24 มิ.ย. 2020 เวลา 04:44 • ธุรกิจ
ถ้าใครได้ติดตามบทความของ ดร.นิเวศน์ จะเห็นได้ว่ามีอยู่บทความหนึ่งของ ดร.นิเวศน์ ชื่อ "ลงทุนแบบป้าแอนน์" หรือแอนน์ ไชเบอร์ (Anne Scheiber) หญิงสาววัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่มีชีวิตไม่ร่ำรวย เป็นคนยิวอเมริกาที่มีอาชีพต่ำต้อยเป็นพนักงานลูกจ้างของภาครัฐเงินเดือนน้อย แต่ด้วยวิธีการลงทุนแบบ"ไม่ปกติ" ทำให้ตอนเธอเสียชีวิตมีทรัพย์สินมากกว่า 22 ล้านเหรียญ โดยเริ่มต้นจาก 5,000 เหรียญ ตลอดระยะเวลา 50 ปี นั้นแสดงว่าเธอสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 18% โดยเฉลี่ย ก้าวขึ้นเป็นนักลงทุนชั้นเซียนที่มีสถิติ "ระดับโลก" นี้คือคำโปรยที่ ดร.นิเวศน์ เคยให้ไว้ ครั้งนี้เรามาเปิดประวัติกันว่าป้าแอนน์คนนั้นเขาเป็นใครกันครับ.....
แอนน์ ไชเบอร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 เดือนตุลาคมปี 1893 ในเมืองบลูคคลินส์ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มกราคมปี 1995 มีอายุ 101 ปี ป้าแอนน์มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ซึ่งครอบครัวของเขาค่อนข้างเก็บตัวและไม่มีบทบาทกับคนรอบข้าง จากการสำรวจพบว่าครอบครัวไชเบอร์มีคนรู้จักน้อย และตัวของป้าแอนน์เองนั้นก็แทบจะไม่ค่อยสุงสิงกับใครเท่าไรนัก ทำให้ตลอดชีวิตของป้าแอนน์ไม่ได้แต่งงาน พ่อของป้าแอนน์เสียชีวิตตอนที่เธอยังเด็ก ทำให้ชีวิตของป้าแอนน์อยู่กับแม่มาโดยตลอด ด้วยความยากจนทำให้ป้าแอนน์ต้องหางานทำตั้งแต่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวซึ่งมันเป็นเรื่องยากมากที่จะหางานทำตอนที่ยังเป็นเด็กวัยรุ่น อีกทั้งยังถูกกีดกันจากสังคมเพียงเพราะว่าเธอเป็นชาวยิว ชีวิตของป้าแอนน์เป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ จนในที่สุดเธอก็เรียนจบทางด้านกฏหมาย แต่เธอเลือกที่จะงานเป็นเสมียนในกรมสรรพากรของอเมริกา ตอนที่เธอทำงานมี "เพื่อน" ที่ไม่ค่อยจะสนิทนักอยู่ 2 คน คือ Benjamin Clark เพื่อนร่วมงานที่กรมสรรพากร และเพื่อนนักกฏหมาย William Fay ทำงานอยู่ในบริษัทวาณิชยกิจ Merrill Lynch
หลังจากที่เขาทำงานมาสักระยะหนึ่ง แอนน์ ไชเบอร์ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจล่มสลายในช่วงปลายปี 1930 ถึงแม้เธอจะทำงานให้กับภาครัฐ แต่ด้วยตัวเศรษฐกิจเองภาครัฐก็ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายโดยการลดคนงานที่ไม่สำคัญออก เธอถูกทำให้ออกในปี 1940 ด้วยเงินเก็บทั้งเนื้อทั้งตัวของเธอที่ 5,000 เหรียญและมีเงินชดเชยจากรัฐบาลอีก 3,100 เหรียญต่อปี ป้าแอนน์ยังคงเช่าหอพักโกโรโกโสอยู่ในเมืองนิวยอร์ค ค้นหาคูปองลดอาหารตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่ถูกทิ้งไว้ตามสวนสาธารณะมาตัดแล้วนำไปซื้อของกิน บางครั้งเธอยังขอรับบริจาคอาหารจากผู้ใจบุญ ไปกินอาหารฟรีที่โบสถ์ตามงานและเทศกาลต่างๆ โชคยังดีที่ตอนนั้นตลาดหุ้นก็เกิดการถล่มลงมาด้วย จากประสบการณ์การทำงานของเธอด้านการเงินในกรมสรรพากร ทำให้เธออ่านงบการเงินได้นิดหน่อยและเลือกบริษัทราคาถูกๆเข้าพอร์ตการลงทุน กลยุทธ์ของเธอจะมีเพียง "ซื้อและเก็บ" เท่านั้น ป้าแอนน์มีเงินมากกว่า 22 ล้านเหรียญตลอดชีวิตของเธอ เธอมีชีอเสียงมากหลังจากที่เสียชีวิตไป เป็นตัวอย่างของความประหยัดมัธยัสถ์ถึงขีดสุด และเรื่องแปลกสำหรับการลงทุนธรรมดาที่ให้ผลตอบแทนมหาศาลโดยการซื้อและถือตลอดเวลา 50 ปี
มีคนเคยพูดเอาไว้ว่าเคยเห็นเธอในงานประชุมผู้ถือหุ้น โดยเธอจะนำถุงผ้าและกระเป๋าถือใบเก๋าๆเพื่อเก็บอาหารในงาน มีคนถามเธอว่าทำไมป้าแอนน์ต้องทำแบบนี้ ป้าแอนน์ตอบว่าอาหารพวกนี้จะถูกนำไปทิ้ง มันจะดีกว่าถ้าฉันเก็บและบริโภคมันตลอดระยะเวลา 3 วัน บางคนจึงให้เหตุผลว่านี้อาจจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงของเธอก็ได้ คือ ซื้อหุ้นเพื่อที่จะไปเอาอาหารในงานประชุมผู้ถือหุ้นนั้นเอง ....
ตลอดระยะชีวิตของเธอ เธออยู่ในหอพักที่เดิม ใส่เสื้อผ้าเก่าๆที่ถูกตัดเย็บซ้ำๆกันหลายครั้ง หลังจากที่ป้าแอนน์เสียชีวิตในปี 1995 เธอมีอายุ 101 ปี โดยแจ้งความจำนงค์ไว้ว่าต้องการบริจาคเงินทั้งหมดเพื่อการกุศลให้กับกองทุน "เพื่อผู้หญิง" ของมหาวิทยาลัย Yeshiva University และสถาบันด้านการแพทย์ Albert Einstein School of Medicine ในตอนแรกที่ความจำนงค์ถูกแจ้งไปถึงมหาวิทยาลัย คนก็นึกว่าผู้หญิงที่มีอายุมากและไร้ชื่อเสียงคนหนึ่งจะมีทรัพย์สินมากสักเท่าไรกันเชียว แต่เมื่อบอกตัวเลขไปทำให้หลายๆคนตกใจกับความไร้ชื่อเสียงของผู้หญิงคนนั้น ชื่อของ แอนน์ ไชเบอร์ ถูกเขียนเป็นป้ายกิตติคุณ บุคคลตัวอย่างสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยู่อย่างประหยัดมัธยัสถ์ บุคคลต้นแบบของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้ร่ำรวยและสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาเองได้ ป้าแอนน์เริ่มถูกรู้จักเป็นวงกว้าง แม้แต่วอเร็น บัฟเฟตต์ เอง ยังเคยกล่าวถึงในงานประชุมผู้ถือหุ้นเบิร์กไซด์ฮาธาเวย์ รวมถึง ดร.นิเวศน์ นักลงทุน VI ของเมืองไทยยังยกไปเป็นตัวอย่างในงานสัมนาอยู่หลายครั้ง
เคล็ดลับการลงทุนของป้าแอนน์ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แถมยังเข้าใจได้ง่ายอีกด้วย คือ "กลยุทธ์ซื้อและถือ(ตลอดชีวิต)"
การใช้ความรู้ทางด้านการอ่านงบการเงินแบบไม่ซับซ้อน และตัวบริษัทที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง ซื้อแล้วเก็บเข้าพอร์ตการลงทุน ถึงแม้ว่าตัวเธอจะมีการขายหุ้นออกไปบ้าง แต่เป็นการขายเพียงน้อยครั้ง อาจจะไม่ถึง 10 ครั้งตลอดชีวิตการลงทุนของเธอ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยการที่เธอไม่มีเงินเดือนประจำ เธอจึงไม่ต้องจ่ายภาษีและภาษีจากการปันผลก็สามารถขอคืนได้อีกด้วย การไม่สนใจส่วนต่างราคาหุ้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับเธอ ทำให้เธอไม่ต้องเสียภาษีส่วนต่างราคาหุ้น (Capital Gain) ให้กับรัฐบาล หลังจากที่เขาได้เงินปันผลมาแล้ว เขาจะดึงเงินปันผลมาใช้เพียงนิดเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะนำกลับไปซื้อหุ้นเพิ่ม ส่วนเงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะมาจากเงินชดเชยของภาครัฐที่ให้เธอเพียง 3,100 เหรียญต่อปีเท่านั้น หลังจากที่เธอบริจาคเงินให้กับกองทุน "เพื่อผู้หญิง" ของมหาวิทยาลัย Yeshiva University แล้ว กองทุนนี้จะสนับสนุนผู้หญิงในอเมริกาที่อยากจะเรียนหนังสือแต่มีฐานะยากจนให้ได้เรียบจบมหาวิทยาลัย
ครั้งหนึ่งเพื่อนร่วมงานของเขาที่กรมสรรพากร Benjamin Clark ได้กล่าวไว้ว่า "แอนน์ ไชเบอร์ มีทักษะทางการลงทุนมาตั้งนานแล้ว เธอเป็นคนเงียบๆไม่ค่อยจะมีเพื่อนสักเท่าไร น่าจะมีผมเพียงคนเดียวที่ยังพูดคุยกับเธออยู่ ครั้งหนึ่งเคยมีเช็คปันผลส่งมาให้เธอโดยมีคนนำมาวางไว้ที่โต๊ะผม เขาคงนึกว่าเป็นโต๊ะของแอนน์ ผมจึงอาสาหยิบไปให้เธอและพบว่ามีมูลค่าประมาณ 900 เหรียญ ณ ตอนนั้น"
ถ้าเอาข้อมูลย้อนหลัง และดูอัตราปันผลของดัชนี S&P นั้นแสดงว่าในช่วงปี 1930 เธอมีเงินในพอร์ตการลงทุนมากถึง 21,000 เหรียญ อยู่แล้ว
1
เขียนโดย SiTh LoRd PaCk
 
#ขอบคุณข้อมูลจาก
โฆษณา