นี่คือเรื่องราวของ ‘เชาว์พาดี’ (Chhaupadi) ประเพณีการเนรเทศผู้หญิงที่มีประจำเดือนในประเทศเนปาล เพื่อกักกันมลทินและความสกปรกออกไป โดยการขับไล่ผู้หญิงออกไปอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลในกระท่อมเล็กๆ มักถูกเรียกว่า ‘Chauu Goth’ ซึ่งบังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ตามลำพังตลอดช่วงมีรอบเดือน
.
SPECTROSCOPE: ‘Chhaupadi’ - เมื่อมีประจำเดือนแล้วต้องถูกเนรเทศ
.
‘เชาว์พาดี’ มาจากความเชื่อในศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในเนปาล แม้ว่าจะมีการออกกฎหมายแบนการเนรเทศนี้แล้วเมื่อปี 2005 แต่ผู้หญิงที่มีประจำเดือนหลายคนก็ยังถูกขับไล่อยู่ โดยในปี 2019 นั้นมีรายงานพบว่า วัยรุ่นหญิงเนปาลที่มีอายุ 14-19 ปี กว่า 77% ยังต้องเนรเทศตัวเองไปนอนข้างนอกเพราะแรงกดดันจากครอบครัวและค่านิยมทางศาสนา ซึ่งหลายๆ กรณีมักนำไปสู่การเสียชีวิตจากการถูกงูกัด เพราะต้องไปอยู่ในที่รกร้าง หรือโดนไฟคลอกจากการพยายามจุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว
.
"พวกเรากำลังทำงานกับทุกคนตั้งแต่ผู้ชาย ผู้หญิง ไปจนถึงหมอตำแย เพื่อกำจัดวัฒนธรรมเนรเทศผู้หญิงที่มีประจำเดือน แต่สังคมของเราเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ และผู้หญิงหลายคนยังอ่านหนังสือไม่ออก มันเลยยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างได้ แต่การมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่องไม่บริสุทธิ์ มันให้กำเนิดชีวิต ประจำเดือนคือพลังอำนาจในเลือดของผู้หญิง" - ‘Lila Ghale' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและเด็กบอกกับ BBC ว่า มันอาจจะต้องใช้เวลาไปถึงคนอีกรุ่นหนึ่งเลย ประเพณีนี้จึงจะหายไป แต่พวกเธอก็จะพยายามทำงานให้เต็มที่ที่สุด
.
การตีตราประจำเดือนผู้หญิงไม่ได้เกิดขึ้นในเนปาลเท่านั้น แต่ยังมีที่อื่นด้วย เช่น ในประเทศเคนยา ที่ผู้หญิงมีรอบเดือนถูกห้ามเข้าสังคม ห้ามแตะสิ่งของ ห้ามทำอาหาร ห้ามกินอาหารหรือดื่มน้ำเอง ต้องถูกกักขังห่างไกลบนที่อยู่ชั้นเดียวเพื่อไม่ให้อยู่ในที่สูง จิตใจของผู้หญิงหลายๆ คนที่ถูกทำให้บอบช้ำด้วยสิ่งนี้ จนหลายต่อหลายครั้งจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย - “หนูไม่เข้าใจว่าทำไมครูถึงทำกับหนูแบบนี้ ทำไมถึงต้องล้อเลียนและลงโทษหนูอย่างนี้ด้วย แม่คะ หนูขอโทษ” - ข้อความสุดท้ายจากจดหมายของเด็กหญิงชาวอินเดีย ก่อนเธอจะจบชีวิตตัวเองในวัย 12 ปี
.
อีกหนึ่งกรณีที่น่าเศร้า ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เองที่ ‘Shree Sahajanand Girls Institute’ สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในอินเดียซึ่งบริหารโดยกลุ่มศาสนาฮินดู ได้บังคับนักเรียนหญิง 68 คนให้เปลื้องผ้าออกเพื่อตรวจว่ามีประจำเดือนหรือไหม ก่อนเนรเทศพวกเธอไปกักตัวในที่ห่างไกล ไม่ให้แปดเปื้อนผู้คนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
.
แม้แต่ในโลกสมัยใหม่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่คิดว่าอวัยวะเพศผู้หญิงนั้นต่ำกว่า สกปรกกว่า หรือเหม็นกว่า ซึ่งการตีตราผู้หญิงโดยเฉพาะจากความเชื่อทางศาสนานั้นมีหลากหลายมิติ และแน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแต่ในศาสนาฮินดู หากสังเกตการกดทับเรื่องเพศในศาสนาแล้วนั้น ผู้หญิงและคนรักเพศเดียวกัน จะโดนควบคุมหรือลงโทษมากเป็นพิเศษ เพราะคนที่เขียนกฎระเบียบต่างๆ มักมาจาก ‘ผู้ชายผู้มีความคิดกดทับในตัวผู้หญิง’
.