19 มิ.ย. 2020 เวลา 09:40 • การศึกษา
เมื่อศัตรูของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคือ QE (Liquidity)
ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด19 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกทั้งใบตกอยู่ในสภาวะชะงักงัน โลกของเราเคยเติบโตมหาศาลเพราะการสื่อสารที่ไร้พรมแดนมากขึ้น การเดินทางที่ไร้พรมแดนมากขึ้น การผลิตที่ไร้พรมแดนมากขึ้น และการค้าขายที่ไรพรมแดนมากขึ้น แต่เมื่อเกิดภัยโรคระบาด ความไร้พรมแดนที่โลกเคยใช้ประโยชน์จากมันในการผลักดันการเจริญเติบโตก็กลับหายไป แต่ละประเทศต้องกลับมาพึ่งพิงอาศัยเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ลืมเรื่องการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศไปก่อน ตราบใดที่ภัยโรคระบาดยังคุกคามโลก ตราบนั้นโลกเราไม่มีทางที่จะกลับมาไร้พรมแดนอย่างที่เคยเป็น
.
ขณะนี้ จึงเป็นกระบวนการการปรับตัวของเศรษฐกิจ ที่จะต้องหดตัวลงมาสืบเนื่องจากขนาดของเศรษฐกิจที่เล็กลงเพราะการ De-Globalization ภาคพื้นออฟไลน์
.
เงินในระบบเศรษฐกิจจะต้องถูกจัดสรรใหม่ ท่ามกลางการ De-Globalization ภาคออฟไลน์ที่เล็กลง แต่บนโลกดิจิตอล กลับมีขนาดใหญ่มากขึ้น เติบโตมากขึ้น เงินเองก็ต้องไปอยู่ในที่ที่สามารถสร้างการเจริญเติบโตได้ ส่งผลกระทบกลับมาถึงการเคลื่อนย้ายเงินออกจากอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการส่งออก
.
แม้แต่อุตสาหกรรมการอุปโภคบริโภคก็มีขนาดเล็กลงเช่นกัน เพราะเมื่อเราพึ่งพิงได้เฉพาะเม็ดเงินในประเทศ มันเป็นไปไม่ได้ที่ยอดขายของบริษัทจะกลับมาเป็นเหมือนสมัยที่เรามีนักท่องเที่ยว มีเงินตราต่างประเทศสะพัดเข้ามาในประเทศ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเงินในกระเป๋าของคนในสังคมมีจำกัดมากขึ้น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศก็มีได้จำกัดลงด้วยเช่นกัน
.
เพราะเหตุนี้ เมื่อโลกกำลังถอยจาก Globalization มาเป็น De-Globalization เงินที่หดตัวลงจึงเป็นความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ และความเจ็บปวดนี้สะท้อนมาถึงตลาดเงินตลาดทุนในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
.
ในที่สุด อย่างที่เราทราบกันดีว่าเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะเริ่มที่จะเจ็บปวด รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต่างพากันตบเท้า ดำเนินการฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเพื่อหวังช่วยเติมเต็มปริมาณเงินที่หายไป ซึ่งเงินที่ฉีดเข้ามานั้น ต้องบอกว่าเป็นการฉีดเงินที่ เร็ว และ แรง ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ส่งผลทันทีถึงตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับปัจจัยพื้นฐานที่ยังอยู่ในสภาวะเจ็บหนักเพราะการ De-Globalization และ Social Distancing
.
มาถึงวันนี้ แน่ชัดแล้วว่า ไม่ว่าฟากผู้ดูแลเศรษฐกิจ ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การอัดฉีดเงินเข้ามามหาศาลเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในตลาด โดยเฉพาะหลักทรัพย์ตราสารหนี้ ที่ซื้อตั้งแต่ตราสารหนี้รัฐบาล ไปจนถึงตราสารหนี้ที่เข้าข่ายด้อยคุณภาพ หรือ Junk bond รวมไปถึงการอัดฉีดเงินผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ การแจกเงินของภาครัฐ ทั้งหมดนั้นเร่งกระแสเงินสดให้กลับเข้าไปที่ตลาดการเงิน ส่งผลให้สินทรัพย์เสียงอย่างหุ้นแรลลี่กลับอย่างรวดเร็วแม้เศรษฐกิจจริงยังไม่กลับก็ตาม
.
หากเรากลับมาดูที่เศรษฐกิจจริง เราจะพบว่าบนปัจจัยพื้นฐานวันนี้ เงินไม่สามารถสะพัดได้ดีเท่าเมื่อก่อนอีกแล้วด้วยปัจจัยของโรคระบาดที่จำกัดการเดินทางของมนุษย์มากขึ้น ทำให้สภาพคล่องทางการเงินบนเศรษฐกิจจริงหายไป แต่ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดทุน บนสภาพคล่องที่มีเยอะเพียงพอที่จะทำให้ราคาหุ้นทั้งตลาดปรับราคาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นเล็ก หุ้นใหญ่ หุ้นล้มละลาย ไม่ว่าจะหุ้นไหนๆ คนที่อยู่ในตลาดก็สามารถทำกำไรได้ทั้งสิ้น และความสามารถในการทำกำไรจากตลาดหุ้น ทำให้มีเงินไหลลงสู่เศรษฐกิจจริงได้อีกส่วนหนึ่ง แม้ตัวเลขการตกงานจะเพิ่มขึ้น แต่ตราบใดที่ยังสามารถได้เงินจากตลาดหุ้น ตราบนั้นตัวเลขคนตกงานก็จะไม่เป็นปัญหาใดๆ
.
นอกจากนั้น การที่ราคาของหุ้นขึ้นบนสภาพคล่องที่สูง และรอบการซื้อหุ้นที่ถี่มากขึ้นบนกองทัพ Day Trade ทำให้บริษัทเอกชนที่มีปัญหาเพราะขาดรายได้ในช่วงการระบาดของโควิด สามารถทยอยรินขายหุ้นของตัวเองออกมาได้ในราคาที่ดี บริษัทเอกชนสหรัฐที่ถือหุ้นเต็มมือจากการซื้อหุ้นคืนในช่วงปี 2008 เป็นต้นมา มีหุ้นอยู่อย่างเหลือเฟือที่จะขายเพื่อนำเงินมาค้ำจุนบริษัทในช่วงที่ยากลำบากนี้
.
ดังนั้น เมื่อเราดูกระแสทิศทางเศรษฐกิจ เราจะพบว่า ช่วงเวลานี้ต่างออกไปจากช่วงเวลาปกติโดยสิ้นเชิง ในช่วงเวลาปกติ เศรษฐกิจจริงเป็นเครื่องค้ำจุนตลาดทางการเงิน ราคาหลักทรัพย์ต้องมีมูลค่าของสินทรัพย์จริงอยู่ข้างหลังอย่างสมเหตุสมผลเสมอ เมื่อเศรษฐกิจจริงเติบโต ราคาสินทรัพย์เติบโต มูลค่าบริษัทเติบโต จึงทำให้ราคาหลักทรัพย์ทางการเงินเติบโตตามขึ้นได้ด้วย
.
แต่มาวันนี้กลายเป็นว่า บนการอัดฉีดเงิน เร่งให้ราคาหลักทรัพย์ทางการเงินเติบโต เมื่อราคาเติบโต จึงเกิดการขายหลักทรัพย์เพื่อมาค้ำจุนบริษัทเอกชน และค้ำจุนชีวิตของประชาชนที่ไม่ได้ทำงาน ทำให้เศรษฐกิจจริงยังคงหมุนต่อไปได้ด้วยเงินที่ไหลลงมาจากหลักทรัพย์ทางการเงิน
.
คำถามจึงมีอยู่ว่า การที่ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจที่แท้จริง กับหลักทรัพย์ทางการเงิน เกิดการกลับทิศทางแบบ 180 องศา จะสามารถทำให้เศรษฐกิจข้ามผ่านพ้นการหดตัวทางเศรษฐกิจจริงที่สืบเนื่องจากการ De-Globalization หรือไม่ ??
.
อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ หากใครๆ ก็ทำกำไรบนตลาดหุ้นได้ ทำไมเราจะต้องทำงานหนักเพื่อสร้าง Productivity เพิ่มขึ้น ?? ถ้าหากว่าราคาหุ้นทุกตัวในตลาดสามารถทำกำไรได้ ทำไมนักลงทุนต้องเอาเงินไปสนับสนุนบริษัทที่เติบโต ในเมื่อบริษัทที่ล้มละลายแล้วก็สามารถสร้างผลตอบแทนจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น ??
.
และถ้าหุ้นจะราคาสูงขึ้นเสมอ ทำไมเราต้องเอาเงินไปลงทุนบนเศรษฐกิจจริงเพื่อสร้างอะไรบางอย่างที่มีมูลค่าในอนาคต ทั้งที่เราสามารถเอาเงินไปซื้อหุ้นและได้ผลตอบแทนมาอย่างง่ายๆ ??
.
เมื่อรวมคำถามเข้าทั้งหมด เราจะพบว่า ยิ่งมีการอัดฉีดสภาพคล่องเพื่ออุ้มตลาดมากเท่าไหร่ เศรษฐกิจจริงจะมีแนวโน้มในการเติบโตช้าลงเท่านั้น เพราะเงินทุกสายจะเดินทางตรงสู่ตลาดหุ้น
.
คำถามสุดท้ายคือ ถ้าหากเศรษฐกิจจริงไม่อาจเติบโตได้เพราะเงินไหลเข้าตลาดหุ้นบนการขับดันจากการฉีดเงิน นั่นหมายความว่าธนาคารกลางและรัฐบาลต้องอุ้มเศรษฐกิจไปตราบฟ้าดินสลายใช่หรือไม่ ??
.
และเศรษฐกิจของโลกใบนี้จะสามารถกลับมามีเสถียรภาพได้จริงหรือไม่บนการอุ้มของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ ??
.
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ Macro Investment เพิ่มเติมได้ที่ https://m.facebook.com/blackbox4.0bymei
.
โฆษณา