27 มิ.ย. 2020 เวลา 02:38 • ธุรกิจ
การพัฒนา "มนุษย์ขั้นกว่า" คำตอบของโรงงานที่ "ยั่งยืน"
เมื่อกระแสโลกตีกลับ ในวันที่เหนือกว่า "วิธีการ" คือ การใช้ "จิตวิญญาณ" ในการขับเคลื่อน (ตอนที่ 1)
ในเกือบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา พวกเรามีโอกาสเห็นเครื่องมือจัดการงานบริหารคนน้องใหม่ที่มีผลงานคับแก้วอยู่มากมาย ทยอยดาหน้าเข้าสู่โรงงานและองค์กรให้เลือกสรร เสียงตอบรับ "พรึ๊บ" เห็นดีเห็นงามอยากได้อยากทำกันยกใหญ่ ยุคออนไลน์นี่ครับ จะตกกระแสก็ไม่ควร
ถ้าไม่ทำ ก็กลัวจะไม่มีทางออกให้เอาตัวรอดในสถานการณ์ปัจจุบัน คิดแล้วว่ามันต้องดีกว่าเดิม ก็ของใหม่นี่ครับ แต่บ้างก็อาศัยซื้อเวลาและภาวนาให้มันดีขึ้นไปตามเรื่องตามราว บ้างพอลงมือทำกับของใหม่ก็บ่นว่ายาก ซับซ้อน ข้อติ ข้อติดขัดมากมาย ซึ่งในเชิง Productive ก็ถือเป็นความสูญเปล่าประการหนึ่งที่อาจถูกมองข้ามอยู่เสมอ
ยิ่งใหม่ ยิ่งยาก !!! แต่ก็เอา เพราะฟังสตอรี่แล้วมันเคลิบเคลิ้ม มันถูกการันตีความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำระดับโลก เราไม่ต้องย้อนไปไกล เอาของใหม่ๆที่กำลังฮิตติดดาวกันในช่วงนี้ ก็น่าจะเป็น OKRs, Agile และ Coaching ซึ่งผมเรียกโดยรวมๆว่าเครื่องมือก็แล้วกัน จะไม่มาถกเถียงว่าอันนี้เป็นกลยุทธ์ หลักการ วิธีการ หรือเครื่องมือ เพราะมันจะเป็นอะไรมันขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ว่าเราใช้ให้มันเป็นแบบไหนกันแน่
คนบางคนมีรถเก๋งขับเหมือนมอเตอร์ไซด์ก็เยอะแยะ
หากเพียงชื่อเสียงเรียงนาม นั้นมิสำคัญเท่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายตามที่ตั้งใจในโรงงานของเราให้ได้ นั่นละสำคัญที่สุด
ในมุมมองของผมเอง เครื่องมือต่างๆมักจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ2 ส่วนหลักๆ (เครื่องมือบางชนิดอาจมีส่วนแรกส่วนเดียวด้วยซ้ำไป) ที่มีความเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ สอนได้ บอกได้ ให้ข้อมูลได้ คือ
ส่วนแรก คือส่วนที่เป็นขั้นตอน ระเบียบวิธีการในการใช้งาน ซึ่งหากมองส่วนนี้ดีๆ แกนหลักไม่ได้มีความแตกต่างมากนัก อาจต่างกันเพียงชื่อเรียก เช่นทุกเครื่องมือคงไม่พ้นต้องมีการวางแผน การกำหนดเป้าหมาย การลงมือ ติดตามผล ฯลฯ แต่ปลีกย่อยให้เกิดความดีงาม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาจจะมี hot term หรือ tip หรือ Definition ย่อยๆมาให้ เช่นต้อง Focus & Measure เพียง 2-3 ข้อ, ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ งานวิจัย ที่พิสูจน์แล้วว่าเอื้อประโยชน์ต่อความสำเร็จยิ่งขึ้น
ส่วนที่สอง คือส่วนที่เป็นพฤติกรรมหรือการแสดงออกของผู้ใช้เครื่องมือหรือจะเรียกว่าบทบาทก็ได้ อาทิเช่นต้องมีการ feedback ทุกสัปดาห์, ต้องกล่าวชมเชย, ต้อง Comment โดยข้อเท็จจริงมากกว่าความรู้สึก แต่แน่นอนว่าการกำกับพฤติกรรมผู้คนมันมากมายเกินกว่าจะเขียนให้ครอบคลุม รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมันมีปัจจัยซ่อนเร้นมากกว่าเน้น ผลที่ตามมาคือการนำมาใช้ในเชิงเหตุผล การตีความ เอาผิดเอาถูก เอาแพ้เอาชนะ สุดท้ายก็พังราบลงมา แล้วก็หาเหตุผลสารพัดมารองรับความล้มเหลวอย่างสุจริต
แต่หากส่องให้ลึกลงไปถึงเครื่องมือใหม่ๆ พอจะมีข้อสังเกตให้เห็นได้ว่า สัดส่วนในด้านพฤติกรรมการแสดงออกหรือส่วนหลังกลายมาเป็นพระเอกมากขึ้น หากเราเรียกข้อแรกว่า Hard Side ก็จะเรียกข้อที่สองว่า Soft Side เราจะเห็นได้ว่าเครื่องมือใหม่ๆพยายามเพิ่มสัดส่วนของ Soft Side ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนมากขึ้น เป็นตัวชูโรงให้เกิดความต่างกับเครื่องมือยุคก่อน คือมุ่งเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เพื่อประคับประคองเครื่องมือให้แสดงผลได้ตามที่ตั้งใจ
การกระทำดังกล่าวไม่ใช่การตลาด แต่เป็นกระแสของความเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่เกิดขึ้นจริง ที่เราๆท่านๆคงไม่ปฏิเสธว่าผู้คนยุคใหม่ มีทางเลือกมาก ฉลาด เก่งในการหาข้อมูล ไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ เชื่อมั่นในตัวเอง ใช่เลย!!! ยิ่งเก่งก็ยิ่งดี แต่เก่งมาเจอเก่งมันจะดีหรือไม่ ก็อีกเรื่องละครับ
หากเปรียบเปรย Hard Side คือเครื่องยนต์รุ่นใหม่ใส่ Option จากโรงงานมาให้ครบๆ Soft Side น่าจะเป็น Lubricant หรือสารหล่อลื่นชั้นดี ที่จะทำให้เครื่องยนต์นี้วิ่งเต็มประสิทธิภาพเป็นแน่ ที่กล้าพูดอย่างนี้เพราะหลายๆเครื่องมือที่เห็น ดีแน่ๆ แต่ตอนลงพื้นถนนมันไม่ค่อยขยับ ขัดกันไปขัดกันมา
ตอนนี้คุณนึกถึงเหตุการณ์ใดในโรงงาน
คุณคิดว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้คนเก่งๆ ที่ควบคุมไม่ง่าย รักอิสระมากๆ มาทำประโยชน์ให้กับโรงงาน หรือสร้างผลงานได้อย่างเต็มที่
ผมว่าโรงงานต้องรีบคิดก่อนที่จะเหลือแต่คนไม่เก่ง และควบคุมง่ายๆ เต็มไปหมด
ชวนติดตามในโพสต์หน้า "มนุษย์ขั้นกว่า" คืออะไร
โฆษณา