23 มิ.ย. 2020 เวลา 11:11 • ประวัติศาสตร์
“ยุคทองอุตสาหกรรม” รากฐานมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา
2
ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในอังกฤษ
1
และมันได้สร้างให้อังกฤษกลายเป็นชาติที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
อีกร้อยปีต่อมา...
ดินแดนที่เคยเรียกว่า อาณานิคมของอังกฤษ ก็ได้ก้าวตามรอยอังกฤษ
ดินแดนนี้ได้ทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมของตนเอง
และมันก็ได้สร้างให้ดินแดนนี้กลายเป็นชาติที่มั่งคั่งที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน
อีกทั้งยังเป็นรากฐานให้ดินแดนแห่งนี้อยู่ในฐานะมหาอำนาจของโลกร่วมร้อยปี
ทุกท่านครับ นี่คือเรื่องราวยุคพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่ทุกท่านล้วนรู้จักเป็นอย่างดี
ยุคที่ได้เกิดรูปแบบการผลิตแบบใหม่...
ยุคที่ได้สร้างให้ประเทศนี้กลายเป็นมหาอำนาจ...
ยุคที่ความโหดร้ายของทุนนิยมได้แสดงออกมา...
และยุคที่ได้เกิดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ได้ปฏิวัติการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วทั้งโลก...
โทรศัพท์ของอเล็กซานเดอร์ เกรแฮมเบล...
หลอดไฟของโทมัส อัลวา เอดิสัน...
เหล็กกล้าของแอนดรู คาเนกี้...
ธนาคารของเจ พี มอร์แกน...
The Standard Oil Company ของจอห์น ดี ร็อคกีเฟลเลอร์...
รถยนต์และระบบสายพานการผลิตของเฮนรี ฟอร์ด...
และนี่ คือ “ยุคทองอุตสาหกรรม” รากฐานมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ก่อนอื่นทุกท่านต้องทำความเข้าใจกับช่วงเวลาของเรื่องที่ผมกำลังจะเล่าถึงกันก่อนนะครับ...
ยุคสมัยที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาคือตั้งแต่ ค.ศ.1865 ยาวไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 เลยล่ะครับ
ซึ่งใน ค.ศ.1865 นั้น เรียกได้ว่าอเมริกาพึ่งผ่านช่วงเวลาของสงครามกลางเมืองมาครับ
สงครามกลางเมืองที่เกิดจากนโยบายเลิกทาสผิวดำของอับราฮัม ลินคอร์น โดยรัฐทางเหนือต้องการให้เลิกทาสเพราะมองว่าการมีทาสเป็นเรื่องที่ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม แต่รัฐทางใต้ไม่ยอมให้เลิกเพราะทาสนั้นสำคัญกับการทำเกษตรกรรมของรัฐทางใต้
ดังนั้น รัฐทางใต้จึงคิดจะแยกประเทศของตัวเอง แต่รัฐทางเหนือไม่ยอมให้แยก เลยต้องตีกันในที่สุด เกิดเป็นสงครามกลางเมืองอเมริกาใน ค.ศ.1861
ผลสุดท้าย คือรัฐทางเหนือเป็นฝ่ายชนะใน ค.ศ.1865 แล้วอเมริกาก็สามารถเลิกทาสผิวดำได้ในที่สุด
และหลังสงครามกลางเมืองนี่แหละครับ อเมริกาก็ได้เข้าสู่ยุคทองของอุตสาหกรรม...
ภาพจาก Reddit (สงครามกลางเมืองอเมริกา)
ปัจจัยที่ได้ทำให้อเมริกานั้นเข้าสู่ยุคที่อุตสาหกรรมโตเร็วมากๆนั้น คือ สงครามกลางเมืองได้จบไปแล้ว
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ การสร้างทางรถไฟ...
ธุรกิจรถไฟของอเมริกานั้นได้บูมมาตั้งแต่ก่อนสงครามกลางเมืองแล้วครับ เพราะการขยายดินแดนสู่ตะวันตกอย่างรวดเร็วของอเมริกา ทำให้อเมริกามีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมหาศาล (ทุกท่านคงรู้ดีว่าประเทศนี้ใหญ่แค่ไหน) ดังนั้น รถไฟจึงเป็นตัวเลือกที่ดีในการเดินทางและขนส่ง เพราะทั้งถูก เร็ว และปลอดภัย เรียกได้ว่าคุ้มสุดๆเลยล่ะครับ! นักธุรกิจจึงแห่กันมาทำธุรกิจนี้กันอย่างล้นหลาม
ไม่ว่าจะเป็นคอร์เนเลียส แวนเดอร์บิลต์ ที่สร้างทางรถไฟสายนิวยอร์ก-ชิคาโก...
1
เจย์ กูด ที่สร้างทางรถไฟเชื่อมต่อโยงใยไปทั่วฝั่งตะวันตกของอเมริกา...
เลย์แลนด์ สแตนฟอร์ด ที่สร้างทางรถไฟเชื่อมภาคกลาง ใต้ และตะวันตก...
เจมส์ เจ ฮิลล์ ที่สร้างทางรถไฟทางภาคเหนือ...
จะเห็นได้ว่า ในยุคหลังสงครามกลางเมือง ทางรถไฟก็ได้โยงใยไปทั่วประเทศ...
ซึ่งด้วยขนาดพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ของประเทศ ทำให้ทรัพยากรของอเมริกานั้นมหาศาลมากๆ เรียกได้ว่าปั๊มออกมาเท่าไหร่ก็ไม่หมดเลยล่ะครับ!
สิ่งที่ตามมา คือ ทรัพยากรอันมหาศาลนั่นแหละ ก็ได้เคลื่อนย้ายไปทั่วประเทศด้วยรถไฟ...
อุตสาหกรรมใหม่ของอเมริกาจึงผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดและพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด
ภาพจาก Flickr (เส้นทางรถไฟของสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.1860-1869)
แน่นอนครับว่าเมื่อการคมนาคมสะดวกขนาดนี้ สิ่งที่ตามมาคือมีนักลงทุนหน้าใหม่ๆเข้ามาลงทุนกันอย่างคับคั่ง อีกทั้งยังมีคนที่กล้าคิดกล้าทดลองจนเกิดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งบางอย่างได้ยกระดับการใช้ชีวิตของชาวอเมริกันและของโลกอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเลยล่ะครับ
1
ไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์โทรเลขของซามูเอล เอฟ บี มอส ใน ค.ศ.1844
การประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดของคริสโตเฟอร์ โชเลส ใน ค.ศ.1868
การประดิษฐ์โทรศัพท์ของอเล็กซานเดอร์ เกรแฮมเบล ใน ค.ศ.1876
การประดิษฐ์หลอดไฟที่สามารถใช้งานได้ทั่วไปของโทมัส อัลวา เอดิสัน ใน ค.ศ.1878
และอีกหลายๆสิ่งประดิษฐ์กว่า 676,000 ชิ้น ที่ได้มีการจดทะเบียน ซึ่งผมอาจไม่ได้กล่าวถึง...
สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้บางอันไม่ใช่เพียงแค่ยกระดับการใช้ชีวิต แต่ยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาใ้ห้สูงไปอีกขั้น
ภาพจาก Museum American History (โทรศัพท์เครื่องแรกของโลก)
ภาพจาก Pinterest (เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกของโลก)
ภาพจาก Frankin Institute (หลอดไฟที่มีเส้นลวดภายใน)
เรื่องที่เราต้องยอมรับอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมของอเมริกาในยุคนี้เติบโตแบบพรวดพราดนั้น มาจากความกล้าเสี่ยงกล้าลงทุนของนักธุรกิจครับ
ซึ่งจากการกล้าลงทุนและปัจจัยด้านทรัพยากรที่พร้อมก็ได้เกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆในยุคนั้นอย่างมากหน้าหลายตา โดยธุรกิจเหล่านี้ต่างเป็นรากฐานในการสร้างอเมริกาให้เป็นชาติที่มั่งคั่งที่สุดในโลก โดยผมจะเล่าถึงแค่เฉพาะธุรกิจที่โดดเด่นนะครับ ซึ่งได้แก่...
ธุรกิจเหล็กกล้าของแอนดรู คาเนกี้...
ธุรกิจธนาคารของเจ พี มอร์แกน...
ธุรกิจน้ำมันของจอห์น ดี ร็อคกีเฟลเลอร์...
และธุรกิจรถยนต์ของเฮนรี ฟอร์ด...
ภาพจาก ThoughtCo (การก่อสร้างสะพานบรูคลินในทศวรรษ 1880)
เริ่มที่ธุรกิจเหล็กกล้าของแอนดรู คาเนกี้...
โดยแอนดรู คาเนกี้ ไม่ได้เป็นคนอเมริกันโดยกำเนิดครับ แต่เป็นคนสก็อตแลนด์ที่อพยพเข้ามาในดินแดนอเมริกาตอนที่อายุ 12 ปี ซึ่งแอนดรูมีการเปลี่ยนงานไปมาตลอด เป็นคนงานในโรงทอผ้าเอย เป็นพนักงานโทรเลขเอย เป็นเสมียนเอย ซึ่งสิ่งที่สำคัญเลยคือ แอนดรูเป็นคนที่เก็บออมเงินเก่งมาก...
และเมื่ออายุได้ 29 ปีจากประสบการณ์ทำงานมาอย่างโชกโชน แอนดรูก็สังเกตว่า “รถไฟหรือรถยนต์ที่ทำด้วยเหล็กทำไมมันถึงเปราะบางและเสื่อมสภาพได้ง่ายจังเลย ทำไมเราถึงไม่คิดค้นหรือหาวัสดุอย่างอื่นที่ดีกว่าเหล็กมาทำ”
แล้วสิ่งที่แอนดรูมองเห็นคือเหล็กกล้านั่นเองครับ...
แอนดรูจึงทำการเอาเงินออมที่ตัวเองเก็บมาทั้งหมด มาทุ่มให้ธุรกิจเหล็กกล้า ทั้งคิดกระบวนการถลุงเหล็กและตั้งโรงงาน เพราะเขาเชื่อว่ารุ่งแน่ๆ!
แล้วก็เป็นไปตามที่คิดครับ เหล็กกล้ากลายเป็นวัสดุที่นิยมอย่างมากในการก่อสร้างทั่วประเทศ แล้วแอนดรูก็รวมโรงงานถลุงเหล็กให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ The Carnegie Steel Company อีกทั้งแอนดรู คาเนกี้ก็ได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งเหล็กกล้า” ในที่สุดครับ
1
ภาพจาก Urban Issue (แอนดรู คาเนกี้และ Carnegie Steel Company)
ต่อมาคือธุรกิจธนาคารของเจ พี มอร์แกน...
โดยเริ่มที่เจ พี มอร์แกนได้เข้ามาเล่นในธุรกิจการเงินเมื่ออายุ 34 ปีครับ ซึ่งมีการร่วมทุนกับแอนโทนี แดรกเซิล ตั้งบริษัทการเงินและการลงทุนที่ชื่อ The Drexel Morgan & Company ใน ค.ศ.1871
และเมื่อ ค.ศ.1895 เจ พี มอร์แกนก็ได้แยกออกมาทำบริษัทของตัวเอง คือ The J.P. Morgan & Company
โดยความโดดเด่นของเจ พี มอร์แกน คือ เขาได้ลงไปเล่นในธุรกิจรถไฟและเหล็กกล้าด้วยตัวเอง จึงทำให้ธุรกิจทั้งสองนี้มีความมั่นคงทางด้านการเงินสูงมาก! โดยเฉพาะเมื่อเจ พี มอร์แกน ได้ตั้งบริษัท The United States Steel Corporation ใน ค.ศ.1901 และบริษัทนี้ได้ซื้อบริษัทของแอนดรู คาเนกี้ให้เข้ามาอยู่ในเครือของตัวเองได้ในที่สุด ซึ่งยิ่งทำให้ธุรกิจเหล็กกล้าของอเมริกานั้นมั่นคงและยิ่งใหญ่เป็นเบอร์ต้นๆของโลกเลยล่ะครับ!
อีกทั้งธนาคารของเจ พี มอร์แกน ก็กลายเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินหลักของอเมริกาไปร่วมร้อยปี...
ภาพจาก The New York Times (เจ พี มอร์แกน และ The J.P. Morgan & Company)
ธุรกิจต่อมาที่ไม่เล่าคงไม่ได้ครับ นั่นคือ ธุรกิจน้ำมันของจอห์น ดี ร็อคกีเฟลเลอร์
1
เมื่ออุตสาหกรรมเติบโต สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือน้ำมัน โดยธุรกิจน้ำมันเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตไปพร้อมๆกับอุตสาหกรรมของประเทศเลยล่ะครับ
และผู้นำวงการน้ำมันของอเมริกาคงเป็นชื่อที่ทุกท่านคุ้นหูกันดี คือ จอห์น ดี ร็อคกีเฟลเลอร์ ซึ่งเมื่อจอห์น อายุได้ 34 ปี ก็ได้ตั้งบริษัท Standard Oil Company ใน ค.ศ.1870 ซึ่งบริษัทของจอห์นมีสิ่งที่เป็นจุดขาย คือ รถขนน้ำมัน
โดยรถขนน้ำมันของจอห์นสามารถขนน้ำมันได้ทั่วประเทศ ทำให้ตลาดของ Standard Oil Company เรียกได้ว่ากว้างขวางสุดๆเลยล่ะครับ บริษัทจึงเติบโตพรวดพราดครองอันดับหนึ่งของประเทศในธุรกิจน้ำมันภายในเวลาพียง 10 ปี
Standard Oil Company ของจอห์น ดี ร็อคกีเฟลเลอร์ นอกจากจะสร้างฐานการผลิตน้ำมันที่มั่นคงให้อเมริกาซึ่งเป็นข้อดี แต่ก็มีข้อเสียที่ใหญ่หลวงเช่นกันครับ คือ...
Standard Oil Company และร็อคกีเฟลเลอร์รวยเละจนไม่มีใครเทียม...
Standard Oil Company ได้ทำการบีบบังคับและซื้อ จนรวมบริษัทน้ำมันภายในประเทศให้อยู่ภายใต้บริษัทเดียว...
Standard Oil Company ได้ทำให้เราเห็นความโหดร้ายของทุนนิยม...
Standard Oil Company ได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ทรัสต์” ในสหรัฐอเมริกา...
โดยสิ่งที่เรียกว่า “ทรัสต์” คือสิ่งที่เป็นศัตรูร้ายแรงที่สุดของการค้าเสรี...
1
ภาพจาก Oklahoma Mineral Rights (จอห์น ดี ร็อคกีเฟลเลอร์และ Standard Oil Company)
“ทรัสต์ (Trust)” คือ การรวมหุ้นหรือรวมตัวของบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน
ซึ่ง Standard Oil Company ได้ทำให้เกิดทรัสต์ขึ้นมาในอเมริกา
โดย Standard Oil Company เมื่อขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของธุรกิจน้ำมันแล้วก็ได้ทำการบีบหรือกดดันบริษัทน้ำมันใหญ่น้อยอื่นๆให้ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ มีทางรอดเดียวคือต้องขายบริษัทให้ไปรวมกับ Standard Oil Company หรือไม่ก็ต้องล้มละลายไป
ข้อเสียของทรัสต์จึงเกิดขึ้น คือ กลายเป็นว่า Standard Oil Company เป็นผู้เดียวที่สามารถกำหนดราคาน้ำมันภายในประเทศได้ ซึ่งส่งผลกระทบในหลายๆภาคส่วนเลยล่ะครับ
รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐต่างๆก็พยายามจะกำจัดแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะอำนาจเงินของร็อคกีเฟลเลอร์นั้นสูงจริงๆครับ จนสามารถแทรกแซงรัฐบาลได้เลยทีเดียว...
1
อีกทั้งเมื่อ Stanadard Oil Company ทำทรัสต์ได้สำเร็จ แล้วมันทำให้ร็อคกีเฟลเลอร์โคตรอภิมหารวย! มีหรือครับที่บริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทอื่นจะไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง...
ดังนั้น จึงเกิดทรัสต์ขึ้นมาทั่วประเทศเลยล่ะครับ ทั้งทรัสต์รถไฟ ทรัสต์นม ทรัสต์ยาสูบ ฯลฯ
1
เมื่อเกิดทรัสต์ขึ้นมามากมายขนาดนี้ ก็สร้างความเดือดร้อนในวงกว้างสิครับทีนี้ สินค้าที่เป็นบริษัททรัสต์ ราคาจะขึ้นๆลงๆไม่แน่นอน และบริษัทที่ตั้งใหม่หรือบริษัทเล็กๆอย่าหวังเลยครับว่าจะลืมตาอ้าปากหรืออาจหาญมาต่อกรกับบริษัททรัสต์ เพราะจะเจอแต่ความเละตุ้มเป๊ะ...
3
ซึ่งในช่วงนี้เป็นการแสดงให้เห็นความโหดร้ายของทุนนิยมอย่างแท้จริงครับ “คนที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด ส่วนพวกที่อ่อนแอก็ตายลูกเดียว”
2
ดังนั้น เมื่อเป็นแบบนี้รัฐบาลกลางจึงต้องเข้ามาจัดการด้วยตัวเอง...
1
ภาพจาก Fine Art America (การ์ตูนล้อเลียน Standard Oil Company ที่เปรียบเป็นปลาหมึกยักษ์ที่กำลังเขมือบอุตสาหกรรมในประเทศ)
รัฐบาลกลางได้เข้ามาต่อสู้กับทรัสต์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1887 คือการออก พ.ร.บ.การค้าระหว่างรัฐ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมหรือทำลายทรัสต์ได้สำเร็จครับ เพราะอิทธิพลของทรัสต์มีสูงจนเกินไป
ต่อมารัฐบาลก็ได้ออกกฎหมายควบคุมทรัสต์อย่างเต็มรูปแบบ คือ เชอร์แมนแอนตีทรัสต์ ใน ค.ศ.1890 ซึ่งกำหนดว่าทรัสต์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังไม่สำเร็จอยู่ดีครับ เพียงแค่กำจัดทรัสต์ไปได้บางส่วนเท่านั้น แต่ทรัสต์ใหญ่ๆของประเทศก็ยังคงมีอยู่ โดยรัฐบาลยังไม่ต้องการลงโทษอย่างจริงจังเพราะจะส่งผลต่อรัฐบาลเองด้วย (ทรัสต์บางบริษัทมีอิทธิพลทางการเมืองสูงมาก)
จนกระทั่งใน ค.ศ.1901 สมัยของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ที่เป็นต้นกำเนิดของเท็ดดี้แบร์ (ซึ่งไม่เกี่ยวกับทรัสต์นะครับ ผมแค่อยากเล่าเฉยๆ แหะๆ...)
ธีโอดอร์คนนี้นี่แหละครับที่นำเอาเชอร์แมนแอนตีทรัสต์มาใช้ใหม่แบบจริงจังสุดๆ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการกำจัดทรัสต์ให้สิ้นซากเลยล่ะครับ ทั้งยังไม่มีการปรานีใดๆทั้งสิ้น!
ธีโอดอร์ได้สั่งให้รัฐบาลเข้าควบคุมการดำเนินธุรกิจ มีการออกกฎหมายหลายต่อหลายฉบับเพื่อไม่ให้ทรัสต์เกิดขึ้นอีกในประเทศ การกระทำของธีโอดอร์ทำให้ได้รับความนิยมและทำให้ประชาชนเคารพรักสุดๆ ถึงขนาดหนึ่งในหน้าแกะสลักประธานาธิบดีของอเมริกาที่ภูเขารัชมอร์นั้นต้องมีธีโอดอร์ รูสเวลต์เลยล่ะครับ...
1
จนในที่สุด ค.ศ.1912 สมัยของวูดโรว์ วิลสัน ทรัสต์ในสหรัฐอเมริกาก็ถูกทำลายจนหมดสิ้น
การค้าเสรีก็ก่อกำเนิดขึ้นมาใหม่...
อุตสาหกรรมเล็ก อุตสาหกรรมน้อยก็สามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง...
ภาพจาก Snopes (ภูเขารัชมอร์ที่สลักหน้าประธานาธิบดีที่สำคัญของอเมริกา ได้แก่ จอร์จ วอชิงตัน,โทมัส เจฟเฟอร์สัน, ธีโอดอร์ รูสเวลต์, และอับราฮัม ลินคอร์น)
เล่าถึงเรื่องของทรัสต์ซะยาว เพราะฉะนั้นเรากลับมาที่ธุรกิจที่โดดเด่นอย่างสุดท้ายที่ผมจะเล่าถึงในยุคทองอุตสาหกรรมอเมริกากันครับ
ซึ่งบอกได้เลยว่าธุรกิจนี้ถือเป็นการปฏิวัติระบบอุตสาหกรรมของอเมริกาและโลกเลยทีเดียว!
โดยธุรกิจที่ว่า คือ ธุรกิจรถยนต์ของเฮนรี ฟอร์ดนั่นเองครับ...
เฮนรีเกิดในครอบครัวเกษตรกรรมครับ แต่มีความอยากรู้อยากเห็นและสนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว
และเมื่ออายุ 16 ปี เฮนรีก็ได้ไปทำงานเป็นช่างเครื่องที่เมืองดีทรอยต์ การทำงานเป็นช่างเครื่องนี่แหละครับ ที่ทำให้เฮนรีมีพื้นฐานทางด้านเครื่องยนต์ที่แน่นปึ้ก!
หลังจากทำงานอยู่ดีทรอยต์แล้ว เฮนรีก็เข้าไปทำงานกับโทมัส อัลวา เอดิสัน และสามารถสร้างรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้สำเร็จระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นี่
แล้วในที่สุด เฮนรีก็ได้ตัดสินใจแยกตัวไปเปิดบริษัทรถยนต์ของตัวเองใน ค.ศ.1903 คือ Ford Motor Company นั่นเองครับ
เฮนรีมองว่า การผลิตรถยนต์โดยใช้แรงงานคน เป็นอะไรที่ฟุ่มเฟือยสุดๆ กว่าจะผลิตได้แต่ละคัน เสียเวลาไปมหาศาล...
เฮนรีจึงได้ลองนำระบบสายพานเข้ามาเป็นตัวช่วยในการสร้างรถยนต์ดู โดยให้ชิ้นส่วนรถยนต์ไหลไปตามสายพาน แล้วกระจายคนงานใปให้ทั่วสายพาน แล้วประกอบทีละส่วนๆตามจุดของตัวเอง
ปรากฎว่าเวลาที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ 1 คัน คือ เพียง 93 นาทีเท่านั้น! อีกอย่างคือต้นทุนถูกลดไปมหาศาลและรถทุกคันมีมาตรฐานแบบเดียวกัน
เฮนรีจึงคิดเลยครับว่า “วิธีนี้แหละ แจ่มสุดๆ!”
แล้วในที่สุด ค.ศ.1908 รถยนต์รุ่น Ford Model T ที่ผ่านการผลิตโดยใช้สายพาน ก็ออกสู่ตลาดในราคาที่ถูกมากๆเมื่อเทียบกับรถยี่ห้ออื่น จึงทำให้ Ford Model T ทำยอดขายได้ถล่มทลายกว่า 15 ล้านคันเลยล่ะครับ!
ถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการรถยนต์ของทั้งอเมริกาและของโลกเลยทีเดียว...
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ระบบสายพานการผลิตของเฮนรี ฟอร์ด กลายเป็นต้นแบบให้อุตสาหกรรมอื่นๆของอเมริกาเอาไปทำตาม แล้วอุตสาหกรรมก็ได้ก้าวกระโดดขึ้นไปอีกขั้น
ลองคิดดูครับว่าในช่วงทศวรรษ 1910 ที่อเมริกามีทั้งทรัพยากรอันมหาศาลที่แทบไร้ขีดจำกัด + ระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วอย่างระบบสายพาน มันจะทำให้อเมริกาเป็นชาติที่น่ากลัวขนาดไหนเมื่อต้องเข้าสู่สนามรบ
ซึ่งตัวอย่างก็ได้เกิดให้เห็นแล้วทั้งในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ที่เมื่ออเมริกากระโดดเข้าร่วมสงคราม ความได้เปรียบของขั้วอำนาจฝ่ายตรงข้ามก็มักจะเปลี่ยนเสมอ...
ภาพจาก Britannica (ระบบสายพานการผลิตของ Ford Motor Company)
เรียกได้ว่า ยุคอุตสาหกรรมของอเมริกานั้นถือเป็นพื้นฐานให้ประเทศนี้แข็งแกร่งสุดๆไปเลยล่ะครับ
เพราะทั้งเกิดนักประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ นักธุรกิจและแนวคิด ที่ได้ยกระดับอุตสาหกรรมของอเมริกาและปฏิวัติการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วทั้งโลก
ต้องยอมรับครับว่า ประเทศที่เคยเป็นเพียงอาณานิคมของอังกฤษ ได้ทำการประกาศอิสรภาพ แล้วอยู่รอดด้วยลำแข้งของตัวเอง
จากนั้น เพียงร้อยกว่าปี ก็สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นชาติที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
โดยต่อมาก็จะกลายเป็นชาติที่ทรงอิทธิพลต่อโลกมากที่สุดไปร่วมร้อยปี...
และนี่ คือเรื่องราว “ยุคทองอุตสาหกรรม” รากฐานมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา
ภาพจาก Viewing NYC (นิวยอร์ก ทศวรรษ 1910)
อ้างอิง
Chritwood, Oliver. The United States From Colony to World Power. New York : Holt, Rinehart & Winston. 1975.
Fitt, Gilbert C. An Economic History of the United States. Boston : Houghton Mifflin Company. 1965.
Harlow, Ralph Volney. The United States : From Wildenerness to World Power. New York : Oxford University Prrss. 1947.
Ingel, H. I. American History : A Brief View. Boston, Masachusets : Little Brown and Company. 1978.
โฆษณา