20 มิ.ย. 2020 เวลา 13:30
รัชกาลที่ 4 ทรงแจก "น้ำแข็ง" ให้ชาววังได้ลองชิม ในยุคที่ชาวสยามเริ่มรู้จักน้ำแข็ง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยโบราณเมื่อพันปีมาแล้ว มีการใช้ประโยชน์จากน้ำแข็ง โดยมนุษย์ทำการตัดน้ำแข็งนำมาแช่อาหารเพื่อยืดอายุให้ได้นานกว่าเดิม ชาวกรีกและชาวโรมัน เรียนรู้การนำหิมะมาอัดให้แน่นและหุ้มฉนวนที่ทำจากหญ้า ดิน และมูลสัตว์
ชาวอียิปต์และเอสโทเนียนส์รู้จักการทำน้ำแข็ง โดยมีวิธีใช้น้ำใส่ภาชนะ นำไปวางไว้กลางแจ้งในคืนที่อากาศเย็นและท้องฟ้าแจ่มใส จากนั้นน้ำในภาชนะจะคายความร้อนจนอุณหภูมิน้ำต่ำลงถึงจุดเยือกแข็ง
ในคริสต์ศักราช 1806 ชาวอเมริกันชื่อเฟรดเดอริกทิวดอร์ [Frederic Tudor] ตัดน้ำแข็งบรรทุกลงเรือแล่นออกไป มุ่งไปขายแก่กลุ่มประเทศในเขตร้อนแถบคาริบเบียน เขาได้บรรทุกน้ำแข็งกว่าร้อยตันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่งขายไปยังหมู่เกาะต่างๆ แต่น้ำแข็งเหล่านั้นได้ละลายระหว่างเดินทางจนหมด
Frederic Tudor
ภายหลังจึงค้นพบวิธีกักเก็บความเย็นโดยการใช้ขี้เลื่อยหุ้มเป็นฉนวนรอบก้อนน้ำแข็ง ทำให้น้ำแข็งคงทนอยู่ได้นานขึ้น
ในระหว่างที่เขาส่งน้ำแข็งไปยังเมืองต่าง ๆ ต่อมา Tudor ได้ตัดน้ำแข็งออกเป็นปอนด์ และหุ้มด้วยขี้เลื่อย เพื่อสะดวกในการส่ง และส่งน้ำแข็งไปทั่วโลก ไม่เฉพาะในอินเดียตะวันตกเท่านั้น แต่เขายังส่งไปขายยังอเมริกาใต้ เปอร์เซีย และอินเดียตะวันออกด้วย ในปี 1849 เขาสามารถส่งน้ำแข็งไปขายรวมถึง 150,000 ตัน น้ำแข็งของ Tudor จึงเป็นจุดเริ่มแรกของวงการธุรกิจทำความเย็น
John B. Gorrie
ต่อมาในปี ค.ศ. 1851 ดร. จอห์น กอรี่ [John B. Gorrie] ได้มีการจดทะเบียนเครื่องทำน้ำแข็ง โดยมีการใช้อากาศเป็นสารทำความเย็น แต่ก็ประสบปัญหามากมาย และที่อุณหภูมิสูงยังได้เกิดระเบิดอีกด้วย ศาสตราจารย์ เอซี ทวินนิ่ง [Alexander Catlin Twining] ชาวอเมริกัน ได้มีการปรับปรุงโดยใช้ซัลฟูริกอีเทอร์ และประสบความสำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1853 โดย ดร. เจม ฮาริสัน[James Harrison] ชาวออสเตรเลียเมื่อปี 1860 ได้ติดตั้งเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ที่สุดเป็นเครื่องแรกของโลก
Alexander Catlin Twining
_________________ ตัดภาพมา ณ ประเทศสยาม
ประเทศสยาม
ชาวต่างชาติผู้หนึ่งมีชื่อว่า เฟรดเดอริก อาร์เธอร์ นีล [Frederick Arthur Neale] ซึ่งเดินทางเข้ามาในสยามช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ได้บันทึกถึงการทำน้ำให้เย็น โดยเฉพาะจำพวกน้ำเมาอย่างแชมเปญ เขาบันทึกถึงเรื่องนี้ ขณะที่ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ วิธีทำให้น้ำเย็นนี้ ใช้วิธีเดียวกับที่ทำในอินเดีย ตามที่นีลบันทึกไว้ว่า
“…เมื่อวันคริสตมาสในปี ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) ท่านเจ้าฟ้าเชิญชาวยุโรปที่พำนักอยู่ในบางกอกทั้งหมดเข้าไปเลี้ยงในวัง… เครื่องดื่มสุราที่นำมาเลี้ยงกันในวันนั้น (มีอยู่อย่างหนึ่งเป็นเหล้าที่หาได้ยาก นอกจากในห้องรับประทานอาหารของค่ายทหารบางแห่งในอินเดียเท่านั้น) ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นเหล้าชนิดนี้ในบางกอกมาก่อน… พอถึงบ่ายโมงเราก็มีงานเลี้ยงอาหารกลางวัน… ในระหว่างนั้นก็ดื่มแชมเปญกัน ถึงจะไม่เย็นเป็นน้ำแข็ง แต่ก็เย็นน้อย ๆ ด้วยการใช้วิธีอย่างที่ทำในอินเดีย คือเอาขวดตั้งไว้ในดินประสิว เกลือ และน้ำ…“
ดินประสิวจะช่วยทำให้อุณหภูมิของน้ำลดต่ำลง ส่วนเกลือจะช่วยลดจุดเยือกแข็งของน้ำ ดังนั้น ขวดแชมเปญที่นำไปแช่ในน้ำจึงเย็น แต่ไม่ถึงขั้นจับตัวเป็นน้ำแข็ง
น้ำแข็งเข้ามาในสยาม ราวๆ สมัยรัชกาลที่ 4 โดยนำมาจากประเทศสิงคโปร์โดยอาศัยเรือกลไฟที่มีชื่อว่า “เจ้าพระยา” ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 วัน ต่อ 1 เที่ยว ผู้ส่งจะนำแท่งน้ำแข็งใส่หีบ กลบด้วยขี้เลื่อยรักษาความเย็นไว้ ส่งเข้ามาถวายอยู่ประจำ น้ำแข็งเมื่ออยู่ในอุณหภูมิปกติได้ไม่นานก็จะละลาย วิธีการขนส่งน้ำแข็งไม่ให้ละลาย คือการนำน้ำแข็งใส่ถังกลบด้วยขี้เลื่อยเพื่อช่วยรักษาความเย็นไว้ให้นานเท่าที่จะทำได้แบบที่ Tudor ใช้
1
ดังเช่น กงสุลไทยในสิงคโปร์ส่งน้ำแข็งลงหีบไม้ฉำฉาส่งมาถวาย พอถึงกรุงเทพฯ น้ำแข็งก้อนใหญ่ ๆ ก็มีขนาดเหลือเพียงเท่าชามอ่างขนาดกลาง น้ำแข็งจึงเป็นของหายากและมีราคาแพงมาก คนที่มีสิทธิ์ได้ชิมรสชาติเย็นชื่นใจของน้ำแข็ง เป็นระดับเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ หรือข้าราชการระดับสูงเท่านั้น
ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้แจกจ่ายแก่เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงปั้นนำแข็งใส่พระโอษฐ์เจ้านายเล็ก ๆ ให้ทรงอมเล่น
ต่อมาในสมัย รัชกาลที่ 5 ทรงนำเครื่องทำไอศกรีมขนาดเล็กเข้ามาหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสสิงคโปร์ พ.ศ. 2414
2
พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร)
ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ.2427 เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งในเมืองไทยโดยลงโฆษณาจำหน่ายหลายแห่ง เช่น ห้างของกำปะนีบริเวณห้างหลังโรงสีไฟ ห้างมากวาล แอนด์โก (ย่านยานนาวา) บ้านหม้อ ที่เสาชิงช้า หรือที่วัดเกาะ (สัมพันธวงศ์) ราคาขายปอนด์ละ 3 อัฐ แต่เป็นของต่างชาติในช่วงแรก
ชาวสยามที่นำน้ำแข็งเข้ามาจัดจำหน่าย คือ พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ได้ตั้งโรงน้ำแข็งขึ้นมาชื่อว่า “น้ำแข็งสยาม” ที่สะพานเหล็กล่าง ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “โรงน้ำแข็งนายเลิศ” แต่ก็ยังไม่ค่อยมีใครกล้ากินนัก เพราะชาวบ้านไม่เชื่อกันว่าน้ำนั้นจะสามารถแข็งตัวได้
และในปี พ.ศ. 2432 หนังสือพิมพ์สยามเมอร์แคนไทล์ลงโฆษณาว่า มีน้ำแข็งขายในสยามทุกวัน ไม่ระบุว่าผลิตเองหรือนำน้ำแข็งเข้ามา โดยในงานเขียนของ อาจารย์ เอนก นาวิกมูล ได้วิเคราะห์ว่า ในช่วงนั้นน่าจะผลิตและขายในสยามได้เองแล้ว เพราะมิเช่นนั้น คงไม่สามารถผลิตขายวันต่อวันได้
1
มีการโฆษณาน้ำแข็งว่า
2
“จะซื้อตั๋วสำหรับจะไปเบิกน้ำแข็งที่ออฟฟิศผู้มีชื่อข้างท้ายหนังสือแห่งหนึ่งก็ได้ แลจะไปซื้อที่ซึ่งทำน้ำแข็งนั้น แห่งหนึ่งก็ได้ ทั้งน้ำแข็งและตั๋วสำหรับเบิกน้ำแข็งนั้น ต้องใช้เงินสดจึงซื้อได้”
เมื่อน้ำแข็งเริ่มเข้าถึงบุคคลทั่วไป เมนูที่นิยมที่สุด จะเป็นการเอาน้ำแข็งมาทำให้เป็นเกล็ดและนำมามาอัดเป็นแท่งเสียบไม้แล้วราดด้วยน้ำหวาน เป็นที่ถูกใจคนไทยสมัยนั้น ช่วยคลายร้อนได้ดี
ส่วนน้ำแข็งไส แรกเริ่มขายเป็นถ้วย คือใส่น้ำลงไปค่อนถ้วยแก้ว เติมน้ำเชื่อมลงไปพอให้มีรสหวาน แล้วต่อยน้ำแข็งจากก้อนใหญ่ใส่ลงไปในแก้วนั้นก้อนหนึ่ง มีขนาดโตกว่าหัวแม่มือเล็กน้อย ขณะดื่ม เมื่อปากถูกน้ำแข็ง ก็รู้สึกเย็นๆ เท่านั้น ถ้าไม่ถูกก้อนน้ำแข็งก็เหมือนดื่มน้ำตามธรรมดา แต่มีเพียงรสหวานๆเท่านั้น
**ต่อยน้ำแข็ง ทำให้น้ำแข็งบิ่นหลุดออกเป็นชิ้นขนาดเล็กลง
**ทุบน้ำแข็งคือ ทุบให้ป่นแตกละเอียด
ภายหลังเจริญขึ้น น้ำแข็งหาได้ง่ายขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นราดน้ำบนก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ ให้น้ำไหลลงมาที่ก๊อก แล้วรองรับไว้ พร้อมเทกลับราดไปบนก้อนน้ำแข็งอีก ทำอย่างนี้กลับไปกลับมาหลายๆครั้ง จนกระทั่งเห็นว่าน้ำมีลักษณะเย็นมากรอกใส่แก้วเติมน้ำเชื่อม ในที่สุด ก็เปลี่ยนมาใช้กบไส (เรียกกันว่าหวานเย็น) ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
โฆษณา