24 มิ.ย. 2020 เวลา 19:41 • ปรัชญา
เมื่อ "ชีวิต" เปรียบเป็นเช่น "ถ้วยกาแฟ"
ในงานเลี้ยงรุ่นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่ง ทุกคนต่างมารวมตัวกันเพื่อพบปะพูดคุยกันและมาเยี่ยมศาสตราจารย์ผู้เป็นอาจารย์สอนพวกเขา แรก ๆ ทุกคนก็พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน และสักพักบทสนทนาเริ่มเปลี่ยนเป็นคุยเรื่องความเครียดและปัญหาในเรื่องการทำงาน อาจารย์นั่งฟังลูกศิษย์แต่ละคนเล่าถึงปัญหาของตัวเองอยู่นาน จนถึงช่วงเวลาพักดื่มกาแฟ
ท่านศาสตราจารย์จึงเดินเข้าไปในครัวและกลับมาพร้อมหม้อกาแฟใบโต พร้อมถ้วยกาแฟสารพัดชนิด มีทั้งถ้วยพลาสติกราคาถูกดูไร้ค่า ถ้วยเมลานีน ถ้วยกระเบื้องเคลือบ ถ้วยคริสตัล และถ้วยหรูหราราคาแพง ลูกศิษย์แต่ละคนต่างเลือกหยิบถ้วยไปใส่กาแฟกันตามชอบใจ
เมื่อทุกคนต่างถือถ้วยกาแฟไว้ในมือครบทุกคนแล้ว ท่านศาสตราจารย์จึงพูดกับลูกศิษย์ว่า “ถ้าพวกเธอจะสังเกตให้ดี จะเห็นว่าพวกเธอต่างเลือกถ้วยกาแฟที่ดูหรูหราราคาแพงกันหมด ไม่มีใครอยากเลือกถ้วยพลาสติกราคาถูกเลยสักคน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกคนที่ย่อมอยากจะเลือกแต่สิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง และด้วยเหตุผลนี้เองที่เป็นต้นเหตุให้พวกเธอทุกข์ มีปัญหาและเกิดความเครียดในชีวิต”
ศาสตราจารย์พูดต่อไปว่า “พวกเธอต่างรู้ดีว่าถ้วยกาแฟไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณภาพใด ๆ ให้กาแฟแม้แต่น้อย ไม่ว่าถ้วยนั้นจะราคาแพงหรือหรูหราแค่ไหนก็ตามที สิ่งที่เธอต้องการคือกาแฟ ไม่ใช่ถ้วย แต่พวกเธอก็ยังคงไขว่ขว้าอยากจะได้แต่ถ้วยที่ดีที่สุด และยังคอยลอบมองถ้วยกาแฟคนอื่น ๆ เพื่อเปรียบเทียบถ้วยตัวเองว่าของใครจะดีกว่ากัน”
ครูแค่อยากบอกเธอว่า ชีวิตคนเราก็เหมือนกาแฟ ส่วนการงาน เงินทอง ลาภยศ ชื่อเสียง ตำแหน่งทางสังคมก็เหมือนถ้วยกาแฟ ทั้งหมดเป็นแค่เปลือกนอกที่ห่อหุ้มชีวิตเธอไว้ ไม่ว่าถ้วยหรือเปลือกนอกชีวิตพวกเธอจะเป็นอย่างไรก็ตาม มันไม่อาจเปลี่ยนแปลงคุณค่าชีวิตภายในตัวเธอได้”
“บางครั้งการให้ความสนใจแต่ถ้วย ทำให้เราหลงลืมรสชาติหอมกรุ่นของกาแฟ ดังนั้นจงดื่มด่ำกับกาแฟ ไม่ใช่สนใจถ้วย”
ศาสตราจารย์ทิ้งท้ายไว้ว่า “คนที่มีความสุขที่สุด ไม่ใช่คนที่มีสิ่งดีที่สุด แต่คือคนที่รู้จักทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด”
Live simply , love generously . care deeply, speak kindly.
#ข้อคิดดีๆ #โอปอล์พิมพ์นารา #opalshow
โฆษณา