก Bell นั่นก็คือ V-280 Valor ซึ่งใช้เทคโนโลยีรูปแบบเดียวกับ V-22 Osprey
ยอมใจกับคอกพิทของ V-280 Valor ล้ำหลาย
ซึ่งจัดว่าได้เป็นมวยถูกคู่ตามสเปกที่ออกมาสูสีกันมากแม้เทคโนโลยีจะมากันคนละทางเพราะ V-280 เรียกได้ว่าเป็นเครื่องบินใบพัดขึ้นลงแนวดิ่งจะดีกว่า
แต่เท่าที่ดู SB1 มีข้อได้เปรียบตรงที่เวลาทำการบินในโหมดเฮลิคอปเตอร์ (ไม่ใช้ใบพัดหลัง) นั้นสามารถบินได้เงียบมากเลย
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า X2 Technology™ นั้นจะมาเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ในอุตสาหกรรมการบินสำหรับอากาศยานปีกหมุนได้เลยทีเดียว บินเร็ว คล่องตัว และเสถียรภาพในการบินสูง 😉🚁
เพจ Antfield ได้เพิ่มช่องทางให้ติดตามกันในเพจ FB แล้วนะครับ
โดยใน BD จะเน้นบทความ ส่วน FB จะเน้นเป็น Update ข่าวสารและ Pic of the day 😉

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา