18 มิ.ย. 2020 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
ไทยรบพม่าสมัยพระเพทราชา
ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจว่า นับตั้งแต่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ยกทัพขยายอำนาจไปยังหัวเมืองพม่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ กรุงศรีอยุทธยาไม่ได้ทำสงครามกับพม่าอีกเลยมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งร้อยปี จนกระทั่งเกิดสงครามพระเจ้าอลองพญาใน พ.ศ. ๒๓๐๒ รัชกาลพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวมาจากอิทธิพลของ “พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์นิพนธ์ชิ้นสำคัญของไทย
อย่างไรก็ตาม ความรับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้เสมอตามหลักฐานใหม่ที่ค้นพบ เรื่องสงครามกับพม่าก็เช่นเดียวกัน เพราะปรากฏหลักฐานว่ากรุงศรีอยุทธยาทำสงครามกับอังวะหลายครั้งในช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าว่างเว้นสงครามสงครามไป เป็นสงครามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ๑ ครั้ง และในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ๒ ครั้ง โดยในบทความนี้จะกล่าวเฉพาะสงครามในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
ปาคังทพยุหะ หรือการตั้งทัพเป็นริ้วขบวนรูปปีกกา ภาพจิตรกรรมจากตำราพิชัยสงคราม (พม่า) ยุทธศาสตร์ เลขที่ ๑๙ หมวดตำราภาพ (ที่มาภาพ : https://www.silpa-mag.com/history/article_8039)
สงครามดังกล่าวไม่ปรากฏในหลักฐานของไทย แต่ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารของพม่าคือ “มหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว” (မှန်နန်း မဟာ ရာဇဝင်တော်ကြီ Hmannan Maha Yazawindawgyi) ซึ่งเนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสยามได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” โดย นายต่อ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ สมัยรัชกาลที่ ๕
มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่าเริ่มกล่าวถึงเหตุการณ์ในจุลศักราช ๑๐๕๗ (พ.ศ. ๒๒๓๘) ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุทธยา ระบุว่าว่ามีข้าราชการกรุงศรีอยุทธยานำโดยชื่อ “สารวัตร” (Thalawut) มาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าสีริปวระมหาธรรมราชา (သီရိပရဝ မဟာဓမ္မရာဇာ) แห่งอังวะ ความว่า
“ครั้น ณ วัน ๑ ฯ๑๓ ๖ จุลศักราช ๑๐๕๗ อำมาตย์ของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ชื่อสารวัตรคือพลทหาร ๑๐๐ เศษ กับช้าง ๕ เชือก เข้ามาถวายที่พระเจ้าอังวะ”
สารวัตร ในอดีตสะกดว่า “สารวัด” เป็นตำแหน่งข้าราชการในสมัยโบราณที่มีหน้าที่ตรวจการทั่วไป ปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนและนาทหารหัวเมืองว่ามีอยู่ในหลายกรมกอง
การที่มีข้าราชการและไพร่พลนับร้อยคนแปรพักตร์จากกรุงศรีอยุทธยามาเข้ากับอังวะ อาจเป็นผลของความไม่พอใจต่อการเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระเพทราชาในเวลานั้น ดังที่ปรากฏว่าสมเด็จพระเพทราชาทรงแย่งชิงอำนาจมาจากสมเด็จพระนารายณ์ทำให้ต้องเผชิญกับการก่อกบฏแทบตลอดรัชกาล จึงมีความเป็นไปได้ที่ข้าราชการกลุ่มนี้อาจเป็นหนึ่งในศัตรูทางการเมืองของสมเด็จพระเพทราชาที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปหาที่พึ่งพิงแห่งใหม่
ไม่มีบันทึกว่ามีเหตุใดเกิดขึ้นจนกระทั่งพระเจ้าอังวะเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๒๔๑ พระราชโอรสพระชนมายุ ๒๕ พรรษาขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า “สีริมหาสีหสูระธรรมราชา” (သီရိမဟာ သီဟသူရ ဓမ္မရာဇာ) ในประวัติศาสตร์นิยมออกพระนามว่า พระเจ้าซะเหน่ (စနေမင်း) หรือ “พระเจ้าเสาร์” เพราะพระองค์ประสูติวันเสาร์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" ผู้นิพนธ์ พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า
ใน พ.ศ. ๒๒๔๒ พระเจ้าอังวะองค์ใหม่ทรงมีพระราชโองการให้ยกกองทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยา โดยพบหลักฐานการเตรียมการตั้งแต่ในเดือน ๗ ของปีนั้น ตามที่มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่าระบุว่า
“ครั้น ณ วัน ๑ ฯ๖ ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๖๑ พระเจ้ากรุงอังวะพระองค์ทรงตรัสให้ทำกลองพิไชยฤกษ แลเขียนธงเปนรูปพระนเรศคู่ ๑ เปนธงราชสีห์คู่ ๑ ธง ๒ คู่นี้ทำด้วยยันต์แลเวทมนต์ ที่ทรงทำขึ้นนี้สำหรับไปตีกรุงศรีอยุทธยา”
ธงรูปพระนเรศ เข้าใจว่าคือรูปสมเด็จพระนเรศวร สันนิษฐานว่าที่พม่าทำเช่นนี้อาจเพราะต้องการถือเคล็ดบางอย่างเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยในสงคราม
.
กองทัพอังวะใช้ยุทธศาสตร์คีบหนีบ (pincer movement) โดยส่งกองทัพมาสองเส้นทางให้ยกมาทางเมืองเชียงใหม่และเมืองเมาะตะมะ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์แบบเดียวกับที่หงสาวดีเคยส่งพญาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพสองทางมาตีกรุงศรีอยุทธยาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา และเป็นยุทธศาสตร์ที่อังวะใช้ในสงครามเสียกรุงศรีอยุทธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ แต่ทั้งสองทัพกลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะถูกกองทัพอยุทธยาตีแตกกลับมา
“ครั้น ณ วัน ๓ ๓ฯ ๑๑ จุลศักราช ๑๐๖๑ ครั้นได้มหาพิไชยฤกษ ให้ยกไปทางเมืองเชียงใหม่ไปตีกรุงศรีอยุทธยา พวกชื่อนายทัพนายกองนั้นคือ มางแรนะราสิหพล (မင်းရဲနရာသီဟဗိုလ်) ๑ ไชยจอถิง (ဇေယျကျော်ထင်) ๑ ชอยระสังรัน (ရွှေလသင်္ကြန်) ๑ รันตสูร (ရန္တသူရ) ๑ แล๊ดยาไชยะสู (လက်ျဇေယျသူ) ๑ ไป้สั่งรัน (ပိုက်သံန်ရန်) นายทหารม้ากอง ๑ ใน ๖ กองนี้มีช้างม้าแลพลทหารเปนอันมาก แต่ ๖ กองนี้ให้ไปทางเชียงใหม่
ทางมุตมะนั้นทรงตรัสให้นันทมิตจอถิงพล (နန္ဒမိတ်ကျော်ထင်ဗိုလ်) ๑ นันมิต (နန္ဒမိတ်) ๑ ภยะนันมิต (ဘယနန္ဒမိတ်) ๑ ภยะไชย (ဘယဇေယျ) ๑ ภยะราชสูอามะคำ (ဘယရာဇသူအာမခံ) ๑ แรโยธา (ရဲယောတာ) นายทหารม้ากอง ๑ รวม ๖ ทัพนี้ให้ยกจากเมืองมุตมะในวันที่ ๔ ๒ฯ ๑ ปีนั้น แต่กองทัพที่ยกไปจากเมืองมุตมะนั้น ครั้นถึงตำบลอองสา (အောင်သာရွာ) ก็ได้รบกันกับอยุทธยาก็เสียทีกองทัพอยุทธยาแตกหนีถอยหนีมาที่เมืองมุตมะ
กองทัพ ๖ กองที่ยกไปทางเชียงใหม่นั้น ก็เสียทีแก่อยุทธยาแตกหนีถอยมาเหมือนกัน”
.
หลังจากนั้นเพียง ๒ เดือน พระเจ้าอังวะทรงมีรับสั่งให้ยกกองทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยาอีกครั้ง
“ในปีนั้น ณ วัน ๔ ๕ฯ ๓ มีรับสั่งให้พันธุกาภยะ (ဗန္ဓုကာဘယ) ให้ยกจากเมืองมุตมะไปตีกรุงศรีอยุทธยาอิก (แต่ไม่ปรากฏว่ารบกันอย่างไร)”
สงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างกรุงศรีอยุทธยากับอังวะที่พงศาวดารพม่าบันทึกไว้ก่อนหน้าสงครามพระเจ้าอลองพญา พิจารณาจากการที่กรุงศรีอยุทธยายังดำรงอยู่มาอีกเป็นเวลานานแสดงว่าอังวะไม่ประสบความสำเร็จในสงครามครั้งนี้
มีประเด็นที่ควรวิเคราะห์คือสงครามทั้งสองครั้งเกิดในช่วงเวลาเดียวกับกบฏเมืองนครราชสีมา ที่หลักฐานร่วมสมัยระบุว่าเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๖๘๙ (พ.ศ. ๒๒๔๒) ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๐๐ (พ.ศ. ๒๒๔๓)
เรื่องนี้สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยของดัตช์คือรายงานของ กิเดโยน ตันต์ (Gideon Tant) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ประจำกรุงสยามส่งถึงผู้สำเร็จราชการเมืองปัตตาเวีย ระบุถึงข่าวลือที่เกิดขึ้นเป็นระยะในช่วงที่เกิดกบฏว่าล้านช้าง กัมพูชา และอังวะจะยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยา และมีช่าวลือว่าหลังจากกบฏถูกปราบปรามแล้วมีกบฏที่หลงเหลือบางส่วนหนีไปสมคบกับกษัตริย์แห่งล้านช้าง อังวะ หงสาวดี และเมืองอื่นๆ
การที่อังวะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยาในช่วงกบฏเมืองนครราชสีมาพอดี อาจเพราะต้องการฉวยโอกาสขยายอำนาจในขณะที่อยุทธยากำลังเกิดความวุ่นวาย โดยมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มกบฏหรือกลุ่มข้าราชการในราชสำนักที่วางแผนต่อต้านสมเด็จพระเพทราชาจะสมคบคิดชักนำอังวะให้ยกกองทัพเข้ามาโค่นล้มพระองค์จากราชสมบัติ สันนิษฐานว่ากลุ่มข้าราชการอยุทธยาของ “สารวัตร” ที่มาสวามิภักดิ์ก่อนหน้าอาจมีบทบาทในการให้ข้อมูลกับช่วยประสานงานให้อังวะในสงครามครั้งนี้เช่นเดียวกัน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมียนมาร์ (National Museum of Myanmar) เมืองย่างกุ้ง
สาเหตุที่พระเจ้าอังวะองค์ใหม่ตัดสินพระทัยยกกองทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยา สันนิษฐานว่าเป็นความพยายามที่จะประกาศพระบารมีในฐานะ “จักรพรรดิราช” เพื่อเสริมสร้างพระเกียรติยศในการขึ้นครองราชสมบัติของพระองค์ โดยยึดถือการพิชิตกรุงศรีอยุทธยาของพระเจ้าบุเรงนองผู้ถูกมองว่าเป็นกษัตริย์ในอุดมคติของชาวพม่าเป็นแบบอย่าง ทั้งนี้ปรากฏในหลักฐานของพม่าว่ากษัตริย์พม่าทรงอ้างว่ากรุงศรีอยุทธยาเป็นปริมณฑลอำนาจ (mandala) ของตนมานับตั้งแต่สมัยอาณาจักรหงสาวดีแล้ว จึงมักใช้เหตุนี้เป็นข้ออ้างในการทำสงครามบ่อยครั้ง การกระทำของพระเจ้าอังวะพระองค์นี้นับว่าแตกต่างจากนโยบายของกษัตริย์ราชวงศ์ตองอูยุคฟื้นฟู (Restored Toungoo dynasty) ส่วนใหญ่ที่ไม่นิยมขยายอำนาจข้ามภูมิภาคไปพิชิตกรุงศรีอยุทธยาเหมือนดังสมัยราชวงศ์ตองอูยุคต้น (First Toungoo Dynasty)
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของพระเจ้าอังวะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกองทัพกรุงศรีอยุทธยาสามารถเอาชัยเหนือกองทัพอังวะได้ทั้งหมด (พิจารณาจากเนื้อหาเข้าใจว่าสามารถต้านกองทัพอังวะได้ตั้งแต่หัวเมือง) ทั้งที่ยังติดพันอยู่กับการปราบปรามกบฏเมืองนครราชสีมา แสดงให้เห็นว่าการทหารของกรุงศรีอยุทธยาในเวลานั้นน่าจะยังคงมีประสิทธิภาพสูงพอสมควรเมื่อเทียบกับสงครามพระเจ้าอลองพญาและสงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐
เป็นไปได้ที่การทหารของราชวงศ์ตองอุยุคฟื้นฟูในเวลานั้นจะไม่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากรุงศรีอยุทธยา สันนิษฐานว่าอาจเป็นผลจากการที่ราชสำนักอังวะมีความวุ่นวายทางการเมืองและการแย่งชิงราชสมบัติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อำนาจของกษัตริย์เสื่อมลงนับตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระเจ้าสาลุน (သာလွန်မင်း) เป็นต้นมา เพราะสภาลุตดอ (လွှတ်တော်) หรือสภาปกครองของราชสำนักขึ้นมามีอำนาจจนสามารถแต่งตั้งหรือถอดถอนพระเจ้าแผ่นดินได้ พระเจ้าแผ่นดินส่วนใหญ่อ่อนแอและตกอยู่ใต้อำนาจของขุนนาง
ดินแดนพม่าในช่วงเวลานั้นยังมีความไม่สงบเนื่องจากถูกชาวมณีปุระรุกรานบริเวณชายแดนเป็นประจำ โดยที่ราชสำนักอังวะไม่สามารถปรามปราบได้
อีกประการหนึ่งอาจเป็นเพราะราชวงศ์ตองอุยุคฟื้นฟูไม่ได้มีสงครามขนาดใหญ่กับอาณาจักรอื่นมาเป็นเวลานาน แตกต่างจากกองทัพสมัยต้นราชวงศ์กงบ่องที่ตกอยู่ในภาวะสงครามอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความพร้อมทางการรบ การเกณฑ์ไพร่พล และจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สูงกว่ามาก
บรรณานุกรม
- กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (๒๕๕๑). พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน.
- นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (๒๕๕๐). พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่องลำดับศักราชสมัยกรุงศรีอยุธยา (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ). (ม.ป.ป.). [หนังสือสมุดไทยดำ]. (เลขที่ ๓๐ หมวดจดหมายเหตุ กรุงศรีอยุธยา). เส้นหรดาล. หอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. (๒๕๕๑). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (นายต่อ, ผู้แปล.). กรุงเทพฯ: มติชน.
- สุเนตร ชุติรธรานนท์. (๒๕๔๘). บุเรงนอง (กะยอดินนรธา) กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน.
- หม่องทินอ่อง. (๒๕๕๑). ประวัติศาสตร์พม่า (เพ็ชรี สุมิตร, ผู้แปล.). พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
- Bhawan Ruangsilp. (2007). Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perception of the Thai Kingdom, c 1604-1765, Leiden: Brill.
- Dhiravat na Pompejra. (2002). Dutch and French Evidence Concerning Court Conflicts at the End of King Petracha’s Reign, c 1699-1703. Silpakorn University International Journal, 2(1), 47-70.
- Harvey, G. E. (1925). History of Burma. London: Longmans, Green and Co.
- Phayre, A.P. (1883). History of Burma. London: Trübner.
- Phraison Salarak, Laung (trans). (1911). Intercourse between Burma and Siam as record in Hmannan Maha Yazawindawgyi. Journal of the Siam Society. 8(2), 1-119.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ในเฟซบุ๊คที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา