21 มิ.ย. 2020 เวลา 12:52 • ประวัติศาสตร์
พัฒนาการรถไฟของญี่ปุ่น หมุดหมายสำคัญในการพัฒนา
เปิดรับ เรียนรู้ รู้แล้วต้องเริ่มทำเลย
จุดเริ่มต้นแรกของการรถไฟญี่ปุ่นนั้นมาจากชาติตะวันตก ไม่ต่างจากรถไฟไทย
ชนชาติแรกคือรัสเซีย เมื่อตอนที่ Putyatin มาเยือนญี่ปุ่นในปี 1853 ก็ได้นำโมเดลรถไฟมาแสดงให้กับผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นบนดาดฟ้าเรือ Pallada ของเขา ตัวแทนรัฐบาลที่มาชมการสาธิตบนเรือครั้งนั้นคือ ทานากะ ฮิซาชิเงะ (Tanaka Hisashige) ชายผู้ต่อมาจะทำการตั้งบริษัทที่ต่อมาจะพัฒนากลายเป็นบริษัท โตชิบา การสาธิตครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เขาและชาวญี่ปุ่นอย่างมาก จนกระทั่งนำมาสร้างเลียนแบบ ซึ่งถือว่าเป็นแบบจำลองรถจักรไอน้ำขบวนแรกที่สร้างโดยคนญี่ปุ่นเองในปี 1855
หัวรถจักรโมเดลยาวประมาณ 40 ซ.ม. ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงแอลกอฮอลล์ ที่สร้างเลียนแบบโมเดลของรัสเซีย
การสาธิตรถไฟจำลองที่สร้างเองที่เมืองซางะ (Saga)
Matthew Perry ผู้เปิดประเทศญี่ปุ่นในปี 1853 กลับมาทวงสัญญาการเปิดประเทศในปี 1854 พร้อมกับนำรถไฟจำลองมาโชว์ชาวญี่ปุ่นสมัยนั้น ในวันที่ 13 มีนาคม 1854 รถไฟจำลองคันนี้ต้นแบบคือรถไฟของ William Norris จากบริษัท Norris Locomotive Works เป็นรถไฟจำลองที่สามารถวิ่งได้จริง คล้าย ๆ กับรถไฟในสวนสนุกที่ให้เด็กเล่น ซึ่งดึงดูดความสนใจและสร้างความตื่นตะลึงให้เก่าเหล่าซามูไรญี่ปุ่นอย่างมาก
รูป Wiki
ของขวัญที่อเมริกานำมามอบให้ครั้งเปิดประเทศหนึ่งในนั้นคือรถไฟจำลองนี้ ภาพ davidbcalhoun.com
จากรายงานการปฏิบัติของ Perry โดยผมนำข้อความจากหนังสือ Early Japanese Railways 1853-1914 มาแปลและเรียบเรียง บอกเล่าเหตุการณ์ความตื่นเต้นของผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
"...ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดเตรียมพื้นที่ราบเรียบ ที่เหมาะสำหรับการวางรางรถไฟจำลองเป็นวงกลมไว้ และเสาโทรเลขได้ถูกนำมาและตั้งไว้ภายใต้การอำนวยการของ เมอร์ซิเยอร์ เดรเปอร์ และ วิลเลี่ยมส์ และไม่นานก็ใช้การได้ สายโทรเลขนี้ปลายสายความยาวเกือบ 1 ไมล์ ด้านหนึ่งอยู่ที่อาคารลงนามสนธิสัญญา อีกด้านหนึ่งอยู่ที่อาคารที่เตรียมไว้ เมื่อเปิดใช้งาน ชาวญี่ปุ่นต่างทึ่งและสงสัยใคร่รู้กับวิธีการในการส่งข้อความทางโทรเลขเป็นทั้งภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ดัทช์ ภายในเสี้ยววินาทีจากอาคารหนึ่งไปยังอีกอาคารหนึ่ง.... รถไฟก็เช่นเดียวกัน ภายใต้การกำกับของนายช่าง Gay และ Danby หัวรถจักร Liliputian ... ก็ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้ว่าขบวนรถจะเล็กและบรรทุกได้เพียงเด็กอายุ 6 หรือ 7 ขวบ ... ทำให้ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถที่จะเข้าไปนั่งในขบวนได้พวกเขาจึงใช้วิธีนั่งบนหลังคาของรถแทน ซึ่งเป็นอะไรที่น่าตื่นตาที่ได้เห็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้ทรงเกียรติ นั่งวนเป็นวงกลมที่ความเร็วในอัตรา 20 ไมล์ ต่อ ชั่วโมง (32 กม. ต่อ ชั่วโมง) ไปพร้อมกับชายเสื้อที่ปลิวสไวไปกับสายลม.... "
นิปปอน ดอทคอม ให้ความเห็นไว้ว่า การสาธิตในครั้งนี้ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความล้าหลังทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นซึ่งเป็นผลจากการใช้นโยบายปิดประเทศของรัฐบาลโตกุกาว่า จนเกิดความไม่พอใจในระบอบการปกครองแบบเก่าและนำไปสู่สงครามโบชินและการปฏิรูปเมจิ
ขบวนรถไฟคันแรกที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากอังกฤษผลิตในปี 1871
แม้ว่ากระแสการนำเข้าเทคโนโลยีจะเริ่มต้นในทศวรรษ 1850 แต่รถไฟสายแรกของญี่ปุ่นได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 1872 (พ.ศ.2415) ภายใต้การก่อสร้างที่ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยวิศกรต่างชาติที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ และการนำเข้ารถไฟจากต่างประเทศ แต่ทุกโครงการจะต้องถูกควบคุม และดูแลโดยชาวญี่ปุ่น ซึ่งก็มีบิดาของการรถไฟญี่ปุ่นอย่าง Inoue Masaru อดีตนักเรียนนอก 5 คน ของแคว้นโชซู (Chōshū 5) ที่ไปร่ำเรียนจากอังกฤษจาก University of London ในสาขาวิศวกรรมโยธาและการทำเหมืองแร่ เป็นผู้ควบคุมด้วย ซึ่งต่อมาเขาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นอธิบดีการรถไฟคนแรกของญี่ปุ่น ในปี 1871 (พ.ศ.2414)
ภาพ J Wiki Inoue Masaru สมัยหนุ่ม
หมุดหมายสำคัญอีกประการของการพัฒนาอุตสาหกรรมญี่ปุ่นคือการก่อตั้งบริษัทโดย Inoue Masaru ผู้นี้ ที่ได้ก่อตั้งบริษัทผลิตรถไฟสัญชาติญี่ปุ่นขึ้นในนาม Kisha Seizō Joint Stock Company ในปี 1896 ที่เมืองโอซาก้า ซึ่งต่อมาจะถูกควบรวมกับบริษัท Kawasaki Heavy Indrustry (ควบรวมปี 1972) ซึ่งเราคนไทยรู้กันดีเพราะสร้างผลิตภัณฑ์หลากหลายมาก เรือ รถไฟ เรือดำน้ำ เครื่องบิน มอเตอร์ไซค์ ในยุคปัจจุบันก็หุ่นยนต์
Class 860 รถไฟขบวนแรกที่ผลิตในญี่ปุ่น แต่บางชิ้นส่วนเป็นอะไหล่นำเข้า
ผลิตภัณฑ์ของ Kawasaki ในปัจจุบ
ทีนี้มาดูพัฒนาการรถไฟไทย การรถไฟของไทย
แนวคิดในการสร้างรถไฟในเมืองไทยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ข้อมูลจากเว็ปไซต์การรถไฟระบุไว้ดังนี้
"เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2369 (ค.ศ.1826) ซึ่งในกาลนั้น มิสเตอร์ แฮรี่ สมิท ปาร์ค ได้นำสนธิสัญญาฉบับใหม่ออกไปประทับตราแผ่นดินอังกฤษ แล้วนำกลับมาแลกเปลี่ยนสนธิสัญญากับฝ่ายไทย กับอัญเชิญพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนางวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษเข้ามาเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อาทิ รถไฟจำลองย่อส่วนจากของจริงประกอบด้วย รถจักรไอน้ำ และรถพ่วงครบขบวน เดินบนรางด้วยแรงไอน้ำทำนองเดียวกับรถใหญ่ที่ใช้อยู่ในเกาะอังกฤษ(ขณะนี้รถไฟเล็กได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) ราชบรรณาการในครั้งนั้น
สมเด็จพระนางวิคตอเรีย ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นเครื่องดลพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงคิดสถาปนากิจการรถไฟขึ้นในราชอาณาจักรไทย แต่เนื่องจากในขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในฐานะไม่มั่นคง และมีจำนวนพลเมืองน้อย กิจการจึงต้องระงับไว้"
ภาพเว็ปไซต์การรถไฟแห่งประเทศไทย
จะเห็นว่าสมัยก่อนการเสนอโครงการให้ไทยก็ไม่ต่างกันกับที่เสนอให้ญี่ปุ่นคือการสำโมเดลที่วิ่งได้จริงมานำเสนอ ต่อมาเราจึงสร้างทางรถไฟสายแรกในยุครัชกาลที่ 5 ซึ่งก็ใช้วิศวกรชาวอังกฤษเช่นกัน ในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมอังกฤษก้าวหน้ามากในเรื่องเทคโนโลยีรถไฟเป็นประเทศแรกที่มีการเดินรถไฟเชิงพานิชย์ของโลก
"ตุลาคม 2433 (ค.ศ.1890) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟขึ้น สังกัดอยู่ในกระทรวงโยธาธิการมีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นเสนาบดี และนาย เค. เบ็ทเก ( K. Bethge ) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟพร้อมกันนั้นได้ เปิดประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ - นครราชสีมา เป็นสายแรก ณ ที่ทำการรถไฟกรุงเทพ ปรากฏว่า มิสเตอร์ จี มูเร แคมป์เบล แห่งอังกฤษ เป็นผู้คำประกันประมูลได้ในราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาเป็นเงิน 9,956,164 บาท - ภายหลังได้มีการอนุมัติสร้างและเปิดการเดินรถครั้งแรกใน 26 มีนาคม 2439" (ค.ศ.1896 - ซึ่งในปีเดียวกันนี้ญี่ปุ่นเริ่มสร้างรถไฟเป็นของตนเองแล้ว ในส่วนของญี่ปุ่นเปิดเดินรถไฟครั้งแรกสายโตเกียว-โยโกฮามา ในปี 1871 (พ.ศ.2414))
รถไฟที่ไทยซื้อจากญี่ปุ่นใน พ.ศ.2479 (ค.ศ.1936)
จริงๆ แล้วเราเริ่มช้ากว่าญี่ปุ่น 24 ปี เป็นอย่างต่ำ ปีที่เราพึ่งเริ่มเดินรถ ใช้รถจักรนำเข้า แต่เขาผลิตหัวรถจักรเองได้แล้ว เป็น 24 ปีที่เขาเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีให้ทัดเทียมฝรั่ง อย่างหนึ่งที่เราต้องโทษตัวเองคือความรู้วิศวกรรมเราไม่เพียงพอ ในยุคที่การก็อปปี้ทำได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์แต่เราพลาดไม่ได้ Copy and Develop มาทำสมัยนี้ก็ยาก หากจะทำจะต้องมีตลาดที่น่าดึงดูดและรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีความรักชาติเหมือนจีน ที่ตลาดคน 1,400 ล้านคน น่าดึงดูดใจจนทำให้ต่างชาติยอมลงทุน จีนเลยพ่วงเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝรั่งยอมเพราะตลาดและกำไรมหาศาล
ในความคิดของผม ไทยเราเป็นผู้ซื้อที่ดีเกินไป และเราเริ่มช้ากว่าแน่ ๆ ทั้งนี้อาจเป็นเรื่องปัจจัยการเมืองหรือภูมิรัฐศาสตร์ของเราที่ต่างจากญี่ปุ่นเพราะเราเชื่อใจอังกฤษมากไปก็ไม่ได้เนื่องจากเห็นตัวอย่างการเข้ายึดครองพม่าของอังกฤษและการยึดครองอินโดจีนโดยฝรั่งเศส ผิดกับญี่ปุ่นที่เป็นเกาะและในขณะเดียวกันอังกฤษก็กำลังยุ่ง ๆ อยู่กับจีน ช่วงสงครามฝิ่น (1839-42) รวมถึงฝรั่งเศสกับอังกฤษก็มีสงครามกับจีน
ก็น่าเสียดายเพราะถ้าพอไทยเรามีองค์ความรู้มันก็สามารถต่อยอดได้ แล้วการประสานกันของเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้
สุดท้ายรอบนี้กับรถไฟความเร็วสูงกับข่าวนี้ หวังว่าจะทำให้เรากลับมาพัฒนาทางระบบรางได้อีกครั้งหนึ่ง แล้วได้สร้างอะไรเองกับเขาบ้าง แม้ว่าระบบรางมันอาจจะไม่ใช่คลื่นลูกล่าสุดของเทคโนโลยีก็ตาม ส่วนตัวผมหวังให้เราจับคลื่น Biotech กับ Infotech มากกว่าเพราะลงทุนกับสมองและไอเดีย ในขณะที่รถไฟใช้งบสูง แต่คำถามคือระบบการศึกษาเราพร้อมหรือยัง นี่ยังเป็นประเด็นใหญ่
ในตอนต่อไปจะพาท่านไปเปิดให้รู้ว่าไม่ใช่แค่รถไฟเท่านั้นที่ญี่ปุ่นสร้างได้ เพราะพอมีคนความรู้ มีประสบการณ์ มีความสามารถ ก็ทำของอื่น ๆ ได้ พอผลิตก็ต้องการตลาดและสร้างผลิตภัณฑ์ออกขายสะสมความมั่งคั่งและพลังอำนาจของชาติต่อไป
สามารถตามอ่านเรื่องราวการพัฒนาของญี่ปุ่นได้ตามนี้เลยครับ
1.การกบฎและการเรียนรู้
2.เปิดมาก เรียนมาก รู้มาก
References
หนังสือ Early Japanese Railways 1853-1914: Engineering Triumphs That Transformed Meiji-era Japan บทที่ 1
โฆษณา