20 มิ.ย. 2020 เวลา 10:30 • ประวัติศาสตร์
เถลิงราชย์พระนั่งเกล้า
กรณีการสืบราชสมบัติหลังจากรัชกาลที่ ๒ เสด็จสวรรคต ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ขึ้นครองราชสมบัติก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นกรณีหนึ่งที่น่าศึกษา เพราะไม่ใช่การสืบราชสมบัติโดยปกติ แต่มีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก
พิจารณาตามศักดิ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวควรจะได้เสวยราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ ๒ เพราะแม้ว่าจะทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอที่มีพระชนม์น้อยกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระราชชนนีคือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) ในรัชกาลที่ ๑ เป็นพระอรรคชายาซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงยกย่องสูงเหนือกว่าพระภรรยาเจ้าทั้งปวง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีศักดิ์เป็น "เจ้าฟ้า" แต่แรกประสูติ ทรงเป็น "อุภโตสุชาติ" คือมีพระชาติกำเนิดดีทั้งจากฝั่งพระราชบิดาและพระมารดา คือเป็นพระราชวงศ์ทั้งสองพระองค์
ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่มีพระมารดาเป็นเพียงเจ้าจอมมารดาที่เป็นสามัญชน พระองค์จึงมีศักดิ์เป็นเพียง "พระองค์เจ้า"
หลักฐานส่วนใหญ่มักอธิบายว่า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงอาวุโสมากกว่า ชนทั้งหลายจึงร่วมกันอัญเชิญให้ครองราชสมบัติก่อน
แต่เหตุที่รัชกาลที่ ๓ ได้ราชสมบัติอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งจะขออธิบายดังต่อไปนี้ครับ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทับ” ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ประสูติด้วยเจ้าจอมมารดาเรียม ธิดาของพระยานนทบุรี (จัน) เมื่อพระราชบิดาเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าทับเป็นเจ้าต่างกรมที่ “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” โปรดให้ว่าราชการเป็นสิทธิขาดในกรมท่าและกรมพระคลังมหาสมบัติ
ด้วยเหตุที่ทรงว่าราชการกรมท่า ซึ่งดูแลราชการต่างประเทศของแผ่นดิน จึงทรงแต่งสำเภาหลวงบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายที่เมืองจีนโดยตลอด สามารถหาพระราชทรัพย์เข้าท้องพระคลังเพื่อใช้ในการแผ่นดินได้จำนวนมาก จนพระราชบิดาออกพระนามพระองค์ว่า "เจ้าสัว" ดังที่บุรพภาคพระธรรมเทศนา เฉลิมพระเกียรดิพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไว้ว่า
"พระองค์ได้ทรงรับราชกิจน้อยใหญ่ ให้สำเร็จไปเปนอันมากมิได้เว้นว่าง ในราชการซึ่งเปนการประจำนั้นพระองค์ทรงบังคับบัญชาราชการในกรมท่าสิทธิ์ขาดทั่วไป แต่ในขณะนั้นราชการกรมท่าหาสู้จะมีคนต่างประเทศไปมาค้าขายมากนักไม่ ด้วยมิได้มีหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งจะเปนเหตุให้มีราชการมากเหมือนประจุบันนี้ พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายราชการแผ่นดินที่ได้แต่ค่านาอากรสมพักศรในพื้นบ้านเมืองก็มีน้อย ไม่พอที่จะจ่ายราชการเพราะฉนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึ่งต้องทรงแต่งสำเภาบันทุกสินค้าออกไปค้าขายยังประเทศจีน เมื่อได้ประโยชน์กำไรก็พอได้มา เจือจานใช้ในราชการซึ่งจะรักษาพระนคร
แลการแต่งสำเภาออกไปค้าขายเมืองจีนนี้ ตกเปนน่าที่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดการแต่งสำเภาหลวงตลอดมา จึ่งเปนพนักงานของพระองค์ ที่จะต้องทรงขวนขวายหาพระราชทรัพย์ถวายสมเด็จพระบรมชนกนารถที่จะได้ทรงใช้จ่ายในราชกิจทั้งปวง ถึงแม้ว่าเปนเวลาซึ่งการค้าขายมิได้บริบูรณ์ พระราชทรัพย์ซึ่งจะได้จากส่วนกำไรการค้าบกพร่องไม่พอจ่ายราชการ พระองค์ก็ทรงพระอุสาหะขวนขวายมิให้เปนที่ขุ่นเคืองฝ่าลอองธุลีพระบาทพระบรมชนกนารถ
ด้วยในเวลานั้นเจ้านายแลข้าราชการ ที่มีทุนรอนพอจะแต่งสำเภาไปค้าเมืองจีนได้ ก็ได้แต่งสำเภาไปค้าขายอยู่ด้วยกันโดยมาก พระองค์ก็ได้ทรงแต่งสำเภาไปค้าขายในส่วนของพระองค์อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึ่งถึงซึ่งความบริบูรณ์ด้วยทรัพย์พอที่จะฉลองพระเดชพระคุณ มิให้ขัดขวางในทางราชการได้ เปนเหตุให้สมเด็จพระบรมชนกนารถทรงพระกรุณา แล้วตรัสประภาศออกพระนามพระองค์ว่าเจ้าสัวเสมอมา ฯ"
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ยังทรงได้ปฏิบัติราชการสำคัญหลายประการ ทั้งทรงเป็นแม่การรับผิดชอบสร้างป้อมปราการที่เมืองสมุทรปราการ เป็นแม่กองสร้างอุทยานสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง รวมถึงทรงเป็นแม่ทัพยกทัพไปตั้งรับศึกพม่าที่ปากแพรก เมืองกาญจนบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ โดยทรงตั้งทัพอยู่ ๑ ปี
.
ในรัชกาลที่ ๒ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเป็นเจ้านายพระองค์สำคัญควบคู่ไปกับกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระมหาอุปราช และเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ ที่ทรงกำกับกรมวังและกรมมหาดไทยและทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (ในสมัยโบราณหมายถึงที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน)
เมื่อครั้งที่กรมพระราชวังบวรฯ ยังทรงมีพระชนม์อยู่ จะเสด็จมาลงมาประทับพิพากษาคดีใหญ่ๆ และความรับสั่ง ที่โรงละครใกล้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสด็จอยู่ในที่ประชุมพิพากษาคดีทั้งปวงเป็นประธานด้วยพระองค์หนึ่งมิได้ขาด เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตแล้ว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงได้ทรงรับตำแหน่งบังคับการสิทธิ์ขาดในกรมพระตำรวจ ได้ว่าความรับสั่งทั้งปวง
.
บุรพภาคพระธรรมเทศนา เฉลิมพระเกียรดิพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่า
"ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์จึงได้ทรงรับตำแหน่งบังคับการสิทธิ์ขาดในกรมพระตำรวจ ว่าความรับสั่งทั้งปวงด้วยอาศรัยพระเมตตาพระกรุณาของพระองค์ต่อราษฎรทั้งปวงทั่วหน้า แลพระปรีชาญาณประกอบด้วยพระเดชานุภาพ ทรงพิจารณาไต่สวนข้อความของราษฎรให้แล้วไปโดยยุติธรรมโดยเร็ว เปนที่ชื่นชมนิยมยินดีของประชาราษฎรทั้งปวง ต่างคนมีจิตรคิดสวามิภักดิ์ต่อพระองค์เปนอันมาก ทั้งเปนที่เบาพระราชหฤทัยในพระบรมชนกนารถ มิได้มีพระราชกังวลอันใดให้เปนที่ขุ่นเคืองพระราชกระมล
พระองค์ทรงอุสาหะเสด็จเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ในเวลาซึ่งเสด็จพระราชดำเนินออกประทับณท้องพระโรงแลพระบัญชร ทุกเวลามิได้ขาดทั้งเช้าค่ำ ทั้งเสด็จเข้ามาประจำว่าราชกิจการต่าง ๆ ตามตำแหน่งของพระองค์อยู่เนืองนิจเช่นนั้นเมื่อถึงวัสสานรดู ถึงเปนเวลาฝนตกมากน้อยเท่าใดก็ดี พระองค์ก็มิได้รั้งรออยู่จนฝนหายให้เคลื่อนคลาดจากเวลาราชการ จึ่งเปนการลำบากแก่พระองค์ ซึ่งทรงพระเสลี่ยงมาในที่โถง ต้องผลัดพระภูษาในเวลาเมื่อเสด็จมาประทับถึงในที่ในพระบรมราชวัง จึ่งทรงพระราชดำริห์แปลงแคร่กันยา ซึ่งเปนของสำหรับข้าราชการใช้ในขณะนั้น ให้เปนพระวอขนาดน้อยหุ้มด้วยผ้าขี้ผึ้ง สำหรับทรงเสด็จเข้าในพระบรมมหาราชวังในรดูฝน ครั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึ่งพระราชทานนามพระวอนั้นว่าวอประเวสวัง แลได้เปนแบบอย่าสำหรับพระบรมวงศานุวงศ ซึ่งเปนกรมทรงทำตามอย่างนั้นสำหรับทรงเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทสืบมา
พระองค์ทรงพระอุสาหะในราชกิจมิได้ย่อหย่อนถึงเพียงนี้ จึ่งเปนที่ต้องพระราชอัธยาไศรยเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยแห่งสมเด็จพระบรมชนกนารถยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ก็ได้ทรงบังคับกิจราชการทั้งปวงมากขึ้นเกือบจะทั่วไปในกาลครั้งนั้น ฯ"
ซ้าย : พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขวา : พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพจาก จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม ๑, จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง พ.ศ. ๒๕๓๖)
หนังสือ "ความทรงจำของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ" พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงพระบารมีของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในเวลานั้นว่า
"ความข้อนี้กรมสมเด็จพระเดชารับสั่งเล่าว่า ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเป็นเจ้าต่างกรมเมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ นั้นมีอำนาจมากนัก เจ้านายและขุนนางราษฎรทั้งรักทั้งกลัวทั่วไป กรมหลวงพิทักษ์มนตรี และกรมขุนอิศรานุรักษ์ ที่มีพระชนมายุมากและมีอำนาจมาแต่ก่อน ก็ต้องเกรงๆ ท่านโดยมาก ขุนนางและราษฎรทั้งหลาย มีนิยมนับถือเป็นอันมาก เมื่อกรมพระราชวังบวรสวรรคตใหม่ๆ กรมหลวงพิทักษมนตรีก็มั่นพระทัยว่าพระองค์ท่านจะได้เป็นกรมพระราชวังบวรขึ้นแทนพระองค์เก่า ฟังๆ มาก็เงียบไปจนล่วงมาหลายปีก็ประชวรพระโรคโดยเสียพระทัย เมื่อพระอาการมากลงแล้ว เจ้านายที่ชอบพอกันไปเยี่ยมประชวร ท่านก็รับสั่งว่าบุญพี่น้อยแล้ว ทนอำนาจท่านผู้มีบุญไม่ได้จะขอลาก่อน เจ้านายพระองค์ใดไปเยี่ยมท่านก็ตรัสดังนี้ทุกๆ พระองค์ อยู่ได้สัก ๕ วันก็สิ้นพระชนม์ ความข้อนี้กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ก็รับสั่งเล่าต้องกัน"
เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดินสิ้นพระชนม์ไปอีกพระองค์ ราชการแผ่นดินเกือบทั้งหมดจึงตกอยู่กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงว่าราชการส่วนใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณจนเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระราชบิดายิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๒ ทำให้ทรงมีอำนาจบารมีและประสบการณ์ทางการเมืองสูงมาก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดขั้วอำนาจทางการในราชสำนัก ๒ ฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และฝ่ายที่สนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ ดังปรากฏหลักฐานร่วมสมัยคือจดหมายเหตุของจอห์น ครอว์เฟิด (John Crawfurd) ทูตชาวอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีใน พ.ศ. ๒๓๖๕ ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ ความว่า
"ในเวลานี้ ราชสำนักสยามได้แยกเป็น ๒ ฝ่าย ผู้นำของฝ่ายหนึ่งคือเจ้ากรมเจษฎ์ (Prince Krom-chait) และพระคลัง อีกฝ่ายหนึ่งคือเจ้าฟ้า (Prince Chao-fa) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ และบรรดาพระเจ้าน้าของพระองค์"
ฝ่ายกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงมีพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ ๑ ให้การสนับสนุนอยู่หลายพระองค์ ได้แก่ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ซึ่งสำเร็จราชการกรมพระกลาโหมและหัวเมืองปากใต้ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ซึ่งกำกับกรมพระนครบาล แกรมหมื่นรักษ์รณเรศซึ่งกำกับกรมสังฆการี ส่วนขุนนางผู้ใหญ่ที่สนับสนุนได้แก่ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เสนาบดีกรมท่า ซึ่งโดยตำแหน่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และมีหลักฐานว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมอยู่กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มาแต่เดิม
.
ผู้ที่สนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎคือพระเจ้าน้า ๒ พระองค์ คือเจ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี และเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งได้กำกับกรมมหาดไทยหลังจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ แต่เข้าใจว่าหลังจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว จะไม่มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีบารมีมากพอจะเป็นกำลังสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ นอกจากนี้ก็ยังมีพระราชวงศ์พระองค์อื่น เช่น กรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาซึ่งผนวชอยู่ และพระเชษฐาเช่น พระองค์เจ้าโต (คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์)
เจ้าฟ้ามงกุฎทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก ราชการสงครามทรงเคยเพียงเสด็จคุมกำลังและเสบียงอาหารขึ้นไปรับครัวมอญที่เมืองกาญจนบุรีใน พ.ศ. ๒๓๕๘ ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๒ พรรษา โดยมีเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงเป็นพระอภิบาลและเป็นผู้บังคับบัญชาหลัก
เมื่อเทียบกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ซึ่งทรงกำกับราชการแผ่นดินเกือบทั้งหมดโดยเรียบร้อยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ทั้งยังทรงมีพระชนม์มากกว่าเจ้าฟ้ามงกุฎถึง ๑๗ ปี นับว่าทรงมีพระอาวุโสและประสบการณ์สูงกว่า นอกจากนี้ยังทรงมีผู้สนับสนุนอีกจำนวนมากทั้งพระราชวงศ์และข้าราชการ
.
.
ใน พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงประชวรหนักแล้วเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันโดยมิได้ทรงเวนราชสมบัติให้เจ้านายพระองค์ใด
ในช่วงใกล้เสด็จสวรรคตมีแต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เพียงพระองค์เดียวที่เข้าเฝ้าอยู่ใกล้ชิด ปรากฏในหนังสือ “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
“เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรใกล้สวรรคต (พ.ศ. ๒๓๖๗), ข้างในไม่ได้มีใครเจ้าถึงพระองค์สักคนเดียว พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งเวลานั้นทรงเปนพระราชโอรสพระองค์ใหญ่, ทรงพระอิสริยยศเปนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์) ได้ประทับกำกับอยู่ตลอดและปิดพระทวารเสียด้วย. แม้แต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี, ผู้ทรงเปนพระอัครมเหษี, ก็หาได้เสด็จเข้าไปไม่.”
พระราชพงศาวดารระบุว่า หลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรคตแล้ว บรรดาพระราชวงศ์ เสนาบดี และพระเถระผู้ใหญ่จึงพร้อมใจกันอัญเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชสมบัติต่อไป
"จึ่งอาราธนาพระสังฆราช พระราชาคณะผู้ใหญ่มาแล้ว พร้อมด้วยพระบรมราชวงศานุวงศ์ต่างกรมและท่านเสนาบดีและข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ฯ ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดิน เห็นว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาช้านาน พากันเข้าเฝ้า...เชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ"
.
ภาพที่พระราชพงศาวดารให้ดูเป็นการผลัดแผ่นดินที่เป็นไปอย่างเรียบร้อย ปราศจากปัญหาใดๆ แต่หากพิจารณาร่วมกับหลักฐานอื่นแล้ว พบว่าอาจไม่ได้เป็นการเรียบร้อยที่ทุกฝ่ายได้ยินยอมพร้อมใจกัน
ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ทรงกล่าวเล่าเหตุการณ์ที่ต่างไปจากพงศาวดารที่ระบุว่าบรรดาเสนาบดีและเชื้อพระวงศ์พร้อมใจกันอัญเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แต่เป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ที่ทรงแสดงออกให้เห็นชัดเจนก่อนว่ามีพระราชประสงค์ในราชสมบัติ
 
"สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกมาจากห้องที่สวรรคต เสด็จขึ้นพระที่นั่งอมรินทร์ฯ ซึ่งเต็มไปด้วยเจ้านายและข้าราชการ ก็ไม่ได้ทรงทำอะไร นอกจากเสด็จขึ้นบนพระแท่นที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนเคยประทับ เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว ก็ทรงหยิบพระแสงอาญาสิทธิ์วางบนพระเพลาเท่านั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านทรงรับราชสมบัติต่อไป พวกเจ้านายและข้าราชการ ก็พร้อมกันถวายบังคมทั้งหมด เป็นอันรับรอง"
.
พระนิพนธ์อีกชิ้นหนึ่งคือ "สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น" ทรงขยายความว่า
"เนื่องสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระชันษาแก่กว่าเจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระอนุชาถึง ๑๗ ปี และได้ทรงว่าราชการแทนพระองค์สมเด็จพระราชบิดามาแล้วหลายคราว ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้นับถือเลื่อมใส ทั้งพวกเจ้านายและขุนนางตาม Crawford เล่าไว้ ในหมู่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นชั้นพระเจ้าอาว์ที่มีพระนามปรากฏเด่นต่อมาก็คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพฯ และกรมหมื่นรักษ์รณเรศ ที่ได้ทรงทำคำมั่นสัญญาไว้ว่าจะถวายราชสมบัติกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทั้งฝ่ายขุนนางผู้ใหญ่มีสมเด็จเจ้าพระยา ๒ องค์พี่น้องก็เห็นสมควร ฉะนั้นในวันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ เสด็จสวรรคต จึงตกลงเชิญเสด็จกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ซึ่งเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระที่นั่งพร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในเวลาทรงพระประชวรหนักเป็นราชประเพณีอยู่แล้ว ให้เสด็จออกให้เจ้านายและข้าราชการอื่นๆ เฝ้าบนพระแท่นที่ประทับและถวายให้ทรงถือพระแสงอาญาสิทธิ์ไว้บนพระเพลาเป็นการแสดงให้คนทั้งหลายที่เฝ้านั้นเข้าใจว่าได้ทรงรับราชสมบัติแล้ว ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ก็เหมาะเวลาพระชันษาครบที่จะทรงอุปสมบท และได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว เมื่อก่อนสมเด็จพระราชบิดาสวรรคตเพียง ๗ วัน สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้ไปทูลถามว่าจะต้องพระราชประสงค์ราชสมบัติหรือไม่ และได้ทรงกราบทูลตอบไปว่า ไม่ต้องพระประสงค์ จะขอทรงผนวชเล่าเรียนต่อไป เหตุที่จริงมีอยู่เท่านี้"
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ซ้อน ๒ ชั้น ประดับอินทรธนู ทรงมหาสังวาลย์ ๒ สาย ประทับบนพระราชอาสน์
หนังสือ "ความทรงจำ" พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายในทำนองว่าที่ประชุมขุนนางมีการให้มา "หยั่งเสี่ยง" เจ้าฟ้ามงกุฎก่อนว่าประสงค์จะได้ราชสมบัติหรือไม่
“ที่ประชุมเห็นว่า ควรถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฎาบดินทรบ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปกติ จึงอาศัยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ให้ไปทูลถามว่าจะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือทรงผนวชต่อไป
ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบกิตติศัพท์อยู่แล้ว ว่าคิดกันจะถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าถ้าพระองค์ปรารถนาราชสมบัติในเวลานั้น พระราชวงศ์คงแตกสามัคคีกัน อาจจะเลยเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมือง ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งเป็นพระเจ้าน้าองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรคิดเอาราชสมบัติตามที่มีสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย ไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งกรมหมื่นเดชอดิศร พระเชษฐาซึ่งทรงนับถือมาก ทั้งสองพระองค์ ตรัสว่าไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา อย่าหวงราชสมบัติดีกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟังคำถาม จึงตรัสตอบว่ามีพระราชประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป ก็เป็นอันสิ้นความลำบากในการที่จะถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว”
.
.
นอกจากเรื่องปัจจัยเรื่องความเหมาะสม ยังมีหลักฐานบ่งบอกไปอีกทางหนึ่งที่เจ้าฟ้ามงกุฎเองทรงถูก “ควบคุม” พระองค์ไว้
"ลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์" พระนิพนธ์ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเอง ระบุเหตุการณ์ช่วงผลัดแผ่นดินไว้ว่า
๏ สุดรแวงบิดุราชใกล้.............สวรรคต
แม้พระราชิโนรส....................รุ่มตั้ง
เพลีดเพลีนแต่เจรีญพรต.........พรหมะวิ หารแฮ
ไป่หวาดอัยะญาติ์ขั้ง..............ข่าวเหี้ยมเตรียมหลอน ฯ
๏ จึ่งบทจรสู่เวิ้ง.....................วังหลวง
อมาตย์เท็จเชีญเสด็จลวง.......ลอบอ้าง
โองการท่านเรียกดวง.............ปิยดนุช ะชีเอย
ด่านใฝ่เฝ้าเจ้าช้าง.................ชนกมื้อดุรามัย ฯ
๏ เขาเชีญไปวัดพระแก้ว.........มรกฎ อกอา
พักณพระอุโบสถ...................ก่อนเฝ้า
หับทวารส่งทหารปด..............เป็นรัก ขารา
ฉุกละหุกกลับรุกเร้า...............รอบรั้งขังคุม พระเอย ฯ
๏ กุมไว้ในโบสถ์สิ้น................สับดวาร พ่ออา
ไร้มิตรศิษย์บริพาร.................พี่น้อง
คึกคักแต่พนักงาร..................สนมนิเวส ะรักษ์ฤา
คอยพิทักษ์หรือคอยจ้อง.......จับมล้างพรางไฉน สูเอย ฯ
ถอดความได้ว่าเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิรับราชสมบัติสืบต่อ ทรงถูก "อัยะญาติ์" และ "อมาตย์เท็จ" วางแผนแอบอ้างพระราชโองการให้เชิญเสด็จมาเข้าเฝ้าในพระราชวังหลวงตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังไม่สวรรคต โดยทรงถูกคุมพระองค์อยู่ในพระอุโบสถวัดพระแก้วถึง ๗ วัน ทรงถูกเฝ้าดูอย่างเข้มงวดเพียงพระองค์เดียว และทรงถูกจับตาอยู่ตลอดเวลา โดยโกหกว่าเป็นการอารักขา และมีการใช้กำลัง "ฉุกละหุกกลับรุกเร้า รอบรั้งขังคุม"
.
หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต แล้วกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ๓ วัน เจ้าฟ้ามงกุฎจึงทรงได้รับการปล่อยตัวให้เสด็จกลับวัดสมอรายซึ่งเป็นที่ประทับได้
๏ อยู่หัวสวรรคตแล้ว.............ลือกัน
กรมเจษฎ์เชษฐาถวัลย..........ราชย์รั้ง
จวนอุโบสถสามวัน...............จึ่งปล่อย องค์รา
เสด็จกลับคืนยับยั้ง...............วัดเวิ้งสมอราย ฯ
๏ พระสายจักริศสอื้น............อาลัย
ถึงบาทบิตุราชฤทัย..............ท่วมเศร้า
ไหนห่วงมาตุรงค์ใน.............มหานิเวสน์
ห่วงราชอนุชาเฝ้า................นิเวสน์รั้งวังเดีม ฯ
หากเนื้อหานี้เป็นจริงก็บ่งชี้ว่าการสืบราชสมบัติในครั้งนั้นคงไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยราบรื่นอย่างที่กล่าวกันโดยทั่วไป แต่มีการคุมเจ้าฟ้ามงกุฎไว้ระยะหนึ่งเพื่อการป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น เมื่อฝ่ายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้วจึงทรงปล่อยเจ้าฟ้ามงกุฎ
.
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือบันทึกความทรงจำของพระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ซึ่งบันทึกคำบอกเล่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ช่วงผลัดแผ่นดินเวลานั้น ระบุว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนที่อัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎไปเฝ้าพระบรมศพ ซึ่งเข้าใจว่าเกิดภายหลังจากที่ทรงถูกกักพระองค์อยู่ในวัดพระแก้ว
“พระนั่งเกล้าฯ เสด็จเข้าไปให้ท่าน [กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ] เชิญพระแสงดาบตามเสด็จเข้าไปพร้อมกับวังหน้ากรมศักดิ์ ๑ กรมหลวงเทพ ๑ หม่อมไกรสร ๑ กรมขุนสุรินทรรักษ์ ๑ กรมพระพิพิธ ๑ กรมขุนราม ๑ แล้วจึงเชิญกรมขุนอิศรานุรักษ์กับพระจอมเกล้าฯ เข้าไป พระจอมเกล้าฯเสด็จเข้าไป พอเห็นสวรรคตแล้วก็ทรงพระกรรแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้แล้วคลำดู ดูที่จีวรกลัวจะซ่อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัย รับสั่งว่าขอชีวิตไว้อย่าฆ่าเสียเลย พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่าท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทำอะไรหรอก อย่าตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น ทำอย่างไรได้ เวลานั้นท่านตกพระทัย พระบังคนไหลออกมาเปียกสบงครึ่งผืน”
หม่อมไกรสร หรือ กรมหมื่นรักษ์รณเรศที่ได้กล่าวไปแล้ว ปรากฏหลักฐานว่าว่าทรงราวีพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎมาตลอดสมัยรัชกาลที่ ๓ ก่อนจะถูกสำเร็จโทษใน พ.ศ.๒๓๙๑ ในข้อหามักใหญ่ใฝ่สูง ส่วนเจ้านายพระองค์อื่นที่ตามเสด็จกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้น ส่วนใหญ่เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ ๑ บางพระองค์ เช่น กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ปรากฏหลักฐานว่าเป็นเจ้านายที่ใกล้ชิดและสนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จนถึงรัชกาลที่ ๓ ต่างได้ทรงดำรงตำแหน่งราชการสำคัญ มีเพียงกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์ที่ปรากฏหลักฐานว่าทรงสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎอยู่
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ กรุงเทพมหานคร
แม้แต่ "พระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์" ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงถูกฝ่ายของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์คุกคามจนต้องเสด็จออกผนวชตั้งแต่ก่อนพระราชบิดาสวรรคต และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็มีพระทัยปรารถนาราชสมบัติอยู่เช่นกัน
“ในกาลก่อนแต่นี้ พระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์ใหญ่ของพระราชเทวี เมื่อทรงพิจารณาถึงกาลอันหนึ่งเทียว ทรงเห็นซึ่งพระราชบุตรผู้พี่ชายพระองค์ใหญ่กว่าพระราชบุตรทั้งปวง อันชนหมู่ใหญ่นับถือ แล้วปรารถนาอยู่แม้ซึ่งราชสมบัติของพระราชบิดา ครอบงำเสียซึ่งพระราชบุตรต่างพระมารดากัน กระทำอยู่แม้โดยพระกำลัง
แล้วทรงกำหนดซึ่งกาลใช่โอกาสของพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่เทียว พระองค์มีพระชนม์พรรษาได้ยี่สิบปี แต่พระชาติทรงเห็นช่องทางซึ่งบรรพชาเป็นที่พ้นไปได้ จึงกราบทูลลาพระราชบิดา เข้าไปถึงแล้วซึ่งบรรพชา มีพระนามปรากฏโดยพระนามของพระภิกษุว่าพระผู้เป็นเจ้า วชิรญาณ ดังนี้”
เจ้าฟ้ามงกุฎคงได้ทรงพิจารณาเห็นชัดแล้วว่า พระราชอำนาจของพระองค์ไม่สามารถทัดเทียมกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และในเวลานั้นนอกจากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ไม่มีผู้ใดมีบารมีเหมาะสมที่จะขึ้นครองแผ่นดิน จึงต้องยอมทรงหลีกทาง แล้วผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓
.
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้อีกตอนหนึ่งว่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่เห็นว่ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีความเหมาะสมกว่า ทำให้พระองค์ซึ่งมีพระชาติกำเนิดสูงส่งทั้งจากพระราชบิดาและพระราชบิดาซึ่งสมควรเป็นรัชทายาทมากที่สุดทรงถูก "ก้าวล่วง" สิทธิของพระองค์ และจำต้องถวายราชสมบัติให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ที่มีพระชาติกำเนิดสูงส่งเฉพาะจากพระราชบิดาเท่านั้น
"ก็ในเวลานั้น แม้หมู่อำมาตย์ราชบริษัทและชาวพระนครชาวนิคมทั้งหลายเป็นอันมาก ที่ตั้งอยู่ในอำนาจแห่งอานุภาพของพระราชบุตรพระองค์ใหญ่ เมื่อพิจารณาดูซึ่งการรักษาพระราชอาณาเขตโดยความสุข ปราศจากข้าศึกมีพม่าเป็นต้น ก็พร้อมกันเห็นซึ่งพระราชบุตรพระองค์ใหญ่กว่าพระราชบุตรทั้งปวง ถึงพร้อมแล้วด้วยพระคุณทั้งหลายและมีพระปัญญาแลความรู้เป็นต้นหาผู้เสมอมิได้ แลมีพระกำลังใหญ่ด้วยดี สามารถเพื่อจะห้ามเสียซึ่งปฏิปักษ์ทั้งหลายในเวลานั้น ก็ก้าวล่วงเสียซึ่งพระราชบุตรผู้ประเสริฐหมดจด แม้เกิดดีแล้วแต่พระราชบิดาและพระราชมารดาทั้งสองฝ่าย ซึ่งตั้งอยู่แล้วในที่ควรแก่รัชทายาท มิได้ถือเอาแล้วแม้ทั้งสองพระองค์ จึงอภิเษกซึ่งพระราชบุตรพระองค์ใหญ่ ทรงพระนามเจษฎาธิบดินทร์ แม้เกิดดีแล้วแต่พระราชบิดาฝ่ายเดียว พระองค์นั้นในราชสมบัติเทียว"
ด้วยเหตุนี้ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงทรงได้รับราชสมบัติ โดยวิธีการที่เรียกว่า "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" หมายถึงทรงได้รับการยอมรับจากชนทั้งหลาย ซึ่งในที่นี้หมายถึงทรงได้แรงสนับสนุนจากพระสังฆราช พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ขุนนางและพระราชวงศ์ทั้งหลายนั่นเอง
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. (๒๕๕๔). ราชสกุลวงศ์. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปกร.
- กสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล), พระยา. (๒๕๒๙). "บันทึกความทรงจำ" ใน ๓๓๑ ปี สกุลอมาตย์ และ ๗๓ ปี แห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.
- จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๐๑). พระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ (หลวงญาณวิจิตร, ผู้แปล.). พระนคร: โรงพิมพ์จันหว่า.
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๖๙). ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๓ บุรพภาคพระธรรมเทศนา เฉลิมพระเกียรดิพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (๒๔๘๙). ความทรงจำ. (ม.ป.ท.)
- ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (๒๕๐๕). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
- ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (๒๕๔๗). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๗). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
- นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (๒๔๙๕). มหามกุฎราชคุณานุสรณ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย.
- บดินทรไพศาลโสภณ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวง. (๒๕๕๒). ความทรงจำของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ.
- พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ. (๒๕๕๗). สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น (รวมเล่ม). กรุงเทพฯ: มติชน.
- ราม วชิราวุธ. (๒๕๕๕). ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖. (พิมพ์ครั้งที่ ๕). กรุงเทพฯ: มติชน.
- Crawfurd, J. (1830). Journal of an embassy from the governor-general of India to the courts of Siam and Cochin China: exhibiting a view of the actual state of those kingdoms, Vol. 1. (2nd ed). London: Henry Colburn and Richard Bently.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา