23 มิ.ย. 2020 เวลา 06:01
ไม้สักเมืองแพร่ (2)
บทความพิเศษ
ในฐานะคนแพร่ และเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ผมได้รวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นบทเรียนที่ไม่อยากให้เกิดขึ่นต่อไปอีกครับ
/เศร้าใจแทนคนแพร่ครับ
อภิชาติ โตดิลกเวชช์
สมาชิกวุฒิสภา
สรุปเรื่องการรื้อถอนอาคารบอมเบย์ เบอร์มา ภายในสวนรุกชาติเชตวัน จังหวัดแพร่
ประวัติการค้าไม้ และประวัติการเข้ามาของบริษัท บอมเบย์ เบอร์มาในจังหวัดแพร่ การทำป่าไม้ในระยะเริ่มแรกของไทย คือ การทำ “ไม้สัก” ซึ่งพบมากที่สุดในเขตจังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และยังพบประปรายแถบจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชรลงมาถึงอุทัยธานี กาญจนบุรี การเริ่มต้นกิจการทำไม้สักในประเทศไทยเริ่มจากชาวจีนไหหลำที่ต้องการไม้สักมาต่อเรือ เพื่อส่งไปยังเมืองจีนตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่ออังกฤษสามารถเข้ายึดพม่าที่เป็นประเทศที่มีไม้สักมากที่สุดเป็นอาณานิคมเริ่มแรกได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ กิจการการทำไม้สักเพื่อส่งออกจึงเริ่มต้นขึ้น และกระทำอย่างจริงจังเมื่ออังกฤษสามารถยึดพม่าตอนล่างเพิ่มขึ้นได้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งไม้สักที่สำคัญ ชาวอังกฤษตั้งบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา และบริษัทบริติช เบอร์เนียว เพื่อรองรับการค้าไม้ส่งออก ซึ่งตลาดไม้สักที่สำคัญนั้นจะอยู่ในยุโรปและอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หลังจากทำไม้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งก็เริ่มขยายตัวมาทำไม้ในหัวเมืองทางเหนือของสยามเพราะเห็นว่ามีไม้สักมาก คุณภาพดีและราคาถูกกว่าของพม่า ทำให้คนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ เช่น เงี้ยวหรือไทใหญ่ กะเหรี่ยง พม่า เข้ามาขอเช่าทำป่าไม้กับเจ้าผู้ครองนครซึ่งอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๔ ต่อรัชกาลที่ ๕
ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ รัฐบาลไทยเริ่มอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้ารับสัมปทานทำไม้สักในประเทศไทยได้ ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกันคือหลังจาก พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นต้นมา พม่าได้มีการปิดป่าสักไม่ให้มีการทำไม้
เนื่องจากสภาพป่าสักของพม่าเสื่อมโทรมลงอย่างมากจากการทำไม้ของบริษัทต่างชาติ ทำให้ความต้องการไม้สักในหมู่ประเทศยุโรปมีมากขึ้น และเหตุผลข้างต้นทำให้บริษัททำไม้ของยุโรปทะยอยกันเข้ามาตั้งบริษัททำธุรกิจในประเทศไทยหลายบริษัท เริ่มจากบริษัทบริติช เบอร์เนียว จำกัด มาตั้งที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด (Bombay Burma Trading Corporation, Ltd) ของอังกฤษ ซึ่งเป็นใหญ่และมีอิทธิพลมากในประเทศพม่าเข้ามาใน พ.ศ. ๒๔๓๒ และตั้งสาขาอย่างจริงจังที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ บริษัทสยามฟอเรสต์ จำกัด (Siam Forest Company, Ltd) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแองโกลสยาม และแองโกลไทย จำกัด เข้ามาทำป่าไม้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ บริษัทหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ (Louis t.Leonowens Ltd) ซึ่งแยกมาจากบริษัทบริติช บอร์เนียว ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ และบริษัทของชาวเดนมาร์กอีกแห่งหนึ่งคือ บริษัทอิสต์ เอเชียติคส์ จำกัด ตั้งขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๔๘
 
ประวัติอาคารที่ถูกรื้อถอน
อาคารบอมเบย์ เบอร์มา (Bombay Burmah Trading) เป็นอาคารไม้ประยุกต์แบบอาณานิคมอังกฤษ มีอายุกว่า ๑๒๐ ปี ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำยม ภายในสวนรุกขชาติเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งในอดีตอาคารแห่งนี้เป็นอาคารที่ทำการของบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง ที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ใน จ.แพร่ ตั้งแต่ปี
พ.ศ. ๒๔๓๒ ต่อมาเมื่อสัมปทานไม้ได้หมดลง ทางบริษัทฯ ได้ยกอาคารนี้ให้แก่ภาครัฐ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ (อาคารบอมเบย์ เบอร์มา) สวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ ใช้วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-bidding เลขที่ E ๔๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๓ โดยผู้ชนะและเสนอราคาต่ำสุด คือห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่โกสินทร์ก่อสร้าง ในราคา ๔.๕๖ ล้านบาท
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ในเรื่องนี้ตามที่ประชาชนได้ยื่นหนังสือประท้วงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ โดยอ้างประกาศของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เรื่อง ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าแพร่ ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ นั้น นายประพงษ์ อรรคสีวร (ขออนุญาตที่เอ่ยนาม) หัวหน้าสวนรุกขชาติเชตวัน ได้ให้สัมภาษณ์กับ สถานีวิทยุกระจายเสียง
แห่งประเทศไทย (สวท.แพร่) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ว่าอาคารดังกล่าวไม่ใช่โบราณสถาน เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาคารเก่า และยังอยู่นอกเขตควบคุมเมืองเก่านั้น แม้จะกล่าวถูกต้องแต่น่าจะเป็นความเข้าใจผิดและคาดเคลื่อนอยู่ ประเด็นตรงนี้อยู่ที่ว่าการรื้อถอนมีความผิดและสามารถกระทำได้หรือไม่
เมื่อศึกษาและพิจารณาตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ กล่าวว่า อาคารที่มีความพิเศษในลักษณะรูปแบบแห่งการก่อสร้าง ถือเป็นโบราณสถาน ความสำคัญในข้อนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาด ความใหญ่โต แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของอาคารนั้นที่สะท้อนช่วงเวลา เรื่องราว และบริบททางสังคม
นอกจากนี้ ถ้าอาคารนั้นมีประวัติศาสตร์ มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมือง หรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือตัวบุคคลหรือไม่ อาคารนั้นก็เข้าเกณฑ์ความเป็นโบราณสถานได้ ที่สำคัญ แม้เพียงเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งก็อาจเป็นโบราณสถานที่กฎหมายคุ้มครองแล้ว
ในส่วนของโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนมักไม่เป็นปัญหา เพราะมีรายการในสารบบชัดเจนอยู่แล้ว แต่โบราณสถานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน กฎหมายให้นิยามโบราณสถานไว้ว่า ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีเกณฑ์ ๓ ข้อหลักที่ใช้พิจารณา คือ
๑) อายุ
๒) ลักษณะ
๓) ประวัติแห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของชาติบ้านเมืองหรือไม่ กฎหมายมิได้กำหนดอายุโบราณสถานเป็นตัวเลข เพราะกฎหมายเล็งเห็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการทำลาย โดยกฎหมายไม่สามารถปกป้องได้ เช่น ถ้ากฎหมายกำหนดว่าโบราณสถานต้องมีอายุ ๑๐๐ ปีขึ้นไป หากวันที่มีการรื้อทำลายโบราณสถาน อาคารมีอายุ ๙๙ ปี ๓๖๔ วัน กฎหมายก็จะไม่สามารถเอาผิดต่อการกระทำนั้นได้ กฎหมายจึงใช้คำกว้างๆ ว่า “โดยอายุสมัย” ซึ่งอาจจะเป็น ๘๐, ๙๐, ๑๐๐ ปี หรือมากกว่านั้น ตามปัจจัยอื่นประกอบ
อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุฯ โบราณสถานไม่ว่าจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนหรือไม่ก็ตาม กฎหมายล้วนให้ความคุ้มครองทั้งสิ้น โดยในมาตรา ๓๒ วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และในมาตรา ๓๒ วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
โดยสรุปเรื่องโบราณสถานนั้น ตามกฎหมายไม่ว่าอาคารนั้นจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ผู้คนโดยมากหรือแม้กระทั่งผู้ใช้กฎหมายก็ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโบราณสถานว่า ต้องได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจึงจะถือว่าเป็นโบราณสถานที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด การรื้อทำลายแม้เพียงวันเดียวก็สามารถทำลายสิ่งที่สั่งสมมาเป็นร้อยปีได้ในพริบตา
 
ข้อห่วงใย
 
แม้ในเรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมายืนยันว่าจะก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารบอมเบย์ เบอร์มาให้มีสภาพสมบูรณ์สวยงามดังเดิม แต่ตามหลักวิชาการที่ได้ศึกษามาจากผู้ที่ประกอบวิชาชีพสถาปนิกแล้ว ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่เราจะรื้อถอนอาคารหรือปรับปรุงโครงสร้างอะไรสักอย่าง เราจะประกอบเข้ากันเหมือนเดิมได้ต้องมีการทำเครื่องหมาย หรือบอกว่าชิ้นส่วนที่รื้อออกมานั้นอยู่ตรงส่วนไหนของอาคาร และที่สำคัญที่สุดอาคารบอมเบย์ เบอร์มาหลังที่ถูกรื้อถอนนี้ เป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า การก่อสร้างใช้ช่างฝีมือในอดีตที่ผสมผสานระหว่างฝีมือช่างพื้นบ้านกับช่างจากตะวันตก เราจึงเรียกอาคารนี้ที่ได้ยินเสมอว่า “อาคารลักษณะอาณานิคม” คือการผสมผสานระหว่างตะวันตกและช่างพื้นบ้านของเรา จุดเด่นของการสร้างอาคารลักษณะนี้ คือการเข้ารอยต่อระหว่างหัวเสา ที่เรียกว่าการเข้าแบบ “หัวเทียน” คือการต่อไม้แบบให้เข้าล็อคยึดด้วยตัวเอง ไม่มีตะปูตอก และหาดูได้ยาก สำหรับเทคนิคการเข้าเสาแบบหัวเทียนที่ว่า ในปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็น อีกทั้งอาคารดังกล่าวเป็นการก่อสร้างแบบผสมผสานระหว่างตะวันตกที่มีอากาศค่อนข้างเย็น และตะวันออกบ้านเมืองเราที่มีอากาศร้อน จึงทำให้เห็นการก่อสร้างอาคารที่มีระเบียงสวยงามและช่องลมที่แปลกตา เพราะฉะนั้นจึงมีความห่วงใยว่าจะสามารถประกอบให้เหมือนเดิมได้จริงหรือไม่ และถึงแม้ว่าจะสร้างใหม่ให้ดีเหมือนเดิมได้ แต่เชื่อว่าความรู้สึกของประชาชนก็คงเรียกคืนกลับมาไม่ได้ โบราณสถานเหล่านี้สร้างมา ๑๐๐ กว่าปี ถ้าสร้างตอนนี้ต้องรอเวลาอีกกี่ร้อยปีถึงจะกลับมามีคุณค่าได้เหมือนเดิม นอกจากนี้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมาย จะเห็นได้ว่าสิ่งที่กระทำลงไปเกิดเป็นความผิดสำเร็จขึ้นมาแล้ว จะมีหน่วยงานใดหรือบุคคลใดออกมารับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว
ในอดีตที่ผ่านมา การรื้อถอนโบราณสถานแบบรู้เท่าไม่ถึงการแบบนี้ก็เช่น ที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ โดยมีการรื้อถอน ปลูกสร้างและบูรณะโดยไม่ได้รับอนุญาตไปถึง ๒๒ รายการ อาทิ หอระฆัง, อาคารเสวิกุล, ศาลาทรงปั้นหยา, หอกลอง, หอสวดมนต์กัลยาณาลัย, ศาลาปากสระ, กุฏิเก่าคณะ 7, ก่อสร้างอาคาร คสล.3 ชั้นทางทิศใต้ของวัด, บูรณะพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร, หอพระธรรมมณเฑียรเฉลิมพระเกียรติ, วิหารหลวงพ่อพระพุทธไตรรัตนนายก(วิหารหลวง), พระวิหารน้อย, รื้อราวระเบียงหิน พื้นหิน ตุ๊กตาหินอับเฉา และจัดสร้างหลังคาโครงเหล็ก
ด้านหน้าพระวิหาร, รื้อกุฏิสงฆ์คณะ 4, ถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 2, ถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 4, รื้อกุฏิพระโบราณ เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินคดีในชั้นศาล
โฆษณา