18 มิ.ย. 2020 เวลา 12:23 • ข่าว
เมื่อฝนตกลงมาเป็นไมโครพลาสติก
อีกหนึ่งงานวิจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงวิกฤติขยะพลาสติกได้ส่งผลกระทบกว้างไกลเกินจินตนาการ งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science สัปดาห์ที่แล้วมีชื่อว่า ฝนตกลงมาเป็นพลาสติกในอุทยานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Plastic rain in protected areas in the U.S.) เปิดเผยข้อมูลที่น่าตื่นตะลึงว่า พบไมโครพลาสติกกว่า 1,000 ตันหรือมีปริมาณเทียบเท่ากับขวดพลาสติก 300 ล้านขวดตกสะสมในอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงอย่าง Grand Canyon Joshua Tree และ Craters of the Moon ทุกปี
ไมโครพลาสติกเหล่านี้เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศได้เหมือนกับฝน หรือหยดน้ำ ส่วนใหญ่เป็นเศษพลาสติกที่แตกย่อยมาจากพลาสติกชิ้นใหญ่ เนื่องจากพลาสติกไม่ย่อยสลายหายไป พลาสติกที่สะสมอยู่ตามหลุมกลบขยะ และตกค้างในสิ่งแวดล้อมจึงแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ และเกิดการแพร่กระจายในแหล่งน้ำ ดิน และชั้นบรรยากาศ
ดร. Janice Brahney อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ต้นน้ำแห่งมหาวิทยาลัยยูท่าห์ นักวิจัยหลักที่ตีพิมพ์งานดังกล่าว เรียกกระบวนดังกล่าวว่า วังวนของพลาสติก “plastic spiraling” และไมโครพลาสติกบางส่วนเคลื่อนที่อยู่ในระบบนิเวศเป็นเวลานาน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามันเดินทางมาไกลขนาดไหน และสะสมอยู่นานเท่าไหร่แล้ว”
คณะวิจัยพบว่า ไมโครพลาสติกแบบเปียกจะเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศที่มีความชื้น ส่วนมากจะได้รับอิทธิพลจากพายุ และถูกพัดพาขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ในขณะที่ ไมโครพลาสติกแบบแห้ง มีรูปแบบการเคลื่อนที่คล้ายกับเม็ดฝุ่นและเคลื่อนที่ได้ระยะไกล บ่อยครั้งเป็นการเดินทางข้ามทวีป
งานวิจัยชิ้นนี้ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหามลภาวะที่เกิดจากพลาสติก เพราะพลาสติกที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้สูญสลายหายไปไหนแต่ยังสะสมอยู่ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันมีการผลิตพลาสติกออกมามากถึง 400 ล้านตันต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แบบก้าวกระโดด
อ้างอิง
งานวิจัย Plastic rain in protected areas of the United States, Science. June 12, 2020
โฆษณา