21 มิ.ย. 2020 เวลา 12:42 • ธุรกิจ
หลายคนคงจะคุ้นหูกับวลีที่บอกว่า “ไทยคือประเทศกำลังพัฒนา” แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าจริงๆแล้วไทยก็มีอีกหนึ่งสถานะซึ่งก็คือ “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” ที่ประชาชนมีรายได้อยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางสูงนั่นเอง
ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Countries, NICs) เป็นการจำแนกประเทศในทางเศรษฐศาสตร์ในลักษณะเดียวกันกับที่เคยจำแนกเป็นประเภทเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยนั้นมีสถานะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว
อธิบายง่ายๆ คือ ประเทศอุตสาหกรรมใหม่เป็นประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจยังไม่เจริญเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วแต่ก็ใกล้เคียง ประชาชนมีรายได้ต่อตัวอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางสูง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีการลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีบริษัทข้ามชาติเข้ามาเปิดธุรกิจในหลายภาคส่วนและมีการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
นอกจากนี้ประเทศอุตสากหรรมใหม่ยังมีการเปลี่ยนผ่านสังคมจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานจากชนบทเพื่อเข้ามาหางานทำและอยู่อาศัยในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ตามภูมิภาคแทนที่การทำเกษตรกรรมแบบเมื่อก่อน
1
ประเทศที่มีสถานะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เหมือนกับไทยมีอยู่หลายประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ตุรกี บราซิล เม็กซิโกและแอฟริกาใต้
และเชื่อหรือไม่ว่าการเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมนั้นก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จนในที่สุดประเทศก็ก้าวข้ามผ่านสถานะประเทศกำลังพัฒนาไปสู่สถานะประเทศที่พัฒนาแล้ว
ซึ่งทางภาครัฐเองก็ได้มีส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตใน 5 หมวด เพื่อเป็นตัวเร่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่
1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics)
2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
4. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
โฆษณา