18 มิ.ย. 2020 เวลา 08:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ถ้ามนุษย์เป็น omnivore จริง แล้วทำไมการกินเนื้อสัตว์จึงไม่ดีกับสุขภาพ?
เคยสงสัยกันไหมครับว่า ถ้ามนุษย์เป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แล้วทำไมทุกวันนี้เราจึงได้ยินเรื่อยๆว่าการกินไขมันจากสัตว์ กินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดง เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคมะเร็งบางอย่าง และยังเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน แต่การกินผักผลไม้ เป็นการกินที่ดีกับสุขภาพ ถ้าอย่างนั้นไม่ได้แปลว่า มนุษย์เป็นสัตว์กินพืชหรือ?
1
แรกสุดเลยขอสรุปย่อๆเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของสัตว์กันก่อนนะครับ
สัตว์กินเนื้อ ถ้าให้กินผักผลไม้อย่างเดียว เกือบทั้งหมดจะตายในเวลาสั้นๆเพราะระบบทางเดินอาหารไม่ได้ออกแบบมาให้ดึงพลังงานและสารอาหารจากพืชและผลไม้
สัตว์กินพืช ถ้าให้กินเนื้อสัตว์อย่างเดียว เกือบทั้งหมดจะตายในเวลาสั้นๆเพราะระบบทางเดินอาหารไม่ได้ออกแบบมาให้ดึงพลังงานและสารอาหารจากเนื้อสัตว์
omnivore (ออมนิวอร์) เป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ ถ้าจำเป็นจริงๆก็สามารถมีชีวิตได้ด้วยการกินแต่พืช หรือสัตว์ในระยะเวลาสั้นๆได้ (เป็นวันหรือเป็นเดือนขึ้นกับอายุขัยของสัตว์นั้นด้วย) แต่ในระยะยาวอาจจะมีการขาดสารอาหารบางอย่างที่ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงหรือป่วยได้
ในทางชีววิทยา มนุษย์จัดเป็น omnivore ครับ
ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้ามนุษย์เป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งเนื้อสัตว์และพืช แล้วทำไม เราจึงมักได้ยินว่าการกินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดใหญ่ จึงไม่ดีกับสุขภาพ?
ทำไมเนื้อแดงจึงเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด ?
ทำไมเนื้อผ่านกรรมวิธีทั้งหลาย (หมายถึงพวก cured meat) เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก จึงถูกจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ?
ทำไมไขมันสัตว์จึงเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ และเพิ่มการอักเสบในเลือด (ซึ่งนำไปสู่โรคต่างๆมากมาย) ?
ก่อนอื่นเลย ต้องเข้าใจก่อนว่า
เวลาเราจะบอกว่าสัตว์ชนิดไหน มีธรรมชาติเป็นอย่างไรนั้น เราต้องศึกษาสัตว์ในสภาวะธรรมชาติของมันจริงๆ
เช่น เราจะบอกว่าสัตว์นั้นเป็นสัตว์กินพืชหรือกินสัตว์ เราต้องศึกษาสัตว์นั้นในสภาวะธรรมชาติ
จะเข้าใจว่าสภาวะธรรมชาติของสัตว์เป็นอย่างไร เราต้องศึกษาสัตว์นั้นในสภาวะธรรมชาติของมันจริงๆ เช่น เราไม่สามารถศึกษาว่าสัตว์ในสวนสัตว์กินอะไรแล้วสรุปว่านั่นเป็นอาหารธรรมชาติของสัตว์นั้น
เช่นเดียวกัน จะเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์เราต้องไม่ใช้สิ่งแวดล้อมในโลกปัจจุบันเป็นบรรทัดฐาน แต่เราต้องนึกถึงสิ่งแวดล้อมในแบบที่มนุษย์ โฮโม เซเปียนส์ วิวัฒนาการมา
4
เผ่าพันธุ์มนุษย์ของเราที่มีร่างกายแบบนี้ เกิดขึ้นมาบนโลกเมื่อประมาณ 200,000 ปีที่แล้ว (หรืออาจจะนานกว่านั้นตามหลักฐานใหม่ๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังยึดตามเวลา 200,000 ปีไปก่อน)
4
นับตั้งแต่มนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลก เราก็ใช้ชีวิตแบบล่าสัตว์หาของป่ามาตลอด จนเมื่อประมาณ 12,000 ปีที่แล้ว ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้พืชตระกูลหญ้าเติบโตได้ง่ายขึ้น
2
มนุษย์ในหลายพื้นที่ทั่วโลกจึงค้นค่อยๆค้นพบการเพาะปลูกพืชตระกูลหญ้า (พืชตระกูลข้าวทั้งหลาย)
ตามด้วยการเลี้ยงสัตว์ และเราก็ค่อยๆเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการล่าสัตว์หาของป่า มาเป็นวิถีชีวิตแบบชาวไร่ชาวนา
2
จะเข้าใจอาหารของมนุษย์ จึงต้องถามว่า สมัยที่มนุษย์ล่าสัตว์หาของป่านั้น มนุษย์กินอะไร?
เพราะมนุษย์ใช้วิถีชีวิตเช่นนั้นมาเป็นแสนๆปี ร่างกายมนุษย์จึงวิวัฒนาการมาให้เหมาะกับวิถีชีวิตเช่นนั้น
มนุษย์ที่ใช้วิถีชีวิตแบบล่าสัตว์หาของป่านั้น ธรรมชาติมีอะไรให้ ก็กินแบบนั้นครับ
ดังนั้นคนในแต่ละท้องถิ่นจึงกินต่างกันไป คนในบางพื้นที่กินเนื้อสัตว์มาก กินผักผลไม้น้อย เช่น คนในพื้นที่หนาวเย็นจัดๆ คนที่อาศัยอยู่ในขั้วโลกเหนือ
3
คนในบางพื้นที่กินเนื้อสัตว์น้อย แต่พลังงานหลักจะเป็นคาร์โบไฮเดรตที่จากพืชมาก เช่น รากสะสม หัวเผือก หัวมัน ผลไม้
แต่ไม่ว่าจะกินแบบไหน ลักษณะหนึ่งที่เหมือนกันคือ
อาหารทั้งหมดมาจากธรรมชาติโดยตรง คือเป็นอาหารป่าอย่างแท้จริง
ถ้าเป็นพืชก็เป็นพืชป่าที่หาได้ตามฤดูกาล ถ้าเป็นสัตว์ก็เป็นสัตว์ป่าที่หากินตามธรรมชาติ
1
ลักษณะการกินเช่นนี้ ทำให้ความหลากหลายของอาหารที่กินมีสูงมาก ประมาณกันว่าในปีๆหนึ่ง คนล่าสัตว์หาของป่ากินพืชอย่างน้อยๆก็ 200-250 สปีชีส์ (ปัจจุบันเต็มที่ก็ไม่น่าเกิน 20 สปีชีส์ พืชหลายอย่างที่เรากินเป็นญาติสนิทกัน)
1
ความหลากหลายของพืชที่กินนี้ทำให้ได้สารอาหารที่ต่างกันไปมากมาย
ชนิดของใยอาหารก็ต่างกันไปอีกมากมาย
2
ซึ่งความหลากหลายของใยอาหารยังมีผลต่อความหลากหลายของจุลินทรีย์ (ที่เรียกว่า microbiome) ที่มีประโยชน์ในร่างกายด้วย
เพราะจุลินทรีย์แต่ละชนิดก็กินไม่เหมือนกัน ยิ่งมีอาหารหลากหลายก็เพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ร่างกายได้หลากหลาย
3
เมื่อพูดถึงเนื้อสัตว์ซึ่งคนที่ใช้ชีวิตแบบล่าสัตว์หาของป่ากิน
สัตว์ที่มาก (เพราะหากินได้ง่าย) ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์เล็ก เช่น แมลงต่างๆ ปลวก หนอน พังพอน งู กิ้งก่า เม่น หรือสัตว์น้ำต่างๆ โอกาสที่จะได้กินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่จะมีไม่บ่อยนัก ไม่ใช่ของที่จะมีกินทุกวันเพราะการล่าสัตว์ป่าไม่ใช่เรื่องง่าย ใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ในการแกะรอยและตามล่า และยังมีอันตรายสูง (สัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยงแบบปัจจุบัน)
2
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ล่ามาเป็นอาหารได้ ก็เป็นสัตว์ป่าที่หากินเองตามธรรมชาติ คือ
กินหญ้ากินใบไม้ป่าที่หลากหลาย
1
การที่สัตว์ต้องเดินหากิน ต้องวิ่งหนีผู้ล่า ต้องอพยพย้ายถิ่น ก็เหมือนเป็นการออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ไขมันน้อย ต่างไปจากสัตวที่เรากินในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัตว์ที่คัดเลือกพันธุ์มาให้อ้วน เนื้อนุ่ม ได้รับอาหารเสริมเป็น “ธัญพืช” (ซึ่งไม่ใช่อาหารธรรมชาติของสัตว์เหล่านี้ ) เพื่อให้โตเร็ว น้ำหนักดี และไม่ให้เดินมาก (เดี๋ยวผอม)
และด้วยความที่อาหารธรรมชาติ มักจะมีแคลอรี่ต่ำ หากินได้ยาก
ลองนึกถึงการเดินเข้าป่ากับการเดินเข้าซูเปอร์มาร์เกตนะครับ
สมมติว่าเราหลงป่าแล้วหิว คิดว่าจะหาอะไรกินได้ง่ายๆไหมครับ
7
คำตอบคือไม่ และเมื่อเราเจออาหารชนิดหนึ่งที่กินได้แล้ว (ส่วนใหญ่เป็นใบไม้) กว่าจะเดินไปเจอของกินอื่นอีก ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกนาน หรือแม้แต่การขุดรากพืชสะสมต่างๆมากิน เราก็ต้องออกแรงขุด จากนั้นก็ต้องขนกลับไปเผ่าเพื่อนำไปตำ (เพราะกากใยจะเยอะมาก)
1
โดยสรุปในส่วนนี้ จะเห็นว่า อาหารธรรมชาติของมนุษย์มันจะมีลักษณะที่ กินพืชเยอะ (ทั้งใบ ราก ผล เมล็ดถั่วต่างๆ) เพราะหาง่าย ถ้ากินสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์เล็กๆ และกินหลากหลาย สัตว์ใหญ่จะมีให้กินบ้างแต่ไม่บ่อยนัก
หรือพูดสั้นๆว่า อาหารหลักคือ อาหารจากพืช ส่วนสัตว์เป็นอาหารเสริม (ที่จำเป็น)
2
จากที่คุยมาทั้งหมดจะเห็นภาพใหญ่ว่า
แต่ไหนแต่ไรมา มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลก เมื่อพูดถึงปัญหาโภชนาการของมนุษย์ ปัญหาเดียวที่มนุษย์ต้องเผชิญคือ มีอาหารกินไม่พอ อดอยาก ขาดพลังงาน ขาดโปรตีน (แต่ไม่ค่อยขาดวิตามินและ micronutrient ต่างๆ)
แต่เมื่อถึงปัญหาโภชนาการของคนยุคปัจจุบัน ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เผชิญคือ ได้รับแคลอรี่มากเกินไป รวมไปถึงการได้น้ำตาลมากเกินไป ได้ไขมันอิ่มตัวจากสัตว์มากเกินไป เกลือมากเกินไป
3
อย่างไรก็ตาม ในบางวัฒนธรรม ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ซึ่งหาพืชกินยาก เช่น คนที่อาศัยอยู่รอบๆหรือใกล้ๆขั้วโลกเหนือ
คนเหล่านี้หาพืชผักผลไม้กินยาก อาหารจึงมันจะเป็นสัตว์น้ำอย่าง แมวน้ำ นาก ปลาวาฬ (ซึ่งไขมันจะมีโอเมกา 3 สูง) รวมไปถึงกวางคารีบู
2
คำถามคือ แล้วคนเหล่านี้ไม่ขาดวิตามินกับใยอาหารหรือ ?
คำตอบอยู่ที่วัฒนธรรมการกินครับ
ตัวอย่างเช่น ชาวอินูอิท (inuit ชนพื้นเมืองที่แต่ก่อนเราเรียกว่าชาวเอสกิโม แต่คำนี้มันมีความหมายค่อนไปทางลบ เลยไม่นิยมเรียกกันแล้ว) บางชนเผ่า เมื่อล่าสัตว์ใหญ่อย่างกวางคารีบูได้ พวกเขาจะผ่าเปิดกระเพาะของมันก่อน เพราะภายในกระเพาะมักจะมี พืชจำพวกมอส ที่ยังย่อยไม่หมดหลงเหลืออยู่ จากนั้นก็จะแบ่งพืชเหล่านี้ให้กันกิน ก่อนที่จะกินส่วนอื่นๆของสัตว์ต่อไป
หรือพูดง่ายๆคือ ด้วยความที่พืชหากินได้ยาก จึงให้สัตว์เสาะหาพืชก่อนแล้วค่อยกินพืชเหล่านั้นจากกระเพาะอีกที
3
หรือในบางวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยมีผักผลไม้กิน เมื่อล่าสัตว์ใหญ่ได้ ก็จะเปิดท้องแล้วตัดเอาต่อมหมวกไตออกมาก่อน (ซึ่งคนยุคปัจจุบันแทบไม่มีใครกิน) จากนั้นก็หั่นต่อมหมวกไตเป็นชิ้นเล็กๆแล้วแบ่งให้ทุกคนกินแบบสดๆ
4
ซึ่งวัฒนธรรมการกินเช่นนี้ น่าจะเกิดจากการลองผิดลองถูกและพบว่า ถ้ากินต่อมหมวกไตซึ่งมีปริมาณวิตามิน C ที่สูงมาก (โดยไม่ผ่านความร้อน) จะสามารถป้องกับโรคจากการขาดวิตามินซีได้ (โรค scurvy ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้) แต่เมื่อทำกันไปนานๆ คนรุ่นหลังๆ แม้ไม่รู้เหตุผล แต่ก็ทำต่อๆกันไปเพราะเป็นประเพณีที่ทำต่อๆกันมา
1
การกินอาหารในแต่ละวัฒนธรรมยังสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและฤดูกาลที่อาศัยอยู่ด้วย เช่น ถ้าคุณอาศัยอยู่ใกล้ขั้วโลก คุณก็คงไม่อยากกินผักผลไม้เยอะ เพราะการที่ร่างกายจะสู้กับความหนาวเย็นได้ ร่างกายคุณต้องการอาหารที่ให้พลังงานสูงเพื่อมาเผาให้ความร้อน เพื่อให้ร่างกายมีไขมันสะสม ไม่เช่นนั้นก็สู้กับความหนาวเย็นไม่ได้ เป็นต้น
เมื่อเราเข้าใจ ว่าอาหารธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร และ อาหารปัจจุบันต่างจากอาหารที่บรรพบุรุษเรากินอย่างเรา เราก็อาจจะพอสรุปเรื่องทั้งหมดได้ว่า
1 อาหารที่เรากินทุกวันนี้ ต่างไปจากอาหารที่บรรพบุรุษยุคหินของเรามาก
2 อาหารที่บรรพบุรุษเรากิน มีหลากหลาย ต่างกันไปแล้วแต่พื้นที่ บางพื้นที่กินพืชผักมาก บางพื้นที่กินเนื้อสัตว์มาก แต่ไม่ว่าจะกินแบบไหน อาหารทั้งหมดจะมาจากธรรมชาติ ไม่ผ่านการแปรรูป (ทางอุตสาหกรรม) เป็น พืชป่าและสัตว์ป่า (ที่หากินเอง กินหลากหลาย)
3 ปัญหาโภชนาการของมนุษย์ที่มีมาตลอดสองแสนปีคือ มีกินไม่พอ ขาดอาหาร ขาดพลังงาน
4 ปัญหาโภชนาการของคนทุกวันนี้หลักๆคือ ได้รับแคลอรี่มากเกินไป (จากแป้งและน้ำตาล) กินไขมันอิ่มตัวจากสัตว์มากเกินไป กินเนื้อแดงมากเกินไป
5 ดังนั้น เมื่อภาวะปกติของการกินทุกวันนี้คือ กินเกิน การกินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ กากใยสูง จึงดูเป็นอาหารที่ดีกว่าไปโดยปริยาย
6 จริงๆแล้วการกินแต่พืช โดยไม่กินเนื้อสัตว์เลย ถ้าไม่มีความรู้ในโภชนาการ ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดสารอาหารได้ง่ายมาก เช่น ขาดวิตามิน B12 ธาตุเหล็ก สังกะสี แต่เนื่องจากว่าปัจจุบันคนที่กินมังสวิรัติส่วนใหญ่จะรู้ว่าต้องกินให้หลากหลาย เช่น กินผักหลากหลาย ถั่วหลากหลาย และเห็ดหลากหลาย
6
การหากินที่หลากหลายเช่นนี้ทำได้ง่ายเพราะเราหาอาหารจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เกต ทำให้คนกินมังสวิรัติไม่ต้องกลัวปัญหาขาดสารอาหารมากนัก
1
แต่ในธรรมชาติจริงๆ การเดินเข้าป่าแล้ว จะให้เจอเห็ด ธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้ ในเวลาใกล้เคียงและมีกินเป็นประจำ เป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าคือ กินพืชเป็นหลัก และกินสัตว์เล็กสัตว์น้อย แมลง เป็นอาหารเสริม ซึ่งจะทำให้ได้ โปรตีน ไขมันและเกลือแร่ เพียงพอง่ายขึ้น
1
ดังนั้น คำอธิบายว่า ทำไมมนุษย์ซึ่งเป็น omnivore
แต่กินเนื้อสัตว์มากแล้วไม่ดีกับสุขภาพ กินผักผลไม้มากแล้วดีกับสุขภาพ
แบบสรุปคือ
เพราะธรรมชาติของมนุษย์เป็น omnivore ที่กินอาหารหลากหลาย “จากธรรมชาติ” ที่ไม่ผ่านการแปรรูป
ซึ่งอาหารแบบนี้มีแนวโน้มจะให้พลังงานน้อย แต่สารอาหารเยอะ กากใยเยอะ
1
ปัจจุบันการกินเนื้อสัตว์(ที่ไม่ใช่สัตว์ธรรมชาติ)เยอะ เราจะได้พลังงานเยอะ สารอาหารน้อย กากใยน้อย
แต่การกินอาหารมังสวิรัติแบบปัจจุบัน (ที่มีความหลากหลายจากซูเปอร์มาร์เกตเข้ามาช่วย) เราจะได้พลังงานน้อย สารอาหารเยอะ การใยเยอะ
ซึ่งการกินแบบมังสวิรัติจะคล้ายกับอาหารที่มนุษย์กินในธรรมชาติจะมากกว่า
และทั้งหมดนี้ก็คือคำอธิบายคร่าวๆว่าทำไม omnivore อย่างเรา
เมื่อกินเนื้อสัตว์มากๆ จึงมีผลเสียต่อร่างกายได้ครับ
1
ถ้าไม่อยากพลาดเรื่องที่ผมจะโพสต์จะแอดไลน์ Line ไว้เลยก็ได้ครับ
เมื่อผมเขียนบทความ ทำpodcast หรือคลิปวีดีโอ ที่ไหนจะไลน์ไปแจ้งเตือนให้ครับ คลิกที่นี่เลยครับ
add line ID:@Chatchapol
1
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าชอบวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายหรือจิตวิทยาแบบนี้
แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Best seller เรื่องเล่าจากร่างกายและ 500 ล้านปีของความรัก
อ่านบทความแนวประวัติศาสตร์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
โฆษณา