22 มิ.ย. 2020 เวลา 11:05 • ธุรกิจ
โมนิช พาไบร (Mohnish Pabrai) ผู้เขียน “นักลงทุนดันโด” ได้ใช้แนวคิดแบบดันโดนี้ในการสร้างธุรกิจ Transtech, Inc. ซึ่งเป็นธุรกิจให้คำปรึกษาระบบ IT ขึ้นในปี 1990 ขณะที่มีอายุ 25 ปี เขาใช้เงินลงทุนไม่มากจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและหนี้บัตรเครดิต ตรงนี้ถือว่า “เดิมพันน้อยอย่าง แต่เดิมพันหนักๆ” ถ้าธุรกิจไปไม่ได้อย่างมากเขาก็จะกลับไปทำงานประจำ เขารอจนได้ลูกค้ารายแรกและมีรายได้เกิน 200,000 ดอลลาร์ต่อปี จึงค่อยลาออกจากงานประจำ การควบคุมความเสี่ยงให้ต่ำลงเช่นนี้ เป็นสถานการณ์คลาสสิคที่เรียกว่า “ออกหัว ผมได้เงิน ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย” ธุรกิจของ Transtech เป็นไปได้ด้วยดี ภายในเวลา 10 ปี บริษัทมีรายได้สูงกว่า 20 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ในปี 2000 เขาขายบริษัทออกไปในราคาหลายล้านดอลลาร์คิดเป็นอัตราผลตอบแทนกว่า 150 เท่า หรือสูงกว่า 65% ต่อปี ปัจจุบันโมนิช พาไบร เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ Pabrai Investment Funds กองทุนของเขาสามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปีได้สูงกว่า 28% ถือว่าเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่ารุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง
1
แน่ละ… กลยุทธ์การลงทุนของเขาย่อมมาจาก “วิถีแห่งดันโด” นั่นเอง
 
สรุปกลยุทธ์การลงทุนแบบดันโด
โมนิช พาไบร สรุปแนวคิดแบบดันโดเอาไว้ดังนี้
· ลงทุนในธุรกิจที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว
· ลงทุนในธุรกิจที่เรียบง่าย
· ลงทุนในธุรกิจที่มีปัญหาในอุตสาหกรรมซึ่งกำลังอยู่ในภาวะความยากลำบาก
· ลงทุนในธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอันยั่งยืน
· เดิมพันน้อยอย่าง เดิมพันหนักๆ ไม่เดิมพันบ่อย
· มองหาโอกาสทำอาร์บิทราจ (ซื้อถูก ขายแพง)
· มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเสมอ
· ลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่มีความไม่แน่นอนสูง
· ลงทุนในพวกเลียนแบบ ไม่ใช่พวกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
 
· ลงทุนในธุรกิจซึ่งมีการดำเนินงานอยู่แล้ว
หุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนมีจำนวนมากมายให้เลือก ทุกบริษัทก็มีการดำเนินงานอยู่แล้ว แต่การลงทุนแบบดันโดตีความเอาไว้ว่า... เราควรเลือกหุ้นที่บริษัทมีโมเดลทางธุรกิจที่ชัดเจน มีประวัติการดำเนินงานยาวนาน จนเราสามารถวิเคราะห์ปัจจัยที่แวดล้อมทั้งภายในและภายนอกธุรกิจได้ เช่นเดียวกับที่ ปาปา พาเทล เริ่มต้นเข้าซื้อโรงแรมที่เปิดดำเนินงานอยู่แล้ว
 
· ลงทุนในธุรกิจที่เรียบง่าย
วิถีแห่งดันโดแนะนำให้เราเลือกหุ้นของบริษัทที่มีลักษณะเรียบง่าย มีการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวน้อย มีประวัติการสร้างรายได้ กระแสเงินสด ผลกำไร มายาวนาน จนเราวิเคราะห์ได้และคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตได้ง่าย ปาปา พาเทล มองเห็นความเรียบง่ายของธุรกิจโมเต็ล เพราะตราบใดที่ผู้คนยังคงเดินทางไกลและต้องการพักผ่อน ธุรกิจโรงแรมก็จะไม่มีวันตาย Transtech ของพาไบร แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรม IT ที่ดูเหมือนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ความเป็นธุรกิจบริการของ Transtech มันจึงเป็นความเรียบง่ายท่ามกลางความวุ่นวาย
 
· ลงทุนในธุรกิจที่มีปัญหาในอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในภาวะความยากลำบาก
ในสถานการณ์วิกฤตที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เช่น ราคาน้ำมันสูง เศรษฐกิจถดถอย ผู้คนลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายชนิดด้วยความรุนแรงต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การตื่นกลัวของนักลงทุน ทำให้เทขายหุ้นของบริษัทต่างๆ ออกมาในราคาถูก ซึ่งในนี้มี “ของดี ราคาถูก” อยู่ด้วยเสมอ เช่น ปาปา พาเทล เข้าซื้อธุรกิจโมเต็ลในช่วง Oil Shock หรือมณีลาล ชอธุรี เข้าสู่ธุรกิจโรงแรมหลังเหตุการณ์ 911 หรือลักษมี มิตทาล เข้าซื้อธุรกิจเหล็กในภาวะอุตสาหกรรมที่กำลังแย่
โดย โมนิช พาไบร ยกคำกล่าวของวอร์เรน บัพเฟตต์ ที่ว่า “จงกลัวในขณะที่คนอื่นๆ กำลังโลภ และจงโลภเมื่อใครๆ ต่างพากันกลัว” พาไบรยังเปรียบเปรยเรื่องการตื่นกลัวของนักลงทุนนี้ว่า... เป็นเรื่องจิตวิทยาธรรมดาๆ นี่เอง คล้ายกับไปเจอราชสีห์ที่คำรามและสมองก็สั่งโดยอัตโนมัติว่า “โกยเถอะเรา” จึงต้องตั้งสติในเรื่องนี้ให้ดี
 
· ลงทุนในธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอันยั่งยืน
ธุรกิจที่มีการบริหารที่ดีจนทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน จะนำมาซึ่งการมีผลการดำเนินงานที่ดีและยั่งยืน มีรากฐานแข็งแกร่งแม้จะพบกับวัฏจักรเศรษฐกิจที่ไม่ดีก็ตาม ความได้เปรียบของ ปาปา พาเทล, มณีลาล ชอธุรี และลักษมี มิตทาล มาจากการมีต้นทุนต่ำสุด ส่วนของ ริชาร์ด แบรนสัน มาจากแบรนด์ นวัตกรรม และที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ การลงมือปฏิบัติอย่างยอดเยี่ยม อย่างไรก็ดี พึงระวังไว้ว่าความได้เปรียบเชิงแข่งขันแบบถาวรไม่มีอยู่จริง เพราะการทำธุรกิจเหมือนการสู้รบกัน เปรียบเสมือนผู้ครอบครองปราสาทที่แข็งแกร่ง พยายามสร้างคูเมืองที่กว้างและลึก เลี้ยงสัตว์ดุร้ายไว้ในคูเมือง แต่ผู้รุกรานก็จะพยายามเข้าโจมตีโดยปรับปรุงกองกำลัง เทคนิค อาวุธ อย่างไม่ลดละ
พาไบรอ้างคำพูดของ ชาร์ลี บังเกอร์ หุ้นส่วนคู่ใจของ วอร์เรน บัพเฟตต์ ที่ว่าในหุ้น 50 ตัวสำคัญของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค เมื่อปี ค.ศ. 1911 เหลืออยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน เพียงตัวเดียว คือ General Electric หลักคิดนี้ในเวลาลงทุน จึงไม่ควรคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตของบริษัทเกิน 10 ปีขึ้นไป
 
· เดิมพันน้อยอย่าง เดิมพันหนักๆ ไม่เดิมพันบ่อย
นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมีเงินจำนวนจำกัด คำถามก็คือว่า... เราจะกล้านำเงินลงทุนจำนวนเท่าไรดีเป็นเดิมพัน
โมนิช พาไบร แนะนำให้ใช้ Kelly Formula ของ จอห์น ลาร์รี เคลลี จูเนียร์ ในการคำนวณหาจำนวนเงินที่เหมาะสมที่สุดที่จะนำมาลงทุน ซึ่งคำนวณได้ดังนี้
Kelly Formula = Edge/Odds
= ผลรวมของความน่าจะเป็นคูณผลตอบแทนหรือผลขาดทุน/ผลตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับจากการชนะเดิมพัน
 
ตัวอย่างเช่น การเดิมพันโยนเหรียญ ถ้าออกหัว เราได้เงิน 2 ดอลลาร์ ถ้าออกก้อยเราจะเสียเงิน 1 ดอลลาร์
จากเกมนี้ เราควรเดิมพันเท่าไรจากเงินทั้งหมดที่เรามีอยู่
แทนค่าในสูตร Edge = (0.5 x $2) + (0.5 x -$1)
= $ 0.5
Odds = $ 2
Kelly Formula = 0.5/2 = 0.25
คำตอบที่ได้ คือ เราควรนำเงินเพียง 25% มาเดิมพันในแต่ละครั้ง
จากตัวอย่างข้างต้น วิถีแห่งดันโดสอนเราว่า… เราจะเดิมพันหนักๆ ได้ ขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนนั้นมีมากหรือไม่ (หรือเรียกว่าเดิมพันมาก เมื่อมีแต้มต่อ) ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เราจึงไม่ควรที่จะเดิมพันด้วยหุ้นหลายตัวมากเกินไป (ถ้าไม่มีอะไรยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่ว่านั้นจริงๆ) ประสบการณ์ของปาปา พาเทล, มณีลาล ชอธุรี เองก็ใช้ Kelly Formula โดยไม่รู้ตัว แม้เขาจะไม่รู้และไม่ได้คำนวณ Kelly Formula แต่พวกเขาต่างก็เดิมพันหนักและเดิมพันน้อยครั้ง เขาจะเดิมพันมากก็ต่อเมื่อมีแต้มต่อเกิดขึ้น
การลงทุนก็คล้ายกัน มันเป็นเรื่องความน่าจะเป็น การมองหาโอกาสการลงทุนที่มีราคาผิดพลาดและการลงทุนหนักๆ เมื่อมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งนี่ก็คือ บัตรผ่านประตูไปสู่โลกแห่งความมั่งคั่ง
โฆษณา