23 มิ.ย. 2020 เวลา 19:05 • ไลฟ์สไตล์
มารู้จักโคโดคูชิ kodokushi (孤独死) หรือการตายอย่างโดดเดี่ยว
ชายอายุราวๆ 50 ปีคนหนึ่งอาศัยอยู่ในห้องพักขนาด 6 เสื่อในอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งโตเกียว หลังจากการหย่าร้างกับภรรยา เขาตัดสินใจเช่าห้องนี้อาศัยอยู่ตามลำพังมาตลอด 5 ปี ชายผู้นี้เป็นคนเงียบๆ ค่อนข้างเก็บตัว ทุกอาทิตย์เขาจะออกไปซุปเปอร์มาร์เกตใกล้บ้านเพื่อซื้อเบียร์และอาหารสำหรับ 1 อาทิตย์เท่านั้น
จนกระทั่งวันหนึ่งในฤดูร้อน...ข้างห้องเริ่มได้กลิ่นเหม็นรุนแรงออกมาจากห้องชายผู้นี้ เธอจึงแจ้งผู้ดูแลอพาร์ทเมนต์ ผู้ดูแลใช้กุญแจสำรองไขเข้าไปในห้อง
ทันทีที่เปิดประตู กลิ่นเหม็นรุนแรงปะทะจมูกของผู้ดูแล ในห้องเต็มไปด้วยกองขยะขนาดมหึมาและมีขวดเบียร์ล้มระเนระนาดเต็มไปทั่วพื้นที่ เบื้องหลังกองขยะ ผู้ดูแลพบร่างของชายผู้เช่าห้องนอนเสียชีวิต น้ำเหลืองซึมเปื้อนฟูกที่นอนและมีบางส่วนซึมลงบนพื้นเสื่อทาทามิ
จากการสอบสวนของตำรวจพบว่าชายผู้นี้เสียชีวิตโดยการฆ่าตัวตาย สันนิษฐานว่าเสียชีวิตมานานกว่า 3 อาทิตย์แล้ว......
ในปัจจุบันการเสียชีวิตในลักษณะนี้มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในแต่ละปี การเสียชีวิตแบบโคโดคูชิในญี่ปุ่นมีมากถึงราวๆ 40,000 ราย หรือมีคนที่ตายอย่างโดดเดี่ยว 3 คนในทุกๆ ชั่วโมงส่วนสาเหตุการเสียชีวิตมักจะเกิดจากการที่คนๆ นั้นมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับครอบครัวและสังคมรอบข้าง พวกเขาจึงเลือกที่จะอยู่แยกตัวออกมาตามลำพังและหันหลังให้กับสังคม นานวันเข้าจนทำให้เกิดความว้าเหว่ และหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นจนไม่สามารถแก้ได้ก็อาจจะเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองเป็นทางออก
โคโดคูชิเริ่มมีการพูดถึงในญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อไหร่
ในช่วงปี 2000 ได้มีคดีที่น่าตกใจเกี่ยวกับกับพบโครงกระดูกของชายอายุ 69 ปี ซึ่งเป็นการค้นพบหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว 3 ปี!!!!!! เนื่องจากค่าใช้จ่ายรายเดือนต่างๆ ถูกหักอัตโนมัติผ่านบัญชีธนาคารจนกระทั่งเงินในบัญชีหมดลง จึงมีการติดต่อและพบว่าเจ้าของบัญชีกลายเป็นโครงกระดูกเรียบร้อยแล้ว (แปลง่ายๆ ว่าถ้าเงินยังไม่หมดบัญชีก็จะไม่ถูกพบเลย)
ตัวอย่างของห้องที่มีโคโดคูชิ ซ้ายคือสภาพห้องก่อนทำความสะอาด ขวาคือภาพหลังจากทำความสะอาด (ภาพประกอบบทความไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาด้านบน) ที่มา Shiho Fukuda/ Washington Post
สภาพห้องที่มีผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเช่นนี้มักจะมีลักษณะคล้ายกันคือ จะมีขยะกองเต็มไปหมดเลยค่ะ แล้วเมื่อมีผู้เสียชีวิตในห้อง ผู้ดูแลอพาร์ทเมนต์เองก็คงจะจ้างแม่บ้านธรรมดามาทำความสะอาดไม่ไหวเพราะห้องก็น่าจะเต็มไปด้วยเชื้อโรคแน่นอน
ดังนั้นเมื่อโคโดคูชิเพิ่มจำนวนมากขึ้น ธุรกิจทำความสะอาดห้องที่มีโคโดคูชิก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว มีตัวเลขคร่าวๆ ในปี 2017 ว่ามีบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้มากถึง 4,000 แห่งเลยทีเดียว
เชื่อหรือไม่ว่าในปี 2010 บริษัทขนย้ายในโอซาก้าเล่าว่า 20% ของการว่าจ้างนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับโคโดคูชิ และครึ่งหนึ่งของการว่าจ้างบริษัททำความสะอาดในโตเกียวล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะโคโดคูชิทั้งสิ้น
เรามารู้จักธุรกิจนี้กันค่ะ
บริษัท ToDo company เป็นหนึ่งในบริษัทที่รับทำความสะอาดบ้านหลังจากที่มีการเคลื่อนย้ายศพออกจากห้องออกไป โดยทีมทำความสะอาดจะเริ่มงานกันตั้งแต่ 6 โมงเช้าหลังจากที่ได้รับบรีฟและแบ่งหน้าที่ และงานจะสิ้นสุดประมาณบ่าย 3 โมง โดยอัตราค่าบริการในการทำความสะอาดแต่ละครั้งจะอยู่ที่ราวๆ 92,000 -150,000 บาท (โอ้วว)
ที่มา:AFP
ทีมทำความสะอาดจะต้องแต่งกายอย่างมิดชิดในชุดป้องกันเชื้อเพื่อป้องกันเชื้อโรคเพราะในบางครั้งอาจจะมีแมลงที่สามารถเป็นพาหะของเชื้อโรค
ทีมทำความสะอาดจะใส่ชุดป้องกันเต็มที่ (ที่มาShiho Fukuda/ Washington Post)
การทำความสะอาดจะเริ่มจากการเก็บกวาดขยะทั้งหมดในห้อง และเก็บเอาของที่เป็นความทรงจำของเจ้าของห้องเพื่อนำไปคืนให้กับญาติ ก่อนจะฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ปิดท้ายโดยการทำพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิต ก่อนจะนำข้าวของของผู้ตายส่งมอบต่อให้กับญาติ ซึ่งในบางครั้งญาติก็ปฏิเสธที่จะรับของเหล่านี้ หรือติดต่อญาติไม่ได้ บริษัทก็จะนำมันไปไว้ที่วัดเพื่อเผาทำลาย
ทีมทำความสะอาดทำพิธีบวงสรวงก่อนนำข้าวของส่งคืนญาติ/ ที่มา Toru Hanai/ Reuters
มิยู โคจิมะ เด็กสาวอายุปัจจุบัน 27 ปี เป็นหนึ่งในทีมทำความสะอาดของ ToDo Company เธอเล่าว่า การทำความสะอาดในห้องที่มีคนเสียชีวิตโดยเฉพาะเป็นการตายอย่างโดดเดี่ยวไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งหากเป็นการพบศพหลังจากเวลาผ่านไปนานก็ยิ่งทำความสะอาดได้ยาก ซึ่งในบางครั้งศพถูกพบหลังจากเสียชีวิตไปนานแล้วหลายเดือน (มิยูเล่าว่าสถิติที่เธอเคยเจอคือ 8 เดือน) นอกจากเจ้าของห้องแล้ว ส่วนใหญ่เธอมักจะพบซากของสัตว์เลี้ยงตายอยู่หน้าประตูเพราะไม่สามารถออกมาจากห้องได้ และในช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่งานของบริษัทจะเยอะที่สุด นอกจากการเสียชีวิตแบบโคโดคูชิแล้ว ToDo Company ยังรับทำความสะอาดให้บ้านที่เจ้าของเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ถูกฆาตกรรม หรือแม้แต่ฆ่าตัวตาย
โคโดคูชิและวัฒนธรรมทางสังคมที่เปลี่ยนไปของญี่ปุ่น
ปัจจุบันขนาดครอบครัวของคนญี่ปุ่นมีขนาดเล็กลง สภาพครอบครัวที่เคยอยู่อาศัยด้วยกันเริ่มเปลี่ยนไปเป็นการอาศัยอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยทำงานที่มีความคิดที่จะไม่มีคู่ครอง เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะตอบสนองปัจจัยความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ปัจจุบันก็มีให้เลือกมากมาย แถมซื้อได้ด้วยเงินอีกต่างหาก (ความต้องการพื้นฐานเช่น กิน- แอปสั่งอาหารเยอะแยะ ดูหนัง- เข้า Netflix หาคนคุย -เข้าTender โลด เผือกเรื่องชาวบ้าน -เข้า FB, IG, Twitter หรือแม้แต่ Sex ก็เข้า..... หรือซื้อ.....ได้ (อันนี้แอดเว้นไว้ให้เติมตามความพอใจค่ะ อิอิ)) ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงมองว่าการอยู่คนเดียวดีกว่าการสร้างความสัมพันธ์แล้วกลัวจะต้องช้ำรักในภายหลัง ดังนั้นสังคมญี่ปุ่นในอีกซัก 20-30 ปีข้างหน้าค่อนข้างที่จะน่าเป็นห่วงในแง่ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ แถมยังมีปัญหาการอยู่ตามลำพังกันอีกต่างหาก
ที่มา Nicholas Doherty from Upsplash
อย่างไรก็ตาม โคโดคูชิในญี่ปุ่นจะพบมากในชายวัยกลางคน ซึ่งอาจจะมีที่มาทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ สุขภาพ และปัญหาทางด้านจิตใจที่ไม่สามารถหาทางออกและเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง
การอาศัยอยู่ตัวคนเดียว VS การตายอย่างโดดเดี่ยว
แท้จริงแล้ว ไม่เพียงแค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่กำลังเจอวิกฤติ "การตายอย่างโดดเดี่ยวของประชากร" หากแต่เกือบทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหานี้ ด้วย "ความเป็นเมือง สภาพแวดล้อมทางสังคม และยุคสมัย" ของโลก ทำให้เทรนด์ปัจจุบันเริ่มมีคนเลือกที่จะอยู่อาศัยคนเดียว (single person household) เพิ่มขึ้น คิดเป็นราวๆ 15% ของประชากรทั่วโลก หรือประมาณ 300 ล้านคนเลยทีเดียว โดยประเทศในยุโรปคือผู้นำเทรนด์
ราวๆ 40-50% ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และสวีเดนอาศัยอยู่คนเดียว เอสโตเนีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ลิทัวเนีย ญี่ปุ่นบัลแกเรีย มีผู้อาศัยอยู่คนเดียวราวๆ 35-40% ในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 28%
ยิ่งไปกว่าการอาศัยอยู่ตัวคนเดียวแล้วนั้น การขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ในปัจจุบันคนส่วนมากยังไม่เคยเห็นหน้าตาของเพื่อนบ้านเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์และนำไปสู่ความโดดเดี่ยวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แอดไม่ได้หมายความว่าการอาศัยอยู่คนเดียว ทำให้เกิดความว้าเหว่ซึมเศร้า และนำไปสู่การตายอย่างโดดเดี่ยวเสมอไป แต่การอาศัยอยู่คนเดียวยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดการตายอย่างโดดเดี่ยวทั้งจากอุบัติเหตุหรือโรคประจำตัวกำเริบก็เป็นได้
ปิดท้ายด้วยสารคดีที่เกียวกับโคโดคูชิ การทำความสะอาด และการจัดการกับสิ่งของของผู้เสียชีวิตค่ะ
//คำเตือน อาจมีภาพที่ทำให้ไม่สบายใจค่ะ
ขออภัยที่แอดหายไปนานเพราะไปนอนคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีค่ะ พอคิดแล้วก็ไปแกะหาข้อมูลมาเล่าให้ฟัง
ยินดีน้อมรับคำติชม และฝากกดติดตามด้วยนะคะ //ไหว้ย่อ
โฆษณา