22 มิ.ย. 2020 เวลา 10:48 • ธุรกิจ
การเรียนรู้กลยุทธ์และสไตล์การลงทุนของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เป็นเรื่องที่จะช่วยให้เราได้ตัวอย่างของแนวคิดและวิธีการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเราจะสามารถเลือกแบบที่เหมาะกับสไตล์ของเรา ในวันนี้ผมขอพูดถึง “การลงทุนแบบดันโด” ซึ่งสรุปรวบยอดความรู้มาจากหนังสือ The Dhandho Investor เขียนโดยโมนิช พาไบร แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยคุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ วิสดอมเวิร์ค เพรส หนังสือเล่มนี้แปลชื่อการลงทุนแบบดันโดว่า “กลยุทธ์การลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูง” แนวคิดของกลยุทธ์นี้สะกิดใจผมในฐานะนักการเงินที่ถูกพร่ำสอนมาตลอดว่า “ถ้าความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับก็จะต่ำด้วย (Low Risk Low Expected Return)” ถ้ามีวิธีการลงทุนที่ทำให้ความเสี่ยงต่ำ แต่ได้รับอัตราผลตอบแทนสูงด้วย วิธีการนี้ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย
“โมนิช พาไบร” (Mohnish Pabrai) เป็นนักธุรกิจและนักลงทุนชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ซึ่งคลุกคลีกับธุรกิจด้าน IT มาก่อน เขาก่อตั้ง Transtech Inc ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบ IT ขึ้นในปี ค.ศ. 1991 ด้วยเงินลงทุนตนเองเพียง 30,000 ดอลลาร์ และจากหนี้บัตรเครดิต 70,000 ดอลลาร์ เขาพัฒนาธุรกิจของบริษัทจนเติบโตและขายบริษัทออกไปในปี ค.ศ. 2000 ให้แก่ Kurt Salmon Associates ในราคาประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันเขาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ Pabrai Investment Funds ซึ่งเป็นธุรกิจด้านการลงทุนที่ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1999 ด้วยความที่เป็นคนเชื้อสายอินเดีย ซึ่งเก่งกาจด้านการทำธุรกิจไม่แพ้ใคร โมนิช พาไบร ได้สังเกตและรวบรวมเคล็ดลับของนักธุรกิจเชื้อสายอินเดียที่มาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มตระกูล “พาเทล” ซึ่งมาจากรัฐกุจราช ประเทศอินเดีย ที่ครอบครองธุรกิจโมเต็ลกว่าครึ่งในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้เพิ่งอพยพเข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐฯ เมื่อทศวรรษ 1970 ที่ผ่านมานี้เอง โมนิช พาไบร ได้สังเกตแนวคิดและเคล็ดลับการทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับการลงทุนในหุ้นได้ โดยตั้งชื่อว่า “การลงทุนแบบดันโด”
 
“ดันโด” (Dhandho) เป็นคำจากภาษากุจาราตี โดย “Dhan” มาจากคำว่า “Dhana” หรือธนา ซึ่งหมายถึง “เงินหรือความมั่งคั่ง” และ “Dhando” แปลได้ว่า “ความพยายามสร้างความมั่งคั่ง” เมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ แนวคิดดันโดจะเกี่ยวข้องกับการพยายามขยายผลตอบแทนให้สูงสุด ขณะที่จำกัดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำสุด ผู้เขียน (โดยผู้แปล) สรุปแนวคิดให้เป็นภาษาชาวบ้านเข้าใจแนวคิดแบบดันโดอย่างง่ายๆ ว่า “ออกหัว ผมได้เงิน ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย”
ลักษณะเด่นของวิถีแห่งดันโด
โมนิช พาไบร หยิบยกเอากรณีศึกษาของ “ปาปา พาเทล” (Papa Patel) ผู้อพยพเชื้อสายอินเดียที่พาครอบครัวหนีตายมาจากยูกันดาของจอมเผด็จการ อีดี้ อามิน ในช่วงทศวรรษ 1970 และต้องดิ้นรนทำงานอย่างหนักในการเป็นลูกจ้างร้านขายของชำเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด ในทศวรรษ 1970 นี้เองเกิดวิกฤตราคาน้ำมันที่สูงขึ้นหรือเรียกว่า “Oil Shock” ครั้งแรกของโลก ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วไปของโลกรวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย ผลดังกล่าวกระทบต่อธุรกิจโมเต็ลที่จัดอยู่ในกลุ่มการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แม้ผู้คนจะจำเป็นต้องเดินทาง แต่ความต้องการที่จะเข้าพักก็ลดลงไปอย่างมาก สิ่งที่ตามมาก็คือ ปัญหาหนี้เสียในธุรกิจโมเต็ลของธนาคารพาณิชย์เริ่มสูงขึ้น ธนาคารบางแห่งยึดโมเต็ลมาประกาศขายทอดตลาดในราคาถูก ปาปา พาเทล เห็นโอกาสนี้เขาเข้าซื้อโมเต็ลเล็กๆ ขนาด 20 ห้อง โดยรวบรวมเงินของตนเองและญาติๆ มาได้เพียง 5,000 ดอลลาร์ และขอกู้โดยค้ำประกันส่วนตัวในอัตราสูงถึงประมาณ 90% ของราคาขาย ซึ่งธนาคารก็ต้องยอม เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องแบกภาระหนี้เสียต่อไป เขาและครอบครัวบริหารและพักอาศัยอยู่ในโมเต็ลนี้ด้วย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ นอกจากนี้ จุดเด่นของการควบคุมต้นทุนให้ต่ำที่สุดโดยทำงานเองทุกอย่าง รวมทั้งลดราคาห้องพักให้ต่ำลงมาให้ได้มากที่สุด ทำให้โมเต็ลของ ปาปา พาเทล สามารถอยู่รอดมาได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ
 
ตอนที่ ปาปา พาเทล ตัดสินใจว่าจะลงทุนในโมเต็ลนี้ สังเกตได้ว่าเขากำหนดหลักการสำคัญๆ ไว้ดังนี้
 
1. ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ดำเนินงานอยู่แล้ว ไม่ผันผวน มีประวัติการสร้างกำไรและกระแสเงินสดมายาวนานลักษณะธุรกิจไม่ซับซ้อน ถ้าควบคุมต้นทุนต่ำได้จะได้เปรียบเชิงแข่งขัน
 
2. แม้ว่าในขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจจะตกต่ำ แต่ถ้าในอนาคตภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น จะส่งผลดีต่อกำไรและผลตอบแทนสูงมาก ถ้าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายใต้การควบคุมต้นทุนให้ต่ำถึงขีดสุด (ซึ่งครอบครัวนี้ทำได้แน่) ธุรกิจนี้ก็จะยังคงให้กำไร แต่ถ้าโชคร้ายเศรษฐกิจตกต่ำมากที่สุด (ซึ่งความน่าจะเป็นไม่สูง) ผลประกอบการย่ำแย่ ชำระหนี้ไม่ได้ ธนาคารเข้ามายึดทรัพย์สิน ก็ยึดได้แต่โรงแรม ตัวเขาเองไม่มีทรัพย์สินใด อย่างมากเขาก็กลับไปทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายของชำแล้วค่อยๆ ผ่อนหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป
 
หลักการในข้อ 2 นี้ เป็นที่มาของแนวคิดว่า “ออกหัว ผมได้เงิน ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย” ซึ่ง
ปาปา พาเทล รู้อยู่แล้วว่าโอกาสออกก้อยมีน้อยกว่า ทำให้ ปาปา พาเทล มีโอกาสขยายผลตอบแทนจาก
การลงทุนได้มาก ในขณะที่สามารถควบคุมความเสี่ยงจากการลงทุนได้ ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะผันผวนมากหรือน้อยก็ตาม นักการเงินมองว่าความผันผวน (ของเหตุการณ์) คือ ความเสี่ยง จึงระบุว่า High Risk High Return แต่ในมุมมองของ ปาปา พาเทลแล้ว แม้ว่าสภาวะการณ์จะผันผวน แต่ถ้าควบคุมความเสี่ยงโดยจัดการให้อยู่ในระดับต่ำได้ โอกาสที่จะได้อัตราผลตอบแทนสูงก็ย่อมมีความเป็นไปได้
 
บางคนอาจคิดว่า ปาปา พาเทล อาศัยเหตุการณ์ Oil Shock ในยุคทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นเหตุการณ์พิเศษและอาจไม่เหมือนยุคอื่น และวิถีแห่งดันโดนี้จะประยุกต์ใช้ได้กับช่วงเวลาอื่นหรือไม่ ผู้เขียนได้ยกกรณีศึกษาอื่นๆ ในช่วงเวลาอื่นๆ เพื่อยืนยันกฎของดันโด
 
· กรณีศึกษาของ มณีลาล ชอธุรี
“มณีลาล ชอธุรี” เป็นนักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายอินเดียที่ลงทุนในธุรกิจโมเต็ลเช่นกัน แต่อดีตนักบัญชีจากอินเดียคนนี้เข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐฯ ในปี 1991 โดยเริ่มจากการทำงานอย่างหนักในปั๊มน้ำมันและเป็นนักบัญชีของบริษัทผู้ผลิตแหล่งจ่ายไฟสำหรับคอมพิวเตอร์ เขาพยายามเก็บออมเงินเพื่อจะเอาไปลงทุน แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะลงทุนในธุรกิจโมเต็ลเสียที จังหวะของมณีลาลมาถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์ 9-11 ทำให้ภาวะการท่องเที่ยวเกิดภาวะชะงักงันคล้ายกับในช่วงทศวรรษ 1970 มณีลาลใช้โอกาสนี้เข้าซื้อธุรกิจโมเต็ลในราคาถูกทันที เขาใช้แบบจำลองธุรกิจคล้ายกับ ปาปา พาเทล วิถีแห่งดันโดเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากแนวคิด “ออกหัว ผมได้เงิน ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย” ซึ่งจะมองหาธุรกิจที่ดำเนินงานอยู่แล้ว และเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน โดยมีสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากกรณีของปาปา พาเทล คือ “เดิมพันน้อยอย่าง เดิมพันหนักๆ ไม่เดิมพันบ่อย”
 
· กรณีศึกษาของ ลักษมี มิตทาล
“ลักษมี มิตทาล” (Lakshmi Mittal) เจ้าพ่อธุรกิจเหล็กเชื้อสายอินเดียที่รวยอันดับ 3 ของโลก รองจาก บิล เกตส์ และ วอร์เรน บัพเฟตต์ เท่านั้น มิตทาลเป็นเจ้าของธุรกิจเหล็กที่เขาสร้างและควบรวมมาเกือบทั่วโลก โดยการเข้าเทคโอเวอร์บริษัทเหล็กในหลายๆ ประเทศ เขาได้ของราคาถูกที่กำลังแย่ ซื้อแล้วเขาก็นำมาบริหารให้เกิดประสิทธิภาพ ในบางกรณีที่เข้าไปช่วยธุรกิจเหล็กของบางประเทศ เช่น Karmet Steel Works ของคาซัคสถาน เขาช่วยรักษาคนงานและธุรกิจของเมืองนี้เอาไว้ มิตทาลได้รับความเคารพและศรัทธาเป็นอย่างมาก เส้นทางความมั่งคั่งของมิตทาลอยู่บนการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิเคราะห์ที่มองว่าธุรกิจเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่แย่ เพราะควบคุมราคาขายไม่ได้ ต้องใช้เงินลงทุนสูง เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีธุรกิจเหล็กที่ล้มละลายจำนวนมาก แต่มิตทาลมองต่างจากคนอื่น เขาคอยจังหวะเข้าซื้อในราคาถูกและนำมาบริหารให้ดี มีต้นทุนต่ำ ทำให้เขายืนหยัดอยู่ได้ นี่ก็เข้าข่ายการลงทุนตามแนวคิดแห่งวิถีดันโดเหมือนกัน ซึ่งสามารถใช้ได้กับธุรกิจเหล็ก ซึ่งเป็นธุรกิจต้องต่อสู้อย่างมาก และลักษณะธุรกิจก็ไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มิตทาลต้องว่ายทวนน้ำด้วยซ้ำ แต่เขาก็สามารถร่ำรวยเป็นอันดับ 3 ของโลกได้
 
· กรณีศึกษาของ ริชาร์ด แบรนสัน
วิถีแห่งดันโดไม่ได้ใช้ได้ผลเฉพาะคนเชื้อสายอินเดียเท่านั้น แต่มันใช้ได้กับคนทั่วไป ยกตัวอย่างกรณีของ “ริชาร์ด แบรนสัน” (Richard Branson) ผู้ก่อตั้งสายการบิน Virgin Atlantic ก็เริ่มต้นธุรกิจสายการบินโดยใช้เงินลงทุนน้อยมาก และสามารถควบคุมความเสี่ยงให้ต่ำได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจการบินเลย รู้แต่ธุรกิจการแต่งเพลงหรือค่ายเพลงเท่านั้น เขามองเห็นช่องว่างในการทำสายการบินต้นทุนต่ำโดยการเช่าเครื่องบิน ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายหลังจากบินไปแล้ว ทำให้เขามีรายรับจากการจำหน่ายตั๋วเข้ามาก่อน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องบิน เพราะสามารถเช่าเครื่องบินในระยะสั้นๆ จากโบอิ้งได้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจของ Virgin ขยายตัวออกไปอย่างมาก และถ้าสังเกตให้ดีธุรกิจนี้ก็เป็นสไตล์วิถีแห่งดันโดเช่นกัน
 
สิ่งที่ผมประทับใจที่สุด ในฐานะของผู้ตีความและเอามาเขียนสรุปประเด็นสำคัญให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้กันก็คือบางครั้งเวลาที่เราเข้าไปลงทุนในตลาดที่มีความผันผวนมากๆ ซึ่งนักการเงินเรียกว่า “มีความเสี่ยงสูง” เราย่อมต้องการผลตอบแทนสูงๆ เพื่อชดเชยความเสี่ยงนั้น แต่สิ่งผมเห็น คือ เรามักไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ แถมยังพบว่าคนส่วนใหญ่มักจะขาดทุนเมื่อตลาดมีความผันผวน ทำให้รู้สึกว่า “เรามีความเสี่ยงสูง (High Risk) แต่ไม่เห็นจะได้ผลตอบแทนสูง (High Return) ตามไปด้วยเลย” แต่เมื่อได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีแห่งดันโด ทำให้ผมเห็นแนวคิดที่ต่อยอดความรู้เพิ่มเติมว่า... ภายใต้ความผันผวนสูง ถ้าเราสามารถควบคุมความเสี่ยงให้ต่ำได้ เราก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนในอัตราที่เราพึงพอใจได้ ซึ่งชาวดันโดเรียกวิธีนี้ว่า “ลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่มีความไม่แน่นอนสูง”
โฆษณา