25 มิ.ย. 2020 เวลา 00:00 • ข่าว
INSIGHT : ธนาคารและสถาบันการเงินทั่วโลกอาจจำเป็นต้องปรับใช้มาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในไม่ช้านี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนจริงซึ่งติดลบ (Negative Real Yields) อาจส่งผลให้ราคาทองคำในอนาคตพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
คำเตือน : บทความนี้ยาวและมีความละเอียดมาก โปรดหาเวลาว่างในการอ่านครับ
Session 1 : Yield Curve Control การควบคุมอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์
การที่ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ปั๊มเงินจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างก็กำลังจับตามองว่าอะไรคือ "สิ่งใหญ่" ที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับนโยบายการเงินทั่วโลก...
"Yield Curve Control"
(การควบคุมอัตราผลตอบแทน)
กลยุทธ์ที่ธนาคารกลางหรือรัฐบาลจะทำการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อ "ควบคุม" ให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรเหล่านั้นอยู่ในระดับที่ต้องการ ซึ่งจะรวมถึงการกำหนดระยะเวลาครบชำระหนี้อีกด้วย
1
การกระทำเช่นนี้โดยรัฐบาลหรือธนาคารกลาง ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นสิ่งที่รุนแรงและผิดปกติอย่างมาก ซึ่งเคยถูกประกาศใช้ครั้งแรกโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากประเทศประสบปัญหาเงินฝืดมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ
2
แต่สำหรับปัจจุบันแล้วนั้น การทำ Yield Curve Control อาจไม่ใช่มาตรการที่รุนแรงและผิดปกติอีกต่อไป โดยกลับกลายเป็นว่า "นี่คือหนทางเดียวที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการพยุงให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้ต่อไป"
เริ่มจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ซึ่งได้ปรับใช้การควบคุมในรูปแบบของเขาเอง และถึงแม้ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะพยายามหลีกเลี่ยงมัน แต่นักลงทุนบางส่วนก็ยังพนันว่า FED และ BOE จะจำเป็นต้องปรับใช้มาตรการ Yield Curve Control เช่นกันในช่วงปลายปีนี้
เกร็ดความรู้ : ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ใช่ BOJ ที่เป็นธนาคารกลางแห่งแรกของโลก ซึ่งได้ทำการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร เพราะตั้งแต่ช่วงปี 1940-1950 สหรัฐฯ ก็เคยทำแบบนี้แล้วเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง
1
การทำ Yield Curve Control ส่งผลอะไรต่อตลาดบ้าง ?
(1.) ธนาคารกลางจะกลายมาเป็นผู้ซื้อ/ขายคนสุดท้ายเพื่อทำให้อัตราผลตอบแทนหรือราคาอยู่ในช่วงระดับที่ต้องการ
1
(2.) เมื่อทำเช่นนี้ จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนกล้าที่จะจ่ายเงินบนความเสี่ยงมากขึ้น
(3.) และเมื่อความมั่นใจเพิ่มขึ้นแล้ว ก็จะส่งผลให้ความผันผวนของตลาดลดลง อนึ่งแล้วก็มาจากการที่ธนาคารกลางเข้าควบคุมผลตอบแทนด้วย
(4.) การมีอัตราผลตอบแทนที่แน่นอนและไม่ผันผวน จะเป็นการกระตุ้นความอยากในการล่าผลตอบแทนให้เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนคนอื่น ๆ เข้ามาในตลาดนั่นเอง
2
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการทางการเงินหลายคนกังวลว่าในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ จะทำให้มีการลงทุนอย่างบ้าบิ่น โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เพราะมีนโยบายการคลังและการเงินสนับสนุน
2
แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังมองเห็นผลประโยชน์เล็กน้อยที่จะเกิดขึ้นภายในตลาดสินเชื่อ หุ้น ทองคำ และเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่
"มันขึ้นอยู่กับรูปแบบและราคา แต่การพูดคุยอย่างกว้างขวางเช่นนี้ก็เปรียบเสมือนสัญญาณไฟเขียวที่ธนาคารกลางจะเข้าควบคุมเศรษฐกิจด้วยการทำ QE Trade หรือก็คือการซื้อทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงมูลค่าของมัน"
1
Boost for Bonds : ผลดีสำหรับพันธบัตร
แม้ว่า BOE ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องของ Yield Curve Control เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์หลายคนคิดว่าพวกเขาจะต้องควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 5 ปีให้อยู่ในระดับ 0.1% ไปจนถึงเวลาครบกำหนดชำระหนี้
สิ่งนี้อาจทำให้กระแสเงินไหลเข้าสู่พันธบัตรระยะสั้นมากขึ้น และอาจทำให้เกิดการเทขายท่ามกลางความผันผวน ขณะที่ Demand ในพันธบัตรระยะสั้นจะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีอย่างมากต่อกองทุนปันผลและบริษัทประกันภัยทั้งหลาย เนื่องจากมูลค่าการถือครองของพวกเขาลดลง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถซื้อทรัพย์สินใหม่ได้น้อยลง
1
ทำไมต้องควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว ?
1
คำตอบนั้นไม่ยากเลย
นั่นก็เพราะรัฐบาลต้องการ "เพิ่มสภาพคล่อง" ให้กับตลาดยังไงล่ะครับ
จำสมการ MV = PQ ได้ไหมครับ
(ใครยังไม่เคยอ่านแนะนำบทความนี้ก่อนครับ)
M = Money (เงิน)
V = Velocity of Money (ความเร็วของเงิน)*
P = Price (ระดับราคาทั่วไป)
Q = Quantity (ปริมาณสินค้า/ผลผลิต/GDP)
(1.) ตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดขึ้น ค่า V หรือความเร็วในการเปลี่ยนมือของเงินนั้นทรุดตัวลงอยางรุนแรง กล่าวคือเมื่อคนได้เงินมา พวกเขาก็เลือกที่จะเก็บมากกว่าใช้จ่ายนั่นเอง
(2.) เมื่อค่า V ลดลงอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเงินหรือ M เข้ามาในระบบเป็นจำนวนมากผ่านมาตรการ Q.E. เพื่อรักษา P และ Q ให้คงเดิม
(3.) นั่นหมายความว่าการเพิ่ม M ตอนที่ V ลด คือวิธีแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
(4.) เมื่อเปรียบเทียบค่า V ของพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวแล้วนั้น แน่นอนว่าพันธบัตรระยะสั้นมีค่า V สูงกว่า เนื่องจากการครบกำหนดชำระเร็วกว่า ก็หมายถึงเงินจะสามารถเปลี่ยนมือได้ไวกว่า ซึ่งทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดมากกว่า
(5.) แต่หากไม่ควบคุมพันธบัตรระยะยาว แล้วอัตราผลตอบแทนพุ่งสูงจนล่อใจนักลงทุนมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น ก็จะเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น เนื่องจากได้ผลตอบแทนสูงกว่า คุ้มค่ากว่า ซึ่งหมายถึงจะมีการออมเงินในระยะยาวมากขึ้น และจะทำให้สภาพคล่องลดลงนั่นเอง
(6.) แต่ปัญหาใหญ่ในตอนนี้ก็คือ เมื่อรัฐบาลเพิ่ม M เข้ามาในระบบแล้ว กลับกลายเป็นว่า V ไม่ยอมเพิ่มขึ้นตาม เพราะผู้คนไม่ยอมจ่ายเงิน แต่นำเงินไปฝากธนาคารแทน และนั่นทำให้ค่า V ยิ่งลดลงไปอีก
(7.) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่รัฐบาลจะสามารถผ่อนคลายมาตรการ Q.E. และถอนเงินที่พิมพ์มาอุดตลาดออกไป เพราะจะยิ่งทำให้ราคาสินค้า (P) และปริมาณการผลิต (Q) ลดลงไปอีก (M และ V ลดลงทำให้ P และ Q ไม่อาจคงเดิมได้)
(8.) คิดภาพต่อไปอีกนิดว่า หากค่า V เริ่มฟื้นตัวกลับมาเมื่อไหร่ รัฐบาลและ FED จะต้องรีบถอนเงินออกจากตลาดโดยเร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นค่า M ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนี้ จะทำให้มูลค่าของสกุลเงินลดลงอย่างรุนแรง
(9.) หรือหากไม่เป็นเช่นนั้น ก็จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นไปอย่างมาก เนื่องจากจำนวนเงินในระบบนั้นมีมากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะขายสินค้าถูก ๆ ได้
ทางฝั่ง Jerome Powell ประธานของ FED กล่าวเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า
"ความมีประโยชน์ของนโยบายดังกล่าวกำลังเป็นคำถามปลายเปิดภายในคณะกรรมาธิการ ขณะที่เกือบทั้งหมดคาดหวังว่าอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลงสำหรับพันธบัตรระยะสั้นเช่นกัน และทั้งหมดอาจเกิดขึ้นภายในเดือนกันยายนนี้"
Comment : คำว่า คำถามปลายเปิด หมายถึงกำลังเป็นหัวข้อที่พูดคุยถกเถียงกันอยู่ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้หลุดออกไปจากความเสี่ยงเลย และ FED ก็กำลังคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างหนัก
การกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนโดยธนาคารกลาง จะเป็นกุญแจสำคัญซึ่งทำให้สินทรัพย์เหล่านั้นกวัดแกว่งไปตามทิศทางที่ต้องการ
ตัวอย่างเช่น การกำหนดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (10-Year Treasury Yield) ไว้ที่ 0.5% อาจเป็นการจุดประกายให้เกิดการเทขายพันธบัตรอย่างหนัก และทำให้กราฟของอัตราผลตอบแทนเป็นไปอย่างแบนราบ
(ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนของ 10-Year Bond อยู่ที่ 0.715%)
Credit Surge : สินเชื่อพุ่งสูงขึ้น
การกำหนดอัตราผลตอบแทนที่แน่นอน จะเป็นการรับประกันว่าผู้กู้ยืมจะได้รับผลประโยชน์จากพันธบัตรระยะสั้นมากกว่า เนื่องจากผลตอบแทนที่ต่ำลงในพันธบัตรระยะยาว ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทระดับ Investment Grade ที่กำลังมีแนวโน้มจะออกพันธบัตรระยะยาวมากขึ้นกว่าที่จะลดอัตราผลตอบแทนให้ต่ำลง
ขณะเดียวกัน ผู้กู้ที่มีเครดิตไม่ดี (Junk Borrowers) ก็จะถือโอกาสนี้ในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนโดยทั่วไปของรัฐบาล ส่วนบริษัทที่มีปริมาณหนี้สูงอย่างเช่นธุรกิจสายการบิน และธุรกิจด้านพลังงานก็จะถูกอุ้มโดยมาตรการเหล่านี้
ทางฝั่งผู้ที่อยู่ในสถานะปล่อยกู้อย่างธนาคารทั้งหลาย ก็พลอยได้รับประโยชน์จาก Yield Curve Control เช่นกัน เพราะพวกเราจะสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ย่อยยับของอัตราดอกเบี้ยติดลบได้
การทำ Yield Curve Control จะทำให้ระดับผลตอบแทนของสินทรัพย์นั้น ๆ อยู่ในรูปแบบสินเชื่อที่มีผลตอบแทนคงที่ (Fixed Income Credit) ซึ่งแน่นอนว่าอัตราผลตอบแทนเหล่านี้จะต่ำกว่าสภาวะที่เป็นตลาดเสรี (Free Market)
Comment : เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายคนยังสงสัยกันอยู่ว่าทำไม FED จึงแสดงท่าทีปฏิเสธนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบอย่างชัดเจน วันนี้ World Maker มาเฉลยให้แล้วนะครับว่า ก็เพราะพวกนายแบงค์เหล่านี้ "อยู่ในสถานะผู้ปล่อยกู้" ซึ่งแน่นอนว่าการที่ดอกเบี้ยติดลบจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อพวกเขายังไงล่ะครับ
1
อนึ่งแล้ว ประเด็นนี้ไม่มีในข่าวต่างประเทศอย่างแน่นอนครับ จะสังเกตุได้ว่า FED หรือรัฐบาลจะพยายามไม่พูดถึงผู้ปล่อยกู้เลย พยายามมอบบทบาทไปที่ผู้ลงทุน และผู้กู้ยืมเท่านั้น นี่แหละครับเกมการเงินโลก
คำถาม : แล้วทำไมต้องควบคุมให้อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ? มันดีตรงไหน?
คำตอบ : ถ้ามองจากสภาวะตลาดปกติแล้วแน่นอนว่ามันไม่ดี แต่สำหรับสภาวะตลาดที่มีความไม่แน่นอนและความผันผวนสูงเช่นนี้ การขจัดความเสี่ยงออกไปให้มากที่สุด แต่รับผลตอบในระดับต่ำแบบคงที่ ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการอยู่ในความเสี่ยงแล้วมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง
Carry Trade : การพยุงทางด้านการค้าโลก
อัตราผลตอบแทนที่ต่ำลงในสหรัฐฯ จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และส่งผลดีต่อค่าเงินของประเทศที่มีความเสี่ยงมากกว่าอย่างเช่น Rand ของแอฟริกาใต้ และ Peso ของเม็กซิโก
นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมค่าเงิน Rupee ของอินโดนิเซีย และ Ruble ของรัสเซีย รวมถึงอีกประมาณ 10 ค่าเงินของประเทศอื่น ๆ (กล่าวคือส่งผลดีต่อค่าเงินทั้งหมดที่ผูกติดอญู่กับดอลลาร์นั่นแหละครับ)
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจส่งผลให้กระแสเงินดอลลาร์ไหลเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ และสินทรัพย์ของสหรัฐฯ เองมากขึ้น ซึ่งนี่อาจรวมถึงสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Mortgage-backed securities), พันธบัตรรัฐบาล (Goverment Bonds) และพันธบัตรของหน่วยงานอื่น ๆ
Comment : สังเกตดูดี ๆ ก็จะเห็นว่านี่คือการกระจายค่าเงินดอลลาร์ไปสู่เศรษฐกิจทั่วโลกให้มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ค้ำประกัน กู้ยืม หรือชำระหนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามันกำลังจะอ่อนค่าลง
แล้ว FED และรัฐบาลสหรัฐฯ ทำเช่นนั้นไปทำไม? และอยากให้คิดต่อไปอีกนิดว่าเงินดอลลาร์ที่กู้มา หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด แล้วใครจะเป็นคนยึดทรัพย์สินของผู้กู้ยืม ถ้าไม่ใช่สถาบันการเงินหรือรัฐบาลที่อยู่ในสถานะ "ผู้ปล่อยกู้"
Bubble Risk : ความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่แตก
แน่นอนว่าตลาดกระทิงนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่มูลค่าของสินทรัพย์ในตลาดพุ่งขึ้นไปสูงอย่างสุดขีด ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อยู่ในภาวะตลาดกระทิงมายาวนาน จนทำให้ราคาสินทรัพย์พุ่งทะยานไปสู่ระดับสูงสุดอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว
ขณะเดียวกันก็มี 9 ประเทศจาก 25 ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีได้เข้าสู่ระดับติดลบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือรัฐบาลยอมขาดทุนเพื่อให้คนกู้เงินไปใช้จ่ายเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถหมุนเวียนได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การทำ Yield Curve Control นี้ จากกรณีศึกษาของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พบว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลายโดยการกำหนดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับ 0%
สำหรับธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) พวกเขาเริ่มกำหนดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีไว้ที่ 0.25% ซึ่งน้อยกว่าผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปีประมาณ 0.6%
Session 2 : Negative Real Yield อัตราผลตอบแทนจริงติดลบ
Real Yield หรืออัตราผลตอบแทนที่แท้จริง ได้มาจากการนำอัตราผลตอบแทนทั่วไป (Nominal Yield) หรือก็คือ Yield ทั่ว ๆ ไปที่เราพูดกันนี่แหละครับ มาหักลบโดยอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ซึ่งจะคำนวณจากค่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อีกทีหนึ่ง ไม่ใช่การนำอัตราเงินเฟ้อ Inflation Rate มาหักลบจาก Norminal Yield โดยตรง
Real Yield นี้ถูกคำนวณและนำไปใช้เป็นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อที่เรียกกันว่า Treasury Inflation-Protected Securities หรือ TIPS นั่นเอง
1
ตัวอย่างเช่น เราซื้อ TIPS อายุ 10 ปีด้วยเงินต้นทุน 1,000$ โดยมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 5% ต่อปี แต่เมื่อผ่านไป 6 เดือนค่า CPI ได้เพิ่มขึ้น 2% ก็จะทำให้ต้นทุนในพันธบัตร TIPS ของเราก็จะถูกปรับเป็น 1,000x2/100 = 1,020 ดอลลาร์ และด้วยอัตราผลตอบแทน 5% ต่อปี ก็จะทำให้เราได้รับผลตอบแทน 6 เดือนแรกเป็นจำนวน 1,020x2.5/100 = 25.50$ นั่นเอง
(TIPS ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะจ่ายเงินปันผล 2 รอบต่อปีโดยแบ่งเป็นทุก ๆ 6 เดือน)
อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนของ TIPS สหรัฐฯ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 5 ปีไปจนถึง 30 ปีได้ดิ่งลงไปสู่ระดับติดลบหมดแล้วทั้งสิ้น ณ ปัจจุบันนี้
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา Neagative Real Yield ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะตลาดหมีรุนแรงซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และยังเป็นสัญญาณที่ส่งผลดีอย่างมากต่อราคาทองคำ ยิ่งเมื่อมีปัจจัยเสริมอย่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ติดลบ ก็จะยิ่งทำให้ทองคำแสดงประสิทธิภาพได้อย่างล้นหลาม
ภาพด้านล่างนี้เป็นการบันทึกข้อมูลจากประวัติศาสตร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งให้แสดงถึงความสัมพันธ์ที่คล้ายกันมากระหว่าง Negative Real Yield และราคาทองคำ
แน่นอนว่า ณ ปัจจุบันนี้ มีหลายประเทศที่ Real Yield กำลังจะเข้าสู่ภาวะติดลบหรือได้เข้าสู่ภาวะติดลบไปแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะเยอรมันและอังกฤษ ขณะที่ Real Yield ของญี่ปุ่นยังอยู่สูงกว่าระดับ 0% เล็กน้อย
สำหรับพันธบัตรอายุ 30 ปีของสหรัฐฯ นั้นดูเหมือนว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นชัดเจนกว่าพันธบัตรระยะสั้นมาก โดยอัตราผลตอบแทนหรือ Norminal Yield นั้นแทบจะคงที่มาตลอด 3 เดือนให้หลังนี้
ขณะที่ความคาดหวังในอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็เปรียบเสมือนว่า Yield Curve Control ได้ถูกปรับใช้ไปเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง
เมื่อ Norminal Yield ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ถูกจำกัดไปด้วย Negative Real Yield ในอีกหลาย ๆ ทรัพย์สินก็อาจจะตามมาในไม่ช้านี้
นี่ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับนักออมทรัพย์ เพราะมันกำลังหมายความว่าเงินฝากของคุณจะมีมูลค่าลดลงตามเวลาที่ผ่านไปเรื่อย ๆ ยิ่งฝากเงินไว้นานขึ้น เมื่อถอนออกมาก็จะโดนลดมูลค่าไปเยอะขึ้นเช่นกัน
หากจะพูดอีกมุมหนึ่ง นี่ถือเป็นการบีบบังคับจากสถาบันการเงินและรัฐบาลโดยใช้อำนาจทางกฏหมาย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปกู้เงินจากพวกเขาในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจนน่าตลก ขณะที่พวกเขาได้เพิ่มความเสี่ยงครั้งใหญ่ให้กับผู้ออมทรัพย์
นอกจากนี้อัตราผลตอบแทนจริงที่ต่ำหรือติดลบ ยังสัญญาณที่ชี้ให้เห็นอีกว่าตลาดขาดความเชื่อมั่นอย่างมากในอำนาจซื้อของสกุลเงิน
ลองดูสัดส่วนของดัชนี S&P 500 กับทองคำนับตั้งแต่ปี 1971 ซึ่งสหรัฐฯ ได้ยกเลิกการใช้ระบบ Bretton Woods ที่ผูกติดเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ
ตลาดเกิดความผันผวนอย่างมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้ทำให้มูลค่าของ S&P เทียบกับทองคำลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากปี 2000 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่าการลงทุนใน S&P 500 นั้นได้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในทองคำอยู่แล้วหากนับตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา เนื่องจากมีการจ่ายเงินปันผล และราคาทองคำที่ผ่านมาก็โดนกดเอาไว้โดยทองคำกระดาษ หรือสัญญาซื้อขายที่ไม่ได้มีการส่งมอบทองคำจริง ๆ นั่นเอง
(พูดง่าย ๆ ก็คือสัญญาที่ซื้อขายกันในตลาด Forex นั่นแหละครับ)
เมื่อตลาดขาดความเชื่อมั่นอย่างมาก มันก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีซึ่งเราจะมองหาสินทรัพย์บางอย่างซึ่งสามารถต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อในอนาคตได้ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่า ทองคำ พันธบัตรรัฐบาล และ TIPS คือคำตอบ
แต่ในเมื่อพันธบัตรรัฐบาลก็โดนทำ Yield Curve Control และส่งผลต่อไปให้ TIPS นั้นมีอัตราผลตอบแทนติดลบ ดังนั้นจึงเหลือสินทรัพย์อยู่กี่อย่างที่สามารถต่อกรกับสภาวะตลาดเช่นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
TIPS ในปัจจุบันถือว่าราคาต่ำอย่างมากหากเทียบกับสภาวะตลาดแล้ว แต่ที่ยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่ต่ำมากเช่นกันนั่นเอง
Companies Aren’t the Economy : ตัวบริษัทไม่ใช่เศรษฐกิจที่แท้จริง
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สนุกสนานกับการฟื้นตัวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็มีความขัดแย้งแปลก ๆ มากมายเกิดขึ้น โดยผู้จัดการกองทุนทั่วโลกเชื่อว่าตลาดหุ้นยังมีมูลค่าสูงกว่าความจริงอย่างมาก
โดยมูลค่าที่สูงเกินความเป็นจริงนี้ถือได้ว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 เลยทีเดียว แต่กลับกันเมื่อเรามาดูปริมาณการเปิด Position ของนักลงทุนในตลาด ก็จะพบว่าเหลือ Position ของนักลงทุนอยู่น้อยที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว
Commnet : ที่มันแปลกก็คือ ในเมือนักลงทุนส่วนใหญ่ได้่ปิด Position ไปแล้ว ทำไมราคาหรือมูลค่าของตลาดหุ้นแทบจะไม่ลดลงไปเลย ?? (คำตอบก็คือการเข้ามาอุ้มตลาดของ FED และรัฐบาลนั่นเอง)
ณ ปัจจุบันมีคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญหลายคนว่าผลกำไรต่อหุ้น (EPS) อาจลดลงอย่างรุนแรง แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็มีนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้วยปัจจัยอื่น ๆ เช่น Antibodies และยารักษาโรค
สำหรับทองคำนั้น ราคา Gold Spot ณ ปัจจุบันที่เขียนบทความอยู่นี้ซื้อขายกันอยู่ที่ระดับ 1764 $/Oz ซึ่งในระหว่างวันได้พุ่งขึ้นไปเกือบถึงระดับ 1780 $/Oz แล้ว โดยเมื่อเทียบกับ 1 ปีที่แล้วพบว่าราคาเพิ่มขึ้นถึง 50.18% และเพิ่มขึ้นถึง 513.13% เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว
Session 3 : Futures เมื่อมองไปยังอนาคต
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกตลอดทั้งปี 2020 ยังดูไม่สู้ดีนัก
IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ระดับความรุนแรงของหายนะทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่เมื่อ 2 เดือนก่อนเพิ่งออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะหดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี
ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา IMF คาดการณ์ว่า GDP ทั่วโลกจะหดตัวลงประมาณ 3% แต่สำหรับผลกระทบที่แสดงออกมาให้เห็นในปัจจุบันนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีความรุนแรงอย่างมาก ซึ่งทำให้ตัวเลข 3% นั้นดูเหมือนจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป
แต่ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา IMF ประกาศปรับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.9% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3% และสำหรับปี 2021 กองทุนทั้งหลายจะเติบโตเพียง 5.4% จากคาดการณ์เดิม 5.8%
มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากวิกฤตในครั้งนี้ คาดว่าจะสูงถึง 12.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม IMF ได้นำเสนอความเป็นไปได้ทั้ง 2 แบบดังนี้
(1.) คาดการณ์ในแง่ดี : ตลาดจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากข่าวดีเรื่องวัคซีนและยารักษาโรค รวมถึงนโยบายสนับสนุนใหม่จากรัฐบาล
(2.) คาดการณ์ในแง่ร้าย : ตลาดจะทรุดตัวลงรุนแรงกว่าเดิมเนื่องจากคลื่นการระบาดลูกใหม่ และจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินของผู้คน รวมถึงปัญหาหนี้สินที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
แน่นอนว่า IMF ให้น้ำหนักกับคาดการณ์ในแง่ร้ายมากกว่า นอกจากนี้พวกเขายังได้เตือนอีกว่า "ขณะที่มาตรการสนับสนุนทางการเงินกำลังเป็นเหมือนแสงสว่างในตลาด แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ อาจทำให้การฟื้นตัวในก่อนหน้านี้ไม่ได้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจริง ๆ เลย"
Debt Crises : วิกฤตหนี้
ณ ปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีการอัดฉีดงบประมาณเข้าสู่ระบบไปแล้วกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้ทั่วโลกพุ่งสูงเกินระดับ 100% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ในปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 19% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับวิกฤตซัพไพรม์เมื่อปี 2008 นอกจากนี้ IMF กล่าวเตือนถึงเรื่องของวิกฤตหนี้สิน ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มให้เห็นแสดงผลกระทบชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
GDP ของสหรัฐฯ ถูกคาดการณ์ใหม่ว่าจะหดตัวถึง 8% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5.9% และจะเติบโตเพียง 4.5% ในปี 2021 ส่วนในโซนยุโรปอาจหดตัวถึง 10.2% ในปีนี้ ก่อนที่จะกลับไปขยายตัว 6% ในปี 2021
ส่วนเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด จะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 8% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 6.1% และเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศที่กำลังพัฒนาจะหดตัวประมาณ 3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 1%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของจีนยังถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 1% ในปี 2020 นี้
Gita Gopinath หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ได้อัพเดทบันทึกของเขาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีใจความสำคัญว่า
"ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่จะต้องพบเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ และจะเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่ประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุดพร้อมกัน นับตั้งแต่ The Great Depression เมื่อช่วงปี 1930"
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และ Bloomberg Surveys ยังได้ทำนายเอาไว้อีกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวที่สุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ทางฝั่งยุโรป ECB ได้ทำนายการหดตัวของเศรษฐกิจโดยแบ่งเป็นกรณีที่แตกต่างกัน โดยตั้งแต่กรณีที่ส่งผลกระทบเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง จะสามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศในโซนยุโรปหดตัวได้ 5-15% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีคาดการณ์จาก Bloomberg ออกมาว่าดัชนีของ Stoxx Europe 600 จะทรุดตัวลงอย่างรุนแรงหลังจากนี้
Trade Tumble : การค้าที่ทรุดตัวลง
เศรษฐกิจอินเดีย ณ ปัจจุบันถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 4.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 1.9% ขณะที่ประเทศในแถบละตินอเมริกาอย่างเช่น Brazil และ Mexico ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวถึง 9.1% และ 10.5% ตามลำดับ
ปริมาณการค้าทั่วโลก ทั้งในด้านสินค้าและบริการอาจหดตัวลงถึง 11.9% ในปีนี้ และ IMF ยังได้เตือนอีกว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยอาจมีมากกว่า 90% ของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวลดลง
ภาพด้านล่างนี้จะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของสภาวะตลาดในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า CPI โดยรวมลดลง แต่ราคาเฉลี่ยของอาหารกลับสูงขึ้น ขณะที่ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่น น้ำมัน ได้เผชิญกับความผันผวนไปในก่อนหน้านี้ (จากสงครามราคาน้ำมัน)
สิ่งที่น่าสนใจคือโลหะมีค่า ซึ่งได้เผชิญกับความผันผวนไม่ต่างกัน แต่เมื่อเทียบระดับความผันผวนของราคากับสินทรัพย์อื่นแล้วถือว่าเปลี่ยนแปลงน้อยกว่ามาก และยิ่งกว่านั้นคือแนวโน้มราคาของมันกลับเพิ่มขึ้นจนทำระดับสูงสุดใหม่ในรอบหลายปีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แนวโน้มของสินทรัพย์อื่นนั้นได้ลดลงจากจุดสูงสุดในก่อนหน้านี้
Session 4 : คำแนะนำสำหรับนักลงทุน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ได้มีเจตนาเพื่อบอกหรือเชียร์ให้ท่านลงทุนในทองคำแต่อย่างใด แต่กลับกัน สิ่งที่ World Maker อยากจะสื่อให้ฟังก็คือ "ราคาทองคำในปัจจุบันนั้น เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นแล้วถือว่าแสดงประสิทธิภาพได้ดีอย่างมากเลยทีเดียว" แต่สิ่งที่ต้องคิดไปให้มากกว่านั้นคือ แล้วมีความเสี่ยงแค่ไหนในตลาดทองคำตอนนี้ ?
ยังจำเหตุการณ์ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ได้ไหมครับ ?
ตอนนั้นทองคำโดนเทขายภายในไม่กี่วัน จนทำให้ราคาร่วงลงจากระดับประมาณ 1700$/Oz ไปสู่ระดับ 1450 $/Oz กล่าวคือร่วงลงไปประมาณ 250$/Oz แต่หลังจากนั้น ราคาได้ดีดกลับขึ้นมาสู่ New High ในรอบหลายปีที่ระดับประมาณ 1750 $/Oz ภายในระยะเวลาไม่กี่วันเช่นกัน
นี่คือความเสี่ยงที่ World Maker อยากชี้ให้เห็น สำหรับคนที่กำลังคิดจะเข้าซื้อทองคำ ณ เวลานี้ คำถามก็คือ ท่านมีการทำ Money Management เพียงพอที่จะรับความเสี่ยงในระดับนี้ได้หรือไม่ ? หากเข้าซื้อแล้วราคาทองคำโดนเทขายลงมาอย่างรุนแรงอีกครั้ง พอร์ตของท่านจะสามารถรับได้หรือไม่ ?
ทั้งหมดนี้ก็คือปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้นตามมุมมองของ World Maker ครับ
ส่วนมุมมองระยะยาวนั้น World Maker จะขอวิเคราะห์จากความรู้ทั้งทาง Fundamental Analysis และ Technical Analysis ดังนี้
Fundamental Analysis
ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกครั้งที่อยู่ในช่วงวิกฤต เนื่องจากมันสามารถต่อต้านกับภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดได้ดี โดยตารางข้างล่างนี้จะแสดงให้เห็นถึงมูลค่าของทองคำเทียบกับดัชนีหุ้น S&P 500 และ Silver
วิกฤตทุกครั้งตั้งแต่ปี 1976-2011 มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่ทองคำมีมูลค่าลดลง ขณะที่ Silver นั้นจะได้รับอิทธิพลตามตลาดหุ้นเสียมากกว่า
สิ่งที่ World Maker อยากให้จำไว้ก็คือ "ประสิทธิภาพของทองคำไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาทันทีที่เริ่มเกิดวิกฤตขึ้น" เนื่องจากเกือบทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ราคาทองคำจะร่วงลงก่อนเสมอในตอนแรก
คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวิกฤตหนี้ละตินอเมริกาปี 1982, วิกฤตฟองสบู่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปี 1990, วิกฤตทางเงินเอเชียปี 1997, วิกฤตฟองสบู่ dot-com ปี 2000 และวิกฤตซัพไพรม์ปี 2008 ตามที่เห็นในภาพด้านล่างนี้ครับ
จะสังเกตได้ว่าช่วงเริ่มของวิกฤตทองคำจะถูกเทขายและหลังจากนั้นราคาจะดีดกลับ ส่วนการดีดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงหลังปี 2000 จนถึงปลายปี 2011 เป็นตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นมาอย่างมหาศาล !!! (คาดว่าเป็นการสะสมมาจากวิกฤต 4 ครั้งก่อนและระเบิดมาออกทีเดียว)
Technical Analysis
* หมายเหตุ : รูปประกอบอยู่ด้านล่าง
(1.) ราคาทองคำในปัจจุบันเพิ่งอยู่ในตลาดกระทิงมาเพียง 2 ปีเท่านั้น !! สังเกตจากเส้น Support ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2015-2018 จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีนั้นคือช่วง Sideways หลังตลาดหมีเสร็จสิ้นครับ (ก่อนหน้านั้นราคาทองคำตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011-2015)
ส่วนตลาดกระทิงที่ชัดเจนเพิ่งปรากฎขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 2018 นี้เองครับ สังเกตได้จากเส้น Support ที่ 2
(2.) สังเกตในวงกลมสีแดงครับ นั่นคือช่วงที่ทองคำโดนเทขายหนัก ๆ ในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ซึ่งทำให้ราคาลดลงจากระดับประมาณ 1700 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 1490 (-210 $/Oz) ภายในเวลาเพียง 11 วันเท่านั้น !!
และหลังจากนั้นราคาทองคำก็พุ่งจากระดับ 1490 กลับมาทะลุระดับ 1700 $/Oz ภายในเวลาเพียง 27 วันเท่านั้น !! (ตามเส้น Support ที่ 3 และ 4)
นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกเราว่า "การเทขายครั้งใหญ่ได้ผ่านไปแล้ว" ต่อจากนี้ ถ้าจะมีก็เป็นเพียงการเทเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อทำกำไรและดันราคาทองคำขึ้นต่อในระยะยาวครับ
คำถาม : ถ้าสมมติราคาทองคำไปต่อได้อีกประมาณ 8 ปีเหมือนรอบก่อน ราคาจะพุ่งไปถึงขนาดไหน ? ด้วยปัจจัยเสริมด้านเงินเฟ้อ เงินฝืด หนี้ และอีกมากมายในปัจจุบันนี้
ภาพด้านล่างนี้คือส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ทาง Technical ในระยะยาว โดยการอ่านสัญญาณจาก RSI และ MACD ครับ เส้นสีเหลืองแนวตั้งซ้ายมือ แสดงถึงสัญญาณขายที่เกิดขึ้นก่อนราคาทองคำจะร่วงลงอย่างหนักตั้งแต่ช่วงปลายปี 2011
ส่วนเส้นตรงกลางคือสัญญาณซื้อที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2013 ก่อนตลาดจะเริ่มปรับตัวจาก Sideways เป็นตลาดกระทิง
และเส้นขวาสุดแสดงให้เราเห็นว่าปัจจุบันราคาทองคำยังขึ้นไปไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับจุด Peak ในปี 2011 ซึ่งเส้นแนวนอนที่เหลือจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ
ดังนั้นแล้ว World Maker ขอสรุปในส่วนนี้ว่า "มีความเป็นไปได้สูงที่ทองคำจะยังอยู่ในตลาดกระทิงต่อไปอีกนาน" ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจทุกอย่างกำลังส่งผลดีต่อราคาทองคำ
- การวิเคราะห์ทาง Technical กำลังบอกว่าทองคำไปต่อได้อีกเยอะ
- ทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา ตลาดกระทิงของทองคำล้วนยาวนานกว่า 5 ปี
- ตลาดกระทิงรอบล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นมาได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ก็เป็นมุมมองและปัจจัยความเสี่ยงทั้งหมดที่ World Maker อยากนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพรวมของตลาดการเงินทั่วโลกครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย และสำหรับบทความนี้ ก็ขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณมากครับ
โปรดอ่าน !! ทิ้งท้ายเพื่อเตือนสติ
(1.) หากไม่ได้เกิดจากการศึกษาอย่างถ่องแท้ด้วยตนเอง หรือไม่เคยมีประสบการณ์จริงในตลาดหุ้น ท่านก็ไม่ควรจะปักใจเชื่อบทวิเคราะห์ใด ๆ ในทันที ถึงแม้ว่ามันจะน่าเชื่อถือแค่ไหนก็ตาม
(2.) หากจะปักใจเชื่อในบทวิเคราะห์ใด ๆ ก็ขอให้ผ่านทุกขั้นตอนนี้ไปก่อน
"อ่าน -> คิด -> พิจารณา -> พิสูจน์ด้วยตนเอง"
(3.) สุดท้ายแล้วไม่มีบทวิเคราะห์ใด จะถูกต้องเสมอ 100% ดังนั้นแล้วท่านจึงควรอ่านบทความนี้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและตัดสินใจ มากกว่าการอ่านเพื่อท่องจำ และเชื่อไปตามนั้น โดยไม่เคยคิดจะตั้งข้อสงสัยใด ๆ เลย
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
1
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
โฆษณา