19 มิ.ย. 2020 เวลา 16:40 • ประวัติศาสตร์
"ประวัติทำเนียบเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน"
ความสัมพันธ์ไทยกับเยอรมันนั้นเริ่มก่อนที่จะมีประเทศเยอรมันเสียอีก คือตั้งแต่เยอรมันยังไม่รวมกันในปี ค.ศ.๑๘๗๑ แต่ความสัมพันธ์เกิดขึ้นสมัยปรัสเซียในปี ค.ศ.๑๘๖๒ และเมื่อปี ค.ศ.๑๘๘๗ ไทยเราได้ส่งคณะทูตมาเยือนเยอรมันเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างกัน และได้ตั้ง สอท.อยู่ในหลายที่จนกระทั่งในปี ค.ศ.๑๙๓๙ ทำเนียบที่บนถนน Podbielskiallee เลขที่ ๑ ได้กลายมาเป็นทำเนียบฯ ในปัจจุบัน
ทำเนียบ ออท. ณ กรุงเบอร์ลิน เป็นบ้านหลังหัวมุม หมายเลข ๑ ของถนน Podbielskiallee ด้านซ้ายมือติดถนน และทางขวามือก็เป็นถนน ด้านหน้า บ้านเป็นจตุรัส Platz am Wilden Eber เป็นเหมือนวงเวียน หลังคาสีเทาดำ ตัวบ้านทาสีเหลือง รูปร่างของที่ดินลักษณะเหมือนชายธง มีสนามหญ้าหน้าบ้าน มีเสาธงไทยอยู่ด้านหน้า ด้านหลังมีหน้าชานสำหรับเป็นเทอเลสจัดเลี้ยง ถนนด้านขวามือคือถนน Pacelliallee ส่วนด้านซ้ายมือคือถนน Podbielskiallee
เล่ากันว่าทำเนียบหลังนี้ทางการไทยได้ซื้อมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๓๔ ในสมัยของรัฐบาลนาซีฮิตเลอร์ (หลังที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจเพียงปีเดียว) ซึ่งตอนนั้นไทยเราคือรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านของชาวยิวซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องขายบ้านเพื่อหนีออกนอกประเทศ หลังจากฮิตเลอร์ใช้นโยบายของฮิตเลอร์ในการขจัดคนยิว ที่ไม่ให้ครอบครองบ้านและห้างร้านในเยอรมนี
ทั้งนี้ประเทศไทยได้ส่งพลตรี ประศาสน์ ชูถิ่น มาเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกที่ประจำการอยู่ที่เบอร์ลิน
ต่อมาเยอรมนีได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน ๑ ก.ย.๑๙๓๙ เยอรมนีบุกโปแลนด์ และได้ก่อสงครามมาจนถึง ๗ พ.ค.๑๙๔๔ ซึ่งในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นบริเวณนี้ตกเป็นเป้าหมายการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะบริเวณนี้เป็นที่ตั้งศูนย์วิจัยนิวเครียร์ (ตำบลดาเลม) ทำให้ทำเนียบตกอยู่ในอันตราย ทางการไทยจึงขอให้รัฐบาลของเยอรมนีในสมัยนั้นมาก่อสร้างหลุมหลบภัยภายใต้บ้านหลังนี้ ซึ่งก็ทำให้ท่านทูตประศาสน์กับลูกสาวและครอบครัวได้หลบภัยเวลาโดนทิ้งระเบิด
หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง สหภาพโซเวียตได้จับท่านทูตประศาสน์ไปโซเวียตพร้อมกับนักวิทยาศาสตร์สำคัญๆ ของเยอรมันอีกหลายคน และอาศัยอยู่ที่โซเวียตอยู่หลายเดือนกว่าที่จะได้ปล่อยให้กลับประเทศไทยในเวลาต่อมา (ว่ากันว่าลูกสาวท่านเสียชีวิตที่ทำเนียบในระหว่างสงคราม)
ในระหว่างสงครามโลก ท่าน ออท. ประศาสน์ ท่านไม่ยอมอพยพไปจากทำเนียบแม้ว่าจะได้รับการขอร้องให้ย้ายออกไปอยู่ในที่่ๆ ปลอดภัย ท่านขออยู่กับลูกสาวเนื่องจากลูกสาวท่านป่วยหนักในเวลานั้น และต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตสามารถยึดครองเบอร์ลินได้เมื่อ พ.ค. ปี ค.ศ.๑๙๔๕ ท่านก็ได้จับไปอยู่ที่มอสโคว์ห้วงเวลาหนึ่งหลังสงคราม
ในปี ค.ศ.๑๙๔๖ ทำเนียบหลังนี้ได้อยู่ในความดูแลขององค์การสหประชาชาติ และต่อมารัฐบาลสหพันธ์ฯ ก็ได้คืนบ้านหลังนี้ให้กับประเทศไทย แต่ก็ไทยเราเองก็ยังไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไรปล่อยให้ว่างอยู่ระหว่างยุคสงครรามเย็น
จนกระทั่งปี ระหว่าง ปี ค.ศ.๑๙๗๔-๑๙๘๓ ทำเนียบได้ถูกใช้เป็นโรงพยาบาล และหลังจากนั้นก็ได้ทำนุบำรุงปรับปรุงให้เป็นกงสุลทั่วไปประจำกรุงเบอร์ลิน และเมื่อเยอรมันรวมประเทศกันเมื่อ ปี ค.ศ.๑๙๙๐ บ้านหลังนี้จึงได้กลายเป็นทำเนียบของเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลินจนถึงปัจจุบัน
โฆษณา